เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS
ขับเคลื่อนสู่อนาคต ซูเพอร์คาร์เจเนอเรชันใหม่ เพื่อสร้างสรรค์ยานยนต์อนาคต
เทคโนโลยียานยนต์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าพูดถึงรถไฮเทคสมัยก่อน เราอาจนึกถึง รถที่มีหลังคาเปิด/ปิดได้ด้วยไฟฟ้า ลำโพงดังกระหึ่ม หรือยุคใกล้ปัจจุบันหน่อย อาจมีระบบ จีพีเอส แต่สุดท้าย เทสลา ก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงนิยามของความไฮเทคอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว รถพลังงานไฟฟ้า คันแรกในงาน CONSUMER ELECTRONICS SHOW ซึ่งเป็นสถานที่เปิดตัว GADGET เจ๋งๆ ปีนี้ เทคโนโลยียานยนต์เป็นที่สนใจอย่างมาก เทียบเท่ากับ สมาร์ทโฟน เวอร์ชวลเฮดเซท หรือ ดโรน เลยทีเดียว แต่ก็น่าแปลกที่ บริษัทชั้นนำอย่าง กูเกิล หรือบริษัทใหม่ๆ อย่าง ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ไม่ได้แสดงความสนใจเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับสักเท่าไร บริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ในวงการยานยนต์ แทบทุกบริษัท ต่างปรากฏตัวและประกาศว่ากำลังสร้างสรรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ฟอร์ด เปิดตัว อเมซอน เอโค ส่วน บีเอมดับเบิลยู เตรียมใช้กล้องติดแทนกระจกข้าง บริษัทผู้ผลิตมากกว่าหนึ่งรายพูดถึงเทคโนโลยีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แม้ส่วนใหญ่เทคโนโลยีเหล่านี้จะยังอยู่ในรูปแบบของคอนเซพท์คาร์ และอีกส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนา แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า เทคโนโลยียานยนต์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น โปรดรัดเข็มขัด เราจะพาคุณเดินทางสู่อนาคตแห่งวงการยานยนต์ ณ บัดนี้
FFZERO1
เคยฝันอยากเป็นเจ้าของ แบทโมบิล กันหรือเปล่า ?
รถคันนี้ ดูเผินๆเหมือนหลุดออกมาจากภาพยนตร์เรื่อง BATMAN หรือ SPEED RACER นั่นเพราะ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ เจตนาจะให้ไฮเพอร์คาร์พลังไฟฟ้า ที่วิ่งได้เร็วถึง 320 กม./ชม. คันนี้ สร้างนิยามของคำว่ารถขึ้นมาใหม่เลยทีเดียว คุณอาจจะยังไม่เคยได้ยินชื่อ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะบริษัทนี้เพิ่งก่อตั้งขึ้นที่ซิลิคอนวัลเลย์ เมื่อปี 2014 นี้เอง โดยมีเป้าหมายเพื่อปฏิวัติวงการยานยนต์ เพียง 18 เดือนหลังจากนั้น ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ซึ่งประสบผลสำเร็จในการต่อกรกับ เทสลา ก็ตัดสินใจก่อตั้งโรงงานมูลค่านับพันล้าน นอกลาสเวกัส และเปิดตัว FFZERO1 สู่สายตาสาธารณชน ในฐานะคอนเซพท์คาร์ โดยเป็นรถแข่งขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่มีพละกำลังสูงถึง 1,000 แรงม้า และคุณสามารถควบคุมมันได้ด้วยสมาร์ทโฟน ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า FFZERO1 จะถูกผลิตขึ้นมาทั้งหมดกี่คัน ด้วยขนาดห้องโดยสารที่นั่งได้แค่คนเดียว แถมยังต้องใส่หมวกกันนอคแบบพิเศษ ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า FFZERO1 คงไม่ได้ออกจำหน่ายตามท้องตลาด อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ตั้งใจจะให้รถที่ผลิตในอนาคตทุกคัน ใช้โครงสร้างภายใต้แชสซีส์แบบเดียวกันกับ FFZERO1 เพื่อความสะดวก และเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการผลิตยานยนต์อนาคตให้เราได้ใช้กันภายในปี 2018ท่ออากาศ
