วิถีตลาดรถ
พิคอัพใหม่รออีกหน่อย
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนเมษายน 2015/2014
ตลาดโดยรวม - 26.1 % รถยนต์นั่ง - 25.3 % รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) - 14.6 % รถอเนกประสงค์ (MPV) - 24.5 % กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ - 32.0 % กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ - 47.5 % อื่นๆ + 6.0 %เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2015/2014
ตลาดโดยรวม - 15.2 % รถยนต์นั่ง - 16.8 % รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) - 13.1 % รถอเนกประสงค์ (MPV) + 1.1 % กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ - 16.4 % กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ - 32.3 % อื่นๆ + 12.4 % โดยปกติยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศ เดือนเมษายนของทุกปี จะเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร เนื่องจากมียอดจองรถยนต์จากการจัดงานแสดงรถยนต์ งานแรกของปีเกื้อหนุนอยู่ ซึ่งการตัดสินใจซื้อในช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นไปอย่างรวดเร็วฉับไวกว่าในช่วงเวลาปกติ เพราะนอกจากรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ นำมาเปิดตัวเป็นครั้งแรกแล้ว ยังได้ยากระตุ้นชั้นดีอย่างแคมเปญพิเศษ ทั้งในเรื่องของเงื่อนไขทางการเงิน, การลด, แลก, แจก, แถม ที่เป็นไฟท์บังคับแต่ละค่ายแต่ละแบรนด์ต้องมีมานำเสนอเป็นกรณีพิเศษ ถ้าไม่มีถือว่าผิด และหลังจากสิ้นสุดเวลาการจัดงานไปแล้ว เวลาที่ยังเหลืออยู่ในเดือนเมษายน บางบแรนด์ก็ยืดขยายแคมเปญพิเศษสุดเร้าใจของตัวเอง ให้มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องไปจนถึงวันสุดท้ายของเดือนเลยก็มี หรือไม่ก็เป็นช่วงเวลาของการติดตามการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ที่ดูสีหน้าแววตาแล้วอยากจะควักเงินจองออกมาอยู่แล้ว แต่ก็ต้องตัดใจขอเวลาไปปรึกษาผู้มีอำนาจที่บ้านก่อน ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็ทำให้ยอดจำหน่ายปกติของเดือนเมษายน ในปีที่ผ่านๆ มา ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่สักเท่าไร แต่เดือนเมษายน ปี 2558 ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะดำเนินไปเหมือนที่เคยเป็นมา ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงรถยนต์งานแรกของปี รถยนต์รุ่นใหม่ถูกนำมาเปิดตัวมากมายหลายรุ่น แคมเปญพิเศษเร่งการตัดสินใจซื้อจัดหนักจัดเต็ม แต่ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่โดยรวมของเดือนเมษายนปีนี้ กลับไม่กระเตื้องไปกว่าหลายเดือนที่ผ่านมา ออกจะซบเซาหนักยิ่งขึ้นเสียด้วยซ้ำ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเงียบเหงา ส่วนหนึ่งที่มีการประเมินกันออกมาแล้ว บอกว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวตามที่ควรจะเป็น เศรษฐกิจภาคครัวเรือนก็ยังไม่ดี หนี้สินอีรุงตุงนัง บ้างพอมีเงินจะดาวน์รถใหม่มาแทนคันเก่าที่ทำหน้าที่มานานนม แต่ไฟแนนศ์ก็เข้มงวดเหลือหลาย พอจะปล่อยรถคันเก่าเอามาโปะดาวน์เพิ่ม เทนท์รถก็กดราคาเหลือเกิน บางครั้งยังไม่รับซื้อเอาเสียด้วย