รายงาน(formula)
มองบน ! เทคโนโลยียานยนต์ทศวรรษหน้า
"ฟอร์มูลา" รวบรวมความก้าวหน้าของเทคโนโลยียานยนต์ปัจจุบัน และอนาคต ที่จะกำหนดทิศทางโลกยานยนต์ในทศวรรษหน้า ติดตามจากรายงาน
เทคโนโลยี 3 ด้าน
ถ้าเราจะบอกว่า รถยนต์ คือตัวชี้วัดความก้าวหน้าของยุคสมัยก็คงไม่ผิด เพราะมันเปรียบเสมือนตัวแทนของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และหลากหลาย แต่ที่นับเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนายานยนต์แห้งทศวรรษหน้า หนีไม่พ้นเทคโนโลยี 3 ด้าน ดังต่อไปนี้พลังงาน
พลังงาน เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต เพราะยานยนต์ยุคใหม่ยังต้องพึ่งพาพลังงานในการขับเคลื่อน และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเป็น "พลังงานทางเลือก" ที่สะอาด ประหยัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้ประสิทธิภาพสูงต่อพลังงานที่สูญเสียไป คำตอบที่มองเห็นอนาคตได้ชัดเจนที่สุด คือ "พลังงานไฟฟ้า" ปัจจุบันค่ายรถหลายค่าย ต่างพัฒนารถไฟฟ้ามากมาย หนึ่งในนั้น คือ รถไฟฟ้าแบบ พลัก-อิน ที่สามารถชาร์จไฟได้จากไฟบ้านได้ทันที ในหลายประเทศเริ่มวางระบบรองรับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง พร้อมพัฒนาสถานีบริการชาร์ตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับยานยนต์โดยเฉพาะ ไม่ใช่ใช้ร่วมกับโครงสร้างไฟฟ้าเดิม โดยพึ่งพาสาธารณูปโภคเพียงอย่างเดียว ต้องให้แต่ละบ้าน แต่ละเขต ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ อาจหามาจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ถือเป็นผลดีที่ตามมาสำหรับการพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต อีกพลังงานที่น่าจับตาคือ เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน(HYDROGEN FUEL CELL) ที่เคยเป็นแค่แนวคิด ได้มีการลองผิดลองถูกมาพอสมควร ปัจจุบันค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง โตโยตา ได้พัฒนาจนสำเร็จ และออกขายจริงไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 ไฮโดรเจน เป็นพลังงานสะอาด สามารถผลิตได้จากหลายแหล่งกำเนิด ตั้งแต่แสงอาทิตย์ และลม แถมยังไม่ปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์อีกด้วย แต่สำหรับในประเทศไทย ยังเป็นเรื่องไกลตัว เพราะต้องปรับโครงสร้างการขนส่ง และจัดเก็บแกสไฮโดรเจน รวมถึงสร้างสถานีเติมแกสไฮโดรเจน ซึ่งดูเหมือนจะยากกว่ากรณี รถไฟฟ้า เสียอีกระบบบังคับควบคุม
ทุกวันนี้ระบบนำร่อง หรือระบบนำทาง มีการติดตั้งใช้งานอย่างแพร่หลาย ช่วยประหยัดพลังงาน และเวลา ยิ่งกว่านั้นยังมีการศึกษาเพื่อนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาผสมผสานกับโครงสร้างของถนนรูปแบบใหม่ โดยระบบนี้จะเข้ามาจัดการจราจร ควบคุมพวงมาลัย กำลังเครื่องยนต์ รวมถึงระบบเบรคให้เสร็จสรรพ เราแค่ตั้งค่าเพื่อสั่งการเท่านั้น ระบบนี้เมื่อถูกใช้กันมากขึ้น จะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รวมถึงอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี เทคโนโลยีดังกล่าวรวมไปถึงยานยนต์ไร้คนขับ ที่หลายค่ายเริ่มทดลองใช้งาน ยังก็มีข้อจำกัดอยู่อีกมาก ต้องใช้เวลาศึกษาและพัฒนากันต่อไปวัสดุแห่งอนาคต
รถยนต์ยุคต่อไป ต้องใช้วัสดุใหม่ๆ ที่แข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักเบาขึ้นกว่าเดิม เช่น อลูมิเนียม, ไฟเบอร์กลาสส์ หรือ คาร์บอน นาโน ไฟเบอร์กลาสส์ เป็นต้น รวมถึงกระจกหน้ารถ ก็อาจเปลี่ยนเป็นวัสดุพลาสติคแบบใส ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโน ป้องกันน้ำและฝุ่นเกาะ ให้ทัศนวิสัยดีเยี่ยมรถรักโลก 2 ระบบ
