รายงาน(formula)
แอสตัน มาร์ทิน/ลัมโบร์กินี ผจญภัยบนผืนน้ำแข็ง
ครั้งนี้เรามีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมทดลองขับ 2 วัน แม้ไม่ถึงกับเป็นทางการเสียทีเดียว แต่ก็ได้สาระประโยชน์ไม่น้อย รถที่ใช้ในกิจกรรม คือ แอสตัน มาร์ทิน สปอร์ทระดับหรู ราคาแพง บนทะเลสาบน้ำแข็ง ณ เมืองลัพลันด์ (LAPLAND) สมทบด้วยบรรดาลูกค้าผู้มั่งมีของค่ายรถแห่งนี้การเดินทางเริ่มขึ้นที่สนามบินขนาดเล็กชื่อ อาร์วิดสเหยาร์ (ARVIDSJAUR) เมืองลัพลันด์ ประเทศสวีเดน เมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์รถที่เคยนำมาทดลองขับ ตั้งแต่ปี 1960 สถานที่แห่งนี้มีรูปวาดจากบรรดาเด็กน้อย พร้อมเขียนคำบรรยายว่า “โพร์เช สีแดงบนท้องถนน และหมู่ไม้” และยังมีภาพบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่เคยเสด็จมาเยี่ยมเยียน ณ ศูนย์พัฒนาของ โบช ในอดีต (สถานที่ทดสอบระบบเบรคเอบีเอสเป็นครั้งแรก) เที่ยวบินนี้ใช้เวลาเดินทางร่วม 2 ชม. จากเมืองสตอคโฮม ด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบขนาดเล็ก นำพาพวกเราสู่จุดหมาย ผู้โดยสารเป็นชายล้วน ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกแต่จริง นั่งกันอย่างอุดอู้ในเก้าอี้ขนาดเล็ก สวมใส่เครื่องแบบ พร้อมโลโกบแรนด์ โวลโว และ บเรมโบ ให้ความรู้สึกราวกับเป็นการทัศนศึกษาของโรงเรียนชายล้วนอย่างไรอย่างนั้น แต่นี่คือ การทัศนศึกษาที่จัดขึ้นสำหรับผู้เป็นเจ้าของ แอสตัน มาร์ทิน เท่านั้น และสิ่งที่รอคอย คือ การทดลองขับที่ท้าทายความสามารถ ด้วยระยะเวลา 2 วัน บนผืนน้ำแข็งที่ถูกหิมะปกคุมกว้างใหญ่ และหนึ่งในกลุ่มที่เราได้เจอระหว่างการทดลองขับ คือ สุภาพบุรุษที่เดินทางมาสมทบพร้อมลูกชาย จากประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทกองทุนหลักทรัพย์ เดินทางมาด้วยเครื่องบินส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีหญิงสาวจากแดนไกลเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (เป็นผู้ร่วมโดยสารในรถกับทีมงานของเราขณะทำการทดลองขับ) ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการบริษัทนำเข้า/ส่งออก เธอเดินทางมาที่นี่พร้อมกับเพื่อนสาวอีก 2 คน หนึ่งในนั้นเป็นสุภาพสตรีจากเมืองรอทเตอร์ดัม (ROTTERDAM) พร้อมเจ้าแมวคู่ใจชื่อ แบทแมน นอกจากนี้ยังมี 2 พี่น้องชาวโปรตุเกส ที่เป็นเจ้าของกิจการบ่อน้ำมันร่วมเดินทางมาทดลองขับ เมื่อย้อนกลับไปดูเหล่าผู้ฝึกสอน และผู้บริหารของ แอสตัน มาร์ทิน