ทดสอบ
MG V80 VS TOYOTA COMMUTER
รถตู้ (VAN) ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องด้วยความอเนกประสงค์ สะดวกสบาย หลายที่นั่ง และมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในครั้งนี้ เรานำเอารถตู้รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามอง จาก 2 ค่าย เริ่มด้วยน้องใหม่ในตลาด เอมจี วี 80 ที่ชูจุดเด่นด้วยราคาเริ่มต้นไม่ถึง 1 ล้านบาท กับ โตโยตา คอมมิวเตอร์ เจ้าของบัลลังก์ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 15 ปี มาลองขับ และทดสอบ
EXTERIOR ภายนอก
เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่น่าจับตามองไม่น้อย สำหรับน้องใหม่ เอมจี วี 80 ที่เปิดตัวในงาน ช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยมีให้เลือกด้วยกัน 2 รุ่นย่อย คือ รุ่นเกียร์ธรรมดา ราคา 923,000 บาท และรุ่นเกียร์กึ่งอัตโนมัติ (เซเลเมทิค) ราคา 973,000 บาท ในช่วงแนะนำ ก่อนจะปรับราคาขึ้นมาเป็น 988,000 และ 1,038,000 บาท
ดีไซจ์นภายนอกของ เอมจี วี 80 การออกแบบในสไตล์ เอมจี ที่เอาใจตลาดยุโรป ซึ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าหน้าตา คล้าย บแรนด์ แมกซัส (MAXUS) ซึ่งเป็นพี่น้องกัน แต่ เอมจี ได้นำมาปรับโฉมใหม่ ทั้งดีไซจ์นภายนอกมีความเป็นเหลี่ยม สมส่วนตามสไตล์ยุโรป ไฟหน้ามัลทิรีเฟลคเตอร์แนวตั้ง พร้อมไฟหรี่ แอลอีดี ในโคมไฟหน้า กระจังหน้าแนวนอนใหม่ 3 ชั้น สะดุดตากับโลโกขนาดใหญ่ MG กันชนหน้าใหม่ พร้อมไฟตัดหมอก กระจกมองข้างขนาดใหญ่พร้อมไฟเลี้ยวในตัว ล้ออัลลอย 5 ก้านคู่สีเงิน ขนาด 16 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/75 R16
เอมจี วี 80 มีมิติตัวถังที่ยาว 4,950 มม. กว้าง 1,998 มม. และสูง 2,132 มม. ฐานล้อยาว 3,100 มม. พร้อมประตูสไลด์ขนาดใหญ่สมตัวทั้งซ้าย/ขวา ซึ่งยังอาศัยแรงคนเปิด/ปิดอยู่ แต่ เพิ่มความสะดวกสบายในการขึ้น/ลงด้วยบันไดข้างไฟฟ้าระบบอัตโนมัติ ประตูท้ายบานคู่เปิดแบบฝาตู้ ซ้าย/ขวา 50:50 และสามารถเปิดได้ 2 ระดับ ปกติ 90 องศา และกว้าง 180 องศา พร้อมรองรับการใช้งานทั้งในชีวิตประจำวัน และการเดินทางท่องเที่ยว
โตโยตา คอมมิวเตอร์ ใหม่ มีให้เลือกด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่นเกียร์ธรรมดา ราคา 1,269,000 บาท และรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ราคา 1,299,000 บาท
ภายนอก โตโยตา คอมมิวเตอร์ ใหม่ ถูกออกแบบให้มีความหรูหรา และดูภูมิฐานมากยิ่งขึ้น เริ่มจากกระจังหน้าโครเมียม เข้าชุดกับไฟหน้ามัลทิรีเฟลคเตอร์ ไฟตัดหมอกหน้า กระจกมองข้าง และกระจกมองล้อด้านหลังขนาดใหญ่ กระจกมองหลังสำหรับถอย และล้อกระทะเหล็กขนาด 16 นิ้วใหม่ ยาง 235 R16 พร้อมฝาครอบล้อ ไฟท้ายใหม่แอลอีดี พร้อมไฟเบรคดวงที่ 3
