คลิพรีวิว Honda City Hatchback e:HEV RS โฉมใหม่ล่าสุด
หลังจากเปิดตัวไปได้ไม่นาน กับรุ่นปรับโฉม และเพิ่มออพชันของ Honda City Hatchback ทั้งเครื่องยนต์ไฮบริด รหัส e:HEV และเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ 1.0 ลิตร โดยการทดสอบครั้งนี้เราเน้นที่รุ่นทอพ e:HEV RS มาดูการเปลี่ยนแปลงโดยรวมก่อนจะเริ่มขับกันยาวๆ เส้นทางกรุงเทพฯ-สัตหีบ
รูปทรงสปอร์ทขึ้น
จุดเปลี่ยนแปลงแรก คือ รูปทรงภายนอกของ Honda City Hatchback e:HEV RS แม้โดยรวมจะยังคงดูคุ้นเคยกับเส้นสายโดยรวมของตัวรถ แต่ทางค่ายรถก็มีการปรับโฉมให้มีมาดเข้มมากกว่าเดิม เห็นได้ชัดจากส่วนล่างของกันชนหน้า ใช้วัสดุที่เน้นสันเหลี่ยมคมเข้มมากขึ้น (แถมด้วยลวดลายคาร์บอนไฟเบอร์ในตัว) ด้านข้างเพิ่มสเกิร์ทข้างเข้ามา รวมถึงชุดกันชนท้ายมีรูปทรงของดิฟฟิวเซอร์ (เดิมจะเป็นทรงเรียบ) กระจังหน้าจะขยายช่องรับอากาศทรงรังผึ้งให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
ล้อแมกของรุ่นทอพจะมีขนาด 16 นิ้ว สีดำแวววาว นอกจากนี้ รุ่นที่เราได้ลองขับเป็นทางเลือกสีตัวถังใหม่ นั่นคือ สีน้ำเงินเข้มกับหลังคาสีดำ (มีเฉพาะรุ่น e:HEV) จุดสังเกตที่เราเห็นจากแฮทช์แบครุ่นปรับโฉมนี้ คือ ท่อไอเสียเป็นแบบเปลือย ออกทางฝั่งขวาของกันชนท้าย ถ้าจะให้ดูดีกว่านี้ควรมีฝาครอบปลายท่อไอเสียให้มาเลย (ต้องซื้อเพิ่มกับชุดตกแต่ง Modulo)
ขณะที่รุ่นย่อยอื่นๆ เช่น SV จะมีรูปทรงที่เรียบง่ายขึ้น กระจังหน้าวัสดุโครเมียม ล้อแมกลายใหม่เป็นสีเงินแวววาว รวมถึงชุดกันชนหน้า และกันชนท้ายที่มีส่วนขอบด้านล่างแบบเรียบ หากต้องการมาดสปอร์ทยังมีทางเลือกของ Honda City Hatchback RS เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 1.0 ลิตร (แต่ออพชันของอุปกรณ์ที่ติดตั้งเข้ามายังแตกต่างกับรุ่น e:HEV RS)
ห้องโดยสารใช้งานได้หลากหลาย
จุดเด่นของรุ่นตัวถัง Hatchback คือ พื้นที่ใช้สอยที่มากกว่ารุ่นซีดานอย่างชัดเจน จากการติดตั้งเบาะหลังที่พับได้หลากหลายรูปแบบ มีชื่อเรียกว่า Ultra Seat สามารถพับเบาะรองนั่งขึ้นมาเพื่อบรรทุกของทรงสูง หรือพับพนักพิงหลังลงมาเพื่อบรรทุกของทรงยาว หรือแม้แต่การเอนเบาะหน้าลงมาให้บรรจบกับเบาะหลังพอดี (โดยการถอดพนักพิงศีรษะออก) จะได้ที่นั่งทรงยาว เหยียดขาได้สบาย แน่นอนว่าเป็นอรรถประโยชน์ที่ดีกว่ารุ่นตัวซีดาน และยังรวมถึงบรรดาคู่แข่งระดับเดียวกันด้วย (ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน หรือแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้า)
นอกเหนือจากเรื่องอรรถประโยชน์แล้ว การตกแต่งห้องโดยสารของรุ่นปรับโฉมตัวทอพ มีสีสันที่แตกต่างจากเดิมเช่นกัน โดยรุ่น RS ใช้เบาะหนังแบบทูโทน สีดำ/แดง โดยเพิ่มวัสดุแถบสีแดงเข้ามาบริเวณด้านข้างของตัวเบาะ (เดิมเป็นสีดำ และเดินด้ายสีแดง) จอแสดงผลของชุดเครื่องเสียงรองรับการเชื่อมต่อ Android Auto และ Apple CarPlay แบบไร้สาย