ในยุคปัจจุบัน รถรักโลกที่มีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย พร้อมศูนย์บริการรองรับ คงมีแต่รถไฮบริดเท่านั้น ส่วนรถไฟฟ้าล้วนนั้น เริ่มหาซื้อได้ แต่เรื่องเซอร์วิศอาจยังมีปัญหา เราไปทำความเข้าใจรถ 2 ประเภทนี้กันไฮบริด พัฒนาต่อเนื่อง แบทเตอรีอึดกว่าเดิม
รถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีไฮบริดเข้ามาเป็นเจ้าแรกเมื่อปี 1997 คือ โตโยตา รุ่น ปรีอุส (PRIUS) เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 82 แรงม้า อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเฉลี่ย 20 กม./ลิตร ปัจจุบัน ปรีอุส ได้พัฒนาการขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในรุ่นล่าสุด ปรีอุส 2017 ใช้เครื่องยนต์ความจุเท่าเดิม แต่ใช้แบทเตอรีลิเธียม-ไอออนน้ำหนักเบา และเล็กลงเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ มอเตอร์ไฟฟ้าและเพลาขับ ก็มีขนาดเล็กลง ช่วยลดน้ำหนักให้ระบบส่งกำลังได้มาก มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ประหยัดน้ำมันถึง 24 กม./ลิตร นอกจากระบบไฮบริดที่นำพลังงานจลน์ จากการชะลอตัวของรถไปแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ในแบทเตอรี ยังมีระบบ พลัก-อิน ไฮบริด สามารถชาร์จไฟฟ้าตามบ้านเรือนได้ แต่ยังคงต้องทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ ใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 4 ชม. จุดเด่นสามารถเพิ่มประจุไฟฟ้าได้มากพอ ใช้ระบบไฟฟ้าล้วนวิ่งได้ไกลมากขึ้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยม มีให้เห็นตามท้องถนนทั่วไปแล้ว เช่น บีเอมดับเบิลยู ไอ 8, โวลโว เอกซ์ซี 90, เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี 350 อี สรุปได้ว่า เทคโนโลยีไฮบริดได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แบทเตอรีขนาดเล็กน้ำหนักน้อยกว่าเดิม แต่เก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น เสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ มอเตอร์คุณภาพดีขึ้น ลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันได้อย่างชัดเจนรถพลังงานไฟฟ้า รัฐบาล VS ผู้ผลิต แนวคิดยังสวนทาง ?
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เห็นได้จากการเปิดตัวของรถพลังงานไฟฟ้าอย่าง เทสลา โมเดล เอส, นิสสัน ลีฟ ข้อดี คือ เครื่องยนต์เงียบ ขับขี่นุ่มนวล ไม่ปล่อยมลภาวะ แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก โดยเฉพาะในประเทศไทย เพราะผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นมากพอ สาเหตุจากสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย มีเพียงแค่สถานีชาร์จไฟนำร่องเท่านั้น เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าของ ปตท. ที่ถนนชัยพฤกษ์ แถมราคาขายรถยังคงสูงเกินไป ล่าสุดรัฐบาลมีนโยบายเร่งสร้างความเชื่อมั่น ให้หันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยจะสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และปรับลดภาษีนำเข้า ทำให้รถมีราคาถูกลงกว่าปัจจุบัน ขณะที่ค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง โตโยตา ออกมาแถลงข่าวหนุนรถพลังงานไฮบริดตามแผนเดิมที่วางไว้ โดยให้เหตุผลว่า รถยนต์ไฮบริด ที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาเป็นตัวช่วยการขับเคลื่อน ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันน้อยลง มีความคุ้มค่าเหมาะสมกับราคา ใช้งานได้ดี เมื่อซื้อแล้วสามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และไม่ต้องกังวลกับระยะทางที่วิ่งได้จำกัดเหมือนรถพลังงานไฟฟ้า (EV) แต่ก็ยังพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าควบคู่กันไปด้วย รถพลังงานไฟฟ้า จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็ต่อเมื่อแบทเตอรีมีประสิทธิภาพสูง วิ่งได้ระยะทางไกล ตลอดจนมีสถานีชาร์จไฟฟ้าเพียงพอ ครอบคลุมทั่วประเทศ ราคาอะไหล่ไม่แพง มีศูนย์บริการทั่วถึง นอกจากนี้ "ราคา" ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อมาใช้งานด้วยยานยนต์ไร้คนขับ ไม่นานเกินรอ
เทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ใกล้ใช้งานได้จริง โดยมี "กูเกิล"(GOOGLE) ยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีเป็นผู้นำ คิดค้น และจุดประกายให้ค่ายรถยนต์เห็นช่องทางการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม ต้นแบบอย่าง "GOOGLE SELF-DRIVING CAR" ใช้ความเร็วได้สูงสุด 40 กม./ชม. มีระบบแผนที่แม่นยำ ซึ่งเป็น "กุญแจสำคัญ" ของระบบขับเคลื่อน รวมถึงเซนเซอร์ LIDAR (LIGHT DETECTION AND RANGING) ตั้งอยู่ด้านบนของตัวรถ หมุนที่ความเร็ว 10 ครั้ง/วินาที คอยบันทึกภาพของวัตถุที่อยู่รอบตัวรถเป็น 3 มิติ ประเมินความเร็วของรถยนต์คันที่อยู่ด้านหน้า และมีกล้องบันทึกภาพประมวลผลไฟสัญญาณจราจร ป้ายสัญญาณต่างๆ หรือแม้แต่สัญญาณมือของผู้ใช้ถนน ปัจจุบัน กูเกิล กำลังพัฒนารถยนตร์อัจฉริยะ โดยนำพื้นฐานของรถยนต์ โตโยตา ปรีอุส และ เลกซัส อาร์เอกซ์ 450 เอช เข้ามาทดสอบระบบ คาดว่าพร้อมผลิตจำหน่ายจริงในช่วงปี 2020 จากความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ค่ายรถยนต์ต่างตื่นตัว หนึ่งในนั้น คือ โวลโว ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสวีเดน ได้กำหนดแผนจำหน่ายรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยใช้งานได้บนทางด่วน ภายในปี 2021 เช่นเดียวกับ บีเอมดับเบิลยู ประกาศเตรียมเปิดตัวรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติภายในปีเดียวกัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับนักลงทุนที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนการผลิต รวมถึงข้อกฎหมาย และบริษัทประกันภัย ที่ต้องมีแนวทาง กฎข้อบังคับออกมาอย่างชัดเจนแนวโน้มรถไฟฟ้าในไทย
นโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ของรัฐบาล เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งรวมถึง "รถยนต์ไฟฟ้า" ที่ได้รับการส่งเสริมเร่งด่วน โดยยังบอกว่าปลายปีนี้ จะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนถนนในเมืองไทยอย่างแน่นอน ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองผลิตรถยนต์ "ดีทรอยท์แห่งเอเชีย" และเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก การก้าวให้ทันเทคโนโลยีรถยนต์โลกที่เปลี่ยนไป จึงสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อแนวโน้มรถยนต์ในโลกอนาคต เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ประเทศไทยก็ควรจะปรับตัว วางพื้นฐานไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่ต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ ดังนั้น ประเทศไทย จะก้าวสู่สังคมรถพลังไฟฟ้าอย่างไร จึงเป็นคำถามที่รัฐบาลต้องตอบ และวางยุทธศาสตร์ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ชัดเจนรถโดยสารไฟฟ้า ได้เห็นแน่ปลายปีนี้
