MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE VII รอยต่อแห่งยุคสมัย ตอน 2
เราได้เห็นแล้วว่า นับตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อุตสาหกรรมการออกแบบรถยนต์ของอิตาลีนั้นได้ก้าวสู่ยุคถดถอย จากการที่รถยนต์แต่ละบแรนด์ได้จัดตั้งหน่วยงานออกแบบรถยนต์ของตัวเอง มีการใช้บุคลากรสายออกแบบรุ่นใหม่ที่จบหลักสูตรออกแบบรถยนต์ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เข้าไปทดแทนการใช้บริการที่ปรึกษาด้านการออกแบบเหมือนแต่เดิมมา จึงไม่น่าแปลกใจว่า ฐานลูกค้าของสำนักออกแบบอิตาเลียน จึงเปลี่ยนไปเป็นการช่วยประคับประคองผู้ผลิตหน้าใหม่ที่ยังไม่ปีกกล้าขาแข็งมากนัก อาทิ ปินินฟารีนา (PININFARINA) ที่บริการออกแบบให้บแรนด์ เซาอีสต์ (SOUEAST) จากจีน ซึ่งใช้พื้นฐานเครื่องยนต์ และช่วงล่างของ มิตซูบิชิ อาทิรุ่น ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ดีเอกซ์ 7 และดีเอกซ์ 3 ที่มีราคาเริ่มต้นเพียง 15,000 ยูโร หรือราว 6 แสนบาทเท่านั้น แต่ด้วยกลยุทธ์การออกแบบของ ปินินฟารีนา ก็ช่วยทำให้ตัวรถนั้นดูดีเกินราคาไปมาก เขาเองยอมรับว่าการทำงานร่วมกับผู้บริหารชาวจีนนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะมักจะเปลี่ยนใจไปมา แต่ถึงอย่างนั้นพโรเจคท์ต่างๆ ก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี
นอกเหนือจากตลาดรถยนต์ ปินินฟารีนา ยังใช้ความชำนาญที่สั่งสมมา เข้าไปช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานพาหนะชนิดอื่นๆ อีกด้วย อาทิ การออกแบบรถไฟ ยูโรสตาร์ อี 320 (EUROSTAR E320) ทั้งภายนอกและภายใน ไปจนถึงรถเพื่อการเกษตร อาทิ รถทแรคเตอร์ “ซีเตอร์” (ZETOR) จากประเทศสาธารณรัฐเชค ที่ดูหล่อเหลาจนกระทั่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ ถึงกับเอ่ยชมว่า มันคือ “แฟร์รารี แห่งโลกทแรคเตอร์” เลยทีเดียว
ยิ่งกว่านั้น ปินินฟารีนา ยังเล็งเห็นความเป็นไปได้ของงานที่ไม่เกี่ยวกับยานพาหนะติดล้อ จึงก่อตั้งบริษัทลูกขึ้นมาชื่อว่า “ปินินฟารีนา เอกซ์ตรา” (PININFARINA EXTRA) ในปี 1986 เพื่อให้คำปรึกษาด้านการออกแบบอุตสาหกรรม (INDUSTRIAL DESIGN) งานออกแบบกราฟิค งานตกแต่งภายใน ไปจนถึงงานสถาปัตยกรรม ซึ่งผลงานจนถึงปัจจุบันนั้นมากมายเกินจะนับไหว ทั้งปากกา แว่นตา นาฬิกา หูฟังสเตริโอ อุปกรณ์กีฬา จักรยาน ขวดน้ำหอม เครื่องแต่งกายบุรุษและสตรี เฟอร์นิเจอร์ เครื่องบิน ไปจนถึงเรือยอชท์ เรียกได้ว่าออกแบบตั้งแต่ “ไม้จิ้มฟันยันเรือเดินสมุทร” โดยผลงานที่โดดเด่น คือ “คบเพลิง” ที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิคฤดูหนาว ที่เมืองตูริน ปี 2006 (TORINO WINTER GAMES 2006) อันเป็นเมืองบ้านเกิดของ ปินินฟารีนา รวมถึงบรรดาสำนักออกแบบอื่นๆ อีกมากมายของอุตสาหกรรมรถยนต์อิตาลี โดยคบเพลิงดังกล่าว ผลิตจากโลหะชุบอโนไดซ์สีน้ำเงิน และมีการพัฒนาในอุโมงค์ลมของ ปินินฟารีนา ให้สามารถสู้กับลม และความหนาวได้เป็นอย่างดี