การมีท่อระบายอากาศรอบคัน ทำให้อากาศสามารถไหลผ่านตัวรถได้ แทนที่จะปะทะอยู่รอบๆ รถ ส่งผลให้แรงต้านลดลง แถมยังลดความร้อนของแบทเตอรีได้อีกด้วยมอเตอร์ 4 ตัว
รถที่อยู่ในสายการผลิตของ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ใช้มอเตอร์เพียง 3 ตัว แต่ FFZERO1 จะใช้มอเตอร์ถึง 4 ตัว โดยติดตั้งอยู่ที่ล้อทั้ง 4 ด้าน ส่งผลให้มีพละกำลังมากถึง 1,000 แรงม้า และสามารถเร่งความเร็วได้สูงสุดถึง 320 กม./ชม.ควบคุมด้วยสมาร์ทโฟน
แม้จะเป็นรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ แต่มันก็มาพร้อมกับลูกเล่นให้คุณสามารถติดตั้งสมาร์ทโฟนเข้าไปตรงตำแหน่งพวงมาลัย เพื่อควบคุมรถให้เป็นไปดังใจได้มากขึ้นหมวกกันนอคไฮเทค
ราวกับว่ารูปลักษณ์ของ FFZERO1 จะยังดูเหมือนยานอวกาศไม่มากพอ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ จึงสร้างหมวกกันนอคแบบพิเศษที่มาพร้อมกับน้ำ และออกซิเจน มาให้ใช้คู่กับรถ แถมหมวกกันนอคไฮเทคใบนี้ ยังสามารถตรวจสอบสุขภาพของผู้สวมใส่ได้อีกด้วยห้องโดยสาร สไตล์ยานอวกาศ
ห้องโดยสาร ซึ่งออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากยานสำรวจของ นาซา สามารถนั่งได้เพียง 1 คนเท่านั้น โดยเบาะนั่งจะมีมุมเอียง 45 องศา เพื่อความสบาย และการไหลเวียนโลหิตที่ดีของผู้ขับขี่หางเสือแบบใส
หางเสือ แบบพโรโทไทพ์ สไตล์ จากรายการแข่งขัน เลอ มองส์ ไม่ได้แค่ช่วยเพิ่มสมดุลขณะขับขี่ด้วยความเร็วเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นจอภาพ แสดงชื่อคนขับ ปริมาณแบทเตอรีที่ยังเหลือ และอื่นๆ ได้ด้วยพิมพ์เขียวของ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์
FFZERO1 รวมถึงโมเดลอื่นๆ ที่จะตามมาของ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ จะถูกสร้างขึ้น โดยระบบใหม่ที่มีชื่อว่า VARIABLE PLATFORM ARCHITECTURE (0 คะแนน สำหรับความสร้างสรรค์ในการตั้งชื่อ) ดังนั้น รถใหม่ทุกคันของทางค่าย จะมีโครงสร้างพื้นฐาน ลักษณะคล้ายสเกทบอร์ดนี้เหมือนๆ กัน ทำให้ง่ายต่อการปรับแต่งเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์ใส่ได้มากที่สุดถึง 4 ตัว ฐานล้อแบบต่างๆ รวมถึงลูกเล่น อุปกรณ์อื่นๆ และยังทำให้ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ตามต้องการ เพราะสามารถกอพพีอุปกรณ์ต่างๆ จากรุ่นหนึ่ง มาใส่อีกรุ่นหนึ่งได้แบบไม่จำกัด แถมยังสามารถใช้ได้กับรถทุกแบบ ทุกขนาดอีกด้วยเอาดี เอช-ทรอน กวัตตโร
เอสยูวี ความเร็วสูง ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ใช้พลังงานไฮโดรเจน
เอสยูวี ไฟฟ้า ความเร็วสูงคันนี้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน ส่งผลให้อัตราการปล่อยมลภาวะ ลดลงจนเหลือ 0 โดย เอาดี อ้างว่ารถขับเคลื่อน 4 ล้อคันนี้ สามารถทำความเร็ว 99.2 กม./ชม. ได้ภายในเวลา 7 วินาที และสามารถไปได้ไกลถึง 596.8 กม. ต่อการใช้พลังงาน 1 ถัง ซึ่งถือว่าไกลกว่ารถไฟฟ้าคันอื่นๆ และยังใช้เวลาในการเติมเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น แบทเตอรีหลักของรถ กวัตตโร คันแรก ที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าล้วนๆ ให้พลังงานสูงถึง 110 กิโลวัตต์ พร้อมด้วยมอเตอร์ 2 ตัว ติดตั้งบนแกนล้อแต่ละข้าง นอกจากนี้ เอช-ทรอน ยังมีระบบจอดรถเอง ตรวจสอบสภาพการจราจรเอง และขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติด้วยความเร็วไม่เกิน 64 กม./ชม. แถมยังมีกำหนดจะเข้าสู่สายการผลิตจริงในปี 2020 อีกต่างหาก แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ แบบเดียวกันนี้ จะถูกนำมาให้เราใช้กันก่อนใน เอาดี เอ 8 ซีดาน ใหม่ ซึ่งจะออกสู่ตลาดในปีหน้าแบทเตอรีสำรอง
แม้พลังงานหลักจะมาจากไฮโดรเจน เอช-ทรอน ก็ยังมีแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน สำรองไว้เพื่อการเร่งความเร็ว หรือเพื่อใช้ในสถานการณ์จำเป็นอื่นๆขจัดความกังวล
เอาดี นำระบบแอร์ซัสเปนชันแบบเดียวกับที่เคยใช้ในโมเดล คิว 7 กลับมาใช้อีกครั้ง กับล้อขนาด 22 นิ้วของ เอช-ทรอน เพื่อเพิ่มความนุ่มนวล และความสมดุลในการขับขี่สมาร์ทเพาเวอร์
ในช่วงความเร็วต่ำ รถจะเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนมาเป็นแบบขับเคลื่อนล้อหน้า และดึงพลังงานจากแบทเตอรีมาใช้ และเมื่อแบทเตอรีมีพลังงานลดลง ก็จะเปลี่ยนกลับมาใช้พลังงานจากไฮโดรเจนตามเดิมแผงรับพลังแสงอาทิตย์
เอช-ทรอน ไม่เพียงแค่รับพลังงานจากไฮโดรเจน และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออนเท่านั้น แต่ยังติดตั้งแผงโวลาร์ พาเนล ซึ่งให้พลัง 320 วัตต์ ไว้เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองด้วยระบบควบคุมส่วนกลาง
เอช-ทรอน เป็นรถขับเคลื่อนทุกล้อ ที่มอเตอร์และพลังงานเชื้อเพลิง ถูกควบคุมโดยระบบส่วนกลาง เพื่อประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนลักษณะการทำงานของไฮโดรเจน
ไฮโดรเจน เป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะทั้งเงียบ และไม่ก่อมลภาวะ เมื่อถูกเก็บไว้ในฐานะพลังงานเชื้อเพลิง ไฮโดรเจนจะใช้ปฏิกิริยาเคมีในการขับเคลื่อนรถยนต์ แกสไฮโดรเจนในถัง จะถูกส่งไปยังขั้วบวกของแบทเตอรี ซึ่งทำหน้าที่แบ่งโมเลกุลของไฮโดรเจน ออกเป็น ไอออน (พโรทอน) และอีเลคทรอน โดยพโรทอนจะถูกดึงไปยังขั้วลบของแบทเตอรี จากนั้นจึงทำปฏิกิริยากับออกซิเจน คายพลังงานออกมาเป็นน้ำ ส่วนอีเลคทรอน ถูกส่งไปยังแผงวงจรเฉพาะ เพื่อเป็นพลังงานให้มอเตอร์ไฟฟ้าใช้ในการขับเคลื่อนล้อต่อไปบีเอมดับเบิลยู ไอ 8 มิร์เรอร์เลสส์
บีเอมดับเบิลยู ไร้กระจกคันนี้ ไม่มีจุดอับสายตา
จุดขายสำคัญของ บีเอมดับเบิลยู โมเดลนี้ อยู่ในชื่อของมัน เพราะ ไอ 8 มิร์เรอร์เลสส์ เป็นรถที่ไม่มีกระจกมองหลัง แถมอสูรร้ายแห่งค่ายใบพัดสีฟ้าขาว ยังมีทีเด็ดอื่นๆ ซ่อนอยู่อีกหลายอย่าง โดย บีเอมดับเบิลยู ได้ติดตั้งกล้องเล็กๆ ซึ่งมาพร้อมกับเลนส์กันฝุ่น กอริลลา กลาสส์ จำนวน 3 ตัว เพื่อใช้แทนที่กระจกมองหลัง โดย 2 ตัวแรกถูกติดตั้งไว้ตรงประตูทั้ง 2 ด้าน ส่วนอีกตัวติดตั้งไว้ที่กระจกหลัง กล้องแต่ละตัว จะมีมุมในการจับภาพแยกจากกันโดยอิสระ แต่ระบบคอมพิวเตอร์ในรถจะนำภาพจากกล้องทั้ง 3 ตัวมาประมวลผลเป็นภาพใหญ่ และฉายภาพนั้นให้ผู้ขับขี่ได้เห็นผ่านจอสกรีน ที่ติดตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งกระจกมองหลังเดิมภายในห้องโดยสาร กล้องเหล่านี้ยังสามารถตรวจจับวัตถุต่างๆ ที่เคลื่อนที่มาจากด้านหลัง และเตือนให้ผู้ขับขี่รู้ หากมีสิ่งใดเคลื่อนที่เข้ามาใกล้บริเวณจุดอับสายตาของตัวรถ นอกจากนั้น กล้องที่ติดตั้งอยู่ยังสามารถขยายมุมจับภาพให้กว้างขึ้น เมื่อรถกำลังเข้าสู่วงเลี้ยวได้ด้วยเช่นกันแทนที่กระจกมองหลังเดิม ด้วยจอแสดงผลสุดไฮเทค
