บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 ใหม่ รหัสตัวถัง G30 นับเป็นเจเนอเรชันที่ 7 พัฒนาโดยใช้พแลทฟอร์มร่วมกันกับรุ่นพี่อย่าง ซีรีส์ 7 มีความยาวเพิ่มขึ้น 36 มม. กว้างขึ้น 6 มม. สูงขึ้น 2 มม.และฐานล้อยาวขึ้น 7 มม. ทำให้ตัวรถดูใหญ่พอๆ กับ ซีรีส์ 7รุ่น 530 ไอ และ 530 ดี ประกอบในประเทศไทย วัสดุโครงสร้างเป็นอลูมิเนียม และเหล็กกล้าที่มีความทนทานสูง ทำให้มีน้ำหนักเบาลงกว่ารุ่น ก่อนถึง 100 กก. นอกจากนี้ตัวรถยังมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ สามารถกระจายน้ำหนักได้ดี ขุมพลังมีให้เลือกทั้งเบนซิน 2.0 ลิตร เทอร์โบ 248 แรงม้า 3.0 ลิตร เทอร์โบ 335 แรงม้า กับดีเซล 2.0 และ 3.0 ลิตร แถมมีเวอร์ชัน พลัก-อิน ไฮบริด ในรุ่น 530 อี ใช้เครื่องยนต์ เบนซิน 2.0 ลิตร เทอร์โบ กับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้ กำลังสูงสุด 249 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 42.8 กก.- ม. หรือ 420 นิวตัน-เมตร ส่วนคนที่ชอบความแรงก็มีรุ่น เอม 550 ไอ เอกซ์ดไรฟ ให้เลือกใช้ เครื่องยนต์เบนซิน วี 8 ความจุ 4.4 ลิตร ให้กำลังถึง 455 แรงม้า อัตรา เร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 4.0 วินาที ฟอร์มูลา : บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 รุ่นนี้ ประกอบในไทยแล้วนะครับ เป็นรุ่น 530 ไอ กับ 525 ดี อภิชาต : คันนี้เป็น บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 7 หรือเปล่าครับ ทำไมมันดูใหญ่จัง คนจะจำคาแรคเตอร์ ซีรีส์ 7 ได้มากกว่า ซีรีส์ 5 เพราะมันใหญ่และแบนกว่าอย่างชัดเจน ฟอร์มูลา : ซีรีส์ 5 ครับ ที่ดูคล้าย ซีรีส์ 7 คงเพราะเขาใช้พแลทฟอร์มร่วมกันกับ ซีรีส์ 7 โดยมีมิติตัวถังเพิ่มขึ้นทุกสัดส่วน โดยเฉพาะความยาวเพิ่มขึ้นถึง 36 มม. เลยทีเดียว ภัทรกิติ์ : บีเอมดับเบิลยู สมัยนี้มันสามารถหลอกตาเราได้ คาแรคเตอร์ของ บีเอมดับเบิลยู จะจับคู่กันพัฒนาแบบรุ่นต่อรุ่น รุ่นปัจจุบันจึงคันใหญ่ น้องๆ ซีรีส์ 7 ฟอร์มูลา : อาจารย์ว่าการออกแบบภายนอกดูคล้ายกับรุ่นก่อนไหมครับ มันดูสวยนะ แต่ทำไมผมกลับไม่รู้สึกตื่นเต้นเลยละครับ ภัทรกิติ์ : มันมีความเป็น บีเอมดับเบิลยู ร่วมสมัยมาก มากจนเกือบจะน่าเบื่อ ปัญหาของ บีเอมดับเบิลยู รุ่นนี้เปลี่ยนแปลงน้อยจนต้องดูเปรียบเทียบกับรุ่นเก่า กลายเป็นบแรนด์อนุรักษนิยม ไม่มีการเสนออะไรใหม่ๆ ภายในแทบเหมือนกันหมด ทั้ง ซีรีส์ 3, 5, 7, 8 ดูแล้วน่าเบื่อ แต่ถามว่ามีอะไรผิดไหม ก็ไม่ผิดหรอก แต่มันไม่เร้าใจ เข้าใจว่าพยายามอนุรักษนิยมอะไรบางอย่าง คงไม่ต้องการให้รถรุ่นเก่าตกรุ่นอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นข้อดีก็ได้ ผมว่ามันเป็นดาบสองคม ถ้าหากรุ่นต่อไปยังเป็นแบบนี้ จบเลย มันไม่สนุก อภิชาต : บีเอมดับเบิลยู รุ่นใหม่ๆ มองภายนอกเหมือนไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นเต้น แต่พอได้เข้าไปนั่งด้านในจะรู้สึกถึงความหรูหรา เออ...