ทดสอบ(formula)
OMODA C5 EV & JAECOO 6 EV
ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนเข้ามาทำตลาดในบ้านเรามากมาย หนึ่งในนั้น คือ บแรนด์ OMODA (โอโมดา) และ JAECOO (เจคู) โดยเป็นค่ายรถที่อยู่ใต้ชายคาบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน นั่นคือ CHERY (เชอรี) กับการนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้า 2 สไตล์ ที่มีความแตกต่างทั้งเส้นสาย และการใช้งานโดยรวม เราจึงมาทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่นพร้อมกัน นั่นคือ OMODA C5 EV (โอโมดา ซี 5 อีวี) และ JAECOO 6 EV (เจคู 6 อีวี)
EXTERIOR ภายนอก
รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่น มีเส้นสายที่แตกต่างกัน โดยทาง OMODA C5 EV ถูกออกแบบให้เป็นครอสส์โอเวอร์ที่ผสมมาดสปอร์ท ด้านหน้าของตัวรถมีความโฉบเฉี่ยว ไฟส่องสว่างเวลากลางวันรูปทรงคมกริบอยู่ด้านบน กระจังหน้าแบบปิดทึบพร้อมโลโกของ OMODA สามารถเปิดออกได้ ข้างในเป็นจุดชาร์จไฟฟ้าที่ถูกติดตั้งอยู่ด้านหน้า (ต่างจากหลายรุ่นที่มักจะติดตั้งด้านข้างของตัวรถ) บริเวณมุมกันชนหน้าเป็นจุดติดตั้งไฟส่องสว่าง ส่วนช่องรับอากาศด้านหน้าสามารถเปิด-ปิดได้ตามสภาวะการใช้งาน หลังคาของตัวรถมีลักษณะลาดเทจรดส่วนท้าย แลดูปราดเปรียว มีส่วนผสมของความเป็นสปอร์ทคูเป มากกว่าจะเน้นความบึกบึนใหญ่โต ขณะที่ล้อแมกมีขนาด 18 นิ้ว ลวดลายแบบปิดทึบเพื่อลดอากาศหมุนวนขณะแล่น (ยาง KUMHO ECSTA PS71 ขนาด 215/55 R18) เมื่อพิจารณาจากมิติตัวถังเบื้องต้น คือ ความยาว 4,424 มม. และความสูง 1,588 มม. น้อยกว่าคู่แข่งที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานอย่าง GEELY EX5 (จีลี อีเอกซ์ 5) กับมิติตัวถังส่วนนี้ที่ 4,615 และ 1,670 มม. โดยทาง EX5 เน้นความบึกบึนแบบเอสยูวีมากกว่า
ทางด้าน JAECOO 6 EV มาพร้อมเส้นสายที่มีความแปลกตา แต่ลงตัวในสไตล์ตัวลุยยุคใหม่ สันเหลี่ยมรอบคันบ่งบอกการเป็นตัวลุย โดยรุ่นทอพที่เรานำมาทดสอบจะติดตั้งราวหลังคามาให้ด้วย ไฟหน้ามีขนาดเรียวเล็ก วางตำแหน่งในแนวนอน รับกับกระจังหน้าที่เป็นช่องรับอากาศในตัว พร้อมโลโกตัว I ตรงกลาง เสริมความโดดเด่นด้วยไฟส่องสว่างเวลากลางวัน เรียงตัวในแนวตั้งบริเวณส่วนมุมของตัวถังส่วนหน้า มีลวดลายซิกแซก เสาเอมีมุมตั้งชันแบบตัวลุยยุคดั้งเดิม หลังคาทำมุมในแนวขนานกับพื้นถนน (แถมยังเล่นสีทูโทนด้วย) ไฟท้ายอยู่ในตัวตั้ง เพิ่มความโดดเด่นด้วยกล่องเก็บสัมภาระทรงเหลี่ยมบริเวณตรงกลางของประตูบานท้าย ให้ความรู้สึกคล้ายตัวลุยแบบดั้งเดิมที่จะมียางอะไหล่ติดตั้งด้านนอก ขณะที่ล้อแมกมีขนาด 19 นิ้ว ลวดลายแบบทรงปิดทึบ (เราคิดว่าน่าจะใช้ลวดลายให้สมกับเป็นตัวลุยมากกว่านี้) ส่วนยางของ GIT CONTROL P10 ขนาด 225/55 R19 หน้ายางไม่กว้างเท่าใดนัก ส่วนมิติตัวถังความยาว 4,406 มม. และระยะฐานล้อ 2,715 มม. ถือเป็น B-SUV ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับเอสยูวีราคาใกล้เคียงกัน แต่มีสไตล์แตกต่างกันอย่าง ZEEKR X (ซีเคอร์ เอกซ์) มีมิติตัวถังที่ 4,432 และ 2,750 มม. ถือว่าใกล้เคียงกันไม่น้อย
