รายงาน(formula)
BMW 100th ANNIVERSARY
บีเอมดับเบิลยู หนึ่งในบแรนด์รถยนต์ที่ได้รับความเชื่อถือ และความนิยมสูงสุด เพื่อฉลองวาระครบรอบ 100 ปี อย่างเป็นทางการไปเมื่อ 7 มีนาคม 2016 ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา เครื่องหมาย “ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว” แห่งแคว้นบาวาเรีย ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของมาตรฐานการผลิตขั้นสูง เทคโนโลยีล้ำสมัย รูปลักษณ์ที่หรูหรา และสมรรถนะสุดร้อนแรง อย่างยากจะปฏิเสธได้ บีเอมดับเบิลยู เป็นสินค้ายอดนิยมของ บาเยริเช โมโทเรน แวร์เค อาเก (BAYERISCHE MOTOREN WERKE AG) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า บีเอมดับเบิลยู อาเก (BMW AG) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และจักรยานยนต์ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1916 และปัจจุบันมีรถยนต์ในเครือข่ายรวม 3 ยี่ห้อ คือ บีเอมดับเบิลยู/ มีนี และโรลล์ส-รอยศ์ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองมิวนิค แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี “ฟอร์มูลา” รวบรวมประวัติความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ รถรุ่นเด่น รวมถึงเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมฉลอง 100 ปี บีเอมดับเบิลยู2 ผู้ก่อตั้ง แมกซ์ ฟริทซ์ (MAX FRIZ) (ปี1883–1966) วิศวกรชาวเยอรมัน ผู้ออกแบบเครื่องยนต์และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำไปสู่การก่อตั้ง บาเยริเช ฟลุกซอยก์แวร์เค (BAYERISCHE FLUGZEUGWERKE) หรือ BFW ในปี 1916 ฟรันซ์ โจเซฟ โพพพ์ (FRANZ JOSEF POPP) (ปี 1886–1954) วิศวกรชาวออสเตรีย ผู้อำนวยการคนแรกของ บาเยริเช โมโทเรน แวร์เค และมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้บริษัทก้าวขึ้นสู่ระดับแนวหน้าของยุโรป ภายในระยะเวลาไม่นาน ความหมายของ “ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว” สัญลักษณ์วงแหวนสีดำพร้อมตัวอักษร BMW สีขาว ล้อมรอบพื้นที่วงกลมที่แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ สีขาว 2 ส่วนกับสีฟ้า 2 ส่วน มีที่มาจากลักษณะการหมุนของใบพัดเครื่องบิน เนื่องจากก่อนจะมาเป็นบริษัทผลิตรถยนต์และจักรยานยนต์ บีเอมดับเบิลยู เคยเป็นผู้ผลิตอากาศยานมาก่อน ส่วนสีฟ้าและสีขาวเป็นสีประจำแคว้นบาวาเรีย ปี 1916 แมกซ์ ฟริทซ์ และ ฟรันซ์ โจเซฟ โพพพ์ เข้ามาซื้อกิจการของ โรงงานผลิตเครื่องยนต์อากาศยาน รัพพ์ โมโทเรน แวร์เค (RAPP MOTOREN WERKE) ของ คาร์ล ฟรีดริค รัพพ์ (KARL FRIEDRICH RAPP) วิศวกรชาวเยอรมัน และควบรวมกับกิจการ กุสตัฟ ฟลุกมาชีเนฟาบริค (GUSTAV FLUGMASCHINEFABRIK) ของ กุสตัฟ อทโท (GUSTAV OTTO) และใช้ชื่อใหม่ว่า บาเยริเช ฟลุกซอยก์ แวร์เค เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1916 ปี 1918 เปลี่ยนชื่อเป็น บาเยริเช โมโทเรน แวร์เค หรือ บาวาเรียน มอเตอร์ เวิร์คส์ (BAVARIAN MOTOR WORKS) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ BMW จนถึงปัจจุบัน ปี 1922 สร้างโรงงานของตัวเองแห่งแรก บนพื้นที่โรงงาน กุสตัฟ ฟลุกมาชีเนฟาบริค เดิม ปี 1923 รถจักรยานยนต์คันแรกถูกผลิตออกจำหน่าย นั่นคือ บีเอมดับเบิลยู อาร์ 32 ได้รับการออกแบบโดย แมกซ์ ฟริทซ์ ปี 1928 เริ่มสายการผลิตรถยนต์นั่งแบบแรก บีเอมดับเบิลยู ดิกซี (BMW DIXI) หรือ บีเอมดับเบิลยู 3/15 โดยเป็นรถที่มีพื้นฐานเดียวกับ ออสติน 7 แตกต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อย แต่ที่สังเกตได้ชัดเจนที่สุด คือ บีเอมดับเบิลยู เป็นรถพวงมาลัยซ้าย สำหรับ ออสติน เป็นรถพวงมาลัยขวา ปี 1936 บีเอมดับเบิลยู 328 ตำนานมอเตอร์สปอร์ทถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นรถรุ่นที่ แอร์นสต์ เฮนน์ (ERNST HENNE) ใช้ในการแข่งขันรุ่นพโรดัคชัน 2 ลิตร ที่สนามนืร์บวร์กริง และกวาดชัยชนะได้มากกว่า 120 ครั้ง ตั้งแต่ปี 1936 ถึง 1940 โดยมีการผลิตจำนวน 464 คัน ปี 1939 ก่อนเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน บีเอมดับเบิลยู ได้การพัฒนาเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศสำหรับใช้กับอากาศยาน และควบรวมกิจการของ บราโม (BRAMO) รวมถึงโรงงาน สปันเดา (SPANDAU) ชานกรุงเบร์ลิน โดยใช้ชื่อว่า เบเอมเว ฟลุกโมโทเรนแวร์เค บรานเดนบวร์ก เกเอมเบฮา (BMW FLUGMOTORENWERKE BRANDENBURG GmbH) ปี 1945 เริ่มต้นใหม่จากศูนย์ การโจมตีทางอากาศช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทำลายโรงงานที่มิวนิคไปในปี 1944 แต่ โรงงานอัลลัค (ALLACH) ไม่ได้รับความเสียหายจนกระทั่งช่วงปลายของสงคราม บีเอมดับเบิลยู ได้รับงานซ่อมบำรุงรถยนต์ของกองทัพสหรัฐ ฯ รวมถึงได้รับอนุญาตให้ผลิตชิ้นส่วนของเครื่องจักรเพื่อการเกษตรและจักรยาน ปี 1948 พาหนะรุ่นที่ได้รับการผลิตออกจำหน่ายรุ่นแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ จักรยานยนต์ บีเอมดับเบิลยู อาร์ 24 ปี 1951 การเผยโฉมของ บีเอมดับเบิลยู 501 เปรียบเหมือนสัญญาณของการเริ่มต้นใหม่ โดยเป็นซีดานขนาดใหญ่ ซึ่งมีฉายา บาร์รอค เองเจล “BARROQUE ANGEL” ผลิตที่โรงงานไอเซนัค และเป็นรถยนต์รุ่นแรกของโลกที่ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 8 สูบ ผลิตจากอัลลอยน้ำหนักเบา ปี 1955 การถือกำเนิดขึ้นของ บีเอมดับเบิลยู อีเซตตา “รถขวัญใจมหาชน” ที่มีความยาวเพียง 2.29 เมตร ใช้ขุมพลังของจักรยานยนต์ บีเอมดับเบิลยู ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมียอดจำหน่ายถึง 160,000 คัน ปี 1956 เปิดตัว บีเอมดับเบิลยู 507 ผลงานการออกแบบของ อัลบเรคท์ เกิร์ทซ์ (ALBRECHT GOERTZ) ซึ่งเป็นรถรุ่นพิเศษ ที่มีการผลิตออกมาเพียง 252 คันเท่านั้น และถือเป็น “โรดสเตอร์ในฝัน” ของแฟน บีเอมดับเบิลยู จวบจนปัจจุบัน ปี 1959 ช่วงเวลานั้น บีเอมดับเบิลยู ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ดีนักจากปัจจัยของสภาพเศรษฐกิจ แต่ได้ตัวช่วยสำคัญที่มาต่อลมหายใจให้ นั่นคือ บีเอมดับเบิลยู 700 ซึ่งเป็นรถยนต์รุ่นแรกของค่ายที่ใช้โครงสร้างตัวถังแบบโมโนคอก โดยเป็นรถ 2 ประตูขนาดเล็ก เครื่องยนต์แบบ 2 สูบนอน ความจุ 697 ซีซี