ผลงานออกแบบล่าสุดที่แพร่หลายในต่างประเทศ คือ ตู้กดน้ำอัดลม “โคคา-โคลา ฟรีสไตล์” (COCA-COLA FREESTYLE) ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในการสร้างสรรค์รสชาติเครื่องดื่มได้ไม่จำเจ เพราะในหนึ่งตู้นั้นสามารถสร้างรสชาติได้มากถึง 126 รส (รออยู่ว่าเมื่อไรจะมาถึงบ้านเราเสียที)
ผลงานออกแบบเรือยอชท์ของพวกเขาก็นับว่ามีไม่น้อย ล่าสุด คือ เรือยอชท์ขนาดยักษ์ชื่อ OTTANTACINQUE ที่แปลเป็นไทยได้ว่า “แปดสิบห้า” (85) มาจากความยาวเรือ 85 เมตร ซึ่งเป็นการร่วมงานกับบริษัทต่อเรือ FICANTIERI YACHTS โดยเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่โตราวกับคฤหาสน์ขนาด 14 เตียง พร้อมความหรูหราเกินจินตนาการ
ผลงานของพวกเขายังรวมไปถึง งานสถาปัตยกรรมทั้งในและนอกทวีปยุโรป อาทิ สนามฟุตบอลของทีมยูเวนตุส (JUVENTUS STADIUM) และในเอเชียก็คือ คอนโดมิเนียมหรู “เฟอร์รา” (FERRA) ที่สิงคโปร์ ประกอบด้วยตึกแฝดสีแดงกับดำเกาะเกี่ยวเข้าด้วยกัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากรถยนต์ และความเร็ว กำหนดแล้วเสร็จในปี 2018
ทั้งหมดนี้ใช่ว่า ปินินฟารีนา ในฐานะสำนักออกแบบรถยนต์จะล้มหายตายจากไปเสียทีเดียว เพราะพวกเขายังมีความสามารถพิเศษอีกอย่างที่บริษัทผลิตรถยนต์ทั่วไปไม่มี นั่นคือ ทักษะทางวิศวกรรม สำหรับการผลิตจำนวนน้อย ซึ่งเป็นสิ่งสวนทางกับบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ทั่วไป ที่เน้นการผลิตจำนวนมาก ดังนั้น หากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ หรือเศรษฐีที่ต้องการความพิเศษ ด้วยการย้อนกลับไปสู่ธรรมเนียมเดิมของสำนักออกแบบอิตาเลียน นั่นคือ ผลิตรถยนต์จำนวนจำกัด ปินินฟารีนา มีความพร้อมที่จะให้บริการในส่วนนี้ได้ทันที ในรูปแบบเดียวกับที่ ปินินฟารีนา และนักต่อตัวถัง หรือที่เรียกกันว่า การ์โรเซอเรีย (CARROZERIA) ในภาษาอิตาเลียน หรือ โคชบิลเดอร์ (COACHBUILDER) ในภาษาอังกฤษ ในอดีตทำกันมาก่อนนั่นเอง
พวกเขาเรียกงานผลิตในจำนวนจำกัดนี้ว่า “ฟูโอริ เซรี” (FUORI SERIE) หรือ ตามนิยามภาษาอังกฤษได้ว่า “OFF-SERIES” หรือ “BESPOKE” ซึ่งแปลเป็นไทยง่ายๆ ได้ว่า “นอกเมนู” หรือสั่งทำในสิ่งที่ไม่มีกำหนดไว้แต่แรก สิ่งนี้คือ สิ่งที่พวกเขาเชื่อว่า จะเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมการออกแบบรถยนต์ของอิตาลี
พวกเขาเชื่อว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ขั้วหนึ่ง คือ แนว “มหาชน” ที่สนใจเรื่องราวของ การเชื่อมต่อ (CONNECTIVITY) ยานยนต์ไร้คนขับ (AUTONOMOUS) และเทคโนโลยีสมาร์ท (SMART TECHNOLOGY) ทั้งหลายที่ลดตัวตนและความสำคัญของตัวรถลงไปเป็นเพียง “ยานพาหนะ” ชนิดหนึ่ง ขณะที่อีกขั้วหนึ่งจะเป็นผู้ที่โหยหาจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์และความรื่นรมย์ที่สัมผัสได้ (TANGIBLE SATISFACTION) ซึ่งแน่นอนว่า ทีมงานของ ปินินฟารีนา สามารถทำได้ทั้ง 2 ด้าน และชำนาญเป็นพิเศษในด้านที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนกับรถ
พวกเขานำเสนอแนวคิด “นอกเมนู” ให้แก่ลูกค้าผู้ต้องการความเป็นพิเศษเฉพาะตัว โดยเริ่มตั้งแต่การมอบประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการออกแบบ ไม่แตกต่างไปจากการตัดสูทแบบวัดตัว ที่ผู้ซื้อจะมีบทบาทในการบอกเล่าถึงจินตนาการและความฝันที่ตนเองมีต่อรถยนต์ที่กำลังจะถูกสร้างขึ้น และจะได้เห็นรถที่ตัวเองฝันไว้ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นทีละน้อย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลงานที่ทำด้วยมือและหัวใจ
ตัวอย่างผลงานภายใต้แนวคิดนี้ มีหลายคัน อาทิ นูโอวา สตราโตส 2010 (NUOVA STRATOS 2010) ที่ได้แรงบันดาลใจจาก ลันชา สตราโตส (LANCIA STRATOS) ผลงานของสำนักออกแบบ แบร์โตเน ที่สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 70 โดยรถรุ่นใหม่พัฒนาขึ้นจากเครื่องยนต์กลไกของ แฟร์รารี 430 จากคำขอของนักธุรกิจชาวเยอรมัน
คันต่อมา คือ แฟร์รารี เอสพี 12 อีซี (2012) ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษให้แก่ เอริค คแลพทัน (ERIC CLAPTON) ศิลปินดนตรีชื่อก้องโลก ที่ต้องการสมรรถนะของ แฟร์รารี ยุคใหม่ แต่มีสไตล์แบบเดียวกับรถรุ่น 512 บีบี จากทศวรรษที่ 70 ที่เขาหลงใหล
นอกเหนือจากรถที่ผลิตขึ้นมาเพียงคันเดียว ยังมีรถพิเศษที่ผลิตในจำนวนจำกัด อาทิ แฟร์รารี แซร์โจ (2015) ซึ่งพัฒนาขึ้นตามแบบของรถแนวคิด ปินินฟารีนา แซร์โจ ที่นำออกแสดงในปี 2013 โดยพัฒนาขึ้นจากพื้นฐานของ แฟร์รารี 458 รถที่ผลิตจำนวนจำกัดนี้ มีการตัดคุณลักษณ์พิเศษของรถรุ่นแนวคิดออกไปบ้าง คือ เพิ่มกระจกบังลมหน้าเข้าไป เนื่องจากรถแนวคิดนั้นไม่มีกระจกบังลม จากการออกแบบให้มีกระแสอากาศมาตัดกระแสลมที่ปะทะคนขับและผู้โดยสาร แต่ในรถรุ่นผลิตจำนวนจำกัดมีการติดตั้งกระจกหน้าไว้เรียบร้อย นอกจากจะปลอดภัยจากการพลิกคว่ำ มันยังอุ่นใจได้ว่าเวลาใช้งานจริง คนในรถจะไม่เปียกโชกไปด้วยฝนอีกด้วย แฟร์รารี แซร์โจ นี้สร้างขึ้นมาเพียง 6 คัน และจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่ได้รับการคัดสรรเป็นพิเศษเท่านั้น โดยผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ครบถ้วน
แม้ปัจจุบัน ฟิลิปโป เปอรินี (FILIPPO PERINI) จะไม่ได้ร่วมงานกับ ปินินฟารีนา อีกแล้ว แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ผลงานของ ปินินฟารีนา ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ผลิตจำนวนจำกัดสำหรับผู้โชคดีไม่กี่คนบนโลกนี้ หรือตู้กดเครื่องดื่มเย็นๆ ที่ไม่ว่าใครก็สัมผัสได้ จะยืนอยู่บนพื้นฐานทางการออกแบบ หรือ ดีเอนเอ ของ ปินินฟารีนา นั่นคือ “ความสง่างาม ความบริสุทธิ์ และนวัตกรรม” (ELEGANCE PURITY & INNOVATION) รวมถึงไม่ตามทเรนด์ใดๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องการันตีว่า ผลงานที่รังสรรค์ขึ้นโดยฝีมือของ ปินินฟารีนา จะยังคงความสง่างาม ท้าทายกาลเวลา และสร้างประสบการณ์น่าพึงพอใจ ให้แก่ผู้ที่ได้สัมผัสตราบนานเท่านาน
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)