INTERIOR ภายใน
ห้องโดยสารของ OMODA C5 EV ถูกออกแบบให้มีความหรูหรา ผสมการใช้งานตามแบบฉบับรถยนต์ไฟฟ้ายุคปัจจุบัน จอแสดงผลขนาดใหญ่มีความยาวตั้งแต่ตรงกลางของคอนโซลหน้าจนถึงด้านหน้าของผู้ขับ แยกสัดส่วนการแสดงผลของระบบความบันเทิง และแสดงผลการขับขี่ต่างๆ ทำให้ส่วนแผงหน้าปัดมีขนาดใหญ่ มองเห็นได้ง่าย พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน การตกแต่งในห้องโดยสารมีรูปแบบดั้งเดิมเกินคาด และยังมีการใช้งานปุ่มกดแบบดั้งเดิม ตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่งลายไม้ ส่วนความกว้างขวางของเบาะคู่หน้าทำได้น่าพอใจ มีทัศนวิสัยที่ดี แต่เบาะด้านหลังมีพื้นที่จำกัดเล็กน้อย ตัวเบาะมีตำแหน่งต่ำลงมาพอสมควร เนื่องจากหลังคามีความลาดเท อย่างไรก็ตาม การโดยสารสามารถทำได้โดยไม่อึดอัดแต่อย่างใด โดยรวมเราคิดว่า รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้มีรูปแบบดั้งเดิมที่คุ้นเคยผสมอยู่ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการใช้โครงสร้างตัวถังร่วมกับ OMODA C5 ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความล้ำสมัยตามแบบฉบับรถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ก็อาจจะถูกลดทอนลงด้วย
หันมาทางด้าน JAECOO 6 EV กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ รวมถึงห้องโดยสารที่มีความทันสมัย เรียบง่าย ไร้ปุ่มใช้งานดั้งเดิมใดๆ จอแสดงผลขนาดใหญ่ การใช้งานต่างๆ ต้องทำผ่านหน้าจอ รวมถึงการปรับทิศทางกระจกมองข้าง (เปลี่ยนโหมดใช้งานในหน้าจอ และปรับทิศทางด้วยปุ่มมัลทิฟังค์ชันบนพวงมาลัย) รวมถึงการเปลี่ยนโหมดการขับขี่ และโหมดการลุยทางสมบุกสมบันจะต้องทำบนหน้าจอเช่นกัน ซึ่งจุดนี้เราคิดว่าไม่สะดวกต่อผู้ขับเท่าใดนัก โดยเฉพาะการลุยบนทางสมบุกสมบัน ทางผู้ผลิตน่าจะติดตั้งปุ่มเปลี่ยนโหมดการขับขี่เพิ่มเติมบริเวณใกล้ผู้ขับบ้าง ขณะที่ด้านหน้าผู้ขับมีจอแผงหน้าปัดเพิ่มเติม (มีขนาดค่อนข้างเล็ก) พวงมาลัย 3 ก้านทรงสปอร์ท จับได้กระชับมือ เบาะนั่งคู่หน้ามีความหนา พนักพิงศีรษะขนาดใหญ่ เบาะด้านหลังมีตำแหน่งค่อนข้างสูง เนื่องจากตัวถังทรงกล่องตามสไตล์ตัวลุย ทำให้ห้องโดยสารมีระยะศีรษะที่เหลือเฟือเช่นกัน
ENGINE เครื่องยนต์
