ทดสอบ(formula)
KIA EV5 & EV9 รถยนต์ไฟฟ้า 2 เซกเมนท์จากแดนโสม !
ท่ามกลางค่ายรถยนต์ไฟฟ้ามากมายหลายบแรนด์ แม้จะนำโดยค่ายรถจากประเทศจีน แต่เอาเข้าจริงยังมีทางเลือกจากอีกหนึ่งประเทศ นั่นคือ KIA จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในค่ายรถที่หันแนวทางสู่รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ครั้งนี้เรามาทดสอบรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่น นั่นคือ KIA EV5 และ KIA EV9 รถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่น 2 ระดับราคา แต่ละรุ่นจะมีความลงตัวแค่ไหน มาทดสอบกัน
EXTERIOR ภายนอก
สำหรับ KIA EV5 (เกีย อีวี 5) มีรูปทรงในสไตล์เอสยูวี ที่เน้นสันเหลี่ยมรอบคัน ผสมความทันสมัยอย่างลงตัว ไฟหน้าทรงเรียว กลมกลืนกับสันเหลี่ยมรอบตัวรถ แต่ยังคงผสมผสานรูปแบบของรถยนต์สายลุยเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นซุ้มล้อทรงเหลี่ยม ขณะที่ล้อแมกขนาด 19 นิ้ว ลวดลายแบบปิดทึบเพื่อเพิ่มอากาศพลศาสตร์ขณะแล่นทางไกล และช่วยให้มีระยะทำการสูงสุดได้ที่เหมาะสมด้วย ขนาดตัวโดยรวมของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้อยู่ในระดับซี-เซกเมนท์ เลยก็ว่าได้
ส่วน KIA EV9 (เกีย อีวี 9) มีตัวถังที่สะท้อนความเป็น “รุ่นใหญ่” ของสายพันธุ์รถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายรถประเทศเกาหลีใต้ สันเหลี่ยมรอบคัน ผสมความทันสมัย ซึ่งเป็นแนวทางของบรรดารหัส “EV” แทบทุกรุ่น แต่สำหรับ EV9 จะมีสัดส่วนของการเป็นเอสยูวีมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นมัดกล้ามที่ดูชัดเจน ซุ้มล้อขนาดใหญ่ พร้อมล้อแมกขนาดใหญ่ถึง 21 นิ้ว เทียบชั้นเอสยูวีรุ่นใหญ่ของประเทศในแถบยุโรปได้สบาย จุดเด่นอีกประการ คือ ไฟหน้าที่เรียงตัวในแนวตั้ง ดูดุดันไปอีกแบบ
INTERIOR ภายใน
ห้องโดยสารของ KIA EV5 มีการออกแบบที่เน้นการใช้งานแบบดั้งเดิมเอาไว้เป็นอย่างดี เห็นได้จากบรรดาปุ่มใช้งานต่างๆ ยังคงมีติดตั้งเอาไว้อย่างหลากหลาย ต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ที่มักจะมีการใช้งานผ่านหน้าจอหลักแทบทั้งหมด (มีปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย) แม้รูปแบบดังกล่าวจะลดทอนความล้ำสมัยลงไปบ้าง แต่เป็นข้อดีของคนที่ยังใช้งานรถยนต์แบบดั้งเดิม สามารถทำความคุ้นเคยได้ไม่ยาก นอกจากนี้ เบาะคู่หน้ายังมีความกว้างขวางอย่างน่าพอใจ ทัศนวิสัยรอบคันมีความปลอดโปร่ง แม้ตัวถังจะเน้นสันเหลี่ยมก็ตาม ส่วนเบาะด้านหลังมีระยะเหนือศีรษะที่เหลือเฟือ โปร่งโล่งด้วยหลังคาซันรูฟพาโนรามิค แต่ระยะช่วงขามีให้พอสมควร แต่ไม่ถึงกับมากมายนัก
ทางด้าน KIA EV9 มีห้องโดยสารขนาดใหญ่ รับกับตัวถังที่บึกบึน นอกจากนี้ ยังมาพร้อมเบาะนั่งทั้งหมด 6 ตำแหน่ง (จำนวน 3 แถว) เสริมความสะดวกสบายด้วยระบบนวดไฟฟ้าในเบาะแถวที่ 1 และ 2 พื้นที่ของผู้โดยสารมีให้อย่างเหลือเฟือ ในเรื่องความกว้างขวางถือว่า “สมศักดิ์ศรี” ของรุ่นใหญ่สายพันธุ์รถยนต์ไฟฟ้า การออกแบบโดยรวมยังเน้นการใช้งานแบบดั้งเดิม มีปุ่มให้ใช้งานมากมาย การออกแบบโดยรวมเป็นแม่แบบของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ (รวมถึงรุ่นน้องอย่าง EV5) รวมถึงการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น บริเวณคอนโซล และส่วนประกอบต่างๆ ภายในห้องโดยสาร ลักษณะการจัดวางเบาะนั่งจะมีการเว้นช่องว่างเอาไว้ในแต่ละแถว สามารถย้ายตำแหน่งเบาะนั่งในแต่ละแถวได้สะดวก จัดว่าทำได้ดีไม่แพ้เอมพีวีขนาดใหญ่เลยทีเดียว
