วิถีตลาดรถยนต์
"มีทั้งบวกและลบ"
[table]
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนสิงหาคม 2017/2016
ตลาดโดยรวม,+6.8 % รถยนต์นั่ง,+5.4 % รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV),-1.0 % รถอเนกประสงค์ (MPV),+44.8 % กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ,+11.6 % กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ,+31.5 % อื่นๆ,- 21.6 %เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-สิงหาคม 2017/2016
ตลาดโดยรวม,+10.2 % รถยนต์นั่ง,+17.7 % รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV),-1.9 % รถอเนกประสงค์ (MPV),+23.1 % กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ,+6.7 % กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ,+25.9 % อื่นๆ,+1.6 % [/table] คีย์แมนเบอร์ 1 ของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สุดของเมืองสยาม บอกถึงทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศเดือนสิงหาคม 2560 ว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ส่งผลในเชิงบวกต่อภาพรวมของการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูงขึ้น รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จากค่ายรถต่างๆ ตลอดจนการจัดงาน BIG MOTOR SALES 2017 ในเดือนสิงหาคม ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตของตลาดรถยนต์ ซึ่งก็เป็นไปตามการคาดการณ์โดยเฉพาะการจัดงานมหกรรมยานยนต์เพื่อขายแห่งชาติ ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมงานต่างจัดพโรโมชันพิเศษชนิดที่จัดหนักจัดเต็ม ให้กับผู้สนใจจองรถภายในงาน หรือในระยะเวลาการจัดงาน ทำให้มีกระแสเงินสะพัดกว่า 30,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาการจัดงาน เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในเดือนสิงหาคม ไหลลื่นต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกแต่ก็มีปัจจัยลบด้วยเช่นกัน นั่นคือ การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมมาจนถึงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งทำให้หลายพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เกิดความเสียหายอย่างหนัก ทำให้กำลังซื้อจากผู้ที่ได้รับผลกระทบในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวต้องหดหายไป บางคนอาจกำลังจะตัดสินใจออกรถคันใหม่ก็จำเป็นต้องพับแผนนี้เอาไว้ก่อน เอาเงินเอาทองที่มีอยู่ไปใช้ในการฟื้นฟูซ่อมแซมข้าวของ บ้านเรือน สถานที่ทำมาหากินเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัวที่เสียหายจากน้ำท่วมกันก่อน ทั้งนี้เฉพาะในส่วนรถยนต์ที่เสียหายจากเหตุการณ์นี้ เป็นอีกครั้งที่ได้เห็นน้ำจิตน้ำใจจากบริษัทรถยนต์ที่ไม่ทอดทิ้งลูกค้า ต่างช่วยกันออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยฟื้นฟูซ่อมแซมรถยนต์ของลูกค้าที่เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมนี้กันอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งถ้าไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้แล้วตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศเดือนสิงหาคม 2560 อาจขยับสูงขึ้นไปกว่านี้อีก โดยตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ 67,965 คัน เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนสิงหาคมปี 2559 ถึง 6.8 % และสูงกว่าตัวเลขยอดจำหน่ายของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 