นอกจากนี้ รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ มีการเสริมจอแสดงผลข้อมูลตรงกลางระหว่างมาตรวัด เนื่องจากมีการติดตั้งระบบ Honda Sensing ทุกรุ่นย่อยแล้ว (ก่อนหน้านี้มีติดตั้งเฉพาะรุ่น Hatchback e:HEV) หน้าจอดังกล่าวจึงทำหน้าที่แสดงผลของระบบความปลอดภัย และระบบช่วยเหลือการขับขี่ แต่รุ่น e:HEV จะมีระบบครูสคอนทโรลสามารถตามรถคันหน้าที่ความเร็วต่ำ และระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าออกตัว
สมรรถนะทันใจ ประหยัดดีมากจากระบบไฮบริด
ได้เวลาลองขับกันแล้ว เราเริ่มกันที่รุ่นเครื่องยนต์ไฮบริด ตามสเปคของผู้ผลิต คือ เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 98 แรงม้า ขับเคลื่อนร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 109 แรงม้า มีจุดเด่นที่แรงบิดสูง มีตัวเลขสูงสุดที่ 25.8 กก.-ม. (มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวบางรุ่นด้วยซ้ำ !) การทำงานของระบบ e:HEV ในเบื้องต้น คือ การขับเคลื่อนส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนเครื่องยนต์สันดาปมีหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้าป้อนให้แก่ระบบ การกดคันเร่งขณะออกตัว รวมถึงการเร่งแซงที่เป็นอัตราเร่งยืดหยุ่น มีการตอบสนองที่ทันใจ ไม่หวือหวา แต่เน้นการส่งกำลังที่ต่อเนื่อง ให้ความรู้สึกใกล้เคียงรถยนต์ไฟฟ้าจริงๆ (หากระบบแบทเตอรีมากพอสามารถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วนได้ที่ความเร็วต่ำ แม้เป็นระยะทางสั้นๆ)
สิ่งที่แตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้า แน่นอนว่า คือ เสียงจากเครื่องยนต์สันดาปที่ยังได้ยินในห้องโดยสารอยู่ แม้จะทำหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้าก็ตาม หากกดคันเร่งลึกทันที เสียงเครื่องยนต์จะค่อนข้างดังขึ้นมาด้วยรอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น แต่ในจุดในนี้เครื่องยนต์ยังไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนแต่อย่างใด จนกระทั่งในสภาวะการขับขี่ด้วยความเร็วสูง และใช้ความเร็วคงที่ จะเป็นการขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาป เราคิดว่าระบบมอเตอร์ไฟฟ้าของ Honda มีประสิทธิภาพดี แรงบิดสูง แต่ยังมีข้อจำกัดของการใช้ความเร็วสูงที่มอเตอร์จะทำงานหนัก ทางผู้ผลิตจึงออกแบบระบบให้เปลี่ยนมาขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปเช่นนี้
การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าของ Honda City Hatchback e:HEV RS นอกจากการส่งกำลังที่ไหลลื่น ยังมีประโยชน์ในแง่ของการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ทางผู้ผลิตระบุว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยของแฮทช์แบคขุมพลังไฮบริดคันนี้ คือ 27.8 กม./ลิตร (จาก Eco Sticker) เป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในบรรดารถยนต์ระดับอีโคคาร์ หรือแม้แต่ระดับบี-เซกเมนท์ เลยทีเดียว ส่วนการขับขี่บนถนนจริง เราพบว่าแม้จะมีการขับด้วยความเร็วสูง (เช่น บนเส้นทางมอเตอร์เวย์) สลับกับการใช้งานในตัวเมืองที่ความเร็วต่ำ ตัวเลขตามที่ระบบของตัวรถแสดงให้เห็น คือ ประมาณ 20-21 กม./ลิตร แสดงให้เห็นว่าภายใต้การใช้งานจริง แฮทช์แบคไฮบริดมีการประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีมาก
ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 1.0 ลิตร กำลังสูงสุด 122 แรงม้า เรามีโอกาสลองขับเช่นกัน เครื่องยนต์บลอคนี้ยังมีการตอบสนองที่ดี เร่งได้ทันใจ แม้ช่วงไต่ความเร็วสูงขึ้น หรือการกดคันเร่งขณะอยู่บนเนินต้องอาศัยรอบเครื่องยนต์สูงขึ้น แต่คุณสมบัติของเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ มีแรงบิดสูงสุดในช่วงรอบเครื่องยนต์ที่กว้าง (เรียกว่า Flat Torque) ทำให้ไม่ต้องเติมคันเร่งมากเกินไป จัดเป็นเครื่องยนต์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ยังคงชื่นชอบการใช้เครื่องยนต์สันดาปที่คุ้นเคย (อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยจาก Eco Sticker คือ 23.3 กม./ลิตร)
ระบบรองรับนุ่มหนึบ นิ่งที่ความเร็วสูง
การขับขี่บนเส้นทางมอเตอร์เวย์ (เส้นทางสู่ อ.สัตหีบ) ทำให้เราได้ประเมินระบบรองรับของ Honda City Hatchback e:HEV RS พบว่าช่วงล่างเน้นความนุ่มนวลที่พอเหมาะ เผื่อเหลือสำหรับการใช้งานในตัวเมืองที่สะดวกสบาย พวงมาลัยมีน้ำหนักเบา แต่มีความนิ่ง และมั่นคงขณะที่ใช้ความเร็วสูง พูดง่ายๆ ว่าการขับทางไกลกับแฮทช์แบคระดับบี-เซกเมนท์คันนี้สามารถทำได้สบาย ไม่เมื่อยล้า หรือต้องใช้การบังคับควบคุมมากเกินไป (ภายใต้ความเร็วระดับ 100-120 กม./ชม.) นอกจากนี้ ระบบรักษาตัวรถให้อยู่กลางเลนอัตโนมัติก็ช่วยให้การขับขี่มีความผ่อนคลายมากกว่าเดิมด้วย (ติดตั้งมาทุกรุ่นย่อยพร้อมระบบ Honda Sensing) ส่วนกล้องมองภาพมีแค่มุมมองด้านหลัง ยังคงไม่มีกล้องมองภาพรอบคันที่เป็นออพชันในรถยนต์หลายยี่ห้อแล้ว ขณะที่ระบบเตือนจุดอับสายตาด้านหลัง (Blind Spot Warning) ไม่มีอยู่แล้วจากรถยนต์ของ Honda ในบ้านเรา
สรุป
คุ้มค่าด้วยออพชัน ดึงดูดด้วยราคา
Honda City Hatchback e:HEV RS รวมถึงรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ RS ยังคงมีความลงตัวในหลายด้าน สำหรับตัวทอพเครื่องยนต์ไฮบริด หน้าตาที่คมเข้มขึ้น มาพร้อมเครื่องยนต์ไฮบริดสมรรถนะดี และการประหยัดเชื้อเพลิงดีมาก และออพชันของระบบต่างๆ ที่ครบครันกว่าเดิม (มี Honda Sensing ทุกรุ่นย่อยแล้ว) แต่ราคากลับย่อมเยาขึ้น โดยมีราคาสูงสุดที่ 799,000 บาท (จากเดิมที่ราคามากกว่า 8 แสนบาท) และใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์แฮทช์แบค ไม่ว่าจะเป็น ORA Good Cat (รุ่นประกอบในประเทศ) MG4 Electric หรือ BYD Dolphin หากใครที่ยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนการใช้งานสู่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว ทางเลือกเครื่องยนต์ไฮบริด ที่มอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่ขับเคลื่อนในหลายจังหวะ ยังคงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย
Honda City Hatchback ใหม่ มีให้เลือก 2 ขุมพลังขับเคลื่อน รวม 5 รุ่นย่อย ดังนี้
•รุ่นขุมพลังฟูลล์ไฮบริด e:HEV มีให้เลือกทั้งหมด 2 รุ่นย่อย
- รุ่น e:HEV RS ราคา 799,000 บาท
- รุ่น e:HEV SV ราคา 729,000 บาท
• รุ่นขุมพลัง VTEC TURBO มีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อย
- รุ่น RS ราคา 749,000 บาท
- รุ่น SV ราคา 679,000 บาท
- รุ่น S+ ราคา 599,000 บาท