มิติตัวถัง ยาว 5,915 มม. กว้าง 1,950 มม. และสูง 2,280 มม. ฐานล้อยาว 3,860 มม. พร้อมประตูสไลด์ขนาดใหญ่ด้านซ้ายด้านเดียว ยังไม่มีระบบไฟฟ้ามาช่วยผ่อนแรง ต้องอาศัยแรงคนเปิด/ปิดอยู่ ประตูท้ายแบบบานเดี่ยวเปิดยกเหมือนรุ่นก่อน และสามารถเปิดได้กว้าง พร้อมรองรับการใช้งานทั้งในชีวิตประจำวัน และการเดินทางท่องเที่ยว
INTERIOR ภายใน
เอมจี วี 80 มีภายในห้องโดยสารกว้างขวาง ความยาว 2,550 มม. ความกว้าง 1,770 มม. และความสูง 1,505 มม. สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 11 ที่นั่ง คอนโซลหน้าเรียบง่าย ติดตั้งชุดมาตรวัดต่างๆ ไว้ตรงกลางคอนโซลหน้า เครื่องเล่นวิทยุ/เอมพี 3 ลำโพง 4 ตัว พร้อมฟังค์ชันบลูทูธ (BLUETOOTH) รับโทรศัพท์ และช่องต่อยูเอสบี (USB) ระบบปรับอากาศแบบแยกส่วนคอยล์เย็น พร้อมพัดลมด้านหน้าและห้องโดยสารด้านหลัง ติดตั้งอยู่เหนือเบาะแถวที่ 3 พร้อมช่องลมบนเพดานอีก 4 จุด แยกสวิทช์ควบคุม ทำความเย็นได้เร็ว และทั่วถึง
เบาะที่นั่งเป็นแบบ 4 แถว 11 ที่นั่ง แบ่งเป็น เบาะคู่หน้า และแถว 2 เป็นแบบกัปตันซีท (CAPTAIN SEAT) แยกอิสระพร้อมที่เท้าแขน เบาะนั่งแถวที่ 3 แบบ 3 ที่นั่ง มีทางเดินเชื่อมต่อถึงกันได้ (WALK THROUGH) จากด้านหน้ามาจนถึงเบาะนั่งแถวท้ายสุดแบบ 4 ที่นั่ง สามารถพับพนักพิงจากด้านหลัง แยกซ้าย/ขวา 50:50 เช่นเดียวกับประตูบานคู่เปิดแยกซ้าย/ขวา พื้นรถราบเรียบกับพื้นที่หลังเบาะ เพื่อวางสัมภาระจากด้านท้ายได้
ส่วนการเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร สำหรับรถทรงสูงแบบ เอมจี วี 80 จะมีเสียงลมปะทะตัวรถให้ได้ยินบ้าง แต่ถ้าใช้ความเร็วเกิน 110 กม./ชม. ขึ้นไป ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหากวนใจ เพราะมีไม่มากนัก ที่จะใช้ความเร็วสูง
ส่วนภายในมาพร้อมกับห้องโดยสารขนาดใหญ่ ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 15 ที่นั่ง แบ่งเป็นห้องโดยสารด้านหน้่า เบาะคนขับปรับเอน ปรับระดับสูง/ต่ำ และเลื่อนได้ เบาะผู้โดยสาร 2 ที่นั่ง ปรับเอนได้ มาพร้อมพื้นที่เก็บของเหนือศีรษะสำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า ที่วางแก้วน้ำ และพื้นที่เก็บของใต้เบาะนั่งด้านหน้า
ส่วนห้องโดยสารด้านหลังมีเบาะที่นั่งอีก 4 แถว เบาะนั่งแถวที่ 1 เป็นแบบ 3 ที่นั่งต่อกันปรับเอนได้ เบาะนั่งแถวที่ 2 และ 3 เป็นแบบ 2+1 ที่นั่ง ปรับเอนได้ มีช่องทางเดิน และเบาะนั่งแถวที่ 4 แถวสุดท้ายเป็นแบบ 2+1 ที่นั่ง พนักพิงปรับเอนไม่ได้ มีช่องทางเดิน พร้อมทางออกฉุกเฉิน
บันไดด้านข้างกว้างกว่าเดิม พร้อมไฟส่องสว่างที่บันไดด้านข้าง ขึ้น/ลงสะดวก และช่องลมแอร์ครบทุกที่นั่ง พร้อมการตกแต่งภายในที่ดูหรูหรา และเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดเต็ม อีกทั้งมิติตัวถัง ยังมีความยาวเพิ่มขึ้น และกว้างขึ้นอีกด้วย
พวงมาลัยปรับระดับ 4 ทิศทาง สูง/ต่ำ และเข้า/ออกได้ มีจอแสดงข้อมูลการขับขี่ (MID) ช่องจ่ายกระแสไฟฟ้า 12 โวลท์ มาให้ 2 จุด
ENGINE เครื่องยนต์