4.3 % ซึ่งเมื่อนำตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ของเดือนสิงหาคมนี้ไปรวมกับยอดสะสม 7 เดือนที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์สะสมของปี 2560 เมื่อผ่านเดือนสิงหาคมไปอยู่ที่ 543,123 คัน เพิ่มขึ้นกว่าในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2559 ถึง 10.2 % สำหรับรถยนต์ที่ทำยอดจำหน่ายได้สูงสุดในเดือนสิงหาคมนี้ ประกอบด้วย อันดับ 1 โตโยตา จำหน่ายรถยนต์ทุกรุ่นรวมกันได้ 16,009 คัน คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 23.6 % ของยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด อันดับ 2 อีซูซุ จำหน่ายได้ 12,784 คัน เท่ากับ 18.8 % ของยอดจำหน่ายทั้งตลาด อันดับ 3 ฮอนดา จำหน่ายได้ 10,712 คัน สัดส่วนการตลาดเท่ากับ 15.8 % อันดับ 4 รถยนต์ในสังกัด มิตซูบิชิ จำหน่ายได้ 5,503 คัน เท่ากับ 8.1 % ของยอดจำหน่ายทั้งตลาด และอันดับที่ 5 เข้ามาอยู่ในทอพไฟว์เป็นครั้งแรก สำหรับรถยนต์ ฟอร์ด โดยจำหน่ายได้รวม 4,822 คัน เท่ากับ 7.1 % ของยอดจำหน่ายทั้งตลาด ส่วนเจ้าของอันดับที่ 5 เดิม นิสสัน หล่นไปอยู่ในอันดับที่ 6 ทำยอดจำหน่ายได้น้อยกว่า ฟอร์ด เพียง 7 คันเท่านั้น ผ่านไป 8 เดือน รถยนต์ที่จำหน่ายได้แล้วมากสุดอันดับ 1 แน่นอนว่ายังคงเป็น โตโยตา จำหน่ายไปแล้วรวมทั้งสิ้น 144,665 คัน เท่ากับ 26.6 % ของยอดจำหน่ายรวมทั้งหมด รองลงมาเป็น อีซูซุ จำหน่ายไปแล้วรวม 102,020 คัน เท่ากับ 18.8 % ของตัวเลขรวมทั้งหมด อันดับ 3 ฮอนดา จำหน่ายได้แล้วทั้งสิ้น 82,641 คัน ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 15.2 % อันดับที่ 4 มิตซูบิชิ จำหน่ายแล้วรวม 43,228 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 8.0 % และอันดับที่ 5 ยังคงเป็น นิสสัน จำหน่ายแล้วรวม 37,421 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.9 % สำหรับรถพิคอัพขับเคลื่อน 2 ล้อ ถ้าหากไม่มีรายการพลิกลอคครั้งมโหฬารเกิดขึ้นแล้วละก็ ปี 2560 นี้น่าจะเป็นปีแห่งความสำเร็จของ อีซูซุ อย่างแน่นอนที่สุด เพราะนำหน้าในตำแหน่งแชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุด ทั้งในประเภทรายเดือน และยอดสะสมมาอย่างต่อเนื่อง จนช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 4 เดือน ยากที่ โตโยตา จะตามทันแล้ว โดยเดือนสิงหาคมนี้ อีซูซุ จำหน่ายพิคอัพประเภทนี้ได้เพิ่มขึ้นอีก 10,136 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเท่ากับ 37.7 % ขณะที่ โตโยตา ทำยอดจำหน่ายได้ 7,083 คัน ส่วนแบ่งการตลาดเท่ากับ 26.4 % อันดับ 3-5 ประกอบด้วย ฟอร์ด 3,292 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 12.3 % มิตซูบิชิ 2,344 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 8.7 % และนิสสัน 1,610 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.0 % ซึ่งเมื่อนำตัวเลขยอดจำหน่ายของทั้ง 5 ยี่ห้อนี้ไปรวมกับยอดจำหน่ายของรถพิคอัพรายอื่นๆ แล้วได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายพิคอัพขับเคลื่อน 2 ล้อ เดือนสิงหาคมทั้งหมดอยู่ที่ 26,866 คัน เพิ่มขึ้น 11.6 % เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายเดือนสิงหาคมปี 2559 ส่วนยอดสะสม 8 เดือนปี 2560 อยู่ที่ 210,657 คัน เพิ่มขึ้น 6.7 % ยอดสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก อีซูซุ 80,452 คัน ส่วนแบ่งตลาด 38.2 % โตโยตา 58,448 คัน ส่วนแบ่งตลาด 