งานมันดีนะ ผิดกับรถค่ายอื่น ที่มองภายนอกดูแจ๋ว แต่เมื่อเข้าไปด้านใน กลับไม่ชอบ ผมว่าตรงนี้ บีเอมดับเบิลยู ทำได้ดี ฟอร์มูลา : ผมว่าเส้นสายภายนอกมันก็ดูมีอะไรใหม่อยู่นะ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อาจารย์เห็นว่าอย่างไรบ้าง อภิชาต : รุ่นนี้มีการดึงเส้นสายบริเวณกาบด้านข้างให้สูงขึ้น จนเส้นพีค หรือจุดสูงสุดมาอยู่ที่กระโปรงหน้าแทน ส่วนเส้นสายด้านท้ายดูเหมือนเดิมนะ เขาพยายามทำให้ภาพรวมเหมือนเดิม เพียงแต่ดึงเส้นสายให้เว้ามากขึ้น เพื่อความสวยงาม ภัทรกิติ์ : ไฟท้ายมันต่างกันจากรุ่นก่อนนะ แต่คนทั่วไปอาจดูไม่ออก เพราะดูไม่โฉ่งฉ่าง แต่เป็นงานละเอียด ไม่ต้องการให้เห็นแบบเปรี้ยง อภิชาต : เขาอาจจะมองว่ากลุ่มผู้บริโภคเขาเป็นผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีความละเมียดละไมในการใช้ชีวิต คนที่มีเงินซื้อรถ 3 ล้านกว่าบาทได้ การใช้ชีวิตเขาจะเป็นอีกระดับหนึ่งแล้ว ไม่ต้องการความหวือหวามากละ ภัทรกิติ์ : คุณต้องล้างรถด้วยมือคุณเอง คุณจะพบความงามที่ซ่อนอยู่ในสัดส่วนต่างๆ ที่ดีไซจ์เนอร์เขาสร้างไว้ ฟอร์มูลา : ฟังอาจารย์พูด มันก็ลงตัวทุกส่วนเลยนะครับ ดูเหมือนใจจริงแล้วอาจารย์ก็ชอบดีไซจ์นแบบนี้ อภิชาต : เป็นรถคุณภาพครับ งานดีไซจ์นทำมาดี งานออกแบบระดับบแรนด์พวกนี้ เมร์เซเดส-เบนซ์ บีเอมดับเบิลยู เอาดี ไม่ต่างกันครับ เพียงแต่คุณชอบรสชาติไหนมากกว่ากัน ไวน์แดง-ไวน์ขาว-บรั่นดี หรือจะวิสกี ภัทรกิติ์ : ไม่มีอะไรดีกว่ากันหรอกครับ รถในปัจจุบันแผงหน้าปัดเป็นดิจิทอลหมดแล้ว แต่ เอาดี บีเอมดับเบิลยู มีความยึดมั่นมาตลอด ต้องเป็นของจริงเท่านั้น (แบบแอนาลอก) ซึ่งผมก็ชอบนะ มันให้ความรู้สึกดีกว่า ฟอร์มูลา : ผมก็ชอบนะ แต่มันก็มีข้อจำกัดในการใช้งาน ถ้าเป็นแบบดิจิทอล หน้าจอสามารถเปลี่ยนได้หลายรูปแบบ เป็นเนวิเกเตอร์ก็ได้ ดูหนัง ฟังเพลง ได้หมด อีกอย่างตรงหน้าจอกลางคอนโซล เขาก็ยังยึดมั่นว่าจะต้องเป็นจอโดดๆ อาจารย์ว่ารุ่นต่อๆ ไปเขาปรับเปลี่ยนไหม ภัทรกิติ์ : จอแบบนี้อาจจะรู้สึกว่าเท่ในยุคแรกๆ และอีกอย่าง จอมันสู้แสงได้ ในขณะที่รุ่นเก่าเป็นจอหลุม ยังไงก็ไม่ยอมเปลี่ยน ทำไมไม่สเตพอัพขึ้นมา เพราะมันไม่จำเป็นต้องเป็นจอหลุมแล้ว อภิชาต : ประเด็นที่ผมมองรถยนต์ 3 บแรนด์ รุ่นทอพ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 7 เอาดี เอ 8 เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ มันคือ รถรุ่นทอพ เราจะเห็นรถเยอรมัน 3 บแรนด์นี้ จะปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีอะไรมักจะใส่ในรุ่นทอพ พอรุ่นรองจะไม่ใส่ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ป๋อง คือ หรี่ตามองแทบไม่เห็นความแตกต่าง พอเข้าไปด้านใน เห็นโทนสีภายในดูตั้งใจมาก ความพิถีพิถันในการทำโคลง คือ สิ่งที่นักออกแบบภายในพยายามทำให้สวยงาม แต่คาแรคเตอร์เขาก็ยังเหมือนเดิม ยังหนีไปไม่ไกล ภัทรกิติ์ : เรื่องของจอผมว่า บีเอมดับเบิลยู อยู่กึ่งๆ ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ข้อดีของปุ่มแอนาลอก คือ จะอยู่ที่เดิมตลอด (ปุ่มที่จับต้องได้) ไม่หายไปไหน และยังมีปุ่มไอดไรฟ ซึ่งคอนทโรลอยู่ที่เดิม และยังมีทัชสกรีนสัมผัสได้ ผมว่าเขาอาจสำรวจมาแล้วว่า ลูกค้าชอบอะไรอยู่ตรงไหน มันมีความพอดีของมันอยู่ อภิชาต : ผมมองว่า เขาพยายามจงใจทำให้ดูคล้ายกันนะครับ คือ เหมือนกันทุกรุ่น ดีไซจ์เนอร์ทำตามข้อกำหนดเหมือนกัน แต่ที่ทำเหมือนเดิมได้ เขาก็พยายามทำให้มีความแตกต่างกันได้ดี ฟอร์มูลา : สรุปแล้ว บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 รุ่นนี้ ชอบกันไหมครับ ภัทรกิติ์ : ความกลมกล่อมที่คุณต้องสัมผัส ถ้าใครถามให้เทียบกับยี่ห้ออื่น มันเทียบกันไม่ได้ ไวน์แดง-วิสกี-วอดกา ไม่เหมือนกันเลย แต่สำหรับคันนี้ผมชอบครับ อภิชาต : มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากกินอะไร สำหรับ บีเอมดับเบิลยู คันนี้ ผมก็ชอบครับ