ชีวิตอิสระ
เลาะเลียบทะเลตราด
ถ้าพูดถึงเมืองเกาะครึ่งร้อยอย่างจังหวัดตราด หลายคนคงนึกถึง เกาะช้าง เกาะกูด เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับประเทศ แต่การเดินทางจะต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไป ใครที่ครอบครัวใหญ่หน่อยอาจไม่สะดวก "ชีวิตอิสระ" ฉบับนี้ จึงขอเสนอสถานที่ท่องเที่ยวบน "แผ่นดิน" ของจังหวัดนี้ ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติไม่แพ้กัน และยังแฝงเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหา ตามเส้นทางสายบูรพา
สู่สุดแผ่นดินตะวันออก
เดินทางสู่จังหวัดตราด ด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์ (7) มุ่งหน้าสู่อำเภอบ้านบึง (344) และ (3471) จนถึงอำเภอแกลง ต่อจากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางสายสุขุมวิท (3) ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักสู่ภาคตะวันออก
เส้นทางช่วงนี้เป็นถนน 4 เลน ที่ไม่เรียบนัก (เลนซ้ายหลุมเยอะ) แถมยังมีเนินเตี้ยๆ สลับกับทางโค้งตลอดสาย ซึ่งเหมาะสมมากกับคู่หูใหม่ของผม เชฟโรเลต์ ทเรลบเลเซอร์ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่มีกำลังให้เรียกใช้ถึง 200 แรงม้า จากขนาดเครื่องยนต์ดูราแมกซ์ ดีเซล เทอร์โบ 4 สูบ เจเนอเรชันที่ 2 ขนาด 2.8 ลิตร ซึ่งนับว่าแรงสุดในรถระดับเดียวกัน
ผมเพลิดเพลินกับอัตราเร่งที่ทันใจ และช่วงล่างนุ่มหนึบอยู่พักใหญ่ ก็ถึงตัวเมืองตราด เป็นระยะทางประมาณ 320 กม. จากกรุงเทพ ฯ
รู้จักตราด รู้จักไทย
ตราด เป็นจังหวัดสุดท้ายทางภาคตะวันออกริมฝั่งอ่าวไทย มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ที่อำเภอคลองใหญ่ คำว่า "ตราด" สันนิษฐานว่ามาจาก "กวาด" ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาทำไม้กวาด ซึ่งมีอยู่มากที่นี่
ในอดีดประมาณปี 2447-2449 จังหวัดตราดถูกยึดครองโดยฝรั่งเศส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินวิเทโศบายแลกเมืองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ที่มีเนื้อที่ประมาณ 50,000 ตร.กม. เพื่อรักษาเมืองตราด ที่มีเนื้อที่แค่ประมาณ 2,900 ตร.กม. เอาไว้
ต่อมาในปี 2484 ฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองตราดอีกครั้งในสงครามอินโดจีน แม้กองทัพไทยจะมีกำลังเรือรบ และกำลังพลที่น้อยกว่าหลายเท่าตัว แต่ทหารทุกนายก็เข้าต่อสู้ขัดขวางกองทัพเรือฝรั่งเศสอย่างกล้าหาญในยุทธนาวีที่เกาะช้าง จนฝ่ายฝรั่งเศสถอยร่นกลับไป ถ้าครั้งนั้นเราเสียแผ่นดินเมืองตราดให้กับฝรั่งเศสไป แล้วลองลากเส้นแสดงเขตน่านน้ำสากลดู ณ วันนี้ คงไม่มีคำว่า "อ่าวไทย" ก็เป็นได้
ปัจจุบันจังหวัดตราด มีชื่อเสียงด้านการค้าชายแดน และการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ เกาะช้าง และเกาะกูด ถือเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในอนาคตจังหวัดตราดจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค ที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะเข้ามาในภูมิภาคนี้
หาดบานชื่น
หลังจากที่รู้ถึงประวัติศาสตร์ของจังหวัดตราดกันไปแล้ว เรามุ่งหน้าต่อสู่อำเภอคลองใหญ่ ตามถนนสุขุมวิท (3) ประมาณ กม. ที่ 60 จะมีป้ายบอกให้เลี้ยวขวาไปอีก 3 กม. เพื่อไปเยื่ยมชมชายหาดบานชื่น ที่มีชื่อเสียงเรื่องความสวยงามไม่แพ้บนเกาะ
