MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE VIII
สำหรับกลุ่มคนรักรถอิตาเลียนแล้ว ชื่อสำนักออกแบบ “ซากาโต” (ZAGATO) นั้นมีมนต์ขลัง เป็นตัวแทนของความพิเศษเหนือระดับ ทั้งด้านรูปโฉม สมรรถนะ และความเฉพาะตัวที่หาไม่ได้จากรถยนต์ปกติ และผู้ที่มาถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเขา และ “ซากาโต” ก็คือ ชเตฟาเน ชวาร์ซ (STEPHANE SCHWARZ) นักออกแบบมากประสบการณ์ชาวสวิสส์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของสำนัก ซากาโต มาตั้งแต่ปี 2014ก่อนที่ ชวาร์ซ จะได้เข้ามาร่วมงานกับสำนักออกแบบที่เปี่ยมไปด้วยคาแรคเตอร์เฉพาะตัวอย่าง “ซากาโต” ในปี 2014 นั้น เขามีจุดเริ่มต้นซึ่งไม่ต่างไปจากคนอื่นๆ มากนัก ชวาร์ซ เป็นนักเรียนออกแบบรถยนต์ในสถาบันอาร์ทเซนเตอร์ ยุโรป ซึ่งเป็นสาขาของสถาบันอาร์ทเซนเตอร์ แพซาเดนา เป็นเมืองในลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาอันโด่งดัง (ปัจจุบันปิดตัวลงไปแล้ว) และการทำงานครั้งแรก หลังจบการศึกษา คือ การเข้าร่วมงานกับสำนักออกแบบ “ปินินฟารีนา” (PININFARINA) และที่สถาบันอาร์ทเซนเตอร์ ยุโรป เขาได้เรียนรู้รูปแบบการเรียนในสไตล์อเมริกัน ที่เน้นการสเกทช์ภาพ และการขึ้นรูปผ่านดินเหนียว แต่เมื่อเข้ามาทำงานที่ ปินินฟารีนา ชวาร์ซ ได้เข้ามาสู่โลกของงานออกแบบสไตล์อิตาเลียน ที่เริ่มด้วยการเขียนแบบ และการตัดรถออกเป็นส่วนๆ สไตล์คลาสสิค งานแรกที่เขาได้ทำ คือ ออกแบบรถยนต์ เฟียต รุ่น “อูโน” (UNO) แต่พโรเจคท์เด่นคันแรกที่เขาได้ออกแบบ คือ รถสปอร์ทคันเล็กๆ สีเขียวในปี 1992 ที่ผู้เขียนยังจำได้ดี รถคันนั้นมีชื่อว่า “เอโธส” (ETHOS) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อตอบรับกระแสสังคม “โลกสีเขียว” ในเวลานั้น ด้วยการเป็นรถสปอร์ทเปิดประทุน โครงอลูมิเนียมน้ำหนักเบา ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ 2 จังหวะแบบใหม่ ที่เรียกว่าเครื่องยนต์ “ออร์บิทัล” (ORBITAL ENGINE) จากออสเตรเลีย และพ่นสีสูตรน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รูปลักษณ์ของ เอโธส นั้นเป็นรูปทรงที่เรียกว่า “บาร์เคตตา” (BARCHETTA) อันเป็นรูปทรงของโรดสเตอร์ขนาดเล็กนั่นเอง หลังจากเรียนรู้งานกับ ปินินฟารีนา มากว่า 4 ปี กับงานสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ตั้งแต่รถยนต์ เรือยอชท์ การออกแบบภายในของเครื่องบิน รถราง จนถึงงานสั่งทำของลูกค้าระดับพรีเมียม ในปี 1994 ชวาร์ซ ถูกทาบทามให้ไปทำงานร่วมกับ นิสสัน ยุโรป (NDE: NISSAN DESIGN EUROPE) ซึ่งขณะนั้นมีสำนักงานออกแบบอยู่ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี การทำงานร่วมกันกับ นิสสัน ถือเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับเขา จากการออกแบบรถแนวคิด ไปสู่การออกแบบเพื่อการผลิตจำนวนมาก และจากการที่ ชวาร์ซ เป็นชาวยุโรปคนแรกในสตูดิโอของ นิสสัน ที่มีแต่ชาวญี่ปุ่น แม้งานอาจจะขลุกขลักอยู่บ้างในช่วงแรกๆ กับการเป็น “ไกจิน” (GAIJIN) หรือ “คนนอก” อย่างที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกคนต่างชาติ แต่ ชวาร์ซ ก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่าแน่พอ และเมื่อรู้สึกตัวอีกที เขาก็กลายเป็นลูกหม้อ นิสสัน ยาวนานถึง 14 ปีเลยทีเดียว ในปี 1994 ที่ ชวาร์ซ ร่วมงานกับ นิสสัน ช่วงเวลาที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ยุคมืด” ของค่าย นิสสัน (ยุคก่อนที่ การ์โลส โกส์น จะเข้ามากุมบังเหียน) นิสสัน ไม่มีผลงานออกแบบที่ดีพอสำหรับการเจาะตลาดรถยุโรปเลย ผู้คนต่างสงสัยกันว่า นิสสัน คือ อะไรกันแน่ และเขาเองก็ได้พบว่า นิสสัน ในช่วงเวลานั้นไม่มี “คัมภีร์การออกแบบ” (DESIGN BIBLE) เพื่อไว้ยึดเหนี่ยว นักออกแบบแต่ละคนในทีมกลัวที่จะทำสิ่งแตก-ต่าง และหน้าที่แรกของ ชวาร์ซ คือ หาให้เจอว่าทิศทางใดที่ นิสสัน ควรจะก้าวเดิน อันดับแรกที่ ชวาร์ซ เริ่มทำ คือ การคิดค้นกลยุทธ์ โดยนำเอาสิ่งที่อยู่โดยรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม มิติความคิดในสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และกลุ่มชาติพันธุ์ มาพิจารณาร่วมกับนิยามของกลุ่มคนแบบต่างๆ ที่นักการตลาดได้สร้างสรรค์ขึ้นอย่างหลากหลาย โดยลองศึกษากับกลุ่มตัวอย่างของบแรนด์ที่มีชื่อเสียงในช่วง เวลานั้นว่า พวกเขาสร้างบุคลิกภาพได้อย่างไร สิ่งที่ ชวาร์ซ ค้นพบ คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับ ต้องสร้างขึ้นจากพื้นฐานที่ดี (FOUNDATION) ทั้งด้านสมรรถนะ ประโยชน์ใช้สอย และคุณภาพ (PERFORMANCE, FUNC- TIONALITIES, BUILD QUALITY) เหนือขึ้นไปกว่านั้น ต้องมีการออกแบบที่มีเอกลักษณ์และเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สะเปะสะปะ และขั้นสูงที่สุดที่ผู้บริโภคจะพึงพอใจ คือ มีจุดขายที่แตกต่างจากยี่ห้ออื่น (UNIQUE SELLING POINT) ผลงานของ ชวาร์ซ หลายคันในช่วงปีแรกๆ กับ นิสสัน มีความโดดเด่นในการออกแบบ แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายนัก ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากงานออกแบบที่ล้ำสมัยเกินไป อาทิ รถแนวคิด “ฟิวชัน” ในปี 2000 ที่ต่อมาถูกพัฒนาไปเป็น นิสสัน พรีเมรา (PRIMERA) และรถแนวคิด นิสสัน คีโน (KINO) ในปี 2001 แต่เมื่อความคิดของ ชวาร์ซ ตกตะกอนได้ที่ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ นิสสัน กัชไก (QASHQAI) ปี 2007 โดยแต่เดิม นิสสัน ต้องการจะแย่งชิงตลาดรถคอมแพคท์จาก โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ แต่ก็ตระหนักดีว่าเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่จะชนกันตรงๆ พวกเขาจึงนำไอเดียจากความสำเร็จของ มูราโน (MURANO) ในตลาดสหรัฐอเมริกา มาพัฒนาขึ้นเป็น “กัชไก” ในรูปแบบของรถสไตล์คอมแพคท์ยกสูง ซึ่งเป็นการรวมเอาสไตล์ของ เอกซ์-ทเรล เข้ากับสัดส่วนของ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ กลายเป็นรถลูกผสมด้วยแนวคิด “URBAN+ NOMAD” หรือ นักเดินทางในเมือง โดยผสานเส้นสายที่คล่องแคล่ว (DYNAMIC FLUIDITY) สไตล์ของคนเมือง ให้เข้ากับช่วงล่างแบบยกสูง พร้อมลุย (PERFORMANCE AGILITY) ของนักเดินทาง กัชไก นับเป็นรถที่บุกเบิกตลาดในเซกเมนท์ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และมีบแรนด์ต่างๆ เจริญรอยตามมากมาย อาทิ มาซดา ซีเอกซ์-3/ฮอนดา เอชอาร์-วี/เมร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลเอ และซูบารุ เอกซ์วี เป็นต้น หลังจากประสบความสำเร็จจากยอดขาดที่ทะลุเป้าของ กัชไก พโรเจคท์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ ชวาร์ซ อีกคัน คือ เอนวี 200 รถตู้แนวคิดขนาดกลาง เป็นที่รู้กันว่ารถตู้นั้นโดยแท้จริงแล้วไม่น่าติดตาม หรือเร้าใจนัก เขาจึงใช้การสร้างเรื่องราว โดยยกตัวอย่างให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของรถตู้ รถแนวคิดคันนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นรถของนักถ่ายภาพใต้น้ำ พร้อมจินตนาการว่าเมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว เขาต้องการสัมผัสเช่นไร ใช้ชีวิต ทำงานอย่างไร โดยใช้ เจมส์ บอนด์ เป็นต้นแบบ หลังจากนั้นไม่นาน ชวาร์ซ รู้สึกอิ่มตัวกับงานที่ นิสสัน และอยากจะออกไปค้นหาชีวิตใหม่ๆ ด้วยการเปิดสำนักออกแบบเป็นของตนเองในลอนดอน ชื่อว่า ชเตฟาเน ชวาร์ซ สตูดิโอ (STEPHANE SCHWARZ STUDIO) สถานที่ซึ่งเขาได้ทำงานหลากหลายมากขึ้นกว่าที่เคยทำอยู่ที่ นิสสัน และต่อมาไม่นานก็ได้รับการทาบทามจาก อันดเรอา ซากาโต (ANDREA ZAGATO) เจ้าของ สำนัก ซากาโต ให้มาร่วมงานในอิตาลี ในปี 2014 ชวาร์ซ กล่าวว่า สำนัก ซากาโต นั้นเป็นอะไรที่เขาไม่ได้คุ้นเคยนักในช่วงแรก การเข้ามาสู่บริษัทอิตาเลียนนี้ นำความแปลกใจหลายๆ สิ่ง อะไรๆ ดูผิดที่ผิดทาง ยุ่งเหยิงไปหมด เมื่อเทียบกับบริษัทที่มีระเบียบแบบแผนชัดเจนอย่าง นิสสัน อันดับแรกที่ ชวาร์ซ ได้สัมผัส คือ ซากาโต นั้นผลิตแต่รถ “พิเศษ” ให้บแรนด์ต่างๆ รวมถึงลูกค้ารายพิเศษ และมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1 ศตวรรษ การได้เข้าร่วมงานกับบริษัทรถยนต์ชั้นนำไม่น้อยทั้งจาก ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย ซึ่ง 99 % เป็นรถสปอร์ททั้งสิ้น ลูกค้าที่เข้ามาหา ซากาโต เพราะบุคลิกภาพเฉพาะตัว และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในการสร้างรถยนต์ที่มีเอกลักษณ์ และท้าทายกาลเวลา โดยในอดีต ซากาโต ถือกำเนิดมาจากการเป็นโรงงานประกอบเครื่องบิน และเมื่อผันตัวเองมาทำรถยนต์ ก็ได้นำเอาความรู้ด้านอากาศพลศาสตร์ และศาสตร์การขึ้นรูปด้วยอลูมิเนียมมาใช้ ทำให้รถของสำนัก ซากาโต ในอดีตนั้น มีน้ำหนักเบา เพรียวลม วิ่งได้เร็วกว่ารถคันอื่น และพวกเขาได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา นั่นคือ หลังคาทรงโป่งคู่ (DOUBLE BUBBLE ROOF) ซึ่งเป็นการทำหลังคาให้นูนขึ้น