OMODA C5 EV ใช้มอเตอร์ 1 ชุด ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า กำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 340 นิวทันเมตร/34.7 กก.ม. แบทเตอรีความจุ 61.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง โดยรุ่นที่เราทดสอบ คือ LONG RANGE ULTIMATE คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์เอสยูวีเช่นกัน นั่นคือ BYD ATTO 3 (บีวายดี อัตโต 3) กำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า เท่ากัน แต่ด้วยรูปแบบตัวถังที่แตกต่างกัน จะมีความแตกต่างแค่ไหน มาดูกันเลย
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. OMODA C5 EV ทำเวลาที่ 7.2 วินาที ส่วน BYD ATTO 3 คือ 8.2 วินาที ความเร็วช่วงตีนปลายกับระยะ 0-1,000 ม. ทาง C5 EV ทำได้ที่ 28.2 วินาที (ที่ความเร็ว 175.3 กม./ชม.) ขณะที่ ATTO 3 มีตัวเลขที่ 29.4 วินาที (ที่ความเร็ว 169.3 กม./ชม.) จากตัวเลขแต่ละชุดแสดงให้เห็นว่า รูปแบบตัวถังที่แตกต่างกัน ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่นมีอัตราเร่งที่แตกต่างกัน โดยทาง OMODA มีความฉับไวที่น่าพอใจเกินคาด แม้การตอบสนองจะเน้นความไหลลื่น ไม่หวือหวา
สำหรับอัตราเร่งยืดหยุ่นที่ความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. OMODA C5 EV คือ 3.3 และ 4.3 วินาที ถือว่ายังคงฉับไวเอาเรื่อง ส่วนทาง BYD ATTO 3 ทำได้ที่ 3.9 และ 4.9 วินาที ระยะห่างของอัตราเร่งมีการขยับเข้ามาใกล้กันอีกเล็กน้อย การตอบสนองของมอเตอร์ไฟฟ้ามีความฉับไวทั้ง 2 รุ่น การส่งกำลังมีความไหลลื่นจากแรงบิดที่สูง เป็นอีกครั้งที่ตัวถังที่ปราดเปรียวกว่าทำให้อัตราเร่งมีความได้เปรียบกว่าตัวถังแบบเอสยูวี แต่ก็ต้องแลกมากับความกว้างขวางของห้องโดยสารเช่นกัน
หันมาทางด้านรถยนต์ไฟฟ้าสายลุย JAECOO 6 EV รุ่นทอพ LONG RANGE 4WD มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา กำลังสูงสุด 205 กิโลวัตต์/279 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 385 นิวทันเมตร/39.3 กก.ม. คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนในราคา 1 ล้านบาทต้นๆ ใกล้เคียงกัน และขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา แต่ตัวถังเน้นความกะทัดรัด สมรรถนะสูง นั่นคือ ZEEKR X (ซีเคอร์ เอกซ์) รุ่นทอพ FLAGSHIP กำลังสูงสุด 315 กิโลวัตต์/428 แรงม้า คันหนึ่งโดดเด่นทางลุย อีกคันโดดเด่นทางเรียบ อัตราเร่งจะเป็นอย่างไร มาดูกัน