หาดบานชื่น เดิมชื่อ หาดมะโร ต่อมาเจ้าของที่ดินได้บริจาคที่ดินบริเวณหน้าหาด จำนวน 14 ไร่ ให้แก่จังหวัด เพื่อนำไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เมื่อปี 2527 หาดบานชื่น มีจุดเด่นที่น้ำทะเลใส และมีทรายขาวเนื้อละเอียด เนื่องจากในเนื้อทรายมีส่วนผสมของแร่เซลิคาอยู่มาก สามารถลงเล่นน้ำได้ และภายในบริเวณหาดยังมีร้านอาหาร รวมถึงบังกะโลที่พักให้บริการด้วย
นอกจากนี้ ระหว่างเส้นทางไปอำเภอคลองใหญ่ เราจะพบกับหาดต่างๆ มากมาย เช่น หาดทรายงาม หาดทรายแก้ว หาดทับทิม และหาดจินดา เป็นต้น
ส่วนแคบที่สุดในประเทศไทย
ช่วงก่อนสิ้นสุดถนนสุขุมวิท (3) บริเวณหลัก กม. ที่ 81 ยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย ที่ได้รับการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการว่า "บนถนนสุขุมวิทบริเวณพื้นที่บ้านโขดทราย ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นพื้นที่ส่วนที่แคบสุดของประเทศไทย" เนื่องจากเมื่อวัดจากชายฝั่งทะเลเข้าไปจรดกับสันเขาบรรทัด ที่เป็นแนวกั้นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทย กับประเทศกัมพูชาแล้ว พบว่ามีความกว้างเพียงแค่ 450 เมตรเท่านั้น ใครที่เดินทางไปตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก จะต้องผ่านจุดนี้อย่างแน่นอน
ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก
ขับรถเลยส่วนแคบที่สุดไปอีกนิดปลายทางหลวงหมายเลข 318 ก็จะถึงชายแดนประเทศไทย ที่ ตำบลบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นหมู่บ้านสุดท้ายติดกับอาณาจักรกัมพูชา
ตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งรับซื้อพืชพันธุ์ธัญญาหารของชาวกัมพูชา เพื่อไปขายต่อที่เกาะกง และยังมีสินค้าราคาถูกมากมายที่มาจากกัมพูชา เช่น เสื้อผ้า แว่นตา น้ำหอม เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ จากจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยนั่งรถแทกซีจากพรมแดนฝั่งประเทศกัมพูชา เพื่อไปเที่ยวที่เกาะกงได้ และสำหรับการเดินทางจากตัวเมืองตราดไปเกาะกง สามารถนั่งรถตู้จากตัวเมืองตราดไปหาดเล็ก โดยจะมีรถออกทุกๆ ชั่วโมง ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น
สำหรับการข้ามพรมแดนนั้น นักท่องเที่ยวต้องมีหนังสือเดินทาง (PASSPORT) เท่านั้น (ใช้บัตรประชาชนเพื่อทำหนังสือเดินทางชั่วคราวไม่ได้) และต้องเสียค่าเหยียบแผ่นดินที่ฝั่งกัมพูชา 200 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก่อนเดินทางได้ที่ จุดตรวจชายแดนบ้านหาดเล็ก โทร. (039) 588-084
สักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
เราขับรถกลับเข้าตัวเมืองตราดอีกครั้ง เพื่อไปสักการะขอพรศาลเจ้าพ่อหลักเมืองของจังหวัด เพื่อความเป็นสิริมงคล สถานที่แห่งนี้ไม่เหมือนกับศาลหลักเมืองอื่นๆ เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมแบบจีนที่โดดเด่น และงดงาม แถมยังมีศาลหลักเมือง 2 ต้นอีกด้วย
ศาลแห่งนี้สร้างขึ้นใหม่ในปี 2543 มีรูปทรงคล้ายพระราชวังจีนโบราณ หลังคามี 3 ช่วง มีรูปปั้นมังกรคู่บนหลังคา ชายคามีหัวมังกรพ่นช่อฟ้า ส่วนชายล่างเป็นรูปหงส์ดูงดงามอ่อนช้อย ชั้นนอกของศาลเป็นที่ประดิษฐานของเสา 2 ต้น โดยต้นสูง คือ เสาหลักเมือง อีกต้น คือ เสาศิวลึงค์ เสาทั้งคู่นี้ เชื่อกันว่าถ้าได้สักการะแล้วจะอยู่เย็นเป็นสุข
ตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองตราด ทหารฝรั่งเศสเห็นว่าประชาชนต่างพากันเคารพกราบไหว้สักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแห่งนี้กันมาก จึงต้องการทำลายขวัญ และกำลังใจของประชาชน ด้วยการสั่งให้ทหารถอนเสาหลักเมืองนี้ไปทิ้ง แต่ด้วยปาฏิหาริย์ของเจ้าพ่อหลักเมือง ทำให้ไม่สามารถถอนเสาหลักเมืองขึ้นมาได้ จึงสั่งให้เผาศาลทิ้ง ปรากฏว่ามีฟ้าผ่าและฝนตกลงมาอย่างหนัก ด้วยความเกรงกลัว นายทหารฝรั่งเศสที่ควบคุมกำลังมา จึงได้สร้างเสาหลักเมืองเพิ่มขึ้นอีก 1 ต้น ศาลแห่งนี้จึงมีเสาหลักเมือง 2 ต้น
วัดบุปผาราม
วัดนี้เรียกอีกชื่อว่า วัดปลายคลอง เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในจังหวัด สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (ปี 2191) ท่านพระครูคุณสารพิสุทธิ์ (หลวงพ่อโห) อดีตเจ้าอาวาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะถาวรวัตถุในวัด จวบจนปัจจุบันท่านพระครูสุวรรณสารวิบูล พร้อมทั้งชาวบ้าน ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ และดูแลภูมิทัศน์โดยรอบวัดให้สะอาดเรียบร้อย วัดนี้จึงเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติศาสนกิจ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่
พิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าไว้มากมาย โดยเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นมงคลสูงสุด คู่บ้านเมือง มีพระพุทธรูปทองบุเงิน พระพุทธรูปปางต่างๆ รวมทั้งเครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยยุโรป กลองมโหระทึก แสดงให้เห็นถึงการเดินทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกกับเมืองท่าโพ้นทะเลในแถบเอเชียอาคเนย์ ข้ามไปไกลถึงซีกโลกตะวันตก
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ และวิหารพระพุทธไสยาสน์ เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นฝีมือช่างท้องถิ่น แต่ล้วนแล้วผสมกลมกลืนด้วยศิลปะจีน และวรรณคดีจีน นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ หมู่กุฏิเล็กทรงไทย หอสวดมนต์ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง วิหารฝากระดาน เป็นต้น
หาดทรายดำ
หากชอบทะเลที่แปลกไม่เหมือนใคร ขอแนะนำ "หาดทรายดำ" ซึ่งมีลักษณะทางนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์มาก มีแห่งเดียวในประเทศไทย และมีแค่ 5 แห่งทั่วโลก ได้แก่ ไต้หวัน, มาเลเซีย, แคลิฟอร์เนีย ฮาวาย และไทย เท่านั้น
ทรายดำแห่งนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ไลโมไนท์ (LIMONITE) ลักษณะเป็นสีน้ำตาลแดงไปจนถึงดำ เป็นแร่ที่เกิดจากการยุบตัวของเศษเหมือง และเปลือกหอย
หาดทรายดำตั้งอยู่บริเวณป่าชายเลนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าชายเลนแหลมมะขาม) อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด แต่เดิมหาดทรายดำมีสภาพเสื่อมโทรม ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูจากนักเรียน และคนในพื้นที่ ด้วยการปลูกป่าไปใหม่จนเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนทั่วไป และเป็นศูนย์ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีกิจกรรมเดินชมธรรมชาติป่าชายเลน และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ปูดำ ปูแสม รวมถึงหอยขี้ค้อน เปิดให้ชมเวลา 08.30-16.30 น. ถ้าใครอยากชมหิ่งห้อยในเวลากลางคืน ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า ที่เบอร์ 08-9939-7373
แหลมงอบ
มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล โดยมีแนวเขตตั้งแต่หลัก กม. ที่ 19 บนถนน ตราด-แหลมงอบ อยู่ห่างจากตัวเมืองตราดตามทางหลวงหมายเลข 3148 ประมาณ 20 กม. และอยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ 332 กม.