27.7 % ฟอร์ด 24,001 คัน ส่วนแบ่งตลาด 11.4 % มิตซูบิชิ 18,108 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8.6 % ในส่วนของพิคอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ เดือนสิงหาคมนี้มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 2,689 คัน เพิ่มขึ้นจากสิงหาคมปีก่อนหน้านี้ถึง 31.5 % โดย โตโยตา เข้าวินมาด้วยยอดจำหน่าย 1,249 คัน เท่ากับ 46.4 % ของยอดรวมทั้งหมด ตามด้วย อีซูซุ 642 คันส่วนแบ่งตลาด 23.9 % ฟอร์ด 477 คัน ส่วนแบ่งตลาด 17.7 % มิตซูบิชิ 239 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8.9 % และนิสสัน 41 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.5 % รวม 8 เดือน ยอดสะสมตลาดนี้มีแล้ว 21,301 คัน เพิ่มขึ้น 25.9 % ว่าที่แชมพ์ โตโยตา จำหน่ายแล้ว 10,939 คัน ส่วนแบ่งตลาด 51.4 % ตามด้วย อีซูซุ 4,469 คัน ส่วนแบ่งตลาด 21.0 % ฟอร์ด 3,315 คัน ส่วนแบ่งตลาด 15.6 % มิตซูบิชิ 1,805 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8.5 % และนิสสัน 478 คัน ส่วนแบ่งตลาด 2.2 % รถเอสยูวี เดือนสิงหาคมมียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 8,081 คัน ลดลง 1.0 % เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายที่เคยเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปีก่อนหน้านี้ ฮอนดา ยังรั้งตำแหน่งยอดจำหน่ายเอสยูวีสูงสุดในเดือนนี้ โดยจำหน่ายได้ 2,366 คัน คิดเป็น 29.3 % ของยอดจำหน่ายรวมทั้งหมด โตโยตา มาเป็นอันดับ 2 ด้วยยอด 1,502 คัน สัดส่วนที่ได้ 18.6 % อันดับ 3 ฟอร์ด 1,010 คัน ส่วนแบ่งตลาด 12.5 % อีซูซุ ทำยอดจำหน่ายได้ 1,007 คัน น้อยกว่า ฟอร์ด เพียง 3 คัน รั้งอันดับ 4 ส่วนแบ่งตลาด 12.5 % และอันดับ 5 มิตซูบิชิ จำหน่ายได้ 894 คัน เท่ากับ 11.1 % รวม 8 เดือน จำหน่ายได้ 65,762 คัน ลดลง 1.9 % ยอดสะสมสูงสุด ฮอนดา 17,057 คัน เท่ากับ 25.9 % ของยอดรวมทั้งหมด รองลงมาเป็น โตโยตา 13,069 คัน เท่ากับ 19.9 % มิตซูบิชิ 9,161 คัน เท่ากับ 13.9 % อีซูซุ 8,245 คัน เท่ากับ 12.5 % และฟอร์ด 6,812 คัน เท่ากับ 10.4 % รถเอมพีวี มียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 1,630 คัน สำหรับเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นถึง 44.8 % เมื่อวัดกับเดือนสิงหาคมปี 2559 แชมพ์ประจำเดือนยังคงเป็น โตโยตา 780 คัน ส่วนแบ่งตลาด 47.9 % ฮอนดา อยู่ในอันดับ 2 ยอดจำหน่าย 685 คัน ส่วนแบ่งตลาด 42.0 % เกีย อยู่อันดับ 3 ยอดจำหน่าย 90 คัน ส่วนแบ่งตลาด 5.5 % ซูซูกิ อันดับ 4 ยอดจำหน่าย 40 คัน ส่วนแบ่งตลาด 2.5 % และฮันเด อยู่อันดับ 5 ยอดจำหน่าย 26 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.6 % 8 เดือนผ่านไปมียอดจำหน่ายสะสมอยู่ที่ 13,559 คัน เพิ่มขึ้น 23.1 % โตโยตา แชมพ์ค่อนข้างแน่นอน จำหน่ายไปแล้ว 6,589 คัน ส่วนแบ่งตลาด 48.6 % ว่าที่รองแชมพ์ ฮอนดา จำหน่ายแล้ว 5,657 คัน ส่วนแบ่งตลาด 41.7 % ซูซูกิ ยังต้องลุ้นในอันดับที่ 3 จำหน่ายแล้ว 533 คัน ส่วนแบ่งตลาด 3.9 % คู่ชิงอันดับ 3 เกีย จำหน่ายแล้ว 519 คัน ส่วนแบ่งตลาด 3.8 % และอันดับที่ 5 ฮันเด 184 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.4 % รถยนต์ประเภทอื่นๆ ยกเว้นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เดือนสิงหาคม 2560 ยอดจำหน่าย 3,018 คัน ลดลง 21.6 % รวม 8 เดือนมียอดสะสมอยู่ที่ 25,955 คัน เพิ่มขึ้น 1.6 %ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์