MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE VI รอยต่อแห่งยุคสมัย
เรื่องราวของ MEET THE MASTERS ปี 2 เดินทางมาถึงจุดครึ่งทางแล้วในฉบับนี้ และเป็นเรื่องราวของบุคคลและองค์กรที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งของวงการการออกแบบรถยนต์ของอิตาลี นั่นคือ “สำนักออกแบบ ปินินฟารีนา” (PININFARINA) และผู้ที่เป็นวิทยากร คือ ฟาบีโอ ฟิลิปปีนี (FABIO FILIPPINI) ซึ่งในช่วงเวลานั้น (พฤศจิกายน 2016) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ ปินินฟารีนา แต่ต่อมาในเดือนมีนาคม 2560 เขาได้ลาออกจากบริษัทฯ โดยมี การ์โล บันซานีโก (CARLO BANZANIGO) เข้ามารับตำแหน่งแทนหากกล่าวถึง ปินินฟารีนา คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อเสียงเป็นแน่ เพราะสำนักออกแบบแห่งนี้อยู่เบื้องหลังการออกแบบ และผลิตรถยนต์มากมายในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรถแรงจากค่ายอิตาลีอย่าง แฟร์รารี อัลฟา โรเมโอ และมาเซราตี ไปจนถึงรถยนต์ขวัญใจมหาชนอย่าง เฟียต ลันชา หรือรถฝรั่งเศสอย่าง เปอโฌต์ และรถญี่ปุ่นอย่าง มิตซูบิชิ รวมถึงเป็นที่บ่มเพาะนักออกแบบที่เป็นระดับตำนานหลายคน อาทิ เลโอนาร์โด ฟีโอราวันตี (LEONARDO FIORAVANTI) ปาอูโล มาร์ติน (PAOLO MARTIN) อัลโด บโรวาโรเน (ALDO BROVARONE) และ เคน โอคุยามา (KEN OKUYAMA) ผู้ออกแบบ แฟร์รารี เอนโซ แต่ทุกวันนี้ สถานการณ์การจ้างงานด้านออกแบบตกต่ำลงมาก เนื่องจากบริษัทรถยนต์ชั้นนำต่างก็มีการลงทุนจ้างบุคลากรด้านการออกแบบอย่างจริงจังมานานหลายทศวรรษ ทำให้ธุรกิจด้านการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบของสำนักออกแบบจากอิตาลีตกต่ำ ดังจะเห็นได้จากการถดถอยของสำนักชื่อดังทั้งหลายรวมถึง ปินินฟารีนา ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ตกเป็นของกลุ่มนายทุนใหญ่จากอินเดีย “มหินทรา” (MAHINDRA) ไปเรียบร้อยแล้ว แต่แม้ว่าลูกค้าเจ้าเก่าจะหายไป ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางให้เดิน ส่วนจะเป็นเส้นทางเดินแบบใดนั้นขอให้อดใจรอติดตามต่อไป ฟาบีโอ ฟิลิปปีนี หนุ่มใหญ่อิตาเลียนในวัย 50 ปีต้นๆ ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการออกแบบ (DESIGN DIRECTOR) ให้ ปินินฟารีนา ตั้งแต่ปี 2011 และถือเป็น “คนนอก” คนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ โดยก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบภายในของ เรอโนลต์ จากฝรั่งเศส โดยตัวเขาใช้ชีวิตช่วง 25 ปี ของการทำงานอยู่ในฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสเปน เดิมทีผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งนี้ได้ มักจะเป็น “คนใน” หรือ “ลูกหม้อ” ของ ปินินฟารีนา มาแต่อ้อนแต่ออก