บทความ
รวม "ครั้งแรก" ของยุครถไฟฟ้าในประเทศไทย
ตลาดรถไฟฟ้าไทยบูมสุดขีดตลอดปีที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้มีหลายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าเกิดขึ้นในบ้านเรา วันนี้เราจะมาไล่เรียงดูว่า จากวันนั้นจนถึงปัจจุบันมีอะไรที่ปรากฏเป็น “ครั้งแรก” ในยุครถไฟฟ้าบ้านเรา (เฉพาะ EV ไม่นับ Hybrid และ Plug-in Hybrid)
ปี 2551
รถไฟฟ้าโชว์ตัวครั้งแรก
Mitsubishi (มิตซูบิชิ) นำ Mitsubishi i-MiEV (ไอ-เมียฟ) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100 % รุ่นแรกที่ออกจำหน่ายเป็นกิจจะลักษณะ มาแสดงในงาน Motor Expo 2008 ทำให้คนรักรถชาวไทย ได้สัมผัสรถไฟฟ้าเป็นครั้งแรก และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย)ฯ ยังได้นำรถรุ่นนี้มาให้ลูกค้าทดลองขับในปี 2010 รวมถึงมอบให้หน่วยงานต่างๆ เช่น การไฟฟ้านครหลวง
นอกจากนี้ ในงาน Motor Expo 2010 ยังมีการจัดแสดง Mitsubishi i-MiEV Sport รถแนวคิดพลังไฟฟ้าที่พัฒนามาจาก Mitsubishi i-MiEV รุ่นแรก และเป็นรถต้นแบบสะท้อนเทคโนโลยีแห่งอนาคต จากการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา
รถไฟฟ้าแบรนด์อเมริกันรุ่นแรก
Chevrolet Volt (เชฟโรเลต์ โวลท์) รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อเมริกันที่เข้ามาเปิดตัวบ้านเราครั้งแรก ในงาน Motor Expo 2008 เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีจุดเด่น คือ สามารถขับขี่ได้ไกลถึง 570 กม. พร้อมเทคโนโลยีการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์
ปี 2555
เปิดสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในไทยแห่งแรก
การไฟฟ้านครหลวง สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์แห่งแรกของประเทศไทย ณ สำนักงานใหญ่ คลองเตย ให้บริการชาร์จฟรี 1 ปี โดยมีต้นทุนการก่อสร้าง 600,000 บาท ใช้เวลาชาร์จ 20-30 นาที ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการครอบคลุม 3 จังหวัด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ราคา 7.5 บาท/หน่วย
ปี 2558
จัดตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าครั้งแรก
ช่วงต้นปี 2558 หน่วยงานภาครัฐเริ่มให้ความสนใจเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และมีนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทำให้ภาควิชาการ และภาคเอกชน ประชุมหารือเพื่อจัดตั้งสมาคมฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 และจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ ในชื่อสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 โดยมี รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ คนแรก
จากนั้นในปีเดียวกัน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับสถาบันยานยนต์ และบริษัท สื่อสากล จำกัด จัดงานเปิดตัวสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และงานสัมมนา "ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าไทยสู่อาเซียน" ในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ภายในงาน Motor Expo 2015 ณ อิมแพคท์ เมืองทองธานี
รถไฟฟ้าแบรนด์ยุโรปรุ่นแรก
BMW I3 (บีเอมดับเบิลยู ไอ 3) รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ยุโรปรุ่นแรกที่เข้าประเทศไทย เป็นรถยนต์ทรงแฮทช์แบคที่วางแนวคิดให้สื่อถึงอนาคต ตอบโจทย์เรื่องการลดมลภาวะ และการใช้ที่คล่องตัวในเมือง ให้ระยะทางขับขี่ราว 130-160 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง
ปี 2560
ครม. เห็นชอบผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยครั้งแรก
ในปีนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
เปิดสถานีชาร์จในห้าง และคอนโดครั้งแรก
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท โพลีเทคโนโลยี จำกัด Greenlots กลุ่มเซนทรัล และบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เริ่มโครงการ Chargenow เปิดสถานีชาร์จไฟรถพลัก-อินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในไทย ที่ห้างสรรพสินค้าในเครือกลุ่มเซนทรัล และคอนโดมิเนียมในเครือ AP
แสดงเทคโนโลยีรถไฟฟ้าครั้งแรก
บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จัดงานแสดงเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการประชุมนานาชาติ iEVTech 2018 ครั้งแรกในอาเซียน ณ อาคารเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยงานจัดขึ้นวันที่ 6-9 มิถุนายน 2561 ที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ปี 2561
เปิดตัว EV Taxi ครั้งแรก