ENGINE เครื่องยนต์
EV5 รุ่น EARTH EXCLUSIVE AWD ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ (หน้า-หลัง) ได้กำลังรวม 230 กิโลวัตต์/308 แรงม้า มีแรงบิดสูงถึง 480 นิวทันเมตร/48.9 กก.ม. ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 1 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ส่วนคู่เปรียบเทียบ คือ รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนระดับหรู และมีความแปลกใหม่ นั่นคือ HYPTEC HT (ไฮพ์เทค เอชที) รุ่นทอพ LUXURY GULL WING มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 313 แรงม้า ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง
EV5 AWD มีอัตราเร่งช่วงตีนต้น 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลา 6.5 วินาที ส่วน HYPTEC HT 6.8 วินาที แม้พละกำลังจะน้อยกว่าเล็กน้อย แต่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ทำให้อัตราเร่งเฉือนเวลาได้ฉิวเฉียด
ขยับมาที่ช่วงความเร็วตีนปลายกับระยะ 0-1,000 ม. KIA EV5 ทำเวลาได้ 26.8 วินาที (ที่ความเร็ว 190.1 กม./ชม.) ขณะที่ HYPEC HT คือ 27.6 วินาที (ที่ความเร็ว 187.2 กม./ชม.) อัตราเร่งยังคงมีความสูสีแม้ในช่วงความเร็วสูง ทาง EV5 มีความเร็วสูงสุดมากกว่าเล็กน้อย และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลายังช่วยอัตราเร่งได้ดี แม้ตัวถังมีขนาดใหญ่
ส่วนอัตราเร่งยืดหยุ่นที่ 60-100 และ 80-120 กม./ชม. EV5 AWD ทำอัตราเร่งได้ที่ 3.0 และ 3.8 วินาที ส่วน HYPTEC HT มีตัวเลขที่ 3.0 และ 4.1 วินาที ในช่วงความเร็วไม่สูงมาก อัตราเร่งกลับเท่ากันพอดี แต่เมื่อเพิ่มช่วงความเร็วมากขึ้น KIA EV5 ขึ้นนำหน้าได้เล็กน้อย โดยรวมแล้วรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่น มีอัตราเร่งใกล้เคียงกัน แม้ระบบขับเคลื่อนจะต่างกัน
ส่วนการใช้งานระบบแบทเตอรีมีความจุ 88.1 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม คือ 620 กม. (มาตรฐาน NEDC) รองรับการชาร์จแบบกระแสตรง (DC) สูงสุด 141 กิโลวัตต์ ส่วน HYPTEC HT แบทเตอรีความจุ 83.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีระยะทำการสูงสุด620 กม. (มาตรฐาน NEDC) แต่มีความได้เปรียบที่ระบบไฟฟ้าแบบ 800 โวล์ท รองรับชาร์จแบบ DC สูงสุดถึง 280 กิโลวัตต์
หันมาทางรุ่นใหญ่ KIA EV9 รุ่น GT-LINE AWD มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ กำลังสูงสุดทั้งระบบ 282.6 กิโลวัตต์/384 แรงม้า ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติยุโรป มีราคาระดับ 3 ล้านบาทปลายๆ ใกล้เคียงกัน นั่นคือ BMW IX3 M SPORT PRO มอเตอร์ไฟฟ้า 1 ชุด กำลังสูงสุด 286 แรงม้า ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. EV9 GT-LINE AWD ทำเวลาได้ในเวลา 5.4 วินาที ขณะที่ BMW IX3 ทำเวลาที่ 6.6 วินาที ด้วยพละกำลังที่มากกว่า และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา อัตราเร่งของ EV9 มีความได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด แม้ตัวถังจะมีขนาดใหญ่กว่าก็ตาม
ช่วงตีนปลายกับระยะ 0-1,000 ม. EV9 ทำเวลาได้ที่ 25.5 วินาที (ที่ความเร็ว 202.2 กม./ชม.) ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเยอรมันอย่าง IX3 มีตัวเลขที่ 27.5 วินาที (ที่ความเร็ว 174.4 กม./ชม.) พละกำลัง และระบบขับเคลื่อนของ KIA EV9 ยังคงสร้างความได้เปรียบพอสมควร
