วิถีตลาดรถยนต์
แดงเกือบทั้งกระดาน สำหรับไตรมาสแรกปี 57"
[table]
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมีนาคม ปี '57 กับ '56
ตลาดโดยรวม,- 46.7 %
รถยนต์นั่ง,- 56.3 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV),- 13.3 %
รถอเนกประสงค์ (MPV),- 29.8 %
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ,- 41.0 %
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ,- 40.8 %
อื่นๆ,- 46.9 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม ปี '57 กับ '56
ตลาดโดยรวม,- 45.8 %
รถยนต์นั่ง,- 55.8 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV),- 16.3 %
รถอเนกประสงค์ (MPV),- 35.2 %
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ,- 39.0 %
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ,- 41.2 %
อื่นๆ,- 48.5 %
[/table]
3 เดือนแรกของปี 2557 ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วราวติดปีกบิน หลากหลายเหตุการณ์ที่ฉุดให้การตัดสินใจซื้อสินค้าราคาแพงอย่างรถยนต์ชะลอตัวยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความวุ่นวายทางการเมืองที่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดว่าจะไปยุติลงเมื่อไร ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติครั้งใหญ่ครั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์จะผ่านพ้นไป ท่ามกลางความขลุกขลักในหลายพื้นที่ทางใต้ แต่ท่านๆ ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนทั่วประเทศเหล่านี้ ก็ไม่มีโอกาสได้ตบเท้าเดินเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ ตามที่มีผู้ร้องคัดค้าน ทำให้ต้องทำการเลือกตั้งผู้ทรงเกียรติเหล่านี้กันใหม่ แต่จะเป็นเมื่อไร วันไหนผู้รับผิดชอบก็ว่ากันไปอีกทีหนึ่ง ทำให้บรรยากาศทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกหลายภาคส่วนยังคงสับสนวุ่นวายกันต่อไป
และตัวเลข 223,827 คัน คือ ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2557 ซึ่งเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายของไตรมาสแรกปี 2556 ถึง 45.8 % ต่างกันเกือบครึ่งเลยทีเดียว โดยค่ายรถยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดใน 5 อันดับแรก ต่างก็มียอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงด้วยกันทั้งสิ้น โดยอันดับ 1 โตโยตา มียอดจำหน่ายรถยนต์ทุกรุ่นรวมกัน 84,103 คัน ลดลง 32.7 % แต่ก็ถือครองส่วนแบ่งการตลาดได้มากสุด 37.6 % อันดับ 2 อีซูซุ 42,644 คัน ลดลง 32.0 % มีส่วนแบ่งการตลาด 19.1 % อันดับ 3 ฮอนดา 22,361 คัน ลดลง 69.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.0 % อันดับ 4 นิสสัน 17,478 คัน ลดลง 57.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.8 % และอันดับ 5 มิตซูบิชิ 17,172 คัน ลดลง 53.4 % ส่วนแบ่งตลาด 7.7 %
เฉพาะเดือนมีนาคม เดือนสุดท้ายของไตรมาสแรกปี 2557 ตลาดรถยนต์ใหม่เกิดการซื้อขายกันรวมทั้งสิ้น 83,860 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม ปี 2556 ถึง 46.7 % 5 อันดับรถยนต์มหานิยมรวมทุกประเภทในเดือนมีนาคม ได้แก่ อันดับ 1 โตโยตา มีการซื้อขายทั้งสิ้น 30,632 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 36.5 % อันดับ 2 อีซูซุ มียอดจำหน่าย 16,345 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 19.5 % อันดับ 3 ฮอนดา 9,111 คัน ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 10.9 % อันดับ 4 นิสสัน 6,347 คัน มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 7.6 % และอันดับ 5 มิตซูบิชิ 6,131 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 7.3 %
สำหรับตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน ประเภทขับเคลื่อน 2 ล้อ ที่เป็นขวัญใจมหาชนตัวจริง ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ยังไม่มีพิคอัพโมเดลใหม่แกะกล่องออกมา แต่เริ่มมีข่าวของพิคอัพรุ่นใหม่ของค่ายยักษ์ใหญ่ออกมาบ้างแล้ว ซึ่งถ้าหากเป็นจริง ตลาดพิคอัพจะร้อนแรงขึ้นอีกมากในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป แต่สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในไตรมาสแรกของปี 2557 คือ รถประเภทนี้ ทำยอดจำหน่ายรวมกันทุกค่ายอยู่ที่ 92,717 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง 39.0 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 และ 5 อันดับพิคอัพขับเคลื่อน 2 ล้อ ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดได้แก่ อันดับ 1 โตโยตา จำหน่ายไปแล้วรวม 34,317 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง 35.5 % มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 37.0 % อันดับที่ 2 เป็นคู่แข่งสำคัญจำหน่ายได้ 31,686 คัน จำหน่ายได้น้อยลง 38.8 % ได้ส่วนแบ่งการตลาดที่ 34.2 % อันดับ 3 เป็น มิตซูบิชิ กับยอดจำหน่าย 8,311 คัน หายไป 42.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.0 % อันดับที่ 4 เป็นผลงานที่ดีของ ฟอร์ด โดยจำหน่ายได้ 5,324 คัน ลดลงไปเพียง 10.2 % ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 5.7 % และอันดับที่ 5 เป็นของ เชฟโรเลต์ จำหน่ายได้ 4,134 คัน ลดลง 43.3 % ส่วนแบ่งตลาด 4.5 %
เดือนมีนาคม 2557 รถยนต์เพื่อการใช้งานประเภทนี้ มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 34,056 คัน ลดลง 41.0 % ว่ากันเฉพาะเดือนนี้เป็น อีซูซุ ที่คว้าแชมพ์ไปครอง โดยทำยอดจำหน่ายเฉือน โตโยตา ไปไม่ถึง 100 คัน โดยมียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 12,308 คัน ขณะที่ โตโยตา จำหน่ายไปได้ 12,223 คัน อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่และคู่แข่งอื่นๆ ต่างก็มียอดจำหน่ายที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมปีที่แล้วทั้งสิ้น สำหรับ อีซูซุ ปรับตัวลดลง 32.5 % โตโยตา 41.3 % สำหรับส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 36.1 % และ 35.9 % ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออันดับ 3-5 ประกอบด้วย มิตซูบิชิ ยอดจำหน่าย 3,135 คัน ลดลง 38.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.2 % ฟอร์ด 1,891 คัน ลดลง 14.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.6 % และ เชฟโรเลต์ ยอดจำหน่าย 1,686 คัน ลดลง 30.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 %
ในส่วนของพิคอัพ 1 ตัน ประเภทขับเคลื่อน 4 ล้อ ฟอร์ด เป็นค่ายเดียวที่มียอดจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2557 นี้ แถมยังได้รับความนิยมอยู่ในอันดับที่ 3 ของตารางอีกด้วย โดยที่ตลาดนี้ 3 เดือนแรกของปี มียอดจำหน่ายรวมกันที่ 5,975 คัน ลดลง 41.2 % เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2557 แชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดยังเป็น โตโยตา จากยอดรวม 3 เดือน 2,692 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 45.1 % แต่เป็นยอดจำหน่ายที่ลดลง 39.0 % อีซูซุ อยู่ในอันดับที่ 2 ด้วยยอดจำหน่าย 1,951 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 32.7 % ปรับตัวลดลง 47.7 % อันดับ 3 ฟอร์ด ยอดจำหน่ายรวม 960 คัน เพิ่มขึ้น 20.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 16.1 % อันดับ 4 เชฟโรเลต์ จำหน่ายไปแล้ว 173 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 2.9 % ลดลง 47.7 % และอันดับ 5 มิตซูบิชิ 95 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 1.6 % ปรับตัวลดลงถึง 79.2 %
2,304 คัน เป็นยอดจำหน่ายพิคอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2557 เป็นยอดจำหน่ายที่ลดลงจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว 40.8 % โตโยตา จำหน่ายได้มากที่สุดเช่นเคย 1,096 คัน คิดเป็น 47.6 % ของตลาดทั้งหมด แต่เป็นยอดจำหน่ายที่ลดลงจากมีนาคมปีที่แล้ว 38.6 % ตามด้วย อีซูซุ จำหน่ายได้ 722 คัน คิดเป็น 31.3 % ของตลาดทั้งหมด ซึ่งลดลง 42.8 % ฟอร์ด อยู่ในอันดับ 3 จากยอดจำหน่าย 332 คัน ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 14.4 % เป็นยอดจำหน่ายที่ลดลง 14.7 % อันดับที่ 4 เป็น เชฟโรเลต์ จำหน่ายได้ 73 คัน ลดลง 40.7 % มีส่วนแบ่งการตลาด 3.2 % อันดับที่ 5 เป็น มิตซูบิชิ จำหน่ายได้ 35 คัน ลดลง 77.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
สำหรับรถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเอสยูวี ยอดจำหน่ายรวม 3 เดือนมีทั้งสิ้น 25,157 คัน ลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2557 ที่ 16.3 % หายไป 4,000 กว่าคัน เทียบเป็นเปอร์เซนต์กับตลาดรถยนต์ประเภทอื่นๆ แล้วถือว่าไม่มาก อันดับ 1 ของตลาดรถยนต์ประเภทนี้เมื่อหมดไตรมาสแรกเป็นของ อีซูซุ ด้วยยอดจำหน่ายที่สูงขึ้นอย่างมากอันเป็นผลมาจากกระแสตอบรับของ อีซูซุ มิว-เอกซ์ นั่นเอง โดยจำหน่ายได้รวม 6,048 คัน เพิ่มขึ้น 712.9 % ส่วนแบ่งการตลาดรับไป 24.0 % ตามติดมาไม่ห่างด้วย โตโยตา 5,401 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 21.5 % ยอดจำหน่ายลดลง 37.9 % อันดับ 3 ก็ไม่ห่างจากอันดับ 2 นิสสัน จำหน่ายได้รวม 4,830 คัน นี่ก็ได้คะแนนนิยมจาก นิสสัน จูค พอสมควรมีส่วนแบ่งการตลาด 19.2 % ความนิยมเพิ่มสูงขึ้นถึง 6,255.3 % อันดับ 4 เป็น ฮอนดา 3,204 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 12.7 % ลดลง 67.9 % อันดับ 5 เป็น มิตซูบิชิ 1,812 คัน ลดลง 68.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.2 % ยอดจำหน่ายรถยนต์ประเภทนี้ เดือนมีนาคมมีทั้งสิ้น 8,955 คัน ลดลง 13.3 % 5 อันดับแรกที่จำหน่ายได้มากสุดประกอบด้วย อีซูซุ 2,185 คัน เพิ่มขึ้น 955.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 24.4 % โตโยตา 1,916 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 21.4 % ลดลง 41.1 % นิสสัน 1,634 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 18.2 % เพิ่มขึ้นถึง 3,985.0 % ฮอนดา 756 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 8.4 % ลดลง 76.9 % และ มิตซูบิชิ 654 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 7.3 % ลดลง 65.0 %
ส่วนรถอเนกประสงค์ หรือเอมพีวี ยอดจำหน่ายรวม 3 เดือน 3,692 คัน ลดลง 35.2 % โตโยตา แชมพ์ตลอดกาลของรถยนต์ประเภทนี้มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 49.8 % ถึงแม้ว่ายอดจำหน่ายจะสูงถึง 1,840 คัน แต่ก็ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 46.5 % อันดับ 2 ของตลาดนี้เป็น ฮอนดา จำหน่ายได้รวม 781 คัน ลดลง 59.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 21.2 % อันดับ 3 ซูซูกิ จำหน่ายได้ 423 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 11.5 % เพิ่มขึ้นถึง 14,000.0 % อันดับ 4 เชฟโรเลต์ 317 คัน เพิ่มขึ้นจากที่ไม่มีรถยนต์จำหน่ายในตลาดนี้มาก่อน มีส่วนแบ่งการตลาด 8.6 % และอันดับ 5 นิสสัน 203 คัน เพิ่มขึ้นจากที่ไม่มีรถยนต์จำหน่ายในตลาดนี้มาก่อนเช่นกัน ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 5.5 % เฉพาะเดือนมีนาคม รถเอมพีวีมียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 1,458 คัน ลดลง 29.8 % จำหน่ายได้สูงสุด 5 อันดับแรก โตโยตา 629 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 43.1 % ลดลง 50.9 % ฮอนดา 318 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 21.8 % ลดลง 54.6 % อันดับ 3-5 ไม่มีรถยนต์จำหน่ายในตลาดนี้มาก่อนทั้งสิ้น ประกอบด้วย นิสสัน 203 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 13.9 % ซูซูกิ 143 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 9.8 % และ เชฟโรเลต์ 116 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 8.0 %
นั่นคือไตรมาสแรกของปี 2557 สำหรับตลาดรถยนต์ในบ้านเรา ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ค่ายรถยนต์ต่างๆ จะปิดยอดด้วยตัวแดง แต่นี่คือ ความต้องการของตลาดที่แท้จริง ไม่ได้เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นจากแรงจูงใจพิเศษในโครงการรถยนต์คันแรก ที่ว่ากันว่าทำเอารัฐบาลชุดนี้กระเป๋าฉีกไปเลย ซึ่งบอกได้ว่านาทีนี้โอกาสทองในการได้รถยนต์ใหม่ในราคาที่เหมาะสมพร้อมอำนาจในการต่อรอง เป็นของผู้ซื้ออีกแล้วครับท่าน
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2557
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์