กรมการขนส่งทางบก ร่วมมือกับ บริษัท อีวี โซไซตี้ จำกัด และบริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด เปิดตัว EV Taxi VIP รถแทกซีไฟฟ้าครั้งแรกของประเทศไทย โดยใช้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น BYD E6 (บีวายดี อี 6) ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า 100 % มาให้บริการ
เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อคนพิการครั้งแรก
สมาคมการค้าผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรชิ้นส่วนโลหะ และอุตสาหกรรมสนับสนุนไทย เปิดตัวนวัตกรรมต้นแบบ รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อคนพิการอัมพาตครึ่งท่อน “MED CMU EV Car” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยจากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อคนพิการคันแรกของประเทศไทยที่ใช้งานได้จริง
แอพพลิเคชันยานยนต์ไฟฟ้าเจ้าแรก
การไฟฟ้านครหลวง เปิดตัว MEA EV Application เจ้าแรกของประเทศไทย ให้บริการค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า จองหัวชาร์จแบบเรียลไทม์ มีระบบนำทางไปยังสถานีชาร์จ พร้อมควบคุมการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าผ่านระบบรีโมทด้วยแอพพลิเคชัน รวมถึงฟังค์ชันอื่นๆ
จัดทดลองขับยานยนต์ไฟฟ้าครั้งแรก
Fomm (ฟอมม์) รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น รุกกระแสตลาดรถ EV ในไทย ประเดิมจัด Test Drive ครั้งแรก ณ สนาม MSL Motorsports Land (แดนเนรมิตเก่า) โดยให้ลูกค้าทดลองขับรถ Fomm One (วัน) ที่จองไว้ และเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการทดลองขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก
สถานีชาร์จ กรุงเทพฯ-หัวหิน เจ้าแรก
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าบนเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทางรวม 380 กม. ภายใต้ชื่อ “EA Anywhere” 9 จุด ได้แก่ สถานีชาร์จที่ปั๊มน้ำมันซัสโก (สำนักงานใหญ่) ราษฎร์บูรณะ, ร้าน Cafe Amazon OPG บางขุนเทียน, ปั๊มน้ำมันบางจาก แพรกหนามแดง (อัมพวา), ร้านอาหารครัวบ้านขวัญ แยกวังมะนาว, ศูนย์บริการ A.C.T หัวหิน, โรงแรม Holiday Inn Vana Nava หัวหิน, โครงการ La Cacita แสนสิริ และ FN Outlet หัวหิน
รถไฟฟ้าแบรนด์จีนรุ่นแรก
รถไฟฟ้าสัญชาติจีนรุ่นแรกที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเราก็คือ BYD E6 (บีวายดี อี 6) โดยนำมาใช้เป็น Taxi VIP วิ่งไกลประมาณ 350-400 กม. ซึ่งถือเป็นรถไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ไกลที่สุดคันหนึ่งในขณะนั้น
ปี 2562
บริการรถไฟฟ้าในสถานศึกษาครั้งแรก
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ รับมอบรถยนต์ไฟฟ้า 4 คันจาก Hyundai (ฮันเด) และ Fomm เป็นสถานศึกษาแห่งแรกที่พัฒนาสู่การเป็น Smart City ที่ริเริ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย โดยเปิดให้นักศึกษาเช่าระยะสั้นๆ ผ่านแอพพลิเคชันเช่ารถ HAUP
ปี 2564
สถานีชาร์จไฟฟ้าของหน่วยงานรัฐแห่งแรก
กระทรวงการคลัง จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า Elex By EGAT ภายในพื้นที่ของกระทรวงการคลัง เพื่อใช้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของทางราชการ พร้อมอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาติดต่อ นับเป็นการนำร่องติดตั้งสถานีชาร์จเชิงพาณิชย์ในสถานที่ราชการเป็นแห่งแรกของไทย
ปี 2565
รัฐออกมาตรการ EV 3.0 ครั้งแรก
ภาครัฐออกมาตรการ EV 3.0 หรือมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก เช่น ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ผลิตสูงสุด 70,000-150,000 บาท พร้อมยกเว้นภาษีสรรพสามิต หวังดันคนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565-31 ธันวาคม 2566
EV Bus ลดโลกร้อน ฝีมือคนไทยครั้งแรก
เป็นครั้งแรกที่มีการพัฒนา 4 ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า หรือ EV Bus ฝีมือบริษัทคนไทย โดยดัดแปลงจากรถเมล์ ขสมก. ใช้แล้ว 20 ปี เพื่อส่งมอบให้ 4 หน่วยงาน คือ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
ปี 2566
เปิดตัวรถไฟ EV ในไทยครั้งแรก
การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดตัวหัวรถจักร EV ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นหัวรถจักรต้นแบบแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV On Train ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
สถานีชาร์จในวัดแห่งแรก
วัดอินทาราม ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าภายในวัด เป็นแห่งแรก และแห่งเดียวในไทย โดยเครื่องชาร์จไฟฟ้ามี ขนาด 7 กิโลวัตต์ รองรับหัวชาร์จมาตรฐานทุกรุ่น ให้บริการทุกวัน วันละ 3 รอบ ตลอด 24 ชั่วโมง รอบที่ 1 เวลา 04.30-05.30 น. รอบที่ 2 เวลา 08.00-09.00 น. รอบที่ 3 เวลา 18.30-19.30 น.