การที่เขาเข้ามารับตำแหน่งนี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องฮือฮาไม่น้อยในวงการการออกแบบรถยนต์อิตาเลียนขณะนั้น แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าสำนักออกแบบอิตาเลียนต้องการมุมมองที่แตกต่างจากคนนอกนั่นเอง เมื่อถามเขาว่า ปินินฟารีนา ในปัจจุบันนี้คืออะไร ฟิลิปปีนี ได้ให้นิยามว่า ปินินฟารีนา คือ สำนักออกแบบที่มีบุคลิกเฉพาะตัว นั่นก็คือ เป็นองค์กรที่ไม่ออกแบบตามทเรนด์ แต่ออกแบบโดยเน้น “ความสง่างาม” “ความบริสุทธิ์ของเส้นสาย” และมี “นวัตกรรม” (ELEGANT, PURITY AND INNOVATION) โดยพวกเขาจะไม่เดินตามสไตล์ที่คนอื่นวางไว้ แต่จะมอบวิสัยทัศน์ใหม่ให้แก่โจทย์ที่พวกเขาออกแบบ (NOT REPEATING STYLE BUT CREATING VISION) ซึ่งหากเรามองย้อนกลับไปดูผลงานเก่าๆ ของ ปินินฟารีนา ก็พบว่าสิ่งที่เขากล่าวมานั้นไม่อาจจะปฏิเสธได้เลย เพราะรถยนต์ที่ตีตรา ปินินฟารีนา ไม่ว่าจะถูกหรือแพง เส้นสายและสัดส่วน รวมถึงแนวคิดด้านการใช้งานของมันก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับรถยนต์บแรนด์อื่นๆ ดังจะเห็นได้จากรถยนต์หลายต่อหลายรุ่นของสำนักที่แม้จะมองกลับไปด้วยสายตาของวันนี้ ก็ยังคงเป็นรถยนต์ที่น่าหลงใหล ผลงานชิ้นแรกที่สร้างชื่อเสียงให้ ฟิลิปปีนี นั่นคือ รถแนวคิดที่มีชื่อว่า “กัมบีอาโน” (CAMBIANO) ในปี 2011 สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 30 ปีของการตั้งสำนักงานออกแบบ ปินินฟารีนา รวมถึงการครบรอบ 10 ปีของการตั้งสำนักงานวิศวกรรมของ ปินินฟารีนา ในเมืองกัมบีอาโนนั่นเอง กัมบีอาโน เป็นรถ 4 ประตูสไตล์คูเปที่เรียบหรู ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮบริด ล้อทั้ง 4 ขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ได้พลังงานจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ที่อาศัยเครื่องยนต์กังหันขนาดเล็ก (MICROTURBINE) ขนาด 50 กิโลวัตต์ ทำหน้าที่ปั่นไฟมาสะสม ซึ่งด้วยระบบนี้รถจะสามารถวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนๆ ได้ถึง 250 กม. และหากวิ่งในแบบไฮบริดก็จะได้ระยะทางถึง 800 กม. ส่วนเรื่องของวัสดุนั้น แสดงออกถึงการผสมผสานเทคโนโลยีล่าสุด อย่างแชสซีส์คาร์บอนไฟเบอร์ เข้ากับแนวคิดอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยวัสดุที่เขาเลือกใช้นั้น คือ “ไม้” แต่ไม่ใช่ไม้ธรรมดา หากเป็นไม้โบราณที่ถูกนำขึ้นมาจากใต้น้ำทะเลในเมืองเวนิศ เป็นการสะท้อนถึงรสนิยมและความสามารถทั้งด้านการสร้างต้นแบบและการพัฒนาทางวิศวกรรมของทีมงานในเมืองกัมบีอาโนได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้ในวันนั้นเขาจะไม่ได้กล่าวถึงอนาคตของรถแนวคิด “กัมบีอาโน” แต่ในวันนี้เราก็ได้เห็นมันกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของ รถไฮบริดไฟฟ้า “ปินินฟารีนา เอช 600” ที่เปิดตัวไปในมหกรรมยานยนต์เจนีวา 2017 ซึ่งเป็นรถแนวคิดที่สร้างขึ้นภายใต้การว่าจ้างของบริษัท เอชเค หรือ ไฮบริดคีเนทิค (HK: HYBRID KINETIC) จากฮ่องกง ที่ปัจจุบันผลิตรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่แล้ว รถรุ่น เอช 600 ยังคงใช้แนวคิดของรูปทรงและระบบขับเคลื่อนด้วยกังหันเทอร์ไบน์ขนาดเล็กเหมือน กัมบีอาโน และยังมีข่าวอีกด้วยว่ารถยนต์ของไฮบริดคีเนทิคนั้น “อาจจะ” ได้รับการประกอบในประเทศไทยอีกด้วย เนื่องจาก บริษัท “ควายทอง” มอเตอร์ จำกัด ของคนไทยได้จับมือกับไฮบริดคีเนทิคในการสร้างรถไฟฟ้าไปแล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ! แต่แน่นอนว่า หากผลิตจริงขึ้นมา เราจะไม่ได้เห็นไม้จากใต้บาดาลเมืองเวนิศ ความหลงใหลเรื่องวัสดุแปลกๆ ของ ฟิลิปปีนี ยังคงเห็นได้จากรถยนต์แนวคิด บีเอมดับเบิลยู กรัน ลุซโซ คูเป (BMW GRAN LUSSO COUPE) ในปี 2013 อันเป็นการสะท้อนถึงหนึ่งในกิจกรรมดั้งเดิมของ ปินินฟารีนา นั่นคือ การสร้างตัวถังรถยนต์แบบพิเศษในจำนวนจำกัด (CARROZERIA ในภาษาอิตาเลียน) เหมือนดังที่ทำมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 30 ในการรับเอาแชสซีส์ และเครื่องยนต์ ของรถรุ่นหนึ่ง มาพัฒนาตัวถัง รวมถึงห้องโดยสารตามความปรารถนาของผู้เป็นเจ้าของ ผลงาน บีเอมดับเบิลยู กรัน ลุซโซ คูเป เป็นการทำงานร่วมกันแบบที่เรียกว่า “ไม่แทรกแซง” ซึ่งกันและกัน โดย ปินินฟารีนา ได้ตีความบุคลิกภาพของ บีเอมดับเบิลยู ในสัดส่วนที่สง่างาม จนไม่แน่ว่านี่อาจจะถูกนำไปใช้กับรถคูเปหรู ซีรีส์ 8 เจเนอชันใหม่ก็เป็นไปได้ สิ่งที่แสดงออกถึงรสนิยมของชาวอิตาเลียน คือ รูปแบบของห้องโดยสารในแบบที่ปกติ บีเอมดับเบิลยู จะไม่มีวันทำ อาทิ ใช้หนังวัวที่ฟอกด้วยเคมีธรรมชาติ หรือเรียกในวงการเครื่องหนังว่า “หนังฟอกฝาด” (VEGETABLE TAN) จากโรงงานท้องถิ่นของอิตาลีชื่อ โฟลญิตโซ (FOGLIZZO) ในการตกแต่งภายใน ซึ่งหนังฟอกฝาดนี้เป็นที่รู้กันว่ามีสัมผัสที่เป็นธรรมชาติ นุ่มนวล ดังที่พบได้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนังอิตาเลียน แต่มีเอกลักษณ์ที่ทำให้ไม่สามารถเอามาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ เพราะเกิดรอยได้ง่ายทั้งจากเหงื่อหรือจากสีของเสื้อผ้าเราตกใส่ แต่ ฟิลิปปินี กล่าวว่า มันคือภาพสะท้อนของตัวตนของผู้ใช้งานนั่นเอง และเป็นเสมือนลายเซ็นของผู้เป็นเจ้าของที่จารึกลงไปบนรถก็ว่าได้ เป็นความคิดที่ “ติสต์” แบบอิตาเลียนเต็มตัว วัสดุอีกชนิดหนึ่ง ฟิลิปปีนี เลือกใช้ คือ ไม้โบราณ ซึ่งคราวนี้โบราณยิ่งไปกว่าที่ใช้กับ กัมบีอาโน ซึ่งเมื่อได้รู้ที่มาของมันแล้วถึงกับขนลุก เพราะมัน คือ ไม้ดึกดำบรรพ์ที่ได้จากต้นไม้ที่ล้มแล้วจมโคลนมากว่า 