ส่วนอัตราเร่งยืดหยุ่นที่ 60-100 และ 80-120 กม./ชม. KIA EV9 ทำอัตราเร่งได้ที่ 2.7 และ 3.6 วินาที ขณะที่ BMW IX3 คือ 3.1 และ 4.0 วินาที ตัวเลขอัตราอาจไม่ห่างกันมากนัก แต่รถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่าง EV9 มีประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้าที่ดี ทำอัตราเร่งได้น่าพอใจ มีความได้เปรียบรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กกว่าได้
นอกจากนี้ KIA EV9 ใช้แบทเตอรีขนาดความจุ 99.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุด 647 กม. (มาตรฐาน NEDC) รองรับการชาร์จแบบกระแสตรง (DC) สูงสุด 350 กิโลวัตต์ จากระบบไฟฟ้าแบบ 800 โวล์ท จัดเป็นสเปคของระบบไฟฟ้าที่ล้ำสมัยพอสมควร รองรับการชาร์จกระแสไฟฟ้าได้สูง และแล่นได้เป็นระยะทางค่อนข้างไกล ส่วน BMW IX3 เป็นระบบไฟฟ้าที่ทำตลาดมาสักพักใหญ่แล้ว กับแบทเตอรีความจุ 74.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุด 460 กม. (แต่เป็นมาตรฐาน WLTP) รองรับการชาร์จไฟฟ้าแบบ DC ที่ 150 กิโลวัตต์เท่านั้น
SUSPENSION ระบบรองรับ
KIA EV5 ปรับแต่งระบบรองรับที่เน้นความนุ่มนวล มีประโยชน์ในการขับขี่ช่วงความเร็วต่ำ (เช่น ในตัวเมือง) ระบบรองรับดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีมาก การโดยสารทั้งด้านหน้า และด้านหลัง มีความสะดวกสบาย อย่างไรก็ตาม การแล่นในทางตรงที่ความเร็วสูง รวมถึงการขับในทางโค้งต่อเนื่อง ตัวรถมีอาการโคลงให้สัมผัสได้ชัดเจน หากเป็นไปได้เราอยากให้ผู้ผลิตปรับแต่งให้ระบบรองรับมีความหนึบแน่นมากกว่านี้อีกเล็กน้อย (โดยไม่ลดทอนความมั่นคงขณะขับขี่)
สำหรับ KIA EV9 มีการปรับแต่งระบบรองรับให้มีความหนึบแน่นในระดับที่เหมาะสม ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับเอสยูวีสัญชาติยุโรปที่มีขนาดใหญ่ การตอบสนองของระบบรองรับให้ความรู้สึกที่มั่นคง รวมถึงพวงมาลัยที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก แต่ยังสามารถหักเลี้ยวได้ดังใจ แปรผันน้ำหนักพวงมาลัยได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ล้อแมกที่มีขนาดใหญ่ และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ทำให้ตัวรถมีการขับขี่ที่น่าพอใจยิ่งขึ้น
รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเกาหลีใต้ ลงตัว น่าลอง
จากการทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่น แม้จะมีเซกเมนท์ที่แตกต่างกัน แต่ KIA EV5 และ EV9 มีจุดร่วมบางอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มค่าตามระดับราคาของแต่ละรุ่น ออพชันที่ติดตั้งมาให้มีความครบครัน สมรรถนะโดยรวมที่มีความฉับไว แม้ตัวถังจะมีความบึกบึน และใหญ่โตก็ตาม โดยทาง EV5 มีการพัฒนา และปรับแต่งมาจากประเทศจีน (แม้จะทำตลาดหลายประเทศทั่วโลก) การบังคับควบคุมจึงเน้นความนุ่มนวลมากกว่า เมื่อเทียบกับ EV9 มีการพัฒนาตัวรถ และมีการผลิตจากประเทศเกาหลีใต้โดยตรง การปรับแต่งโดยรวมจึงมีความหนึบแน่นมากกว่า ส่วนประสิทธิภาพของมอเตอร์ไฟฟ้า และแบทเตอรี ทำได้ยอดเยี่ยม มีระยะทำการสูงสุดที่เหมาะสม หากทางผู้ผลิตสามารถนำองค์ประกอบของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหญ่ EV9 มาใส่ในรุ่นน้องอย่าง EV5 ได้มากกว่านี้ เชื่อว่ารหัส “EV” จะเป็นหัวแถวของรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจกว่ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนก็เป็นได้ !