วิถีตลาดรถ
ติดลบเล็กน้อย แต่ยอดรวมโอเค
สถานการณ์โดยรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ยังคงดูสดใสราบรื่น ถึงแม้ว่าการซื้อขายรถยนต์ใหม่ในเดือนมิถุนายน จะยังมีเปอร์เซนต์ที่ลดต่ำลงกว่าเดือนมิถุนายนปีก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม เดือนแรกในรอบ 22 เดือนที่มีผลติดลบแล้ว ถือว่าดีขึ้นมาก เพราะแตกต่างกันเพียงไม่ถึงครึ่งเปอร์เซนต์ดี แสดงว่าสถานการณ์ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เกือบจะเป็นปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนติดกัน ไม่ได้ส่งผลต่อยอดรวมตั้งแต่ต้นปีแต่อย่างใด ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศรวมตั้งแต่ต้นปี มาจนถึงเดือนมิถุนายน 6 เดือนแรกของปี สอบผ่านสบาย บวกกับปัจจัยหนุนที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ฟันธงได้ว่ารถยนต์ใหม่ในประเทศ ปี 2554 นี้จำหน่ายกันระเบิดเถิดเทิงลั่นทุ่งแน่นอน
เดือนมิถุนายน 2554 ยอดจำหน่ายรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศปรับตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีก่อนหน้านี้ มียอดรวมกันทั้งสิ้น 70,259 คัน ลดลง 0.4 % ยักษ์ใหญ่รถยนต์ญี่ปุ่นที่เคยปั่นป่วนไปเพราะภัยธรรมชาติเอาคืนที่ประเทศแม่โดยเฉพาะ โตโยตา และฮอนดา สถานการณ์คลี่คลายจนกลับเป็นปกติแล้ว ในส่วนของ โตโยตา ถึงแม้เทียบกับเดือนมิถุนายนปีก่อน ยังมีความแตกต่างในทางลบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่หนักหนาสาหัส ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากการชะลอตัวในส่วนของตลาดพิคอัพ เพื่อรอยลโฉม ไฮลักซ์ วีโก ใหม่ ให้ถ่องแท้ก่อนตัดสินใจซื้อก็เป็นได้ แต่สำหรับ ฮอนดา เหมือนกับยังเมาคลื่นอยู่ สถานการณ์ยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าใดนัก เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้านี้ ยอดจำหน่ายยังหดหายไปเกินครึ่งอยู่ และส่งผลให้เป็นรถยนต์ญี่ปุ่นรายเดียว ที่ยอดรวมตั้งแต่ต้นปีลดน้อยลงกว่าที่เคยทำได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยยอดจำหน่ายรวมของ ฮอนดา ถึงจะยังเกาะอยู่ในอันดับที่ 3 แต่ก็ลดน้อยลงกว่าของเดิม 10.5 % เฉพาะเดือนมิถุนายนจำหน่ายได้ 5,037 คัน ลดลง 59.8 % อยู่ในอันดับที่ 5
ส่วนยักษ์ใหญ่ โตโยตา ที่ผลจากแผ่นดินไหว และสึนามิ ทำให้หล่นจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ไปอยู่อันดับที่ 3 จากการจัดอันดับล่าสุด แต่ยังเป็นเบอร์ 1 ของไทยตลอดกาล มียอดรวมตั้งแต่ต้นปี 155,947 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 7.8 % เดือนมิถุนายนมียอดจำหน่าย 25,295 คัน ลดลง 6.1 % สำหรับ อีซูซุ คู่แข่งตัวฉกาจของ โตโยตา ในตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะตลาดแห่งศักดิ์ศรี