ขุมพลังของ เอมจี วี 80 ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ 4 สูบ ขนาด 2.5 ลิตร รหัส R425 ให้กำลังสูงสุด 136 แรงม้า ที่ 3,800 รตน. แรงบิดสูงสุด 33.7 กก.-ม. หรือ 330 นิวตัน-เมตร ที่ 1,800-2,600 รตน. ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์กึ่งอัตโนมัติ เซเลเมทิค 6 จังหวะ ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
เมื่อได้ทดลองขับ กำลังช่วงต้นอาจอืดไปบ้าง แต่ช่วงปลายไหลลื่น ไปได้แบบสบายๆ เร่งแซงคิคดาวน์อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ถึงรอบเครื่องสูงไปบ้าง การออกตัว และการเร่งแซง ต้องเรียนรู้และสร้างความคุ้นเคยกับเกียร์เสียก่อน ซึ่งถ้าคุ้นเคยแล้ว จะรู้จังหวะการเปลี่ยนเกียร์ ทำให้ขับได้ง่าย การใช้งานทั่วไปที่ความเร็ว 90 กม./ชม. รอบเครื่องอยู่ประมาณ 1,800 รตน. อยู่ในระดับที่ไม่สูง
โตโยตา คอมมิวเตอร์ ใหม่ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบแปรผัน รหัส 1GD-FTV แบบ 4 สูบ ขนาด 2.8 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 3,600 รตน. แรงบิดสูงสุด 42.8 กก.-ม. หรือ 420 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600-2,200 รตน. ระบบส่งกำลังมีทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมบวก/ลบ (SEQUENTIAL SHIFT) ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง
โตโยตา คอมมิวเตอร์ แม้จะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าเดิม แต่ไม่ได้เป็นปัญหา และเครื่อง ยนต์ที่ให้มามีแรงบิดสูงลงตัวกับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ทั้งช่วงการออกตัว และการเร่งแซง การใช้งานทั่วไปที่ความเร็ว 100 กม./ชม. ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,800 รตน. ในตำแหน่งเกียร์ 6
เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ 163 แรงม้า ตอบสนองดี อัตราเร่งพอตัว จากผลทดสอบด้วย ดาทรอน พบว่า อัตราเร่งตีนต้น 0-100 กม./ชม. และ 0-400 ม. รวมทั้งความเร็วปลาย 0-1,000 ม. ทำได้ 16.2/20.2/36.8 วินาที อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ตามหลัง เมร์เซเดส-เบนซ์ วีโต ทัวเรอร์ ที่มีขนาดตัวเล็กกว่า (มิติตัวรถ 5,370/1,928/1,880 มม.) แต่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ 2.1 ลิตร ให้กำลัง 163 แรงม้า เท่ากัน เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ (7G-TRONIC PLUS) ซึ่งทำเอาไว้ที่ 13.5/18.9/34.7 วินาที
อัตราเร่งยืดหยุ่น 60-100 และ 80-120 กม./ชม. ทำเวลาได้ที่ 8.7 และ 10.8 วินาที ในช่วงความเร็วสูงทำเวลาได้ดี จากการใช้รอบเครื่องยนต์ และเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หายใจ รดต้นคอ เมร์เซเดส-เบนซ์ วีโต ทัวเรอร์ ซึ่งทำเวลาไว้ที่ 8.0 และ 10.2 วินาที ตามลำดับ
อัตราสิ้นเปลืองของ คอมมิวเตอร์ ช่วงความเร็ว 60/80/100/120 กม./ชม. ทำได้ 20.3/ 15.7/12.9/10.3 กม./ลิตร ประหยัด แต่ยังเป็นรอง เมร์เซเดส-เบนซ์ วีโต ทัวเรอร์ ที่ทำเอาไว้ 22.1/18.7/15.9/12.5 กม./ลิตร