บีเอมดับเบิลยู ได้นำจอสกรีนขนาด 300x75 มม. มาติดตั้งแทนกระจกมองหลังแบบเดิมๆ ทำให้ผู้ขับขี่เห็นภาพรวมของถนนตามจริง ไม่ใช่แค่สะท้อนเงาถนนออกมาเหมือนเมื่อก่อนกันฝน
ช่องระบายบริเวณปีกข้างของรถ ทำหน้าที่กันน้ำ ให้กระจกหน้า และกระจกข้างคนขับของ บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 เพื่อทัศนวิสัยที่ดีขึ้นขณะขับขี่ภายใต้ฮูดสุดเท่
ขุมพลังงานของ บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 มิร์เรอร์เลสส์ มาจากเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบ 3 กระบอกสูบ ขนาด 1.5 ลิตร ให้พลังสูงสุด 228 แรงม้า พร้อมด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ให้พลังงานสูงถึง 129 แรงม้า ขับเคลื่อนได้ไกลประมาณ 528 กม.แอโรไดนามิค
ดีไซจ์นอันเฉียบคมของรถคันนี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อดึงดูดสายตาของเหล่าสาวกเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงหลักอากาศพลศาสตร์อีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่ได้เป็นเจ้าของ บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 มิร์เรอร์เลสส์ จะแทบไม่ได้ยินเสียงลมปะทะรถขณะขับขี่เลยกล้องบนปีกข้าง
แม้จะมองเผินๆ เหมือนกระจกมองข้าง แต่มัน คือ กล้องที่มีขนาดบาง และถูกหลักอากาศพลศาสตร์มากกว่ากล้องติดรถยนต์ทั่วไปพลังปกป้องดุจกอริลลา
เลนส์ของกล้องทั้ง 3 ตัวถูกปกป้องด้วย กอริลลา กลาสส์ กระจกนิรภัย ป้องกันรอยขีดข่วนและฝุ่นละออง ซึ่งปกติแล้วจะใช้กับสมาร์ทโฟนเราสามารถใช้กล้อง แทนกระจกได้จริงหรือ ?
เนื่องจากกฎหมายในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ระบุว่า รถทุกคันจะต้องมีกระจกมองหลัง จึงคาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักหน่อยกว่าเราจะได้เห็นคอนเซพท์คาร์ของ บีเอมดับเบิลยู คันนี้ โลดแล่นอยู่บนถนนจริง แต่การใช้กล้องแทนกระจกก็มีข้อดีหลายอย่าง อย่างแรก คือ บีเอมดับเบิลยู พิจารณาแล้วว่าการใช้กล้อง 3 ตัว เพื่อสังเกตสภาพด้านหลังรถในมุมกว้าง จะทำให้ผู้ขับขี่มองเห็นจุดอับสายตาของรถโดยปกติได้ แถมกล้องส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับเซนเซอร์ ที่สามารถทำงานได้ดีกว่าดวงตาของมนุษย์ เมื่อต้องขับขี่ตอนกลางคืน หรือเมื่อทัศนวิสัยรอบข้างมืดมิด จริงๆ แล้ว สหรัฐอเมริกาก็ได้ออกกฎหมายให้รถทุกคันติดกล้องมองหลังในปี 2018 อยู่แล้ว ดังนั้นจึงพูดได้ว่า แนวคิดของ บีเอมดับเบิลยู ได้ก้าวนำมาก่อนหนึ่งขั้นเลยทีเดียวโฟล์คสวาเกน บัดด์-อี
รถบัสรักษ์โลกดีไซจ์นสวยจาก โฟล์คสวาเกน