แต่ละคนดูเคร่งขรึมราวกับอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน ก็ไม่ปาน โดยมีอาจารย์ใหญ่คือ โวล์ฟกัง ชูเบาเอร์ (WOLFGANG SCHUHBAUER) หัวหน้าผู้ฝึก และยังเป็นหัวหน้าประจำศูนย์ฝึกของสนามแข่งรถนืร์บวร์กริง (NURBURGRING) อีกด้วย ก่อนที่จะเริ่มทำการทดลองขับ ทางผู้จัดจะให้เซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน โดยเอกสารนั้นระบุว่า เราต้องยินยอมชดใช้ค่าเสียหายหากเกิดอุบัติเหตุใดๆ กับรถที่ใช้ทดลองขับ ทำให้เราต้องครุ่นคิดถึงส่วนประกอบตัวถังที่ใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ หรือระบบกลไกอันแสนซับซ้อนของรถรุ่นนี้ (แถมเราจำเป็นต้องได้ออกแรงกับส่วนประกอบเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้เสียด้วย) พูดง่ายๆ คือ ราคาอะไหล่ของรถเหล่านี้มีราคาแสนแพง เทียบเท่าวงเงินกู้สินเชื่อส่วนตัวของผมถึง 3-4 เท่า นั่นเชียว นอกจากนี้เรายังพบกับคำถามที่ให้ความรู้สึกราวกับการเป็นนักเรียนหน้าใหม่กำลังถูกอาจารย์ถามกลางห้องเรียน สิ่งที่พวกเขาต้องการจะทราบคือ เราควรจะถูกจัดหมวดหมู่อย่างไร ระหว่างผู้มีอันจะกิน หรือผู้ไม่มีอันจะกิน คำถามนั้นระบุว่า “คุณใช้รถรุ่นไหนเป็นพาหนะส่วนตัว ?” เราตอบไปว่า “มาซดา เอมเอกซ์-5 รุ่นปี 1997” ขณะเดียวกัน ทีมผู้ฝึกจากประเทศเยอรมนี เคร่งขรึมราวกับอาจารย์สอนหนังสือ ก็เตรียมงานกันอย่างขะมักเขม้น ในวันแรกของการทดลองขับ คณะของเรามีกำหนดเวลาออกจากโรงแรมที่พัก เวลา 9:30 น. ตรง แต่ว่า ณ เวลา 9:31 น. เรากลับนั่งจิบกาแฟอย่างสบายใจ โดยมีเหล่าทีมงานนั่งอยู่ใกล้ๆ ด้วยอารมณ์คุกรุ่น เขาอาจจะพาลคิดไปว่าเราเป็นเพียง “ประชาชนชาวอิตาลีทั่วไป” ที่ชอบมาสายอยู่เป็นนิจ จากนั้นคณะของเราโดยสารรถ เอมพีวี ของ เมร์เซเดส-เบนซ์ ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา มุ่งหน้าสู่ทะเลสาบน้ำแข็ง เราได้มีโอกาสพูดคุยทำความคุ้นเคยกับ 2 พี่น้องชาวโปรตุเกส ตามประสาคนที่มีถิ่นกำเนิดจากยุโรปตอนใต้ที่ส่วนใหญ่มีความเป็นกันเอง หลังจากสนทนากันได้ 10 นาที หนึ่งในพี่น้องชาวโปรตุเกส ก็ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ไปเข้าห้องน้ำ แต่ก็ได้รับคำปฏิเสธอย่างไม่ไยดีจากเหล่าคณะผู้ฝึก “ขอโทษด้วยครับ เราให้เวลาคุณไปแล้วก่อนหน้านี้” จากนั้นการสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่นโดยไม่มีเรื่องของฐานะทางการเงินมาเกี่ยวข้อง เราพูดคุยกับเพื่อนชาวโปรตุเกส อย่างออกรส