เพราะซื้อไปแล้วก็ไม่รู้จะไปขายต่อใคร กับอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือ ความคาดหวังที่จะได้เห็นพิคอัพตัวใหม่ของพี่ใหญ่ โตโยตา ที่กระแสมาแรงตั้งแต่ต้นปี จนเชื่อกันว่าต้องมีตัวเป็นๆ มาให้เห็นในงานนี้แน่ แต่ถึงเวลาจริง โตโยตา ยังคงเก็บพิคอัพสายพันธุ์ใหม่ที่จะรับไม้ความสำเร็จต่อจาก วีโก เป็นของรักของหวงต่อไป ไม่มีให้เห็นแม้เงาในงาน ซึ่งว่ากันว่าหากนำมาเปิดตัวในงานแรกของปีตามที่คาดเดากันไว้ จะส่งผลให้ยอดจองภายในงานพุ่งกระฉูดทะลุเป้ายอดรวมที่ผู้จัดงานหวังเอาไว้อย่างแน่นอน และจะส่งผลต่อเนื่องให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ขยับปรับตัวสูงขึ้นอีกไม่น้อย โดยเฉพาะตลาดรถพิคอัพ และแน่นอนว่าจะทำให้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โตโยตา ทั่วประเทศ เบิกบานสำราญใจมากยิ่งขึ้น ขณะที่คู่แข่งอื่นๆ ก็จะพลอยหายใจโล่งอกตามไปด้วย เพราะขณะที่ โตโยตา ยังกั๊กไม่เปิดตัวพิคอัพใหม่ออกมา ลูกค้ารถพิคอัพก็ยังตัดสินใจไม่สะเด็ดน้ำเสียที ถึงจะเดินเข้าไปดูรถในโชว์รูมผู้จำหน่ายพิคอัพรายอื่นๆ แล้ว แต่สุดท้ายก็บอกว่าเดี๋ยวรอดู โตโยตา ก่อนค่อยว่ากันใหม่ บางรายว่ากันว่าจองพิคอัพยี่ห้อหนึ่งเอาไว้ไฟแนนศ์ผ่านแล้ว แต่ขอยืดเวลารับรถออกไป รอ โตโยตา เสียก่อน ถ้าไม่ถูกใจแล้วจะกลับมานะจ๊ะ แต่ถ้าถูกใจก็ทิ้งใบจองกันไปเลยทีเดียว ทำเอาเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของพิคอัพหลายๆ ยี่ห้อ ออกอาการเซ็งกันเป็นแถวๆ ออกจำหน่ายเสียให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลยจะดีกว่ากันเยอะ หลายปัจจัยลบดังกล่าวข้างต้น บวกกับเวลาสำหรับการค้าขายของใหญ่ของแพงอย่างรถยนต์ ที่หดหายไปอีกหลายวันในเดือนเมษายน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2558 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 54,058 คัน ลดลงจากเดือนเมษายนปี 2557 ถึง 26.1 % ยอดรวมตั้งแต่ต้นปีมาจนหมดเดือนที่ 4 ของปี มีทั้งสิ้น 251,847 คัน ลดลง 15.2 % โดยที่ 5 อันดับแรก ทั้งยอดสะสมรวมตั้งแต่ต้นปี และที่ทำยอดจำหน่ายได้สูงสุดในเดือนเมษายน เป็น โตโยตา, อีซูซุ, ฮอนดา, นิสสัน และมิตซูบิชิ ตามลำดับ ซึ่งใน 5 บแรนด์ดังสายเลือดซามูไรนี้ มีเพียง ฮอนดา รายเดียวที่ยอดจำหน่ายซึ่งเกิดขึ้นในเดือนนี้ และในปีนี้ เป็นยอดจำหน่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกนั้นยังจมอยู่ในยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงทั้งสิ้น แต่มองไปให้ทั่วทั้งหมดแล้ว ยังมีบแรนด์รถยนต์สายเลือดตะวันตกอีกหลายบแรนด์อยู่เหมือนกัน ที่หลุดพ้นตัวเลขสีแดงมาเป็นมียอดจำหน่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เช่น เมร์เซเดส-เบนซ์, บีเอมดับเบิลยู/มีนี, โวลโว รวมถึงบแรนด์อื่นๆ อาทิ ฮันเด, ซูบารุ, เลกซัส เป็นต้น ซึ่งหวังว่าแต่ละบแรนด์ยังจะคงตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นเยี่ยงนี้ไปจนปิดฤดูกาลซื้อขายปี 2558 ขณะที่บแรนด์อื่นๆ หวังว่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีก 8 เดือน จะผ่านพ้นตัวเลขสีแดงตามขึ้นมาอยู่ในแดนบวกได้เช่นกัน เพราะตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นก็สื่อได้ถึงสภาพเศรษฐกิจของครัวเรือน และของประเทศที่ดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดี อะไรๆ ก็ดีขึ้นเป็นเงาตามตัวกันไป สำหรับตลาดรถพิคอัพเดือนเมษายน เมื่อ โตโยตา ยังไม่ได้ฤกษ์เปิดผ้าคลุมพิคอัพรุ่นใหม่ คนที่ตั้งใจจะซื้อก็ต้องรอต่อไป ทำให้ยอดของ โตโยตา หดหายไปด้วย ซึ่งก็ส่งผลให้คู่แข่งสำคัญ อีซูซุ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นแชมพ์ยอดจำหน่ายพิคอัพในเดือนเมษายนนี้ ขณะที่ยอดของ โตโยตา หดหายไปเกือบครึ่ง จากที่เคยทำได้ในทุกๆ เดือนที่ผ่านมา โดยยอดจำหน่ายรวมของพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ อยู่ที่ 19,307 คัน ต่ำกว่าที่เคยเกิดขึ้นในเดือนเมษายนปี 2557 ถึง 32.0 % อีซูซุ จำหน่ายได้ 9,072 คัน มากเป็นอันดับ 1 มีส่วนแบ่งตลาด 47.0 % โตโยตา หล่นมาอยู่ในอันดับ 2 จากยอดจำหน่าย 4,647 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาด 24.1 % ในเดือนนี้ ส่วนอันดับที่ 3 เป็นของ มิตซูบิชิ ที่กลับมามีอันดับสูงขึ้นอีกครั้ง จากความนิยมของ ทไรทัน ใหม่ จำหน่ายไป 1,857 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 9.6 % อันดับ 4 และ 5 เป็น ฟอร์ด และเชฟโรเลต์ 1,481 คัน ส่วนแบ่งตลาด 7.7 % และ 726 คัน ส่วนแบ่งตลาด 3.8 % ตามลำดับ รวมตั้งแต่เดือนมกราคมมาจนถึงเมษายน ตลาดนี้มียอดจำหน่ายรวมผ่านหลักแสนคันไปแล้ว โดยยอดรวมอยู่ที่ 100,108 คัน แต่ก็ยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 16.4 % และจากการที่ อีซูซุ จำหน่ายได้มากกว่า โตโยตา เป็นกอบเป็นกำในเดือนเมษายนนี้ ส่งผลให้ อีซูซุ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในยอดรวมด้วยเช่นกัน โดยจำหน่ายไปแล้ว 37,508 คัน ส่วนแบ่งตลาด 37.5 % โตโยตา ตามหลังมาไม่ห่างนัก 35,448 คัน ส่วนแบ่งตลาด 35.4 % เบอร์ 3 ของตลาดเป็น มิตซูบิชิ 7,657 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 7.6 % แต่ นิสสัน ก็อยู่ไม่ห่างเช่นกันจำหน่ายไปแล้ว 6,005 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 6.0 % และอันดับที่ 5 เป็นของ ฟอร์ด 5,929 คัน จี้ นิสสัน แบบหายใจรดต้นคอเลยทีเดียว ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 5.9 % พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ เดือนเมษายนจำหน่ายได้ 1,275 คัน หายไปเกือบครึ่งหนึ่งของที่เคยทำได้ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว อีซูซุ ยังเหนือกว่า โตโยตา เดือนนี้จำหน่ายได้ 482 คัน ส่วนแบ่งตลาด 37.8 % โตโยตา จำหน่ายได้ 276 คัน ส่วนแบ่งตลาด 21.6 % มิตซูบิชิ อยู่อันดับ 3 จำหน่ายไป 264 คัน สูสีกับ โตโยตา ได้ส่วนแบ่งตลาด 20.7 % ฟอร์ด นำหน้า นิสสัน จำหน่ายไป 182 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 14.3 % นิสสัน จำหน่ายได้ 56 คัน ส่วนแบ่งตลาด 4.4 % อย่างไรก็ตาม เมื่อดูไปที่ยอดรวมตั้งแต่เดือนมกราคมมา โตโยตา ก็ยังเป็นอันดับ 1 ในตลาดพิคอัพค่าตัวแพงนี้ โดยจากยอดรวม 6,588 คัน ซึ่งลดลงจากยอดรวมในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 32.3 % โตโยตา จำหน่ายไปแล้ว 2,320 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาด 35.2 % อีซูซุ อยู่อันดับ 2 ด้วยยอด 1,852 คัน