รถพิคอัพ 1 ตัน มียอดรวมตั้งแต่ต้นปีจนถึงครึ่งฤดูกาลแรกอยู่ในอันดับที่ 2 ด้วยยอดจำหน่ายที่เป็นรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ล้วนๆ 80,029 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 13.4 % เดือนมิถุนายนยอดจำหน่าย 12,888 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.6 % ส่วน นิสสัน ที่ในอีกไม่ช้าไม่นานจะมีทีเด็ดเป็นรถเล็กประสิทธิภาพการใช้งานสูงออกมาให้เลือกใช้อีก 1 โมเดล มีผลงานภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 4 มกราคมถึงมิถุนายนจำหน่ายไปแล้วทั้งสิ้น 36,788 คัน เพิ่มขึ้น 61.0 % ผลงานเดือนมิถุนายนไม่ขยับเขยื้อนเกาะอยู่ในอันดับที่ 4 จากตัวเลข 6,033 คัน สูงขึ้น 17.8 %
แต่ที่ต้องบอกว่าเซอร์พไรส์จริงๆ ต้องยกให้ผลงานของ มิตซูบิชิ ไม่รู้เสริมด้วยนางกวักอาจารย์ดีสำนักไหน ลูกค้าเดินเข้าโชว์รูมเป็นว่าเล่น ถ้าไม่นับรถยนต์ยี่ห้อใหม่ๆ ที่เพิ่งออกสู่ตลาด หรือรถยนต์ที่ทำท่าจะล้มหายตายจากตลาดรถยนต์เมืองไทย แต่ได้ลูกฮึดดี มีแรงส่งรถยนต์โมเดลใหม่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม ทำให้มียอดจำหน่ายที่หวือหวาขึ้นกว่าที่เคยเงียบๆ เหงาๆ แล้ว มิตซูบิชิ เป็นยี่ห้อเดียวที่มียอดจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ครึ่งปีแรกของปี 2554 นี้โกยยอดจำหน่ายไปแล้ว 34,785 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 104.8 % เฉพาะเดือนมิถุนายนทำยอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับทื่ 3 ด้วยยอด 6,690 คัน เพิ่มขึ้น 88.9 % เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในตลาดรถพิคอัพ ส่วนรถยนต์นั่งถึงจะเติบโตขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ไม่เป็นที่น่าตื่นเต้นเร้าใจนัก เพราะกระแส แลนเซอร์ ใหม่ แผ่วไปมาก คงต้องฝากความหวังไว้กับอีโคคาร์ ที่นัยว่าปลายปีนี้อาจจะเห็นตัวจริงที่เป็นพโรดัคชันคาร์ แต่ซื้อขายจริงน่าจะต้องร้องเพลงรอไปปีหน้าฟ้าใหม่
ไปที่ตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน หากไม่นับพิคอัพขับเคลื่อน 4 ล้อแล้ว ยังถือเป็นความสำเร็จที่ยอดเยี่ยมต่อเนื่องของ อีซูซุ และมิตซูบิชิ อย่างที่เกริ่นไว้ คงมีลูกค้าจำนวนมากที่อยากได้ ไฮลักซ์ วีโก ไว้ใช้งาน แต่สงวนท่าทีรอดูเวอร์ชันใหม่ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านราคาเสียก่อนค่อยตัดสินใจ จึงยังคงมีตัวเลขเป็นสีแดงอยู่ ยอดจำหน่ายรวมของพิคอัพขับเคลื่อน 2 ล้อ อยู่ที่ 29,145 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว 4.6 % ยอดรวมตั้งแต่ต้นปี 180,203 คัน เพิ่มขึ้น 20.9 %