ระบายความร้อนด้วยอากาศ วางหลังขับเคลื่อนล้อหลัง ที่มียอดขายรวมถึง 188,000 คัน (ยุติการผลิตในปี 1965) ปี 1961 เปิดตัว บีเอมดับเบิลยู 1500 รถขนาดคอมแพคท์ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ยุคนั้น และนำความสำเร็จมาให้อีกครั้ง และมีการต่อยอดเป็น บีเอมดับเบิลยู 1800, 1800 เอส และ 1800 ทีไอ ก่อนจะยุติสายการผลิต ปี 1967 ช่วงกลางทศวรรษ 60 บีเอมดับเบิลยู มีแผนสร้างโรงงานใหม่ เนื่องจากโรงงานที่มิวนิคได้มาถึงขีดจำกัดเรื่องกำลังการผลิต แต่สุดท้ายได้ตัดสินใจซื้อกิจการ ฮันส์ กลัส เกเอมเบฮา (HANS GLAS GmbH) พร้อมโรงงานในดินโกลฟิง ปี 1972 เปิดตัวรถเจเนอเรชันล่าสุด ซีรีส์ 5 (อี 12) โดยสามารถสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นมากมายจากความสมบูรณ์แบบของตัวรถ ปี 1975 บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 (อี 21) เผยโฉมเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท โดยเป็นรถที่มีการบังคับควบคุมที่เฉียบคมเช่นเดียวกับรถสปอร์ท แต่มีอัตราสิ้นเปลืองที่เป็นมิตรกับเจ้าของ ปี 1976 บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 6 (อี 24) คูเปขนาดกลางสมรรถนะสูงถูกส่งออกสู่ท้องตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการรถสปอร์ทที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก ปี 1977 บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 7 (อี 23) ซีดานขนาดใหญ่ระดับลักชัวรี ได้ออกมาเติมเต็มให้กลุ่มลูกค้าระดับสูง ที่ต้องการความสะดวกสบายสูงสุด ปี 1978 บีเอมดับเบิลยู เอม 1 (อี 26) ตำนานรถสปอร์ทที่ผู้คนถวิลหาได้ถือกำเนิดขึ้น โดยผลงานการออกแบบของ โจร์เกตโต จูจาโร นักออกแบบชื่อก้องชาวอิตาเลียน ปี 1979 บีเอมดับเบิลยู อาเก ร่วมมือกับ ชไตร์-ไดมเลร์ พุค (STEYR–DAIMLER–PUCH) ตั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์ เบเอมเว ชไตร์ โมโทเรน เกเซลชาฟท์ (BMW STEYR MOTOREN GESELLSCHAFT) และในปี 1982 โรงงานแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น เบเอมเว โมโทเรน เกเอมเบฮา ชไตร์ (BMW MOTOREN GmbH, STEYR) ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ คือ หน่วยงานที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซลเป็นพิเศษ ปี 1984 พิธีเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่ สปันเดา อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1984 โดย เฮลมุท โคห์ล นายกรัฐมนตรีเยอรมันตะวันตก (ในยุคนั้น) ปี 1987 บีเอมดับเบิลยู สร้างความประหลาดใจอีกครั้ง ด้วยการเผยโฉม ซีรีส์ 7 เจเนอเรชัน 2 (อี 32) รุ่น 750 ไอ และ 750 ไอแอล รถเยอรมันคันแรกในรอบ 50 ปี ที่ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 12 สูบ ปี 1992 คริส เบงเกิล นักออกแบบชื่อก้องโลก เข้าร่วมงานกับ บีเอมดับเบิลยู และสร้างสรรค์ผลงานไว้มากมายกับซีรีส์ 1, 3, 5, 6, 7 รถตระกูล เอกซ์ ทั้ง เอกซ์ 1, 3, 6 รวมถึงรถแนว คือ กีนา (GINA) ปี 1994 บีเอมดับเบิลยู ได้ซื้อกิจการของ บริทิช โรเวอร์ กรุพ (BRITISH ROVER