หนึ่งในนั้นเล่ามุกตลกเกี่ยวกับ นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเยอรมนี ชื่อ ฟเรา แมร์เคล (FRAU MERKEL) โดยมีทนายความชาวเยอรมันจากเมืองดึสเซลโดร์ฟ (DUESSELDORF) นั่งทำเป็นหูทวนลมถัดจากพวกเราไม่ไกล คู่หูของเราชื่อ ซูกิ (หรือ ฟูกิ) เมื่อเดินทางมาถึงทะเลสาบ ซึ่งเป็นสถานที่ทดลองขับ เจ้าหน้าที่อธิบายให้พวกเราฟังว่า ในช่วงหน้าหนาว ทะเลสาบแห่งนี้จะถูกปกคลุมด้วยผืนน้ำแข็ง จากการปกคุมของหิมะมีความหนาร่วม 1 เมตร ดังนั้นรับประกันได้ว่ารถจะไม่จมน้ำ จากการแตกตัวของน้ำแข็งอย่างแน่นอน รถสปอร์ทคันงาม สะท้อนแสงวาววับ เรียงรายต่อหน้าพวกเรา ได้แก่ ดีบี 9 ที่ดูคล้ายกับ ดีบี 5 ของ เจมส์ บอนด์ ถัดมาคือ วานเทจ เครื่องยนต์ วี 8 และ วี 12 สูบ ส่วน แวนควิช รถสปอร์ทสมรรถนะสูง เปิดประทุน เครื่องยนต์ วี 12 สูบ (อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 3.8 วินาที กำลังสูงสุด 574 แรงม้า) ปิดท้าย คือ ราพีด สปอร์ทซีดานตัวแรง พร้อมกับลูกค้าที่ร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ การทดลองขับจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม (น่าเสียดายที่สุภาพสตรีชาวเนเธอร์แลนด์ที่มากับแมวชื่อ แบทแมน ถูกแยกไปกลุ่มอื่น) เราอยู่กลุ่มเดียวกับสตรีชาวญี่ปุ่น ที่ดูเป็นมิตร และเป็นกันเอง เธอแนะนำตัวว่า ชื่อ ซูกิ หรือ ฟูกิ ก็จำไม่ได้แน่ชัด แม้จะนั่งอยู่ในรถคันเดียวกันถึง 2 วันก็ตาม อายุน่าจะราวๆ 35-40 ปี เธอเดินทางมากับเพื่อนอีก 2 คน กลุ่ม 3 สาวเหล่านี้มักจะสังสรรค์เสมอตามประสาสตรี และผู้ร่วมทดลองขับ อีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายชาวญี่ปุ่น แลดูอาวุโสกว่าเรา เขาไม่พูดภาษาอังกฤษแม้แต่คำเดียว แถมเผลอเอามือไปปัดก้านไฟเลี้ยวทุกครั้งที่ต้องหักพวงมาลัยบนผืนน้ำแข็ง เพื่อนผู้ร่วมโดยสารอีกคน ชื่อ ชิเครุ ดูอ่อนวัยกว่าเพื่อน มาพร้อมทรงผมฟูตั้ง แบบ แอฟโร ติดโทรศัพท์มือถือ ไอโฟนหุ้มด้วยเคสกันกระแทกลาย บรูศ ลี การทดลองขับทุกครั้งเขาจะได้เริ่มเป็นคนแรกเสมอ หลังจบกิจกรรม เขาได้รับรางวัลปลอบใจ เป็นถ้วยรูปทรงกระโจมเอสกิโม ส่วน ซูกิ อนุญาตให้เราขับ ดีบี 9 แทนเธอ เนื่องจากเป็นรถที่มีสมรรถนะดุดันที่สุด เสียงเครื่องยนต์คำรามก้อง ที่ชวนให้เรารู้สึกหวั่นไหวขณะขึ้นไปนั่งบนเบาะฝั่งผู้ขับ ทีแรกมองหาช่องเสียบกุญแจ หรือปุ่มสำหรับสตาร์ทเครื่องยนต์ แต่ ซูกิ บอกอย่างนุ่มนวลว่า รถคันนี้สตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยกุญแจรูปทรงเหมือนคริสตัล