ประสาใจ
โชคดีของแผ่นดิน
หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสู่สวรรคาลัย ได้มีบทเพลงเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นมากมาย หลากหลายผู้ประพันธ์และศิลปินผู้ขับขาน ผู้เขียนชื่นชมทุกเพลงมากน้อยตามอารมณ์ของเรา แต่ทั้งบทเพลงเดิมและใหม่ ผู้เขียนชื่นชอบเพลง "พระราชาผู้ทรงธรรม"
"พระราชาผู้ทรงธรรม" ขับร้องโดย เบิร์ด-ธงไชย แม็คอินไตย์ ศิลปินแกรมมี ให้ความกินใจลึกๆ ทั้งภาพและเสียงสอดคล้องกันดี เช่นเดียวกับเพลง "ต้นไม้ของพ่อ"
ก่อนเราสูญเสียพระมหากษัตริย์ในดวงใจของเราทุกคน ผู้เขียนมีโอกาสเข้าชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์บ่อยครั้ง แต่ไม่เคยประทับใจเพลงสรรเสริญพระบารมี เพราะภาพที่ผู้สร้างใส่เข้ามา ไม่โดนใจ ไม่สอดคล้องกับคำร้องของบทเพลง
ผู้เขียนคิดถึง พระราชดำรัสของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า
"...ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือ การได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือ คนไทยทั้งปวง..."
และผู้เขียนทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานพระนามหลังทรงพระราชสมภพว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" มีความหมายว่า "พลังแห่งแผ่นดิน เป็นอำนาจที่หาใดเปรียบมิได้"
อีกทั้ง พระปฐมบรมราชโองการเมื่อ 5 พฤษภาคม 2489 วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ว่า
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
ทั้ง 3 ประการนี้ ผู้เขียนหาไม่พบในเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ เมื่อมาได้เห็นเอมวีเพลง "พระราชาผู้ทรงธรรม" จึงกินใจมาก
เพลงนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 หลังการดำเนินการโครงการสร้างสรรค์บทเพลงคุณธรรมร่วมสมัยโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม กับกรมดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนและให้ความร่วมมือจากแกรมมี เผยแพร่เป็นเพลงร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556
บทเพลงขึ้นต้นด้วยคำว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" ซึ่งพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศทราบดีว่า ตลอดเวลาทรงครองราชย์ 70 ปี 4 เดือน 7 วัน ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาปฏิบัติพระราชกรณียกิจอเนกอนันต์ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ดังคำร้องและทำนองเพลงดังกล่าวของ กมลศักดิ์ สุนทานนท์ และปิติ ลิ้มเจริญ
"...ถ้ามีใครถาม ทำไมคนไทยจึงรักพระองค์อย่างนี้ แค่ได้ชมพระบารมีก็ยิ้มทั้งน้ำตา ถ้าหากให้อธิบาย เหตุผลนานา คงต้องใช้เวลา เท่าชีวิตนี้..."
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรของพระองค์ทั่วทุกภูมิภาค นับแต่พุทธศักราช 2495 เป็นต้นมา ทรงตระหนักความเป็นอยู่ที่ต้องเผชิญปัญหาที่ทำกินและการดำรงชีพของปวงประชาอาณาราษฎร์ จึงมีพระราชดำริแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อน ปรากฏเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในรัชสมัยกว่า 4,600 โครงการ
ด้านเกษตรกรรม พระองค์ทรงคิดค้นทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกรเพื่อพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง เรียกว่า "เกษตรทฤษฎีใหม่" ด้วยแนวพระราชดำริใช้ดินให้บังเกิดประโยชน์สูงสุด
ดินในสยามประเทศที่มีปัญหาตามแนวพระราชดำริแก้ไขของพระองค์ คือ ดินทรายที่มีลักษณะโปร่ง รากพืชชอนไชไปได้ง่าย หน้าแล้งพืชขาดน้ำก็เหี่ยวเฉา ปัญหานี้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อยังความชุ่มชื้นแก่ดิน และหญ้าแฝกเป็นกำแพงธรรมชาติ ปลูกพืชประเภทที่ต้องการปุ๋ยอินทรีย์ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก
ดินที่เป็นหินกรวดและแห้งแล้ง เช่น ที่ห้วยฮ่องไคร้ อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ ทรงมีพระราชดำริเช่นเดียวกับดินที่เขาหินซ้อน