GROUP) จึงทำให้ได้ โรเวอร์/มีนี/แลนด์ โรเวอร์/ออสติน/มอร์ริส/ไรเลย์/ทไรอัมฟ์ และ วูลส์ลีย์ มาอยู่ภายใต้ร่มเงาของค่ายใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว ปี 1998 บีเอมดับเบิลยู ซื้อกิจการ โรลล์ส-รอยศ์ มอเตอร์ คาร์ส รถอัครฐานสายเลือดผู้ดีมีตระกูลที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1904 เข้ามาอยู่ในอาณัติ ปัจจุบันมีที่ทำการและโรงงานตั้งอยู่ที่ ซัสเซกซ์ ดาวน์ส/กูดวูด ในภาคใต้ของเกาะอังกฤษ ปี 2000 ด้วยประสบภาวะขาดทุน บีเอมดับเบิลยู จึงขาย โรเวอร์ ให้แก่ โฟนิกซ์ เวนเจอร์ โฮลดิง (พีวีเอช) ส่วน แลนด์ โรเวอร์ ถูกขายให้ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมพานี ปี 2002 บีเอมดับเบิลยู เซด 4 โรดสเตอร์ (อี 85) เจเนอเรชันแรก อวดโฉมในงานมหกรรมยานยนต์ปารีส และออกจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ปี 2003 บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 3 (อี 83) ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี เซกเมนท์ล่าสุด โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดจากพื้นฐานของ ซีรีส์ 3 (อี 46) และ ซีรีส์ 5 (อี 60) เผยโฉมออกมา ปี 2004 เปิดตัว บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 1 (อี 87) แฮทช์แบค 5 ประตู และ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 ทัวริง (อี 61) ปี 2005 บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 เจเนอเรชันที่ 5 ของอนุกรม ถูกส่งออกสู่ท้องตลาด ช่วงแรกมีตัวถังให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ ซีดาน (อี 90) และทัวริง (อี 91) ปี 2006 การเผยโฉมของ บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5 เจเนอเรชันที่ 2 (อี 70) ที่ออกมาทดแทน เอกซ์ 5 (อี 53) ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี รุ่นแรกของค่ายที่เปิดตัวมาตั้งแต่ ปี 1999 ปี 2008 บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 6 (อี 71) ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ท้ายลาดคันหรู เซกเมนท์ล่าสุดของค่ายนี้ ณ ช่วงเวลานั้น พร้อมอวดโฉม ซีรีส์ 7 (เอฟ 01) ปี 2009 บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 1 (อี 84) ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ขนาดเล็ก ออกมาเติมเต็มกลุ่มตลาด พร้อม เซด 4 โรดสเตอร์ (อี 89), ซีรีส์ 5 (เอฟ 10) และซีรีส์ 5 จีที (เอฟ 07) ปี 2011 บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 6 (เอฟ 12) เจเนอเรชันที่ 3 เผยโฉมอย่างเป็นทางการที่งานมหกรรมยานยนต์เซี่ยงไฮ้ พร้อมส่ง เอกซ์ 3 (เอฟ 25) ถึงมือผู้บริโภค ปี 2012 เปิดตัว บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 (เอฟ 30) เจเนอเรชันที่ 6 ของอนุกรม ปี 2013 บีเอมดับเบิลยู ไอ 3 รถพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับคนเมืองเริ่มเข้าสู่โชว์รูม ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับ ซีรีส์ 4 คูเป (เอฟ 32) เจเนอเรชันแรก ปี 2014 บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 รถสปอร์ทขุมพลังลูกผสมแบบเสียบปลั๊กรูปทรงสุดล้ำ สมรรถนะร้อนแรงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอวดโฉม เอกซ์ 4 (เอฟ 26) ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ท้ายลาด ปี 2015 บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 7 (จี 11) ซีดานขนาดใหญ่ระดับลักชัวรี เจเนอเรชันล่าสุด มาพร้อมเทคโนโลยีสุดล้ำมากมาย ปี 2016 เตรียมพบกับ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 (จี 30) ที่มีกำหนดเผยโฉมอย่างเป็นทางการที่งานมหกรรมยานยนต์ปารีส ช่วงเดือนตุลาคมนี้ เรื่องน่าของรหัสท้ายรถ บีเอมดับเบิลยู ตั้งแต่ปี 1972 บีเอมดับเบิลยู รุ่นต่างๆ จะใช้เลขต่อท้าย 3 ตัว ตัวเลขแรก หมายถึง แบบของตัวรถ ตัวอย่างเช่น ซีรีส์ 3, ซีรีส์ 5 เป็นต้น ตัวเลขอีก 2 ตัวถัดมา หมายถึง ความจุกระบอกสูบใช้หน่วยเป็นลิตร ยกเว้นในรถบางรุ่น เช่น ยุค 80 ในรุ่น 325 อี (อี 30) กับ 525 อี (อี 28) ใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.7 ลิตร (แต่ทั้งคู่ได้รับการปรับแต่งมาโดยเน้นเรื่องความประหยัดและลดมลพิษมากกว่าพละกำลัง), ปี 1996 รุ่น 318 ไอ (อี 36) เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.9 ลิตร แทนที่เครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร (แต่ไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น 319 ไอ), ปี 2008 รุ่น 125 ไอ, 128 ไอ (อี 82), 328 ไอ (อี 90) และ 528 ไอ (อี 60) ใช้เครื่องยนต์แบบ 6 สูบแถวเรียง ขนาด 3.0 ลิตร (ไม่ใช่ 2.5 ลิตร หรือ 2.8 ลิตร เหมือนรหัสท้ายรถ) ส่วนรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ อย่างรุ่น 335 ไอ (อี 90) และ 535 ไอ (อี 60) ตัวเลขสองตัวหลังจะทำหน้าที่บอกถึงพละกำลังว่าเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด 3.5 ลิตร (เครื่องยนต์ที่ประจำการขนาด 3.0 ลิตร) หรือในยุคปัจจุบัน รุ่น 328 ไอ (เอฟ 30) ใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร เป็นต้น สำหรับความหมายของตัวอักษรต่อท้ายตัวเลขนั้นก็มีความหมายแตกต่างกัน และบางครั้งเป็นตัวอักษรเดียวกัน แต่เป็น “ตัวพิมพ์เล็ก” กับ “ตัวพิมพ์ใหญ่” ซึ่งจะมีความหมายแตกต่างกัน C = คูเป (ใช้ใน ซีรีส์ 3 อี 46 กับ ซีรีส์ 6 อี 63 เป็น 2 รุ่นสุดท้าย ก่อนจะเลิกใช้ไปในปี 2005) c = กาบริโอเลต์ d = ดีเซล e = เน้นเรื่องความประหยัดและลดมลพิษมากกว่าพละกำลัง h = ไฮโดรเจน i = จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีดอีเลคทรอนิคส์ L = ฐานล้อยาว s = รุ่นที่ได้รับการอัพเกรดทั้งภายนอกภายในเป็นแบบสปอร์ท อาจรวมถึงเพิ่มสมรรถนะเครื่องยนต์ในบางรุ่น (รหัสนี้ใน ซีรีส์ 3 อี 36 หมายถึง ตัวถังรุ่นคูเป หรือเปิดประทุน) sDrive = ขับเคลื่อนล้อหลัง T = ตัวถังตรวจการณ์ t = แฮทช์แบค ชื่อเฉพาะของ ซีรีส์ 3 คอมแพคท์ (อี 36/5 และ อี 46/5) xDrive = ขับเคลื่อน 4 ล้อ
ABOUT THE AUTHOR
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2559
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)