แหลมงอบ เป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ มีร้านอาหารมากมาย รวมถึงของฝากจำพวก กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง และงอบ นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือไปเที่ยวเกาะต่างๆ ได้ เช่น เกาะช้าง เกาะกระดาด เกาะกูด และเกาะแรด
บริเวณแหลมงอบมีประภาคารของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ที่สร้างตั้งแต่ปี 2551 นอกจากนี้ ยังมีป้าย "สุดแผ่นดินตะวันออก" เป็นจุดถ่ายรูปที่พลาดไม่ได้
อ่าวตาลคู่
ก่อนกลับกรุงเทพ ฯ ไม่ควรพลาดไป "อ่าวตาลคู่" เพราะเป็นชายหาดที่สวยงาม โดยมีลักษณะเด่นเป็นหาดทรายสีแดงละเอียด และมีน้ำทะเลที่ขาวใส เหมาะแก่การเล่นน้ำเป็นอย่างยิ่ง
บริเวณรอบๆ อ่าว มีร้านอาหารมากมาย รวมถึงบ้านพักในราคาย่อมเยาอีกเพียบ ชาวตราดและนักท่องเที่ยวทั่วไป นิยมไปพักผ่อนในวันหยุด เพื่อรับลมทะเล และทานอาหาร
ที่กิน
มาเที่ยวเมืองชายทะเลทั้งทีก็ต้องรับประทานอาหารสดๆ จากทะเลเท่านั้น ครั้งนี้ผมเลือกร้าน "หัวอ่อนซีฟู้ดส์" ที่มีชื่อเสียงด้านความอร่อยและความสดของวัตถุดิบ จากฝีมือกุ๊กระดับภัตตาคาร (เคยเป็นกุ๊กภัตตาคาร)
ผมสั่งปลาหมึกผัดไข่เค็ม ปลากระพงทอดน้ำปลา ต้มยำทะเลน้ำข้น และปลาฉลามผัดฉ่า รสชาติอาหารที่นี่บอกเลยว่า "อร่อยทุกอย่าง" ในราคาสมเหตุสมผล สามารถจองโต๊ะได้ที่เบอร์ (039) 611-047
ที่นอน
ถ้ามาเที่ยวในตัวเมืองตราด แล้วต้องการที่พักบรรยากาศสบายๆ สไตล์บังกะโล ในราคาไม่แพง ขอแนะนำ "บ้านพักสวัสดิการกองทัพอากาศ (เกาะตะเคียน)" ที่ห้องพักห่างจากตัวเมืองตราดเพียง 1 กม. เท่านั้น เป็นบ้านพักอยู่ในเขตทหาร มีความปลอดภัยสูง ห้องพักหลายหลัง ราคาคืนละ 500-800 บาท มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งแอร์ ตู้เย็น ทีวี และเครื่องทำน้ำอุ่น ที่สำคัญเจ้าของมีอัธยาศัยเป็นกันเอง สำรองที่พักได้ที่เบอร์ (039) 524-191
ขอขอบคุณ
บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เอื้อเฟื้อพาหนะสำหรับการเดินทางครั้งนี้
ABOUT THE AUTHOR
ว
วิธวินท์ ไตรพิศ
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)