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. JAECOO 6 EV มีตัวเลขที่ 6.4 วินาที ถือว่าฉับไวไม่น้อย ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ทำให้การออกตัวทำได้ไหลลื่นยิ่งขึ้น ไม่มีอาการล้อหมุนฟรีให้สัมผัส แต่เมื่อหันมาดูทาง ZEEKR X ทำอัตราเร่งที่ดุดัน คือ 4.3 วินาที มีความได้เปรียบในทางเรียบอย่างชัดเจน ขณะที่ระยะ 0-1,000 ม. รถยนต์ไฟฟ้าของ JAECOO มีอัตราเร่งที่ 28.8 วินาที (ที่ความเร็ว 154.0 กม./ชม.) เราสังเกตว่า ความเร็วปลายของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับพละกำลังโดยรวมของตัวรถ ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแบบเน้นสมรรถนะของ ZEEKR ทำตัวเลขออกมาที่ 23.9 วินาที (ที่ความเร็ว 196.0 กม./ชม.) สามารถยืดระยะห่างของอัตราเร่งมากยิ่งขึ้น และมีความเร็วช่วงตีนปลายที่สูงมาก เป็นแนวทางของการเน้นสมรรถนะของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ แต่ในแง่ของประสิทธิภาพการลุย ทาง JAECOO 6 EV ย่อมได้เปรียบกว่าจากโหมดขับเคลื่อนทางลุยที่หลากหลาย และสามารถใช้งานได้จริง
ในแง่ของแบทเตอรีที่ใช้งาน OMODA C5 EV ใช้แบทเตอรีความจุ 61.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม คือ 505 กม. (NEDC) ถือว่าแล่นได้ไกลพอสมควร แต่การรองรับการชาร์จไฟฟ้าแบบ DC สูงสุดที่ 80 กิโลวัตต์เท่านั้น ถือว่าน้อยไปเล็กน้อย ทำให้ต้องใช้เวลาในการชาร์จนานขึ้น แต่อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่เราสังเกตขณะไปทดสอบอัตราเร่ง และการขับบนถนนจริง ยังมีตัวเลขที่น่าพอใจในสภาพการจราจรทั่วไป ขณะที่ JAECOO 6 EV ใช้แบทเตอรีความจุ 65.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม คือ 426 กม. (NEDC) เป็นจุดสังเกตที่เรามีความเห็นว่า ความจุของแบทเตอรี ตลอดจนระยะทำการสูงสุด ค่อนข้างน้อยไปเล็กน้อย ยิ่งในแง่ของการใช้งานบนทางสมบุกสมบันที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต้องระวังเรื่องระยะทางที่เหลืออยู่ให้ดี การขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา และการใช้โหมดลุยทางสมบุกสมบันย่อมจะสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
SUSPENSION ระบบรองรับ
ระบบรองรับของ OMODA C5 EV เน้นความนุ่มนวล แม้รูปทรงโดยรวมจะมีความปราดเปรียว มาดสปอร์ท มีข้อดีในแง่ของการใช้งานทั่วไป การบังคับควบคุมเบาแรง เข้าโค้งได้ดี เราสังเกตว่าแม้การตอบสนองของพวงมาลัยสามารถปรับแต่งได้ แต่ยังคงเน้นความนุ่มนวลอยู่ดี จากอัตราเร่งที่ฉับไวเกินคาด และเส้นสายที่เน้นมาดสปอร์ท เราคิดว่าทางผู้ผลิตสามารถปรับแต่งระบบรองรับให้หนึบแน่นกว่านี้ได้เล็กน้อย เพิ่มอารมณ์ขับสนุกของตัวรถ ส่วนระบบความปลอดภัย และระบบช่วยเหลือการขับขี่ ให้มาหลายรายการตามมาตรฐานของรถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ เช่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ ระบบเตือนจุดอับสายตา แม้หลายรายการจะเน้นการเตือนมากกว่าการช่วยเบรคอัตโนมัติ (เช่น ระบบเตือนเมื่อมีรถแล่นมาด้านหลังขณะถอย) ส่วนระยะเบรคที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. มีตัวเลขที่ 14.5/25.6/39.3 ม. ถือว่าทำได้ดีทีเดียว