สถานีชาร์จความเร็วสูง ครั้งแรก
บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (Sharge) จับมือ เชลล์ (Shell) บริษัทพลังงานระดับโลก และ Porsche Asia Pacific (โพร์เช เอเชียแปซิฟิค) ติดตั้ง EV Charger ความเร็ว 180-360 กิโลวัตต์ สูงที่สุดในไทย ให้สถานีบริการ Shell Recharge สถานีชาร์จยานยนต์พลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง
แบรนด์ญี่ปุ่นผลิตรถ EV ในไทยครั้งแรก
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดสายการผลิต Honda e:N1 (ฮอนดา อี:เอน 1) เอสยูวีพลังงานไฟฟ้า 100 % ณ โรงงาน Honda สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี โดย Honda นับเป็นแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นหลักที่เริ่มเดินสายการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
กระบะไฟฟ้ารุ่นแรก
บริษัท ไทยอีวี จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ ได้นำเข้ารถกระบะไฟฟ้ามาในบ้านเราเป็นครั้งแรก นั่นคือเจ้า JAC T8 EV (เจเอซี ที 8 อีวี) เน้นใช้งานในเชิงพาณิชย์ หรือการขนส่งเป็นหลัก รองรับการบรรทุกได้สูงสุด 1,000 กก. และสามารถวิ่งได้ไกล 330 กม.
ปี 2567
สงครามราคา EV ครั้งแรก
นับเป็นช่วงเวลาทองของคนอยากซื้อรถ EV เมื่อแต่ละค่ายต่างหั่นราคาสู้กันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะค่ายสัญชาติจีนที่หลายรุ่นปรับลดราคาหลายแสนบาท ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้ แถมยังกระทบไปถึงราคารถยนต์มือสองด้วย ทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สั่งการให้ สคบ. เข้าตรวจสอบการโฆษณาลดราคาของรถยนต์ไฟฟ้า ว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณาหรือไม่
เวียดนามบุกตลาดไทยครั้งแรก
แบรนด์รถไฟฟ้าน้องใหม่สัญชาติเวียดนาม Vinfast (วินฟาสต์) ในเครือ VinGroup เข้ามาเปิดตลาด และเปิดตัวให้ชาวไทยได้ยลโฉมครั้งแรกในปี 2024
ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการนำ "ยานยนต์ไฟฟ้า" หรือ "รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า" เข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยบริษัท Baker Electric Car พร้อมลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ Daily Arizona Silver Belt เมื่อปี 2452 ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระราชประสงค์ให้บริษัท Baker Electric Car จัดสร้างรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทรงใช้เป็นพระราชพาหนะ
รถไฟฟ้าคันดังกล่าว ได้แก่ 1905 Oppermann Electric Tonneau (1905 ออพเพอร์มันน์ อีเลคทริค ทันเนา) ผลิตโดยบริษัท Carl Oppermann Electric Carriage จากประเทศอังกฤษ นำเข้าสยามในปี 2448 ตัวรถใช้มอเตอร์ขนาด 5 แรงม้า ระยะทางวิ่งสูงสุด 50 ไมล์ (80 กม. ความเร็วสูงสุด 14 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 22 กม./ชม.)