ค่ายญี่ปุ่นมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์นั่งรายใหญ่อยู่รวม 9 ราย แต่มีอยู่เพียง 2 ราย เท่านั้นที่ขณะนี้มีรถไฮบริดชนิดที่ต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟในบัญชีรายชื่อสินค้า คือ ค่ายยักษ์แคระซึ่งมีรถ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี (MITSUBISHI OUTLANDER PHEV) กับค่ายยักษ์ใหญ่ซึ่งมีรถ โตโยตา ปรีอุส พีเอชวี (TOYOTA PRIUS PHV) ส่วนอีกรายที่ขณะนี้ยังไม่มี แต่อีกไม่นานก็จะมี คือ ยักษ์รองซึ่งประกาศไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ว่าก่อนสิ้นปีไก่ผัดขิงจะนำรถ ฮอนดา คแลริที พลัก-อิน ไฮบริด (HONDA CLARITY PLUG-IN HYBRID) ออกสู่โชว์รูมเดือนนี้จะว่ากันเฉพาะผลงานของค่ายยักษ์ใหญ่ คือ โตโยตา ปรีอุส พีเอชวี (TOYOTA PRIUS PHV) ซึ่งในบางตลาดเช่นสหรัฐอเมริกา จะเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเป็น โตโยตา ปรีอุส พไรม์ (TOYOTA PRIME) รถแบบนี้เริ่มเข้าสู่สายการผลิตในญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2012 และมิใช่เป็นรถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด หากพัฒนามาอีกทอดหนึ่งจากรถ โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) รุ่นที่ 3 ซึ่งเริ่มขายในเมืองยุ่นเมื่อกลางปี 2009 หัวใจของการพัฒนาที่ว่านี้ คือ การเปลี่ยนแปลงระบบขับ จากระบบไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบเป็นไฮบริดชนิดต้องเสียบ ซึ่งทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงขึ้นและรถวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าได้ไกลขึ้นนั่นเอง ส่วนที่กำลังอวดรูปทรงองค์เอวอยู่นี้เป็นรถรุ่นที่ 2 พัฒนาจากรถ โตโยตา ปรีอุส รุ่นปัจจุบันซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 4 เริ่มออกโชว์รูมทั่วเกาะญี่ปุ่นเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2017 พร้อมกับป้ายราคา 3.262-4.223 ล้านเยน หรือประมาณ 0.979-1.267 ล้านบาทไทย อันเป็นค่าตัวที่รวมภาษีผู้บริโภคร้อยละ 8 ไว้แล้ว รถรุ่นนี้อยู่ในตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบค 4 ที่นั่ง ซึ่งยาว 4.645 ม. กว้าง 1.760 ม. และสูง 1.470 ม. คือ กว้างและสูงเท่ากันพอดิบพอดีกับรถซึ่งเป็นที่มา แต่ยาวขึ้น 10.5 ซม. หน้าตาและรูปทรงองค์เอวตัวถังมีรายละเอียดที่เปลี่ยนไปมากมาย และโดยส่วนรวมน่าจะฟันธงได้ว่าทำได้ดีกว่ารถซึ่งเป็นที่มา มีรถให้ลูกค้าเลือดซามูไรเลือกใช้ 5 โมเดล คือ PRIUS PHV S-PRIUS PHV S NAVI PACKAGE-PRIUS PHV A-PRIUS PHV A LEATHER PACKAGE-PRIUS PHV A PREMIUM ทุกโมเดลติดตั้งระบบขับล้อหน้าแบบไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน DOHC 4 สูบเรียง 1,797 ซีซี 72 กิโลวัตต์/98 แรงม้า (รหัสเครื่องยนต์ 2ZR-FXE) ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 53 กิโลวัตต์/72 แรงม้า (รหัส 1NM) มอเตอร์ไฟฟ้า 23 กิโลวัตต์/31 แรงม้า (รหัส 1SM) แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 8.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง และระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT ให้กำลังสุทธิสูงสุด 90 กิโลวัตต์/122 แรงม้า มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่น่าพอใจมาก คือ 30.8-37.2 กม./ลิตร เมื่อวัดตามมาตรฐาน JC08 ของญี่ปุ่น และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 62-75 กรัม/กม. แบทเตอรีที่กล่าวข้างต้น สามารถชาร์จไฟได้หลายวิธี คือ ด้วยไฟบ้าน 200 โวลท์/16 แอมพ์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที ด้วยไฟบ้าน 100 โวลท์/6 แอมพ์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 14 ชม. กับชาร์จไฟแบบเร่งด่วนซึ่งใช้เวลาเพียง 20 นาที และได้ปริมาณไฟร้อยละ 80 นอกจากนั้นรถรุ่นนี้ยังเป็นรถผลิตขายจำนวนมากๆ แบบแรกในโลก ซึ่งมีการติดตั้ง SOLAR CHARGING SYSTEM อันเป็นระบบชาร์จไฟด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำงานโดยอัตโนมัติขณะรถจอด ทำให้มีพลังไฟเพียงพอให้รถวิ่งได้ไกลสุดถึง 6.1 กม./วัน หรือ 2.9 กม./วัน โดยเฉลี่ย กรณีชาร์จไฟเต็มที่และวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ รถจะวิ่งได้ไกล 68.2 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน JC08 และทำความเร็วสูงสุด 135 กม./ชม.