หลังตกเป็นข่าวอื้อฉาว จากเหตุการณ์ DIESELGATE โฟล์คสวาเกน จึงต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อพิสูจน์ตนเองอีกครั้ง และสามารถทำได้ในตอนนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า โฟล์คสวาเกน ให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อม คือ การให้ความสำคัญกับพโรเจคท์รถแวนสำหรับแคมเพอร์คันนี้ บัดด์-อี มีนีแวนไฟฟ้า ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นรถแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ควบคุมสิ่งต่างๆ ในบ้านได้แม้ในขณะเดินทาง เพราะตัวรถสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จำพวก สมาร์ทพโรดัคท์ ในบ้าน ดังนั้น คุณจึงสามารถอัดรายการโทรทัศน์ที่ชอบ หรือกระทั่งเปิดเครื่องทำความร้อนในบ้านรอไว้ขณะขับรถกลับได้ แผงควบคุมในรถก็ไม่ระเกะระกะไปด้วยปุ่มเยอะแยะชวนปวดหัวเหมือนแต่ก่อน แต่ทำงานโดยระบบสั่งการด้วยเสียงเหมือนๆ กับ SIRI ในไอโฟน แค่ทักทายมันด้วยคำว่า "สวัสดี บัดด์-อี" รถคันนี้ ก็พร้อมทำงานให้คุณทันที แม้พโรเจคท์รถบัสขนาดย่อมๆ นี้ จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2001 แล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีกำหนดออกจำหน่ายเสียที แม้ว่าเทคโนโลยีบางอย่างของมัน เช่น แบทเตอรี เริ่มจะถูกนำมาใช้แล้ว กับรถ โฟล์คสวาเกน คันอื่นๆ ที่มีกำหนดออกจำหน่ายในปี 2019คลาสสิค และนำสมัย
แม้ในปัจจุบัน มีนีบัสของ โฟล์คสวาเกน จะไม่มีรูปทรงจมูกแบนๆ แบบที่เป็นภาพจำของ โฟล์คสวาเกน เหมือนสมัยก่อน บัดด์-อี คันนี้กลับเลือกใช้รูปลักษณ์แบบเดิม เพื่อดึงดูดผู้ใช้ที่ยังอาลัยอาวรณ์กับดีไซจ์นดั้งเดิมเกิดมาเพื่อขับเคลื่อน
โฟล์คสวาเกน สร้างที่วางแพคแบทเตอรีขนาด 92.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งใหญ่เป็น 4 เท่าเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าคันอื่นๆ เอาไว้ใน บัดด์-อี ซึ่งทำให้มันสามารถวิ่งได้ไกลถึง 529.6 กม. เลยทีเดียวระบบควบคุมด้วยท่าทาง
ระบบสัมผัส ระบบสั่งการด้วยเสียง และระบบสั่งการด้วยท่าทาง จะถูกนำมาใช้กับ บัดด์-อี เช่น ถ้าคุณโบกมือ ประตูรถจะเปิด ถ้าทำท่าเตะเข้าไปที่ท้ายรถ ที่เก็บสัมภาระก็จะเปิดจอดิสพเลย์
บริเวณด้านหน้าคนขับ จะมีจอดิสพเลย์ที่แสดงข้อมูลสถานะรถ ระบบจีพีเอส แอพพลิเคชันสำหรับฟังเพลง เมนูตั้งค่าอุณหภูมิรถ รวมถึง สมาร์ทซิสเตม ที่ให้คุณควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านได้ติดตั้งมอเตอร์
บัดด์-อี ติดตั้งมอเตอร์ทั้งหมด 2 ตัว (ด้านหน้า 1 ตัว และด้านหลัง 1 ตัว) ทำให้สามารถเร่งความเร็วได้สูงสุดถึง 148.8 กม./ชม.ขับเคลื่อน 4 ล้อ
ฐานล้อของ บัดด์-อี ไม่ใหญ่เท่า โฟล์คสวาเกน โมเดลอื่นๆ ในตลาด เพราะมีความยาวแค่ 4.5 ม. แต่ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ทำให้มันมีความคล่องตัวมากพอแสงแห่งอนาคต
แม้ขุมพลังของ บัดด์-อี จะมาจากการพลัก-อิน แต่ โฟล์คสวาเกน ก็ยังสละพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณหลังคา ซึ่งยาวถึง 4,597 มม. ไว้เป็นที่ติดตั้งแผงโซลาร์ เพื่อดึงพลังจากแสงอาทิตย์มาใช้ ขณะขับเคลื่อนฟอร์ด จีที 2017
รถที่มีอัตราส่วนการใช้เชื้อเพลิงที่ดีที่สุด
รถยนต์รุ่น จีที นั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยเกิดจากความโกรธแค้นของ เฮนรี ฟอร์ด ต่อ เอนโซ แฟร์รารี ที่ได้ละทิ้งสัญญาทางธุรกิจกับ ฟอร์ด ไปในนาทีสุดท้าย ฟอร์ด จึงสาบานว่าจะโค่นล้มคู่แข่งคนนี้ให้ได้ ในการแข่งขันรายการ เลอ มองส์ วิศวกรของ ฟอร์ด ได้สร้างรถ จีที 40 ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และสามารถคว้าชัยจากการแข่งขันได้ติดต่อกันถึง 4 ปี 40 กว่าปีต่อมา ฟอร์ด ได้ทดลองปรับเปลี่ยน