ดี-แมกซ์ ของ อีซูซุ ยึดหัวแถวต่อเนื่อง ทั้งยังทำให้ยอดจำหน่ายสะสมตั้งแต่ต้นปีขยับหนีห่าง โตโยตา ออกไป เฉพาะเดือนมิถุนายน อีซูซุ มียอดจำหน่าย 11,169 คัน สูงขึ้นกว่ามิถุนายนปีที่แล้ว 0.5 % ขณะที่ยอดรวมตั้งแต่ต้นปีมีทั้งสิ้น 68,041 คัน เพิ่มขึ้น 11.6 % หนีห่างยอดรวมของ โตโยตา ออกไปเป็นเกือบ 8,000 คัน โดยยอดรวม 6 เดือนของ โตโยตา อยู่ที่ 60,436 คัน เพิ่มขึ้น 4.0 % เดือนมิถุนายนจำหน่ายได้ 8,992 คันลดลง 18.9 % ดาวเด่นของตลาด มิตซูบิชิ เฉพาะเดือนมิถุนายน มียอดจำหน่ายสูงถึง 3,842 คัน เพิ่มขึ้นจากมิถุนายนปีก่อนถึง 106.2 % สำหรับยอดรวมมีอยู่ทั้งสิ้น 20,337 คัน เพิ่มขึ้น 173.3 % สบายใจได้กับอันดับที่ 3 ส่วนอันดับที่ 4 เป็นของ นิสสัน แน่นอนเช่นกัน มิถุนายนจำหน่ายไปได้ 1,488 คัน เพิ่มขึ้น 8.3 % สำหรับยอดรวมตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 11,699 คัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 12.7 % อันดับที่ 5 น่าจะมีลุ้นดีเหมือนกันระหว่าง โคโลราโด ของ เชฟโรเลต์ กับบีที-50 ของ มาซดา แต่น้ำหนักน่าจะเทไปทาง เชฟโรเลต์ เสียแล้ว เพราะมีกระแสข่าวว่า บีที-50 ใหม่ น่าจะเป็นปีหน้า ส่วน เชฟโรเลต์ ช่วงนี้มีลุยพโรโมชันให้ได้เห็นได้ยินบ้างเหมือนกัน คล้ายกับกำลังเร่งปล่อยของเคลียร์พื้นที่อยู่ เอาเป็นว่า ณ เวลานี้ เชฟโรเลต์ ยึดอันดับที่ 5 อยู่ก็แล้วกัน เดือนที่ 6 ของปี จำหน่ายไปเกือบ 1,000 คัน อยู่ที่ 993 คัน เพิ่มขึ้นถึง 39.7 % ส่วนยอดรวม 6 เดือนแรก อยู่ที่ 5,181 คัน สูงขึ้น 66.3 %
ตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ เทียบกับปีที่แล้วยังไม่สดใสซาบซ่าเท่าใดนัก ถึงแม้รถพิคอัพประเภทนี้ประโยชน์ใช้งานจะมากขึ้นกว่าในแบบขับเคลื่อน 2 ล้อ ทั้งรูปร่างหน้าตา องค์ประกอบโดยรวม ก็สะดุดตาสะดุดใจมากกว่า แต่เรื่องของการบริโภคน้ำมันในสภาวะน้ำมันแพงเช่นนี้ ก็ทำให้ต้องคิดหนักอยู่ไม่ใช่น้อย ซึ่งก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ยอดยังไม่เดินเท่าที่ควร ยังติดลบอยู่ 2.6 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 6 เดือนแรกปี 2554 จำหน่ายไปทั้งสิ้น 8,091 คัน แบ่งเป็น โตโยตา 4,921 คัน ลดลง 11.6 % อีซูซุ 1,489 คัน ลดลง 8.4 % นิสสัน 807 คัน เพิ่มขึ้น 62.4 % มิตซูบิชิ 647 คัน เพิ่มขึ้น 115.7 % ฟอร์ด 146 คัน ลดลง 33.9 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเอสยูวี ที่มีหลายราคาให้เลือกซื้อ ตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปจนถึงระดับเศรษฐี เป็นรถยนต์ประเภทหนึ่งที่มีปัญหาในด้านของการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงเช่นกัน เดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงไปจากที่เคยทำผลงานไว้ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว 16.7 % มีความน่าสนใจอยู่ 2 ประการสำหรับตลาดนี้ นั่นคือ ความต้องการของ โตโยตา