เพื่อรับกับศีรษะของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ช่วงทศวรรษที่ 80-90 ซากาโต ได้หันไปทดลองเส้นสายใหม่ๆ อาทิ ทรงเหลี่ยม ดังที่เห็นได้ชัดใน อัลฟา โรเมโอ เอสเซด (ALFA ROMEO SZ) ปี 1989 ในช่วงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา บุคลิกภาพของรถที่ออกแบบโดย ซากาโต จะเน้นไปที่การนำเอาความงามแบบคลาสสิคจากยุค 50-60 กลับมา ภายใต้แนวคิด “ฟื้นรากและต่อยอด” หรือ “HERITAGE RE-INVENT” ออกมาเป็นสไตล์ที่เรียกว่า “นีโอ คลาสสิค สไตล์” (NEO CLASSIC STYLE) จะเห็นได้จาก ลัมโบร์กินี 595 ซากาโต (LAMBORGHINI 595 ZAGATO) ที่เป็นรถคันแรกที่ ชวาร์ซ ทำกับ ซากาโต (โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนรู้สึกว่ามันพิลึกเหลือเกิน) แต่โดดเด่นลงตัวกับ แอสตัน มาร์ทิน แวนควิช ซากาโต (ASTON MARTIN VANQUISH ZAGATO) ปี 2016 นั่นเอง ชวาร์ซ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้รถยนต์ที่ออกแบบโดย ซากาโต ไม่เชยตามกาลเวลา เพราะไม่ออกแบบรถยนต์ตามกระแสแฟชัน จะมีการลบเส้นสายที่บ่งบอกยุคสมัยออกไปบ้าง และพยายามทำรถให้เรียบง่ายสไตล์คลาสสิคนั่นเอง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆ เลย ชวาร์ซ ต้องนำประสบการณ์จาก ปินินฟารีนา กลับมาอีกครั้ง ในเรื่องของวิธีการขึ้นรูปตัวถังแบบอิตาเลียนคลาสสิค แต่เหนือสิ่งอื่นใด งานที่จะผ่านประตูบริษัทออกไปได้นั้น ต้องผ่านการยอมรับจากตัวของ “อันดเรอา ซากาโต” เสียก่อนเสมอว่า มีจิตวิญญาณของสำนัก ซากาโต อย่างแท้จริง ถ้าเขาไม่ยอมรับก็ต้องกลับไปแก้ไขใหม่ พโรเจคท์ของ ซากาโต ใช่ว่าจะมีแต่รถที่ผลิตในจำนวนจำกัด หรือราคาแพงระยับเสมอไป ล่าสุดได้ออกแบบรถยนต์ให้แก่นักลงทุนจากไต้หวัน ที่อาจจะกลายเป็นคู่แข่งของ เทสลา ได้ในอนาคต กับพโรเจคท์ที่ชื่อว่า ธันเดอร์ เพาเวอร์ (THUNDER POWER) หรือ “พลังจากสายฟ้า” ในปี 2015 ซึ่งเป็นรถแบบซีดาน โดยอาศัยแนวคิด “ความสงบ” ซึ่งเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เงียบไร้เสียงรบกวน รถแนวคิดรุ่นใหม่นี้ ทุกอย่างถูกออกแบบให้มีความกลมกลืน และสื่อไปถึงชีวิตที่มีคุณภาพ ในรูปแบบสมัยใหม่ที่ผสมผสานเข้ากับจิตวิญญาณตะวันออก เรียกได้ว่าเป็น “ซิลิคอน วัลเลย์” ผสมกับ “เซน” ก็ว่าได้ ชเตฟาเน ชวาร์ซ ได้ฝากแนวคิดถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ว่า งานออกแบบที่ดี ไม่ใช่มีแค่ความสวยงาม ต้องอธิบายแนวคิด ตัวตน และความฝันของตัวเองลงไปด้วย เพราะหน้าที่ของนักออกแบบ คือ ผู้สร้างฝันให้เป็นจริง และหากสามารถสร้างเอกลักษณ์ในการออกแบบที่ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปได้ ก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก สุดท้าย จงอย่ากลัวที่จะแตกต่าง เพราะความแตกต่างจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณเป็นคนที่น่าจดจำ
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2560
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)