เธอยังเสริมอีกว่า ไม่ควรทำกุญแจชิ้นนี้แตก หรือเสียหาย เพราะมูลค่าของมันสูงถึง 3,000 ยูโร (ประมาณ 114,000 บาท) นั่นเชียว เธอชี้ให้เราสอดกุญแจระยิบระยับอันนี้ลงในช่องขนาดเล็กบนคอนโซลหน้า จากนั้นก็กดลงไป เครื่องยนต์ วี 12 สูบ ก็เริ่มส่งเสียงคำรามขึ้นมา และ ซูกิ ถามว่าคุณใช้รถอะไรในชีวิตประจำวัน เราตอบไป และเธอก็พูดว่า “อ๋อ มัทสึดะ” เราทวนคำตอบอีกครั้ง “ไม่ใช่ครับ มาซดา” เธอก็ยังคงพูดว่า “ใช่แล้วค่ะ มัทสึดะ” และการสนทนาก็วนเวียนอยู่ประมาณนี้ราว 10 นาที จนกระทั่งเราเข้าใจแล้วว่า คำว่า MAZDA ออกเสียงเป็น “มัทสึดะ” สำหรับชาวญี่ปุ่น ทำเอารู้สึกว่าตัวเองเป็นพระเอกในหนังเรื่อง “หลง เหงา รัก” (LOST IN TRANSLATION) ในเมืองลัปเลินด์ ซะงั้น ในที่สุดเริ่มการทดลองขับ เราขับด้วยความเร็วที่ต่ำมาก ราวกับคนชราภาพกำลังขับรถก็ว่าได้ ครูฝึกที่ชื่อ ชูเบาเอร์ คอยออกคำสั่งผ่านวิทยุสื่อสารระยะใกล้ที่วางไว้บริเวณคอนโซลหน้า ด้วยน้ำเสียงที่เฉียบขาดว่า “กดคันเร่งมากขึ้นอีก !” “กดคันเร่งมากกว่านี้สิ มิเกล !” ระหว่างการฝึกสอนเพิ่มเติมแบบตัวต่อตัว เขาติติงที่เราไม่มีความกล้ามากพอ “คุณไม่ให้ความร่วมมือเลย มิเกล คุณควรสนุกไปกับมันสิ พวกเรามาที่นี่เพื่อสนุกสนานกัน !” เขาอาจจะพูดถูก แต่เราไม่อาจทำใจได้กับเอกสารสัญญาการยินยอมที่เซ็นรับเอาไว้ก่อนหน้านี้ หลังจากนั้น (อาจจะเพราะเราเป็นสื่อมวลชนสายยานยนต์ หรือเพราะเราเป็นผู้ขับที่ไม่มีอันจะกินก็เป็นได้) เราถูกจัดให้ทดลองขับเพิ่มเติมกับครูฝึก ชูเบาเอร์ แบบตัวต่อตัว เขาเคี่ยวเข็ญเราอย่างหนักหน่วง ราวกับเป็นนักเรียนที่ไม่ยอมเชื่อฟังครูอาจารย์ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ชมว่า เราพัฒนาเรื่องการขับขี่ได้อย่างยอดเยี่ยม ในที่สุดก็อนุญาตให้เรากลับมาขับรถคันเดิม ร่วมกับ ซูกิ อีกครั้ง ขณะขับเธอปั่นยางจนล้อหมุนฟรีอยู่หลายครั้ง และรู้สึกสนุกสนานมากขึ้น ตลอดวันที่ทดลองขับ เราทำรถหลุดออกนอกเส้นทางหลายครั้ง และต้องถูกลากจูงกลับมายังบริเวณทะเลสาบด้วยเชือกชนิดพิเศษ แต่ละครั้งที่ถูกลากจูงกลับมา จะได้รับรางวัลเป็นหมุดรูปกวาง ทางด้านเจ้าของบ่อน้ำมันชาวโปรตุเกส ทั้ง 2 คน ทำความเสียหายกับ แวนควิช และได้รับหมุดไปหลายอัน คืนสุดท้ายมีพิธีมอบรางวัล จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในกระโจมน้ำแข็ง วงดนตรีเล่นเพลงของวง แอบบา (ABBA) ชื่อว่า “ราชินีแห่งการเริงระบำ” พร้อมสรรพด้วยเบียร์ ขนมหวาน