48,000 ปี (ผ่านการทดสอบด้วยคาร์บอน 14 เรียบร้อยแล้ว) จากประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีชื่อว่า “กาอูรี” (KAURI) อาจเรียกว่าแทบจะเป็นฟอสซิลก็ว่าได้ เนื่องด้วยไม้นี้เป็นของธรรมชาติและเก่าแก่มาก จึงไม่สามารถควบคุมโทนสีของมันได้เหมือนไม้ใหม่ๆ โดยสีนั้นไล่เฉดตั้งแต่เหลืองไปถึงม่วง ซึ่งหากเป็นรถเพื่อการผลิตในจำนวนมาก แน่นอนว่าสีและลายจะต้องเท่ากันทั้งหมด แต่สำหรับรถคันนี้ความเป็นธรรมชาติ และภาพสะท้อนของเวลาเป็นเหมือนการแสดงออกถึงการฉีกตัวออกจากวังวนของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั่นเอง เกิดเป็นมิติแห่งความหรูหราที่ยากจะหาใครเสมอเหมือนได้ ความชำนาญในเรื่องการสร้างรถยนต์ที่มีบุคลิกเฉพาะตัวนั้นเป็นสิ่งที่ ปินินฟารีนา มีทักษะที่เลียนแบบไม่ได้ แต่ที่นอกเหนือจากรถยนต์แนวคิดรุ่นต่างๆ แล้ว จะพบว่ากลุ่มลูกค้าในยุโรปของ ปินินฟารีนา นั้นถดถอยลงทุกวัน แม้กระทั่งกับ แฟร์รารี ที่เป็นลูกค้าประจำของ ปินินฟารีนา กับผลงานรถยนต์ระดับตำนานมากมาย ก็มีทีมงานเป็นของตัวเองไปเรียบร้อย โดยซูเพอร์คาร์รุ่น เอฟ 12 คือ ผลงานชิ้นโบว์แดงชิ้นสุดท้ายในแบบของรถที่ผลิตเป็นจำนวนมากที่ทำร่วมกันมายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ หรืออีกค่ายหนึ่ง คือ เปอโฌต์ ที่ในอดีต ปินินฟารีนา ออกแบบให้มาแทบทุกรุ่น ตลอดไปจนถึงประกอบให้เสร็จสรรพ อาทิ รุ่น 205 เปิดประทุน หรือ 406 คูเป ก็ได้จบภารกิจต่อกันไปในปี 2006 การที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีสตูดิโอเป็นของตัวเอง จึงทำให้ ปินินฟารีนา เสียฐานลูกค้าไปไม่น้อย จนสถานการณ์ทางการเงินไม่มั่นคง แต่โชคดีที่มีอุตสาหกรรมรถยนต์เกิดใหม่ในอีกฝากหนึ่งของโลก นั่นคือ ค่ายรถยนต์จากประเทศจีน อาทิ เชอรี (CHERY) ชางฟง (CHANGFENG) บริลเลียนศ์ (BRILLIANCE) เซาอีสต์ มอเตอร์ (SOUEAST MOTOR) และ ไฮบริดคีเนทิค (HYBRID KINETIC) ที่ความสามารถทั้งด้านการออกแบบและวิศวกรรมของ ปินินฟารีนา จะเป็นส่วนช่วยเร่งพัฒนาการให้แก่อุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนอย่างก้าวกระโดด ดังตัวอย่างของรถยนต์จากจีนที่ ปินินฟารีนา ได้พัฒนาให้ อาทิ เซาอีสต์ ดีเอกซ์ 7 กับ ดีเอกซ์ 3 ที่แม้หน้าตาติดจะหวือหวาไปบ้าง เพื่อเอาใจรสนิยมลูกค้าท้องถิ่น แต่ก็มีความชัดเจนในเรื่องของรูปทรงและสัดส่วนที่เหมาะเจาะลงตัว สามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้สบาย แม้ว่าฐานลูกค้าหลักของพวกเขาจะย้ายจากยุโรปไปสู่ตะวันออกเป็นที่เรียบร้อย แต่ ปินินฟารีนา ก็มีธุรกิจที่ยังคงเก็บความชำนาญและทักษะดั้งเดิมไว้อยู่เช่นเดิม ส่วนจะเป็นอะไรนั้น ขอเล่าต่อในฉบับหน้านะครับ
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)