ดินดาน ดินแข็งและลูกรัง เช่น ดินที่ห้วยทราย อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี ทรงมีพระราชดำริสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำหลัก ปลูกพืช เช่น ตระกูลถั่ว ปลูกหญ้าแฝกลาดเทขนานแนวกันหลายๆ แนว ป้องกันการพังทลายของดิน
ดินเค็ม สาเหตุเกิดจากการสร้างอ่างเก็บน้ำบนพื้นที่ดินซึ่งมีหินเกลืออยู่ใต้ดิน เช่น ที่ห้วยบ่อแดง อ. บ้านม่วง จ. สกลนคร ทรงมีพระราชดำริขุดลอกลำห้วยบ่อแดง ยกคันให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำจากนาเกลือไหลลงลำห้วย ส่วนผู้ประกอบการทำนาเกลือให้ขุดบ่อรับน้ำจากนาเกลือขนาดใหญ่ รอการระเหย
พระราชดำริแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับ "หญ้าแฝก" เป็นผลให้ INTERNATIONAL EROSION CONTROL ASSOCIATION (IECA) ถวายรางวัล INTERNATIONAL MERIT AWARD แด่พระองค์ในฐานะทรงเป็นแบบอย่างนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2536
กาลครั้งนั้นเป็นปีพุทธศักราช 2540 ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พระองค์ได้พระราชทานหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" (SUFFICIENCY ECONOMY) ให้กับนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2517
"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามระดับชั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป..."
ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 จะระบาดในเมืองไทย พระองค์ทรงตรัสเตือนไว้ในปี 2536
"...ทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินเท่านั้นๆ มีการกู้เท่านั้นๆ หมายความว่า เศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วประเทศก็เจริญ มีหวังเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลย ต้องเตือนเขาว่า จริง ตัวเลขดี แต่ว่า ถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้น ไม่มีทาง..."
ในวันที่ 4 ธันวาคม 2541 มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย
"...เมื่อปี 2517 วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี..."
แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีทุกด้านในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งด้านการศึกษา, ด้านการสาธารณสุข, ด้านศาสนา, ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านคมนาคม
ทรงเป็นดวงมณี ดวงประทีป และดวงใจของพสกนิกรชาวสยาม พระราชทานความรัก ความห่วงใย เปี่ยมด้วยพระเมตตาอันประมาณมิได้
"...เพราะท่านทำเพื่อคนไทย ด้วยธรรมะของพระราชา เพื่อให้เราชาวประชา อยู่ดีกินดี...
ท่านต้องเหนื่อย เพราะงานหนัก ไม่เคยพักจวบจนวันนี้ ช่างโชคดี ที่แผ่นดินนี้ มีราชาผู้ทรงธรรม..."
"...ทรงเป็นนิยามแห่งความดี เป็นอัญมณีที่เลิศล้ำ สดสวยใสกระจ่าง สว่างด้วยธรรม ด้วยน้ำพระทัยที่เมตตา..."
แม้วิกฤตของชาติ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแก้ปัญหาเพื่อแผ่นดิน ดังเช่นเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 วันพฤษภาทมิฬ รัฐบาลสั่งปราบปรามประชาชนด้วยแผนไพรีพินาศ สร้างความสลดหดหู่ใจแก่ผู้พบเห็นความโหดร้ายทางการเมือง
ก่อนเหตุจะบานปลาย ในเวลา 5 ทุ่มครึ่ง คืนวันที่ 20 พฤษภาคม โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจถ่ายทอดข่าวสำคัญที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พลอ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พลต. จำลอง ศรีเมือง ผู้ถูกชิงตัวจากที่ชุมนุมไปขังไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจ บางเขน เข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชทานพระบรมราชาธิบายเหตุผลที่ 2 ฝ่ายเผชิญหน้ากัน และทรงถามผู้นำ 2 ฝ่ายว่า
"แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือ ต่างคนต่างแพ้ แล้วก็ที่แพ้ที่สุด ก็คือ ประเทศชาติ ประชาชน จะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่าเฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด"
"แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง..."
ABOUT THE AUTHOR
ข
ข้าวเปลือก
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2560
คอลัมน์ Online : ประสาใจ