SUSPENSION ระบบรองรับ
ระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังเป็นแบบแหนบแผ่นซ้อนกัน รับน้ำหนักได้ดี ให้ความมั่นคง และมีเสถียรภาพในการขับขี่ตามแบบฉบับของรถยุโรป ทำได้ดีอาการเด้งน้อยมากทำให้นั่งในระยะทางไกลแล้วไม่เหนื่อย
เอมจี ใส่ระบบความปลอดภัยให้ วี 80 อย่างครบครัน ทั้งโครงสร้างตัวถังนิรภัย BFI (BODY FRAMELESS INTEGRATED) จานเบรคทั้ง 4 ล้อ และ 7 ระบบความปลอดภัยใน ESP (ELEC TRONIC STABILITY PROGRAM) ประกอบด้วย ระบบป้องกันล้อลอค (ABS) ระบบกระจายแรงเบรค (EBD) ระบบเสริมแรงเบรค (BAS) ระบบควบคุมการทรงตัว (VDC) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และควบคุมการลื่นไถล (TCS) ระบบลดความเสี่ยงที่จะทำให้พลิกคว่ำ (RMI) ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน (HHC) ซึ่งทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียว
นอกจากนี้ วี 80 ยังมาพร้อมระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง (TPMS) ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่
ระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังเป็นแบบแหนบแผ่นซ้อนกัน ที่ให้ความนุ่มนวล นั่งสบาย และลดอาการสั่นสะเทือนได้ดียิ่งขึ้น ส่วนระบบเบรคจัดเต็มด้วยจานเบรค แบบมีช่องระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ
จากผลทดสอบเบรค ที่ความเร็ว 60-0/80-0/100-0 กม./ชม. คอมมิวเตอร์ ทำได้ดี ระยะเบรคสั้นเพียง 15.8/27.4/42.7 ม. ดีกว่า เมร์เซเดส-เบนซ์ วีโต ทัวเรอร์ ที่ทำไว้ถึง 17.0/29.6/46.5 ม.
โตโยตา ยังใส่ระบบความปลอดภัยมาตรฐานให้กับ คอมมิวเตอร์ ครบ นอกจากโครงสร้างตัวถังนิรภัย (GOA) ระบบป้องกันล้อลอค (ABS) ระบบควบคุมการทรงตัว (VSC) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (TRC) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HAC) ระบบเสริมแรงเบรค (BA) ระบบควบคุมเฟืองท้าย (LSD) แล้ว ยังมีระบบแจ้งเตือนความเร็วที่ 100 กม./ชม. และระบบไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ เมื่อเบรคกะทันหัน (ESS) อีกด้วย
MG V80
ถ้าไม่เน้นรูปร่างหน้าตา และสมรรถนะ เอมจี วี 80 ดูเหมือนว่าจะตอบโจทย์เรื่องความคล่องตัวสูง สามารถใช้งานในเมือง และเดินทางออกต่างจังหวัดกับครอบครัวเพื่อพักผ่อนบ้างเป็นครั้งคราว รวมทั้งราคาค่าตัวที่อยู่ระดับล้านบาท เอมจี วี 80 ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้าม และถ้าจะเอาถูกกว่านี้ก็ยังมีรุ่นเกียร์ธรรมดาให้เลือก
TOYOTA COMMUTER
โตโยตา คอมมิวเตอร์ ใหม่ สามารถตอบสนองผู้ใช้รถที่ต้องการรถตู้ที่มีขนาดใหญ่ สามารถรองรับผู้โดยสารได้มาก และมีสมรรถนะเครื่องยนต์ที่ดีตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย รวมทั้งมีระยะเบรคที่ดี