ลดน้อยลง เสียตำแหน่งหล่นไปอยู่อันดับที่ 2 อีกแล้ว ต้องลุ้นกันว่าเมื่อ ฟอร์ทูเนอร์ ใหม่ ที่ปรับตามพื้นฐานของ ไฮลักซ์ วีโก ที่เป็นต้นแบบ ออกสู่ตลาดในเวลาไล่เลี่ยกับ ไฮลักซ์ วีโก ใหม่ จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเหมือนที่เคยได้รับมาหรือไม่ ส่วนอีกประการหนึ่งเป็นความสำเร็จของ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ท ที่เดินหน้าโกยยอดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ยึดหัวหาดเป็นอันดับ 1 อย่างเหนียวแน่นต่อไป จากยอดจำหน่าย 3,621 คัน มิตซูบิชิ แบ่งไปเสีย 1,797 คัน โตโยตา เอาไป 570 คัน อีซูซุ 439 คัน ฮอนดา 261 คัน และเชฟโรเลต์ 151 คัน ที่เหลือแบ่งๆ กันไป ผลงานของตลาดนี้ตั้งแต่ต้นปีมีทั้งสิ้น 26,692 คัน เพิ่มขึ้น 6.1 % ส่วนแบ่งมากสุดเป็นของ มิตซูบิชิ 9,226 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 81.7 % โตโยตา 6,482 คัน ลดลง 30.5 % อีซูซุ 3,489 คัน เพิ่มสูงขึ้น 6.6 % ฮอนดา ตามหลัง อีซูซุ ไม่กี่มากน้อยจำหน่ายไปแล้วทั้งสิ้น 3,398 คัน แต่เป็นตัวเลขที่ปรับลดลง 21.3 % ส่วน เชฟโรเลต์ จำหน่ายไปแล้ว 1,898 คัน เพิ่มขึ้น 3.9 % สำหรับรถเอมพีวี ยอดรวม 6 เดือนยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ ถึงแม้เดือนมิถุนายนจะมียอดที่ติดลบไปบ้างก็ตามที ตลาดนี้น่าจะเป็น 1 ใน 2 ตลาดที่เป็นของตายสำหรับตำแหน่งแชมพ์ของ โตโยตา นอกเหนือจากความเป็นเจ้าตลาดรวม เดือนมิถุนายน มียอดจำหน่ายรวม 1,056 คัน ลดลง 16.4 % ส่วนยอดรวม 6 เดือน 6,567 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.2 %
ตามดูกันต่อไปว่า ไฮลักซ์ วีโก แชมพ์ ใหม่ จะโดนใจนักเลงรถพิคอัพขนาดไหน หลังจากยกขบวนขึ้นสู่โชว์รูมผู้จำหน่ายรถยนต์ โตโยตา ทั่วประเทศ อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม และดี-แมกซ์ ที่มีคลิพหลุดว่อนอยู่ในโลกออนไลน์ จะเหยียบพื้นถนนในเมืองไทยจริงหรือไม่ และจะสกัด ไฮลักซ์ วีโก แชมพ์ ใหม่ อยู่หรือไม่ น่าติดตามจริงๆ สำหรับสงครามรถพิคอัพ ปี 2554
[table]
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมิถุนายน ปี 54 กับ 53
ตลาดโดยรวม, -0.4 %
รถยนต์นั่ง, 0.1 %
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ, 4.6 %
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ, -1.0 %
รถขับเคลื่อน 4 ล้อ, -16.7 %
รถเอมพีวี, -16.4 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 54 กับ 53
ตลาดโดยรวม, 21.1 %
รถยนต์นั่ง, 27.3 %
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ, 20.9 %
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ, -2.6 %
รถขับเคลื่อน 4 ล้อ, 6.1 %
รถเอมพีวี, 1.2 %
[/table]
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถ