บทความ
Unex EV ทางเลือกใหม่ ที่ไม่ต้องรอชาร์จ

ในยุคที่ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังกลายเป็นกระแสหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้บริโภคเริ่มมองหาทางเลือกที่ตอบโจทย์ทั้งความสะดวก ประสิทธิภาพ และความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ธุรกิจล่าสุดที่กำลังเข้ามาสู่บ้านเราในชื่อว่า “Unex EV” จึงเป็นคำตอบใหม่ที่น่าสนใจในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเราอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ของผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า "สามารถเดินทางไร้รอยต่อได้โดยที่ไม่ต้องรอชาร์จไฟ" ซึ่งแตกต่างจาก BEV ทั่วไปอย่างชัดเจน
Unex EV ผลักดันในส่วนของสถานีสลับแบทเตอรีเป็นหลักจากบริษัทแม่ Upower Limited แน่นอนว่าในยานยนต์พลังงานไฟฟ้า BEV ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย ในข้อดีมักมีจุดอ่อน และจุดสังเกตสำคัญ ที่ทำให้ความสะดวกในการใช้งานลดน้อยลง ที่เห็นหลักๆ คือ การเสียเวลาชาร์จพลังงาน โดยเฉพาะการใช้งานเชิงพาณิชย์ ที่ต้องใช้รถเพื่อการเดินทางเป็นเวลานาน การเข้ามาของ Unex EV นั้นจะเป็นศูนย์กลางหลักสำคัญของระบบ Ecosystem ที่ไม่ว่ารถยนต์ไฟฟ้า หรือยานพาหนะประเภทต่างๆ จะสามารถเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ
พแลทฟอร์มที่ทาง Unex EV นำเข้ามานั้นเป็นระบบที่ทาง Upower Limited เป็นผู้คิดค้นทั้งการผลิต นวัตกรรม AI ตรวจสอบ และประเมินสภาพแบทเตอรีก่อนทำการสลับ รวมไปถึงการใช้เวลาทำได้สั้นเพียง 3-5 นาที สำหรับรถยนต์ และ 7-10 นาที สำหรับรถยนต์พาณิชย์ขนาดใหญ่ ในกระบวนการนั้นจะเป็นระบบอัตโนมัติทั้งสิ้น เพียงแค่ผู้นำรถเข้าสถานี
สำหรับบ้านเราการลงทุน และพัฒนาจะเป็นการร่วมทุนจากเครือข่ายบริษัท ลงนามความร่วมมือกับพันธมิตรหลายส่วนตั้งแต่ผู้ผลิตรถยนต์ อย่าง SAIC-MG ที่ร่วมมือในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับกับการสลับแบทเตอรีในอนาคตตั้งแต่ปี 2025 การรับประกันตลอดอายุการใช้งาน รวมไปถึงสถานีพลังงานอย่าง Susco ที่จะร่วมลงทุนสถานีสลับแบทเตอรีรองรับรถเข้าใช้งานมากกว่า 100 คัน/1 สถานี และขยายอย่างต่อเนื่องภายใน 3 ปี
ส่วนสำคัญในการลงนามข้อตกลง MOU กับพันธมิตรนั้น คาดการณ์การลงทุนมากกว่า 12,000 ล้านบาท เป้าหมายหลัก คือ ขยายเครือข่ายรองรับการเติบโตของยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย ในช่วง 1-3 ปีจากนี้จะมีผลิตภัณฑ์ที่ Unex EV เป็นผู้คิดค้นเองนำออกสู่ตลาดบ้านเรา นอกจากในเมืองที่เป็นกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีแพคเกจการซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น สำหรับกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ยังมียานพาหนะที่ร่วมมือกับ Unex EV อื่นๆ ที่จะมาตอบโจทย์การใช้งานสูงสุดภายในปี 2030