รู้ลึกเรื่องรถ
ทีเด็ดของ เอาดี เอ 8 ใหม่
เราได้เห็นการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ เจมส์ บอนด์ 007 หรือ มิชชัน อิมพอสซิเบิล และล่าสุดผู้ผลิตรถยนต์เจ้าดังจากเยอรมนีก็แอบแย้มให้ได้เห็น แง่มุมเล็กๆ น้อยๆ ทั้งด้านรูปลักษณ์และความสามารถของรถรุ่นใหม่ “เอาดี เอ 8” ยุคที่ 4 ในภาพยนตร์ซูเพอร์ฮีโรฟอร์มยักษ์อย่าง “ไอ้แมงมุม” ตอนล่าสุด “โฮมคัมมิง”ในภาพยนตร์นั้นเราได้เห็นรูปลักษณ์ภายนอกและภายในของ เอาดี เอ 8 ใหม่ในเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกได้ทันทีว่า มันยังคงมีบุคลิกภาพที่เป็นเอกลักษณ์อย่างที่คุณคาดหวังได้จากบแรนด์ เอาดี นั่นคือ มีความเฉียบคมของเส้นสาย และมีการออกแบบภายในที่ล้ำสมัย ด้วยการใช้จอภาพความละเอียดสูงเข้ามาแทนปุ่มกด และหน้าปัดแบบที่เราคุ้นเคย ระบบจอภาพแบบสัมผัสในรถยนต์ทั่วๆ ไปนั้น หรือแม้กระทั่งบนสมาร์ทโฟนก็ตาม การควบคุมโดยการกดไปบนจอภาพเรียบแข็ง ไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงความมั่นใจในการสั่งงาน เหมือนปุ่มกดแบบดั้งเดิมที่เราสามารถรู้สึกถึงการ “สั่งงาน” ที่ชัดเจน และมั่นใจได้ว่า มีการกระทำอย่างที่ต้องการไปแล้ว นักออกแบบของ เอาดี ตระหนักถึงความรู้สึกนี้ดี โดยระบบสัมผัสที่ เอาดี เอ 8 (รวมถึงรุ่นอื่นๆ ในอนาคต) จะมีระบบสนองกลับ (HAPTIC FEEDBACK) ที่นอกจากจะเป็นเสียง “คลิค” เบาๆ ที่คัดสรรมาแล้วว่า เหมือนกับเสียงกลไกอันเที่ยงตรงของกล้องถ่ายรูปจากเยอรมนี และ “สั่นสะเทือน” เบาๆ ให้เราได้รับรู้ว่ามีการตอบสนองการสั่งงานเรียบร้อยแล้ว ยิ่งกว่านั้น ยังรองรับรูปแบบการเขียนตัวอักษรด้วยการลากนิ้วมือบนจออีกด้วย ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบจอสัมผัสได้ไม่น้อย ในภาพยนตร์ยังได้แสดงให้เห็นความสามารถด้าน “การขับอัตโนมัติ” หรือ (AUTON-OMOUS DRIVING) สำหรับช่วงการจราจรคับคั่ง เอาดี เรียก “ระบบทแรฟฟิค แจม ไพลอท” (TRAFFIC JAM PILOT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับ “ไฮไลท์” ของรถรุ่นนี้ ที่คุณสามารถละมือจากพวงมาลัย และละสายตาออกจากการจราจรได้ราวกับเป็นเพียงผู้โดยสาร ปล่อยให้รถขับไปเองโดยอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในความสามารถมากมายของรถคันนี้ และจะเป็นการวางรากฐานของรถรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต ระบบ “ทแรฟฟิค แจม ไพลอท” เป็นเทคโนโลยี การขับอัตโนมัติในระดับ 3 (LEVEL 3 AUTONOMOUS) นั่นคือ ผู้ขับยังคงต้องนั่งหลังพวงมาลัย และสามารถปล่อยให้รถควบคุมอัตโนมัติได้ในบางเวลา (หากเป็นระดับ 4 จะกลับกัน คือ ส่วนใหญ่รถจะควบคุมแบบอัตโนมัติ และมนุษย์จะควบคุมในบางเวลา และระดับ 5 คือ มนุษย์ไม่ต้องควบคุมเลย เพียงบอกจุดหมาย รถจะเดินทางไปด้วยตนเอง) ซึ่งคุณค่าของระบบนี้ คือ การมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องจดจ่ออยู่กับการจราจรที่เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ น่าเบื่อหน่าย ระบบนี้ช่วยให้เราสามารถละสายตาจากการจราจรได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ “ผู้ขับ” สามารถทำกิจกรรมหลายๆ อย่างที่ “ผู้โดยสาร” ทำได้ อาทิ เชค อี-เมล เล่นเกม อ่านหนังสือ กุมมือแฟน เล่นกับลูก ตลอดไปจนถึงการแต่งหน้าก่อนไปทำงาน ได้สะดวกปลอดภัยกว่าเดิมมาก (ระบบถูกตั้งพโรแกรมให้ทำงานเมื่อมีคนนั่งในตำแหน่งผู้ขับเท่านั้น) ระบบของ เอาดี ทำงานด้วยการใช้เทคโน- โลยีเซนเซอร์หลายแบบทำงานประสานกันทั้ง เรดาร์ กล้อง และเลเซอร์ (ติดตั้งบริเวณชายกันชนหน้าด้านล่าง) ประมวลผลด้วยซอฟท์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ (ARTIFICIAL INTELLIGENCE) ทำงานบนคอมพิวเตอร์สมรรถนะระดับน้องๆ ที่ใช้ในเครื่องบินโดยสาร เพื่อตรวจสอบพื้นที่ด้านหน้าของรถว่ามีอุปสรรค หรือเส้นทางเป็นเช่นไร โดยสามารถอ่านสภาพพื้นถนนแบบ 3 มิติ และอ่านเส้นแบ่งการจราจรได้ รวมถึงคาดการณ์การจราจรด้านหน้าผ่านระบบแผนที่ดาวเทียม ซึ่งแน่นอนว่า หากเส้นแบ่งการจราจรไม่ชัดเจน จะไม่สามารถใช้ระบบนี้ได้ แต่ในปัจจุบันยังอนุญาตให้ทำงานได้ที่ความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. เท่านั้น ระบบนี้จะทำงานได้เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของมัน ปัจจุบันระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานในหลายประเทศ ช่วงแรกนี้มีเพียงประเทศเยอรมนีเท่านั้น ที่ยอมให้ใช้งานระบบนี้ในเขตเมือง เท่าที่เคยไปเมืองใหญ่ๆ ของเยอรมนี พบว่า คุณภาพของเส้นแบ่งจราจร และป้ายสัญญาณต่างๆ คมชัดมาก แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ก็ยังเทียบไม่ได้ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่อนุญาต ถ้าจะมีเทียบได้ก็แค่ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ฉะนั้นในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน การจะติดตั้งออพชันนี้ในรถบ้านเรา จึงยังเร็วเกินไป สิ่งที่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ สามารถทำให้เราผ่อนคลายได้อย่างแน่นอน คือ ระบบเข้าและออกจากช่องจอดด้วยตัวเอง ซึ่งเราได้เห็นระบบนี้ทำงานไปบ้างแล้วในรถยนต์ไฮเทครุ่นก่อนหน้านี้อย่าง บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 7

ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