ส่วนแบ่งตลาด 28.1 % มิตซูบิชิ อันดับ 3 จำหน่ายทั้งสิ้น 1,014 คัน ส่วนแบ่งตลาด 15.4% ฟอร์ด อยู่อันดับ 4 จากยอดจำหน่าย 807 คัน ส่วนแบ่งตลาด 12.2 % นิสสัน อยู่อันดับ 5 ด้วยยอด 480 คัน ส่วนแบ่งตลาด 7.3 % รถเอสยูวี เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ โตโยตา ต้องยอมรับว่าโดนผลข้างเคียงจากการรอคอยพิคอัพรุ่นใหม่ที่มาแทน วีโก ด้วยเพราะรถเอสยูวีโมเดลหลักของ โตโยตา ก็ใช้พื้นฐานเดียวกับพิคอัพ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงโมเดลใหม่ก็ต้องรอพิคอัพใหม่เช่นกัน ส่วน ฮอนดา ยังคงความเป็นเอสยูวีขายดีที่สุดต่อไป โดยจากยอดรวมเดือนเมษายนที่ 6,652 คัน ซึ่งลดลง 14.6 % เป็นเอสยูวีของ ฮอนดา 2,492 คัน รับส่วนแบ่งตลาดไป 37.5 % มิว-เอกซ์ ของ อีซูซุ ได้รับความนิยมมาในอันดับที่ 2 ด้วยยอด 1,060 คัน ส่วนแบ่งตลาด 15.9 % นิสสัน มีเอสยูวีอยู่หลายโมเดล จำหน่ายไป 632 คัน ส่วนแบ่งตลาด 9.5 % อยู่อันดับที่ 3 ส่วน โตโยตา อดีตแชมพ์หลายสมัยหล่นมาอยู่ในอันดับที่ 4 จำหน่ายได้ 582 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8.7 % และอันดับที่ 5 เป็นของ มิตซูบิชิ จำหน่ายได้ 560 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8.4 % ยอดรวม 4 เดือนผ่านไป 28,621 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 13.1 % อันดับ 1 ฮอนดา 10,278 คัน ส่วนแบ่งตลาด 35.9 % อันดับ 2 อีซูซุ 4,281 คัน ส่วนแบ่งตลาด 15.0 % อันดับ 3 นิสสัน 3,854 คัน ส่วนแบ่งตลาด 13.5 % อันดับ 4 โตโยตา 3,498 คัน ส่วนแบ่งตลาด 12.2 % และอันดับ 5 มิตซูบิชิ 2,164 คัน ส่วนแบ่งตลาด 7.6 % รถเอมพีวี เป็นตลาดที่ทำเซอร์พไรส์ได้ไม่น้อย เพราะถึงจะเป็นตลาดเล็กแต่เป็นตลาดเดียวที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าในปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในเดือนเมษายนปี 2558 มียอดจำหน่ายรวมที่ 1,230 คัน ยังติดลบอยู่ 24.5 % เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปี 2557 แต่เมื่อรวมยอดจำหน่ายตั้งแต่ต้นปีมา มียอดรวมที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.1 % จากตัวเลขยอดจำหน่ายทั้งสิ้น 5,377 คัน เดือนเมษายน อันดับ 1 เป็น ฮอนดา 665 คัน ส่วนแบ่งตลาด 54.1 % ตามด้วย โตโยตา 321 คัน ส่วนแบ่งตลาด 26.1 % เชฟโรเลต์ 119 คัน ส่วนแบ่งตลาด 9.7 % ซูซูกิ 74 คัน ส่วนแบ่งตลาด 6.0 % และซังยง ซึ่งอยู่อันดับ 5 จำหน่ายได้ 18 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.5 % ยอดรวมตั้งแต่ต้นปีมา อันดับ 1 ฮอนดา 3,341 คัน ส่วนแบ่งตลาด 62.1 % อันดับ 2 โตโยตา 1,134 คัน ส่วนแบ่งตลาด 21.1 % อันดับ 3 เชฟโรเลต์ 380 คัน ส่วนแบ่งตลาด 7.1 % อันดับ 4 ซูซูกิ 318 คัน ส่วนแบ่งตลาด 5.9 % และอันดับ 5 นิสสัน 55 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.0 % ก่อนจะจากเดือนเมษายนไป ยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่า ตัวตายตัวแทนของ โตโยตา ไฮลักซ์ วีโก คือ โตโยตา ไฮลักซ์ รีโว เปิดตัวแล้วในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม สิ้นสุดการรอคอยกันเสียทีกับว่าที่พิคอัพขวัญใจมหาชนคันใหม่ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถ