MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE IX แอบซ่อนรอวันค้นพบ
ฉบับนี้พบกับอีกหนึ่งมิติการออกแบบ จากมุมมองของ “คเลาส์ บุสเซ” (KLAUS BUSSE) รองประธานและหัวหน้าทีมออกแบบของ เอฟซีเอ (FCA) ที่ย่อมาจาก เฟียต ไครสเลอร์ ออโทโมบิลส์ (FIAT CHRYSLER AUTOMOBILES) ผู้รับผิดชอบงานออกแบบของบแรนด์ดังหลายๆ บแรนด์ อาทิ ไครสเลอร์ ดอดจ์ จีพ เฟียต และ มาเซราตี ที่มีสำนักงานออกแบบทั้งในสหรัฐอเมริกา และอิตาลีก่อนที่เขาจะเริ่มการบรรยาย สิ่งแรกที่ผมรับรู้ได้จากมุมมองของคนตัวสูงอย่างผม (186 ซม.) คือ “หมอนี่ตัวสูงมาก” บุสเซ เป็นหนุ่มใหญ่ชาวเยอรมันวัย 47 ปี สูงเกือบ 2 เมตร ทำให้ผมรู้สึกทันทีว่า รถที่เขาออกแบบต้องนั่งสบายแน่ๆ (และเป็นเรื่องจริงดังคาด) บุสเซ เริ่มต้นเล่าประสบการณ์ว่า ไม่เคยย้ายบริษัทเลย ตั้งแต่เริ่มทำงานในปี 1995 มีแต่บริษัทที่ย้ายเขาไปที่ต่างๆ ก่อนจะมาเป็นหัวหน้าทีมออกแบบของ เอฟซีเอ (ร่วมงานกันมามากกว่า 10 ปี) เขาเรียนจบด้านการออกแบบรถยนต์จากมหาวิทยาลัยโคเวนทรี ประเทศอังกฤษ และเริ่มชีวิตการทำงานกับ เมร์เซเดส-เบนซ์ ที่เยอรมนี ในปี 1995 ยุคที่องค์กรยังมีชื่อว่า “ไดมเลร์ ไครสเลอร์” (DAIMLER CHRYSLER) ในช่วงที่อยู่กับ “ไดมเลร์ ไครสเลอร์” ในเยอรมนี บริษัทได้ส่งเขาไปประจำการที่มิชิแกน เมืองหลวงแห่งการผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา โดยรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนกออกแบบภายในของรถกระบะ แรม (RAM TRUCK) ในปี 2007 หลังจากที่ บุสเซ ทำงานมากว่า 12 ปี องค์กร “ไดมเลร์ ไครสเลอร์” ก็แตกตัวออกจากกัน หรือว่ากันแบบบ้านๆ ก็คือ “หย่าขาด” ตัวเขาเลือกที่จะไม่หนีไปไหน และขออยู่สหรัฐอเมริกาต่อไป ส่วนหนึ่งเพราะเขา “ติดที่” เสียแล้ว เลยไม่คิดจะกลับไปเยอรมนีบ้านเกิด อีกส่วนหนึ่ง คือ เขาเห็นว่ามีอะไรใน ไครสเลอร์ ที่เขายังทำได้อีกมาก การอยู่ในครอบครัวที่มีการ “หย่าร้าง” หรืออยู่ในองค์กรที่เรียกง่ายๆ ว่า “เจ๊ง” ทำให้ บุสเซ เกิดความคิดบางอย่าง เป็นสิ่งที่เขาบอกว่า “ไม่เจอเองไม่รู้” และมันทำให้เขากลายเป็นคนที่ “ไม่กลัวที่จะคิดต่าง” อีกต่อไป บุสเซ ได้เริ่มสื่อสารความคิดของเขาไปยังผู้บริหารของ ไครสเลอร์ ว่าช่วงก่อนปี 2000 ไครสเลอร์ เคยเป็นหนึ่งในรถยนต์ที่มีการออกแบบภายใน “แย่ที่สุดในวงการ” ส่วนปัจจุบันนี้ถือได้ว่าเป็น “หนึ่งในรถที่ออกแบบภายในดีที่สุด” แต่ บุสเซ อยากที่จะทำมันให้เป็น “รถที่ออกแบบภายในได้ดีที่สุด” แน่นอนว่าผู้บริหารเชื่อมั่นในตัวเขาและไฟเขียวให้ดำเนินการ สิ่งแรกที่ บุสเซ ทำ คือ การกระตุ้นให้ทีมออกแบบของเขาไม่ละเลย เรื่องของ “สัมผัส” ทั้งสัมผัสทางร่างกาย และทัศนสัมผัส (VISUAL SENSE) ซึ่งรวมไปถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่บางครั้งคนไม่เหลียวแล หนึ่งในตัวอย่างนั้น คือ การศึกษา “รัศมีความโค้ง” ของวัตถุ เขาพบว่า “กรวดแม่น้ำ” มีรูปร่าง และสัมผัสที่จับแล้วให้ความรู้สึกสบายมือเป็นอย่างมาก บุสเส ได้เอาข้อมูลรัศมีความโค้งที่ได้มาใช้ในการออกแบบมือจับต่างๆ ภายในห้องโดยสาร อาทิ หัวเกียร์ เป็นต้น อันดับต่อไป คือ การใส่ “จิตวิญญาณ” (SOUL) ที่ไม่ผิดฝาผิดตัวลงไปในรถ จิตวิญญาณที่ว่านี้ คือ สิ่งที่สะท้อนตัวตนของรถคันนั้นอย่างแท้จริง อาทิ จีพ กแรนด์ เชอโรคี ที่ใช้ชิ้นส่วนที่มีการเคลือบโครเมียมหลายชิ้น โครเมียมเป็นวัสดุสามัญที่นำมาใช้ในรถยนต์มาช้านาน แต่ไม่ได้มีข้อบัญญัติว่า ต้องใช้โครเมียม “สีเงิน” เท่านั้นในการตกแต่งภายใน บุสเซ เริ่มตั้งคำถามนี้กับทีมออกแบบ และสิ่งที่ได้กลับมา คือ สีสันที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ผาหินโบราณ “กแรนด์ แคนยอน” อันเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณการผจญภัยของชาวอเมริกัน ซึ่งเขาสื่อสารออกมาเป็น โลหะสี “ทองแดง” ควบคู่ไปกับห้องโดยสารที่ใช้เฉดสีน้ำตาล ที่ให้ความรู้สึกถึงการผจญภัยของคาวบอยใน กแรนด์ เชอโรคี รุ่น ซัมมิท ปี 2014 แทนที่โครเมียมสีเงินกับหนังสีดำ ที่ใครๆ ก็ใช้กัน (สีสันแบบอื่นๆ ก็ยังมีให้เลือกอยู่) รถอีกคันที่เป็นที่กล่าวขวัญ คือ รถกระบะ แรม 1500 รุ่นพิเศษ “เทกซัส เรนเจอร์” ปี 2015 ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญของเหล่าผู้พิทักษ์กฎหมายแห่งแดนคาวบอยในปี 1823 บุสเส เลือกใช้กระบวนการกัดลายด้วยเลเซอร์ (LASER ETCHING) ลงบนวัสดุหนังแท้สีน้ำตาลเข้มที่ใช้ทำเบาะ (มีชื่อว่า น้ำตาลหุบผา หรือ CANYON BROWN) ให้มีลวดลายสไตล์รองเท้าบูทของคาวบอย นอกจากนั้นยังฝังเหรียญเงินเมกซิกันโบราณ (เหรียญ 5 เปโซ) เข้าไปที่แผงไม้ข้างประตู (เขาบอกว่าได้มาจากอีเบย์) ที่มีประวัติว่าในอดีตถูกใช้เป็นวัสดุในการปั๊มเป็นเหรียญตรารูปดาวของเหล่าผู้พิทักษ์กฎหมาย การใส่ใจรายละเอียดของรถแนวคิดคันนี้ เป็นสิ่งที่ฮือฮากันมากในกลุ่มผู้นิยมรถกระบะในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงมีการผลิตรถเพื่อจำหน่ายจริง เพียงแต่ไม่ใส่เหรียญโบราณหายากเข้าไป แต่มีการกัดลายหนังเต็มรูปแบบใน แรม ลองฮอร์น (RAM LONGHORN) อันดับต่อไป คือ การเพิ่มรายละเอียดที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ใช้ ที่เขาเรียกมันว่า “ไข่อีสเตอร์” ตามธรรมเนียมของประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นั้น วันอีสเตอร์ คือ การเฉลิมฉลองการฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่งของพระเยซู หลังจากถูกตรึงกางเขน (เป็นการรวมเข้ากับการฉลองฤดูใบไม้ผลิของคนยุโรปพื้นเมืองยุคโบราณด้วย) หนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาลเฉลิมฉลองนี้ คือ “ไข่” ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ โดยในสหรัฐอเมริกานั้นเป็นธรรมเนียมที่ผู้ใหญ่จะร่วมกันทาสีไข่ไก่ ไข่เป็ด ที่มีอยู่ให้สวยงาม แล้วเอาไปซ่อนตามที่ต่างๆ แล้วปล่อยให้เด็กๆ ออกไปหาว่าไข่ซ่อนอยู่ที่ใด ดังนั้น บุสเซ จึงนำคำว่า “ไข่อีสเตอร์” มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง “รายละเอียด” ซ่อนไว้ในรถแต่ละคัน เพื่อสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ที่พบเจอ (ในภาพยนตร์หลายเรื่องมีการซ่อนรายละเอียดสไตล์ไข่อีสเตอร์นี้เช่นกัน โดยกลุ่มแฟนคลับจะพยายามหาให้เจอว่า ผู้สร้างซ่อนรายละเอียดพิเศษพวกนี้ไว้ตรงไหนบ้าง บ่อยครั้งไข่อีสเตอร์ในภาพยนตร์จะเปิดเผยร่องรอยในอดีต หรือนำไปสู่เงื่อนงำของตอนต่อไปอีกด้วย) สำหรับ บุสเซ แล้ว “ไข่อีสเตอร์” หรือลูกเล่นซุกซนที่ซ่อนอยู่ภายในรถแต่ละคัน ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินเลือกสินค้าของ ไครสเลอร์ เพราะกว่าที่จะหาเจอ ต้องใช้เวลาไม่น้อย แต่เขาเชื่อว่า เมื่อผู้ใช้สินค้าค้นพบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่นักออกแบบบรรจงใส่เข้าไป พวกเขาจะต้องร้อง WOW อย่างแน่นอน สิ่งที่ บุสเซ ซ่อนไว้นั้น มีทั้ง ลวดลายของ “แผนที่ลายแทง” ใต้เบาะนั่งด้านหลังที่ต้องพับเบาะขึ้นถึงจะเจอ, ลาย “สนามแข่งรถ” ที่แอบซ่อนอยู่ในรถสมรรถนะสูงอย่าง ไวเพอร์ (VIPER) อันเป็นสนามที่ ไวเพอร์ เคยไปสร้างสถิติเอาไว้ (ส่วนจะเป็นสนามอะไรนั้น ขออุบไว้ก่อน) และสิ่งที่พิเศษมากๆ ของรถที่มีชื่อเป็นอสรพิษอย่าง ไวเพอร์ ก็คือ ภาพของหัวงูที่มีชื่อเรียกว่า “สไตรเคอร์” (STRIKER) ที่จะปรากฏขึ้นบนหน้าปัดของ ไวเพอร์ โดยจะเป็นไฟสีแดงสว่างขึ้นเมื่อรอบเครื่องขึ้นใกล้ถึงขีดแดง, รูปกราฟิคของ “จีพ วิลลีส์ (JEEP WILLYS) ปี 1941 ที่แอบซ่อนอยู่ในองค์ประกอบต่างๆ ของรถ จีพ รุ่นใหม่, ลวดลายของตึกระฟ้าในเมืองดีทรอยท์ ในพรมยางของ ไครสเลอร์ 200 (แน่นอนว่าพวกเขาลบภาพตึกของ เจเนอรัล มอเตอร์ส ออกไปแล้ว), ลายแมงมุมพิษที่กล่าวคำทักทายว่า “ว่าไงจ๊ะสาวน้อย” (CIAO BABY) บริเวณฝาถังน้ำมันของ จีพ เรเนเกด (JEEP RENEGADE) ตลอดไปจนถึงลูกเล่นอย่างจิ้งจกตัวย่อมๆ ใต้ก้านปัดน้ำฝนของ จีพ คอมพาสส์ (JEEP COMPASS) ปี 2017 ที่สาวๆ เจอเข้าอาจจะเป็นลมก็ได้ เป็นต้น ไอเดียสนุกสนานที่ บุสเซ ได้ริเริ่มนี้ ยังได้ถูกบแรนด์อื่นนำไปใช้ด้วย อาทิ ลวดลายของโรงงาน โฟลค์สวาเกน ในเมืองโวล์ฟส์บวร์ก (WOLFSBURG) บนแผงประตูของ กอลฟ์ จีทีไอ, ลายใยพร้อมแมงมุมยิ้มหวาน ด้านในของฝาพลาสติคภายในห้องโดยสารของ โวลโว เอกซ์ซี 90 ที่นอกจากจะมีอารมณ์ขันแล้ว ลายใยแมงมุมยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ชิ้นงานพลาสติคอีกด้วย และอีกที่ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีในบ้านเราหรือเปล่า คือ ใต้แผ่นยางเล็กๆ บริเวณคอนโซลกลางของ ฮอนดา ซีวิค รุ่นปัจจุบัน จะปรากฏเป็นลายกราฟิค 4 แบบแตกต่างกัน โดยกล่าวถึงวิวัฒนาการการแข่งขัน และเทคโนโลยีของ ฮอนดา ทั้งด้านอากาศยาน หุ่นยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถแข่งสูตร 1 ใครที่มี ฮอนดา ซีวิค ลองไปค้นดูนะครับ สรุปได้ว่า สิ่งที่ บุสเซ สร้างขึ้นได้ก่อให้เกิดกระแสขึ้นในหมู่นักออกแบบรถยนต์ทั่วโลก ในการที่จะสร้างความประหลาดใจ ความผูกพัน และรวมถึงเป็นการสื่อสารความปรารถนาดีจากนักออกแบบถึงผู้ใช้รถอีกด้วย นอกจากนั้น เขายังได้มอบแนวคิดที่น่าสนใจอีกว่า ในโลกยุคข้อมูลข่าวสารทุกวันนี้ บางครั้งเราอาจจะไม่ต้องการข้อมูลที่มีรายละเอียดแจ่มชัดมาก อาทิ เราสามารถรับรู้ช่วงเวลาของวันได้จากสีสันของแสงแดดที่เปลี่ยนไป ดังนั้น มันมีหลายวิธีในการที่จะ “เล่าเรื่อง” หรือ “มอบข้อมูล” ให้แก่ผู้ใช้ ขึ้นอยู่กับความชาญฉลาดของนักออกแบบเองที่จะเลือกรูปแบบใด ที่สำคัญที่สุด คือ อย่าไปเดินตามแฟชันมาก เพราะหากมันเป็นแฟชัน คุณจะเบื่อมันเร็วกว่าที่คิด งานออกแบบที่ดี คือ งานออกแบบที่มีความพอดี ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป นั่นเอง (เฉลย: สนามแข่ง 2 สนามที่ปรากฏอยู่ใน ไวเพอร์ คือ สนาม นืร์บวร์กริง โนร์ดชไลเฟ (NURBURGRING NORDSCHLEIFE) ในเยอรมนีที่ ไวเพอร์ เอซีอาร์ ทำสถิติความเร็วในการวิ่งรอบสนามไว้ที่ 7:12:13 นาที ในปี 2010 และสนาม ลากูนา เซกา (LAGUNA SEGA) ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งทำสถิติความเร็ว 1:33.944 นาที ในปี 2009)
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)