ส่วน JAECOO 6 EV มีระบบรองรับที่หนึบนุ่มในระดับที่พอเหมาะ การขับบนทางเรียบมีความนิ่ง และควบคุมได้ดี แทบจะลืมไปเลยว่า นี่คือ รถยนต์ไฟฟ้าสายลุย โดยรุ่นทอพจะมีโหมดการขับขี่บนทางลุยเพิ่มเติม (ได้แก่ โหมด MUD SAND และ SNOW นอกเหนือจากรุ่นเริ่มต้นที่ขับเคลื่อน 2 ล้อ) ในแง่ของการลุยมีความยืดหยุ่นที่พอเหมาะ อย่างไรก็ตาม จุดที่ต้องระวัง คือ ระยะความสูงของตัวรถที่ค่อนข้างน้อย (เมื่อเทียบกับรถยนต์สายพันธุ์ลุยหลายรุ่น) การลุยทางสมบุกสมบันอาจต้องใช้ความระมัดระวังให้ดี เพราะชุดแบทเตอรีอยู่ใต้ท้องรถ เช่น การขับคร่อมเนินเตี้ย แต่การส่งกำลังไปยังล้อทั้ง 4 ตำแหน่ง สามารถแปรผันการส่งกำลังได้ดี สามารถลุยทางสมบุกสมบันแบบพื้นโคลนเลน พื้นทราย หรือการไต่เนินชัน สามารถทำได้มั่นคงดีมาก การลุยระดับปานกลางทำได้สบายหายห่วง ส่วนระยะเบรคที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. มีตัวเลขที่ 14.8/26.1/40.8 ม. ทำได้ดีตามมาตรฐานการทดสอบของเรา
OMODA C5 EV มาดสปอร์ทที่เข้มกว่านี้ได้อีก
OMODA C5 EV เป็นทางเลือกรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์ครอสส์โอเวอร์ ที่มีมาดสปอร์ทเข้ม อัตราเร่งทันใจในการใช้งานทั่วไป มีความอเนกประสงค์ ห้องโดยสารของเบาะคู่หน้ามีความกว้างขวาง แต่การตกแต่งโดยรวมดูไม่ล้ำสมัยมากนัก ส่วนหนึ่งจากการใช้งานโครงสร้างตัวถังร่วมกับ OMODA C5 ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป (ทำตลาดในประเทศจีนมาระยะหนึ่งแล้ว) จุดที่น่าสนใจ คือ ราคาในช่วง 899,000-949,000 บาท เหมาะสำหรับคนที่มองหารถยนต์ไฟฟ้าราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท
JAECOO 6 EV แรงในทางเรียบ และพร้อมลุยเช่นกัน
JAECOO 6 EV เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เส้นสายที่เน้นสันเหลี่ยม บ่งบอกความเป็นตัวลุยได้ชัดเจน (แตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าที่มักจะเน้นเส้นสายที่ปราดเปรียว) พละกำลังของรุ่นทอพที่ค่อนข้างสูง ระบบรองรับที่ใช้งานบนทางเรียบได้ดี และโหมดขับเคลื่อนสำหรับทางสมบุกสมบันระดับปานกลางได้ดีเช่นกัน แต่ระยะทำการสูงสุดค่อนข้างน้อยไปเล็กน้อย และการใช้งานต่างๆ ต้องทำผ่านหน้าจอทั้งหมด ควรมีปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมมากกว่านี้ ส่วนราคาที่ 1,099,000-1,249,000 บาท จัดอยู่ในระดับ B-SUV หลายรุ่น หากต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพทางเรียบควบคู่กับทางลุย JAECOO 6 EV เป็นตัวเลือกเดียวในระดับราคาดังกล่าว