และแฮมที่ทำจากเนื้อกวาง (เพื่อนของเราที่เป็น มังสวิรัติ อาจมีเคืองได้ ถ้าเห็นเมนูดังกล่าว) ขณะที่นักการเงินชาวโปแลนด์ ให้ความเห็นว่า งานเลี้ยงจัดได้อย่างยอดเยี่ยม แต่เบียร์ในงานทดลองขับของ โรลล์ส-รอยศ์ ที่จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว มีรสชาติดีกว่ากันเยอะ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะบังคับควบคุมรถสปอร์ท ที่มีพละกำลังกว่า 500 แรงม้า ให้อยู่ในแนวตรง ขณะที่เครื่องยนต์ วี 12 สูบ คำรามอย่างบ้าคลั่ง กระตุ้นเร้าให้เลือดสูบฉีด หลั่งอดรีนาลีนแผ่ซ่านทั่วร่างกาย นำมาซึ่งความสนุกตื่นเต้นถึงที่สุด ภาพบางส่วนจากการทดลองขับตลอด 2 วัน นักขับคนเก่งของเราไม่สวมถุงมือเลยขณะทำการทดลองขับ ภายใต้อุณหภูมิเย็นยะเยือกร่วม -20 องศาเซลเซียส รูปตรงกันข้าม ผู้เข้าร่วมทดลองขับคนอื่นนั่งรอให้เจ้าหน้าที่มาลากจูงรถของพวกเขากลับสู่บริเวณทะเลสาบ เจ้าแมวที่มีชื่อว่า แบทแมน ร่วมทดลองขับบน “ผืนน้ำแข็ง” มีค่าการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ที่ 6,395 ยูโร (ประมาณ 244,000 บาท) และสงวนสิทธิ์เฉพาะลูกค้ารถ แอสตัน มาร์ทิน เท่านั้น ในยุโรป ถูกจัดขึ้นที่เมืองลัปเลินด์ ส่วนสหรัฐอเมริกา ถูกจัดขึ้นที่เมืองโคโลราโด หลักสูตรการขับขี่บนลานน้ำแข็งของ ลัมโบร์กินี เรียนรู้ท่ามกลางผืนน้ำแข็ง หลายคนอาจคิดว่า การขับรถที่มีพละกำลังกว่า 610 แรงม้า ของ อูรากัน หรือ 700 แรงม้า ของ อเวนตาโดร์ บนผืนน้ำแข็ง เป็นเรื่องที่บ้าบิ่นเกินตัว และสิ่งนั้นก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว หากได้รับการฝึกสอนมาอย่างถูกต้อง เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว หลักสูตรการขับขี่ท่ามกลางหิมะ และพื้นน้ำแข็ง เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกสอนจากทางค่าย ลัมโบร์กินี มาหลายปีแล้ว การขับขี่รถยนต์ในหน้าหนาว (ฝึกสอนโดยนักแข่งรถ ลัมโบร์กินี) ซึ่งตระเวนมาแล้วหลายแห่ง ทั้งเมืองนากาโน ในประเทศญี่ปุ่น ถัดมาคือ เมืองแอสเปน โคโลราโด และปิดท้ายหลักสูตรที่โดมกระจก ณ เมืองลีวินโญ (LIVIGNO) ประเทศอิตาลี เราเปรียบเทียบผู้ฝึกสอนเหล่านี้เสมือนเป็นคณะละครสัตว์ที่ตระเวนแสดงไปทั่วโลก (ส่วนการขับในสนามแข่งรถจะเริ่มเร็วๆ นี้) และยังได้รับความร่วมมือจากนักแข่งรถชื่อ เพเทร์ มึลเลร์ (PETER MUELLER) สมทบด้วยเหล่านักแข่งรุ่นใหม่จากการแข่งขัน ลัมโบร์กินี ซูเพอร์ ทโรเฟโอ (LAMBORGHINI SUPER TROFEO) หลังผ่านการฝึกสอนภาคทฤษฎีเรียบร้อยแล้ว เราก็ถูกพาไปขับรถจริงในภาคปฏิบัติในช่วงแรกการขับขี่จะยังอยู่ภายใต้การช่วยเหลือของระบบอีเลคทรอนิคต่างๆ เพื่อให้สัมผัสถึงการยึดเกาะถนน และการบังคับควบคุมรถให้ชินมือก่อน (แรงเหวี่ยงระดับ 0.30-0.35 จี ภายใต้ยางสำหรับหน้าหนาว) มั่นใจได้กับระบบช่วยเหลือต่างๆ ที่รองรับพละกำลังอันมหาศาลของรถสปอร์ทเหล่านี้ได้อยู่หมัด การขับขี่รถสปอร์ทคันนี้ ภายใต้โหมดสำหรับท้องถนนทั่วไป จากระบบเลือกการขับเคลื่อน ANIMA อูรากัน สามารถบังคับควบคุมได้อยู่มือตามความต้องการของผู้ขับ ตารางการทดลองขับเริ่มต้นด้วยเส้นทางแบบสลาลอม ต่อด้วยการขับตามเส้นทางที่กำหนดไว้ 2-3 รอบ หลังจากนั้นรูปแบบการขับขี่ก็เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง เมื่อปิดระบบช่วยเหลือทั้งหมด รถสปอร์ทของ ลัมโบร์กินี กลับกลายมาเป็นกระทิงพยศเต็มตัว การบังคับควบคุมต้องใช้ทักษะ และประสบการณ์อย่างยิ่งยวด ปัญหาแรกที่ผู้ขับต้องเจอะเจอ คือ อาการอันเดอร์สเตียร์ ขณะอยู่บนผืนน้ำแข็ง ส่วนหน้าของรถออกอาการลื่นไถลได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงโค้งมุมแคบ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบังคับรถให้อยู่ในแนวตรง วิธีแก้ไขที่นิยมทำกันมาช้านาน นั่นคือ การเข้าโค้งแล้วยกคันเร่งออก พร้อมกับการแตะเบรคเบาๆ เพื่อให้ยางคู่หน้ามีการยึดเกาะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เป็นไปตามนี้เสมอไป บางครั้งรถก็ยังคงเสียการควบคุมอยู่ดี อีกวิธีแก้ไขที่ “ท้าทาย” ยิ่งกว่า นั่นคือการควบคุมรถแบบ “ลูกตุ้ม” ขั้นแรกผู้ขับจะทำการเบรค และหักพวงมาลัยไปยังทิศทางตรงกันข้ามของแนวโค้ง จนกระทั่งส่วนท้ายออกอาการเหวี่ยง เมื่อล้อคู่หลังมีการยึดเกาะถนนกลับมา ผู้ขับอาศัยแรงสะท้อนช่วยบังคับควบคุมรถให้อยู่ในทิศทางที่ต้องการ ตัวรถอาจมีอาการลื่นไถลอยู่บ้าง ผู้ขับต้องจับพวงมาลัยให้มั่น ใช้การหักเลี้ยวที่ฉับไวพอ พร้อมกับการเติมคันเร่ง แม้การอธิบายด้วยคำพูดอาจฟังดูง่ายกว่าการปฏิบัติจริง ขั้นตอนต่อมาคือการพยายามเข้าโค้งที่ต่อเนื่อง การออกจากโค้งหนึ่ง นำไปสู่อาการโอเวอร์สเตียร์ ทำให้ตัวรถเหวี่ยงเหมือนลูกตุ้มในโค้งถัดไป ต้องใช้ทั้งการคาดคะเนโค้งที่แม่นยำ การตอบสนองที่ถูกเวลา มุมเลี้ยวของพวงมาลัย และระดับการกดคันเร่งที่พอเหมาะ ไม่อย่างนั้นรถจะเกิดอาการไถลออกนอกเส้นทางอย่างแน่นอน
ABOUT THE AUTHOR
MICHELE MASNERI
ภาพโดย : QUATTRORUOTEนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)