จีที ให้กลายเป็นรถเพื่อออกจำหน่าย แต่มันก็อยู่ในสายการผลิตได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ฟอร์ด ก็ยกเลิกการผลิตไป แต่วันนี้ จีที ได้กลับมาอีกครั้ง พร้อมปณิธานใหม่ของ ฟอร์ด ในการสร้างตำนานอีกครั้ง โดยเป้าหมายในครั้งนี้ คือ รางวัลชนะเลิศ ในรายการแข่งขัน อีโค ซุเพอร์คาร์ อาร์มส์ นั่นเอง เพื่อการนั้น ฟอร์ด ได้ทำทุกวิถีทางในการลดน้ำหนักตัวของ จีที เพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน และสร้างปรากฏการณ์แห่งความสำเร็จอีกครั้ง อย่างที่ จีที รุ่นดั้งเดิมเคยทำไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนสัมผัสได้ถึงพลัง
ฟอร์ด สามารถดึงพลังออกมาจากเครื่องยนต์ได้อย่างน่าประทับใจ โดยอาศัย ระบบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง วาล์วลูกสูบที่มีความเสียดทานต่ำ และเครื่องเทอร์โบชาร์เจอร์ 2 ตัวบอดีสุดคลาสสิค
ตัวถังของ ฟอร์ด จีที ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ และอลูมิเนียม จึงทั้งเบา และแข็งแกร่งปกป้องกระจกด้วย กอริลลา กลาสส์
กระจกบังลมของ จีที ทำจากกระจก 3 ชั้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของ กอริลลา กลาสส์ มีลักษณะบางกว่ากระจกบังลมแบบดั้งเดิม จึงสร้างแรงถ่วงน้อยกว่าเก๋ไก๋ สไตล์วินเทจ
แม้รูปลักษณ์จะดูทันสมัยเพียงใด แต่ จีที ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์บางอย่างที่คล้ายคลึงกับรุ่นต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็น ไฟท้ายทรงกลม การออกแบบโดยวางเครื่องยนต์ไว้ตรงกลาง และรูปทรงคล้ายจมูกอันเป็นเหมือนไอคอนของ จีที รุ่นก่อนจอแสดงข้อมูลแบบอเนกประสงค์
มาตรวัดอเนกประสงค์ ด้านหน้ารถมีรูปแบบการแสดงผลหลายแบบ แล้วแต่ผู้ใช้ว่าจะเลือกดูข้อมูลส่วนไหน ตั้งแต่ข้อมูลเกี่ยวกับการขับขี่ หรือจะเป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้ขับขี่ก็ได้ควบคุมจากคอคพิท
ห้องโดยสารของ จีที นั้นเชื่อมติดกับแชสซีส์โดยตรง ทำให้ผู้ขับขี่สัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวของรถมากขึ้น แถมยังมีพวงมาลัย และคันเร่ง แบบปรับได้มาเพิ่มความสะดวกในการขับขี่อีกต่างหากขอแนะนำ อเลกซา ผู้ช่วยบนรถของคุณ
พโรแกรมอัจฉริยะที่จะสตาร์ทรถให้คุณได้ ทั้งที่ตัวคุณยังอยู่ในห้องนั่งเล่น
ถ้ารถของคุณมี อเมซอน เอโค เซอร์วิศ (ซึ่ง ฟอร์ด มี) คุณจะได้พบกับ อเลกซา (ALEXA) ผู้เป็นเหมือนกับ SIRI ของ อเมซอน คุณสามารถสั่งให้เธอสตาร์ทให้พร้อมปรับอุณหภูมิห้องโดยสารให้ตรงตามความต้องการ ภายในเวลาที่กำหนด จะสั่งให้เธอลอค และปลดลอครถ เมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ อเลกซา ทำได้กระทั่งตรวจสอบปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่ในถัง และหากคุณรู้สึกว่าระบบสั่งการผ่านโทรศัพท์ยังทันสมัยไม่พอ ไม่ต้องห่วง เพราะรถ ฟอร์ด ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นไป จะเปิดโอกาสให้คุณคุยกับ อเลกซา ได้ ผ่านทาง พวงมาลัย !เมร์เซเดส-เบนซ์ คอนเซพท์ ไอเอเอ
รถยนต์ในอนาคตที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้
