ข่าวจากประเทศอังกฤษ ระบุว่า เรื่องอากาศพลศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อพลังขับเคลื่อน โดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วสูง แรงเสียดทานอากาศจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ หากเพิ่มความเร็ว 2 เท่า ค่าแรงเสียดทานจะเพิ่มเป็น 4 เท่า ทำให้ต้องใช้พลังขับเคลื่อนเพิ่มขึ้น และจะตามมาด้วยเรื่องอัตราสิ้นเปลืองที่สูงขึ้นเช่นกัน
การลดแรงเสียดทานอากาศไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทำให้นักออกแบบ และวิศวกรอากาศพลศาสตร์ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อหาความลงตัวของรูปทรงที่สวยงาม และประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนสูงสุด Audi มีเรื่องราวเกี่ยวกับอากาศพลศาสตร์ ตั้งแต่ยุคของ Audi 100 ที่มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน 0.30 ซึ่งเป็นพโรดัคชันคาร์ที่มีค่าแรงเสียดทานต่ำที่สุดในยุคนั้น
Audi สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วย A6 Sportback e-tron ที่มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานต่ำถึง 0.21 ด้วยขั้นตอนการผลิต เมื่อออกแบบขั้นแรกเรียบร้อยแล้ว แนวคิดจะถูกส่งไปยังทีมอากาศพลศาสตร์ โดยต้องทดสอบแบบจำลองถึง 1,300 ครั้ง จากนั้นจึงสร้างรถจำลองเพื่อทดสอบในอุโมงค์ลม และปรับรูปทรงจนได้ตามความต้องการของทั้ง 2 ทีม เช่น การออกแบบสร้างส่วนหน้าของรถมีผลต่อกระแสลมด้านหน้า วิศวกรอากาศพลศาสตร์ต้องปรับเพิ่มความยาวอีกเล็กน้อย ช่วยให้กระแสลมลื่นไหลดีขึ้น
การออกแบบส่วนใต้ท้องรถเพื่อให้กระแสอากาศไหลผ่านอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการออกแบบล้อแบบเรียบเป็นแผ่นทำให้กระแสอากาศไหลผ่านได้สะดวกกว่าล้อลายเรขาคณิต แต่นักออกแบบต้องการให้ล้อมีรูปทรงสวยงาม วิศวกรต้องออกแบบล้อขนาด 21 นิ้ว พร้อมแผ่นรีดลมจากวัสดุพลาสติคซึ่งได้ผลดี และนำไปใช้กับล้อขนาด 19 และ 20 นิ้วได้ด้วย
ส่วนล่างของรถมีความสำคัญไม่น้อย จึงต้องทำแผ่นปิดชิ้นส่วนระบบรองรับ แม้แต่ใต้เครื่องยนต์ก็มีแผ่นปิด แต่ต้องออกแบบช่องระบายลมที่มีขนาดเหมาะสม ชุดเพลาขับหลังก็ถูกปิด เพื่อความราบรื่นของกระแสอากาศ
ไม่เพียงแต่เรื่องของรูปทรงรถ ที่ออกแบบให้มีท้ายรถสูง พื้นผิวลื่นไหล และการออกแบบใต้ท้องอย่างพิถีพิถัน จนมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานต่ำ ทั้งสามารถลดแรงยกได้อีก ถือว่าเป็นความสำเร็จของทีมนักออกแบบ และวิศวกรอากาศพลศาสตร์ จนได้รูปทรงที่สวยงาม ทั้งยังสร้างสถิติค่าแรงเสียดทานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์