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ส่งเสริม 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รถยนต์นั่งไฟฟ้า รถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็ก และรถโดยสารไฟฟ้า โดยเร่งรัดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 200 คัน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 พร้อมจัดทำมาตรฐานของรถโดยสารไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีชาร์จไฟฟ้า นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเตรียมวางกรอบการดำเนินนโยบายสนับสนุน และกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการส่งเสริมการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าในประเทศ รวมทั้งการยกเว้นอากรนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าสำเร็จรูป โดยจะนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าสำหรับรถยนต์ที่นำมาผลิตเพื่อทดลองตลาด ขณะเดียวกัน อาจได้การยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญที่จะนำมาผลิตในช่วงเริ่มต้นอีกด้วยฝีมือคนไทย เปลี่ยนเครื่องยนต์ เป็นไฟฟ้า 100 %
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ร่วมมือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ผลิตรถต้นแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100 % ขึ้นมาด้วยการ "ดัดแปลง" รถยนต์ทั่วไป โดยยกเครื่องยนต์ออก แล้วใส่ระบบมอเตอร์ไฟฟ้า เข้าไปแทนที่ จุดประสงค์หลักของโครงการวิจัยนี้ คือ ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีการดัดแปลง เปลี่ยนเครื่องยนต์รถเก่า หรือรถที่ถูกใช้งานมาแล้ว เพื่อลดมลภาวะ และประหยัดพลังงาน รถยนต์ต้นแบบจาก สวทช. ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 135 กม./ชม. และวิ่งด้วยความเร็ว 70 กม./ชม. ได้ไกลถึง 140 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ใช้เวลาชาร์จ 8 ชม. โดยคิดเป็นอัตราสิ้นเปลือง กม. ละ 50 สตางค์เท่านั้น ซึ่งนับว่าตอบโจทย์การใช้งานในเมืองได้อย่างสบายๆ แต่ในอนาคต อาจต้องปรับปรุงเพิ่มเติมให้ได้ระยะทางมากกว่านี้ รถต้นแบบ ใช้อุปกรณ์จากประเทศจีนเป็นหลัก ต้นทุนในการดัดแปลงประมาณ 200,000 บาท แต่ถ้าในอนาคตประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง ค่าดัดแปลงจะเหลือแค่ประมาณ 10,000 กว่าบาทเท่านั้น10 เทคโนโลยีสุดล้ำ ในทศวรรษหน้า
1. WI-FI IN CAR ไม่พลาดทุกการเชื่อมต่อ
เราคุ้นเคยกันดีกับระบบ WI-FI ในชีวิตประจำวัน ทั้งในบ้าน และที่ทำงาน ทำให้เราเข้าถึงข่าวสารและการติดต่อได้อย่างสะดวกสะบาย ถ้าสมมุติวันหนึ่ง ระบบ WI-FI เข้ามาอยู่ในรถยนต์ทุกคันล่ะ คงดีไม่น้อย เนื่องจากในอนาคต ระบบ WI-FI มีความจำเป็นมาก เพราะเป็นระบบหลักก่อนที่จะติดตั้งระบบเชื่อมต่ออื่นๆ เพื่อให้สามารถใช้ร่วมกับระบบอินเตอร์เนทไร้สายอื่นๆ ได้ แถมแว่วมาว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ธรรมดา ผู้พัฒนาจะสร้างให้สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ในบ้านได้โดยตรง ทำให้ใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น2. VOICE RECOGNITION สั่งงานด้วยเสียง
ระบบนี้ คือ การขับขี่ไปพร้อมกับการสั่งการอุปกรณ์ต่างๆ ในรถด้วย "เสียง" เนื่องจากการพิมพ์ และการใช้สายตาเพ่งมองอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายๆ ซึ่งระบบนี้คล้ายกับการสั่งงานในโทรศัพท์มือถือ โดยสั่งให้ เปิดวิทยุ, เลือกเพลง, เปิดระบบปรับอากาศ, ปรับอุณหภูมิ ฯลฯ ปัจจุบันมีใช้บ้างแล้วในรถยนต์หลายค่าย แต่ยังติดปัญหาเรื่องของ "สำเนียง" ภาษาของผู้สั่ง จึงต้องพัฒนากันต่อไป3. DIGITAL DASHBOARD แผงหนัาปัดระบบดิจิทอล
เวลาเราขับรถไปไหนที่ไม่คุ้นเคย เรามักจะต้องเปิดระบบนำทาง หรือ จีพีเอส (GPS) จากวิทยุในรถ ที่อยู่ตรงกลางคอนโซล หรือในโทรศัพท์มือถือ ต้องคอยชำเลืองซ้ายที ขวาทีอยู่ตลอด เนื่องจากที่หน้าปัดบอกความเร็วที่เราคุ้นเคยอยู่ตรงหน้านั้นไม่ได้แสดงข้อมูล GPS ในอนาคตหน้าปัดแบบความเร็วแบบแอนาลอกนี้ จะถูกเปลี่ยนเป็นแบบดิจิทอลทั้งหมด โดยจะสามารถปรับเปลี่ยนหน้าจอได้หลากหลาย ทั้งความเร็ว รอบเครื่องยนต์ เพลง ระบบนำทาง ฯลฯ ทำให้เรามองเห็นได้ง่ายขึ้น จึงปลอดภัยขึ้นนั้นเอง4. CAR TO CAR COMMUNICATION รถคุยกับรถ
เราคุ้นเคยกับการสื่อสารแบบออนไลน์เป็นอย่างดี ยุคสมัยหน้าเราจะได้เห็น "รถสื่อสารกับรถ" อย่างแน่นอน ไม่ได้แชทไลน์พูดคุยกัน แต่เป็นการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเรียลไทม์ ที่ผู้ขับขี่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เช่น เส้นทาง อุบัติเหตุ สภาพการจราจร ฯลฯ5. HEALTH MONITOR ระบบตรวจสอบสุขภาพ
ผู้ผลิตไม่ได้มุ่งเน้นเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเดียว ยังคำนึงถึงสุขภาพของผู้ขับรถอีกด้วย โดยได้พัฒนาเบาะนั่งที่มีเซนเซอร์ตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ คล้ายกับนาฬิกา SMART WATCH ที่เราคุ้นเคยกัน โดยสามารถนำค่าเหล่านี้ไปต่อยอดในการระวังอันตรายขณะขับรถได้อีกด้วย ผู้ผลิตยืนยันว่า ภายใน 10 ปีระบบนี้ จะมีอยู่ในรถยนต์เกือบทุกรุ่นอย่างแน่นอน6. FINANCIAL GPS จีพีเอส ทางการเงิน
ในอนาคตเรื่องของการจ่ายเงินกับสิ่งต่างๆ รอบรถ จะเป็นเรื่องง่ายทันที เพราะได้มีการพัฒนาระบบเชื่อมต่อทางการเงิน เราสามารถขับผ่านระบบต่างๆ เหมือนการรูดบัตรเครดิท แถมยังเรียกเก็บเงินปลายเดือนเป็นรอบๆ อีกด้วย เช่น ค่าทางด่วน ค่าจอดรถ ค่าปรับ ค่าประกัน ค่าภาษีประจำปี ฯลฯ7. INVISIBLE CHAUFFEURS AND CO-PILOTS ระบบโชเฟอร์ล่องหน
ระบบ โชเฟอร์ล่องหน" คล้ายกับระบบ "ขับรถอัตโนมัติ" นั่นแหละ แต่ใช้ได้เฉพาะการควบคุมรถเพื่อให้วิ่งตามคันหน้า ด้วยระยะห่างและความเร็วที่เท่ากันเท่านั้น รัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกากำลังทดสอบ และผ่านใบอนุญาตแล้วในรัฐเนวาดา จนค่าย จีเอม (GENERAL MOTORS) กำหนดว่าระบบนี้จะมีใช้จริงบนท้องถนนในปี 2018 อย่างแน่นอน และยังมาพร้อมระบบป้องกันการชนด้านข้างอีกด้วย8. ECO MODE ตัวช่วย ที่มากกว่าแค่ประหยัดน้ำมัน
รถยนต์รุ่นใหม่ทุกวันนี้ ใส่ปุ่ม ECO MODE มาให้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อการประหยัดเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว แต่ระบบ ECO MODE ในอนาคต จะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ในรถ เช่น ระบบ GPS เพื่อค้นหาเส้นทางที่สั้นที่สุด หรือรถติดน้อยที่สุด ที่สำคัญมันจะคำนวณหาเส้นทางที่ปล่อยมลพิษน้อยที่สุดเป็นหลักด้วย เรียกได้ว่าประหยัดทั้งเชื้อเพลิง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม9. INTUITIVE SAFETY FEATURES ระบบช่วยเหลือ เพื่อลดอุบัติเหตุ
ทุกวันนี้ เราคงได้เห็นรถยนต์หลายรุ่นโฆษณาถึงระบบ "เบรคอัตโนมัติ" ในกรณีที่เข้าใกล้รถคันหน้าอย่างกระชันชิด ซึ่งก็มีข้อเสียอยู่บ้าง หากต้องการแซงอย่างกระชันชิด(ถนนสองเลน) หรือบางจังหวะที่ไม่ควรต้องเบรค เนื่องจากมันถูกสั่งการให้อ่านจากเซนเซอร์เท่านั้น ในยุคต่อไปจะมีระบบ PRE-SAFE แจ้งเตือนล่วงหน้าถึงพฤติกรรมการขับขี่ของรถใกล้ๆ ในช่วงเวลานั้น ระบบจะรับรู้ถึงสภาวะรอบๆ หากคันใดคันนึงเบรคกระทันหัน ระบบจะแจ้งเตือนพร้อมช่วยเบรคอย่างเต็มที่ แม้เราจะเหยียบเบรคเพียงเล็กน้อยก็ตาม10. PERFECT MATCH เลือกเพลงให้ ตามสถานการณ์
แอพพลิเคชันเกี่ยวกับรถยนต์มีมากมาย แต่แอพพลิเคชันที่ใช่ยังมีน้อยอยู่ ในอนาคตอาจมีแอพฯ ที่น่าสนใจอย่าง PERFECT MATCH ที่สามารถเลือกเพลงให้เหมาะกับอารมณ์ และสถานการณ์ของคนขับ ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีภายในรถยนต์ และลดความตึงเครียดของผู้ขับรถ อีกทั้งยังเพิ่มความบันเทิงแก่ผู้โดยสาร เป็นลูกเล่นใหม่ที่ดีทีเดียวABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2559
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)