รถคันนี้มาพร้อมกับระบบแอโรไดนามิค (ระบบอากาศพลศาสตร์) ที่มีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวไปอีกขั้นของ เมร์เซเดส-เบนซ์ ความแตกต่างทางกายภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ เมื่อรถมีความเร็วถึง 80 กม./ชม. บริเวณด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง จะมีชิ้นส่วนดีไซจ์นสุดพิเศษคลี่ออกมาเพื่อลดแรงต้านอากาศ และทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น ระบบอากาศพลศาสตร์ คือ การใช้ส่วนแผงระบายอากาศเพื่อที่จะลดแรงต้านอากาศ เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะ เมร์เซเดส-เบนซ์ ได้สร้างรถที่มีคุณสมบัติและความสามารถคล้ายๆ กันมาแล้ว (เอฟ 015 รถขับเคลื่อนด้วยตนเอง) ดังนั้น จึงพูดได้ว่า ไอเอเอ (IAA) ซึ่งย่อมาจาก INTELLIGENT AERODYNAMIC AUTOMOBILE เป็นพโรเจคท์ที่ใกล้จะเป็นความจริงแบบสุดๆ ของ เมร์เซเดส-เบนซ์ นับตั้งแต่เทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรถยนต์ถูกนำมาทดลองใช้ในรถยนต์ และ ไอเอเอ ก็เป็นวิวัฒนาการอีกขั้นของเทคโนโลยีเหล่านี้พวงมาลัยไฮเทค
พูดได้ว่ารูปแบบของพวงมาลัยนี้ ได้มาจาก เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ปุ่มกดต่างๆ ถูกแทนที่ด้วยระบบสัมผัสทั้งหมดเหนือขอบเขตหรือไม่
เมร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศว่า รถยนต์ที่สามารถขับได้ประมาณ 65.6 กม. ด้วยพลังงานไฟฟ้าเดี่ยว ไม่ใช่แผนการที่ดีที่สุด หากลองเปรียบเทียบกับความเร็วของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอื่นๆรูปลักษณ์สุดเท่
แม้รูปลักษณ์ภายนอกอาจดูแตกต่างจากรถคันอื่นๆ ในโลกอย่างสุดขั้ว แต่การออกแบบภายใน ก็ยังคงยึดตามรุ่น เอส-คลาสส์ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เพิ่มมาใหม่ คือ ไฟสีฟ้ารอบด้าน เบาะนั่งที่ถูกดัดแปลงเล็กน้อย และแผงประตูด้านข้างเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด
แอโรไดนามิค (ระบบอากาศพลศาสตร์) ถูกคำนวณออกมาถึง 300 รูปแบบ ใช้งาน CPU ไปทั้งสิ้น 100 ล้านชั่วโมง ก่อนที่จะคัดเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดเชื่อมรถ เชื่อมโลก
รถยนต์รุ่นนี้ สามารถสื่อสารกับรถยนต์คันอื่น และยังสามารถเชื่อมต่อกับแหล่งที่มาของข้อมูลต่างๆ ได้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน และสอดส่องสถานการณ์จราจรบริเวณรอบๆขับเคลื่อนแบบไฮบริด
คอนเซพท์คาร์ ไอเอเอ ทำงานในลักษณะเครื่องยนต์ไฮบริด ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างระบบน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบมอเตอร์ไฟฟ้า ที่สามารถทำกำลังได้ถึง 279 แรงม้า และสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 248 กม./ชม. เลยทีเดียวรถหรือหุ่นยนต์
แผงที่เปลี่ยนรูปแบบได้ของคอนเซพท์คาร์ ไอเอเอ จะทำงานก็ต่อเมื่อรถเร่งความเร็วถึง 80 กม./ชม. หรือคุณจะกดปุ่มเพื่อให้มันทำงานได้ทันที ชิ้นส่วนสำคัญทั้ง 8 ส่วน ที่สามารถยืดขยายได้ คือ ด้านหลังที่ยืดออกเพื่อเพิ่มความยาวของรถได้ถึง 390 มม. ปีกด้านหน้าของกันชนหน้ายืดออกไปด้านหน้าได้ถึง 25 มม. และยืดออกไปด้านหลังอีก 20 มม. เพื่อช่วยให้อากาศไหลเวียนได้ดีช่วงด้านหน้าตัวรถ และซุ้มล้อด้านหน้า ริมขอบล้อสามารถลดจาก 55 มม. ให้เหลือศูนย์ และช่องระบายอากาศข้างหน้ากันชนยืดออกไปด้านหลังได้ 60 มม. เพื่อปรับการไหลเวียนของอากาศใต้ท้องรถโตโยตา เอฟซีวี พลัส
เป็นทั้งรถ และแบทเตอรี
รถไซไฟสุดล้ำซึ่งใช้พลังงานไฮโดรเจนคันนี้ คือ ความก้าวหน้าของ โตโยตา ซึ่งดูเหมือนจะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง FUTURAMA หรือ BLADE RUNNER แถมยังมีดีไซจ์นสวยงามแปลกตา เหมือนหลุดมาจากการ์ตูนเรื่อง JETSONS จึงนับว่าเป็นรถคันแรก ที่ตอบโจทย์คำว่ายานยนต์อนาคตได้เป็นอย่างดี โตโยตา เอฟซีวี พลัส ออกแบบมาเพื่อให้ใช้พลังงานจากไฮโดรเจน และมีจุดเด่น คือ แบทเตอรีซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณล้อรถ นอกเหนือจากความสามารถในการชาร์จไฟ และอุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์อื่นๆ ขณะเดินทางแล้ว โตโยตา เอฟซีวี พลัส ยังสามารถชาร์จไฟให้กับรถคันอื่น โดยไม่ต้องใช้สายเชื่อมต่อ แถมยังส่งกำลังไฟเข้าไปบ้านของคุณ เมื่อไฟดับได้อีกด้วย หากคุณยังรู้สึกว่าสิ่งที่กล่าวมานี้ฟังดูไม่น่าเชื่อ ขอให้รู้ไว้เลยว่า โตโยตา ตั้งใจจะให้ เอฟซีวี พลัส คันนี้ กลายเป็นมาตรฐานรถทั่วไปภายในปี 2030 เพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยียานยนต์ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ โตโยตา มั่นใจว่า กว่าจะถึงปี 2030 เทคโนโลยียานยนต์คงจะก้าวไกลไปอีกมากทีเดียวคำนึงถึงครอบครัว
โตโยตา เอฟซีวี พลัส นั่งได้ 4 คน ทำให้มันเหมาะจะเป็นรถครอบครัวมากกว่า คอนเซพท์คาร์คันอื่นๆจัดวางอย่างลงตัว
การติดตั้งแพคเชื้อเพลิงไว้ระหว่างล้อหน้า ในขณะที่ถังไฮโดรเจนถูกติดตั้งไว้หลังเบาะผู้โดยสารด้านหลัง และการมีมอเตอร์แบบติดตั้งในล้อ ซึ่งติดตั้งแยกกันทั้ง 4 ด้าน ทำให้ โตโยตา เอฟซีวี พลัส มีพื้นที่โดยสารอันสวยงามน่าประทับใจดูดีที่รูปลักษณ์
รูปลักษณ์ภายนอกของ โตโยตา เอฟซีวี พลัส ดูโดดเด่น และทันสมัย ในขณะที่โครงสร้างภายใน แม้จะใช้วัสดุน้ำหนักเบา แต่ยังคงเน้นความแข็งแกร่ง คงทนยานยนต์เพื่อสังคม
แพคเชื้อเพลิงของ โตโยตา เอฟซีวี พลัส สามารถให้กำเนิดได้ทั้งพลังงานปกติ และพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้ใช้งานได้ทั่วโลก และสร้างสาธารณประโยชน์ต่อชุมชนชาร์จพลังต่อเนื่อง
นอกเหนือจากไฮโดรเจนจากถังเชื้อเพลิงแล้ว โตโยตา เอฟซีวี พลัส ยังสามารถสร้างพลังไฟฟ้าโดยการดึงเอาไฮโดรเจนที่อยู่นอกตัวรถมาใช้ จึงสามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องเสียบปลั๊ก และใช้งาน
ในวันที่เราไม่ได้ต้องการพาหนะเพื่อเดินทาง เราสามารถใช้พลังไฟฟ้าของ โตโยตา เอฟซีวี พลัส ให้เป็นประโยชน์ในด้านอื่น รวมถึงสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้เราจะชาร์จพลังงานแบบไร้สายได้อย่างไร ?
สำหรับ โตโยตา แล้ว การชาร์จไฮโดรเจนโดยไม่ใช้สาย อาจจะยังห่างไกลความจริงไปสัก 1-2 ทศวรรษ แต่ QUALCOMM ก็มั่นใจว่า ระบบ HaAB WIRELESS SYSTEM ของตัวเองจะสามารถตอบโจทย์นี้ได้ในอนาคต โดยการชาร์จไฟบนถนนเลย - ฐานชาร์จแบบมัลทิคอยล์ จะปฏิบัติการโดยอาศัยการไหลของแรงแม่เหล็ก - สามารถชาร์จได้ แม้กับรถที่มีพื้นสูงกว่าระดับถนน - ท่อลำเลียงพลังแม่เหล็ก จะช่วยเพิ่มพลังในการชาร์จ - เป็นอุปกรณ์ที่ปรับใช้ได้กับโรงงานผลิตทั่วโลก - ฐานชาร์จแบทเตอรี สามารถติดตั้งบนถนน หรือข้างใต้ถนน ก็ได้ABOUT THE AUTHOR
GADGET MAGAZINE
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS