มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์โตเกียว 2017
เป็นอีกครั้งหนึ่งและครั้งที่เท่าไรก็จำไม่ได้แล้ว ที่ทีมงานของ "สื่อสากล" มีโอกาสเดินทางไปเยือนแดนซากุระ โดยมีงาน TOKYO MOTOR SHOW หรือ มหกรรมยานยนต์โตเกียว เป็นจุดหมายปลายทาง งานแสดงรถยนต์รายการสำคัญรายการนี้ จัดกันเป็นประจำทุกๆ 2 ปี ในปีคริสตศักราชที่ลงท้ายด้วยเลขคี่ สถานที่จัดงานครั้งนี้ซึ่งเป็นงานครั้งที่ 45 เป็นที่เดิม คือ "โตเกียว บิกไซจ์ท์"(TOKYO BIG SIGHT) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นที่จัดงานมาแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 42 ในปี 2011 จนถึงครั้งที่ 44 ในปี 2015"โตเกียว บิกไซจ์ท์" ว่ากันว่าเป็นศูนย์การประชุมและนิทรรศการขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า TOKYO INTERNATIONAL EXHIBITION CENTER แต่ผู้คนนิยมเรียกขานกันในชื่อ "โตเกียว บิกไซจ์ท์"มากกว่า สถานที่ตั้งศูนย์นิทรรศการแห่งนี้อยู่บนพื้นที่ดินถมริมอ่าวโตเกียว เปิดใช้งานเมื่อเดือนเมษายน 1996 ปัจจุบันมีพื้นที่จัดงานกว้างขวางกว่า 110,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ภายในอาคาร 95,420 ตารางเมตร พื้นที่นอกอาคาร 9,000 ตารางเมตร และพื้นที่บนชั้นหลังคา 6,000 ตารางเมตร มีห้องประชุม 22 ห้อง รับผู้ร่วมประชุมได้ 1,000 คน การเดินทางจากย่านต่างๆ ของกรุงโตเกียวไปยัง "โตเกียว บิกไซจ์ท์" ทำได้สะดวกทั้งโดยรถยนต์ รถไฟ และเรือ ตัวอย่างเช่นเดินทางจากสนามบินนาริตะโดยรถบัสจะใช้เวลาประมาณ 60 นาที แต่ถ้าเป็นสนามบินฮาเนดะจะใช้เพียง 25 นาทีเท่านั้นเอง ทีมงานของเราพักที่โรงแรมในย่านชินากาวา (SHINAGAWA) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว นั่งแทกซีไปที่งานใช้เวลาเพียง 20 นาที แต่ต้องจ่ายค่ารถมากกว่า 4,000 เยน หรือประมาณ 1,200 บาทไทยนั่นเทียว มหกรรมยานยนต์โตเกียว ครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลายาวนานถึง 12 วัน คือ ระหว่างวันพุธที่ 25 ตุลาคม จนถึงวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2017 โดยที่ 2 วันแรกจัดเป็น PRESS DAYS หรือวันสื่อมวลชน วันศุกร์ที่ 27 เป็นวันเปิดงานอย่างเป็นทางการ อีก 9 วันที่เหลือเป็น GENERAL PUBLIC DAYS ซึ่งเปิดให้เข้าชมโดยทั่วไป ระหว่างเวลา 10.00-20.00 น. กรณีเป็นวันจันทร์-ศุกร์ และระหว่างเวลา 10.00-18.00 น. กรณีเป็นวันอาทิตย์ ค่าผ่านประตูสำหรับผู้ใหญ่ คือ 1,800 เยน หรือประมาณ 540 บาทไทย และลดเหลือ 900 เยน หากเข้างานหลังเวลา 16.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์ นักเรียนระดับซีเนียร์ไฮสกูล เสียค่าผ่านประตู 600 เยน หรือประมาณ 180 บาทไทย ส่วนระดับจูเนียร์ไฮสกูลไม่เก็บค่าผ่านประตู สัมผัสมหกรรมยานยนต์รายการนี้มายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ จนเกิดความรู้สึกที่ไม่ได้เสแสร้งเลยว่า หากพลาดงานนี้ก็คงเหมือนกับการพลาดสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งในชีวิต ที่แย่หน่อยก็คือ งาน 3-4 ครั้งหลังนี่ดูเหมือนว่ามหกรรมยานยนต์โตเกียวจะคลายมนต์ขลังไปมาก ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ จำนวนผู้ชมงานที่ลดลงทุกปีจนน่าใจหาย งานนี้เคยสร้างสถิติไว้ในปี 1991 ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 29 ว่ามีผู้เข้าชมงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 2,018,500 คน 2 ทศวรรษต่อมา คือ เมื่อย้ายมาจัดงานที่ "โตเกียว บิกไซจ์ท์" ในปี 2011 จำนวนผู้ชม คือ 842,600 คน และล่าสุด คือ งานครั้งที่แล้วเมื่อปี 2015 ตัวเลขก็หดเหลือเพียง 812,500 คนเท่านั้นเอง ที่ย่ำแย่พอกันกับจำนวนผู้ชมงานก็คือ จำนวนผู้ร่วมงาน ตามตัวเลขของผู้จัดงาน มหกรรมยานยนต์โตเกียว ครั้งที่ 45 นี้ ผู้ร่วมงาน คือ ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์รวม 153 ราย โดยที่ 13 รายในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตต่างประเทศ เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดก็พบว่า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ส่งผลงานมาแสดงในงานนี้ล้วนเป็นบริษัทรถยนต์ยุโรปทั้งนั้น คือ เอาดี (AUDI) บีเอมดับเบิลยู (BMW) ซีตรอง (CITROEN) เดแอส (DS) เมร์เซเดส-เบนซ์ (MERCEDES-BENZ) เปอโฌต์ (PEUGEOT) โพร์เช (PORSCHE) สมาร์ท (SMART) เรอโนลต์ (RENAULT) โฟล์คสวาเกน (VOLKSWAGEN) และโวลโว (VOLVO) ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศร่วมทวีปอย่างเกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมไม่ค้อมและไม่กระดากปากด้วยก็คือ รถที่ปรากฏตัวในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว ครั้งล่าสุดนี้ ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์มีจำนวนยี่ห้อน้อยกว่าที่พบเห็นได้ในงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 34” (THAILAND INTERNATIONAL MOTOR EXPO 2017) ของประเทศไทย
TOYOTA CONCEPT I RIDE
เปิดรายงานด้วย โตโยตา คอนเซพท์ ไอ ไรด์ (TOYOTA CONCEPT I RIDE) หนึ่งในบรรดารถแนวคิดรหัส I รวม 3 คัน 3 รูปแบบ ที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นนำออกอวดตัวในงานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งประตูปีกนกขนาดจิ๋ว ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำยุคล้ำสมัยซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า ARTIFICIAL INTELLIGENCE (ปัญญาประดิษฐ์ หรือปัญญาเทียม) จับอากัปกิริยาและความรู้สึกของผู้ขับ เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่างคนกับรถยนต์ ตัวถังขนาด 2.500x1.300x1.500 ม. ที่ตั้งใจออกแบบให้นั่งกันเพียง 2 คน มีห้องโดยสารที่เอื้ออำนวยให้วิ่งไปได้อย่างปลอดภัยและมั่นคงแม้ว่าผู้ขับเป็นคนพิการที่ต้องนั่งบนรถเข็น ติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งที่เลื่อนหน้าเลื่อนหลังได้สะดวกด้วยระบบไฟฟ้า ไม่มีให้เห็นทั้งพวงมาลัยและคันหรือปุ่มบังคับใดๆ มีก็แต่เพียงอุปกรณ์ควบคุมที่เรียกขานกันภาษาอังกฤษว่า JOYSTICK เป็นรถพลังไฟฟ้าที่ชาร์จไฟแบทเตอรีแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกล 100-150 กม.TOYOTA FINE COMFORT RIDE
อีกคันหนึ่งในบรรดารถแนวคิดนับ 10 คันที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นนำออกแสดงในงานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ โตโยตา ไฟน์ คอมฟอร์ท ไรด์ (TOYOTA FINE COMFORT RIDE) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซาลูนระดับพรีเมียม ในตัวถังขนาด4.830x1.950x1.650 ม. ออกแบบให้นั่งได้รวม 6 คน และห้องโดยสารมีลักษณะ "ป่องตรงกลาง" อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า A DIAMOND-SHAPED CABIN เป็นต้นแบบของรถปลอดไอพิษที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดภายในปี 2020 โดยติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ได้พลังไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงแบบเดียวกับที่เคยเห็นกันมาแล้วในรถ โตโยตา มิราอิ (TOYOTA MIRAI) แต่พัฒนาล้ำหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง และทีมงานของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นกล่าวกับสื่อมวลชนอย่างมั่นใจว่า จะมีขนาดเล็กลง เบาลง และต้นทุนการผลิตต่ำลง เมื่อเทียบกับระบบที่ใช้อยู่ในขณะนี้ และบอกด้วยว่าเมื่อเติมไฮโดรเจนเต็มถังซึ่งจุได้หนัก 6 กก. รถจะวิ่งได้ไกลถึง 1,000 กม.TOYOTA GR HV SPORTS CONCEPT
หน้าตาเหมือนรถที่กำลังจะออกโชว์รูมแต่ที่จริงยังเป็นรถแนวคิด คือ รถติดป้ายชื่อ โตโยตา จีอาร์ เอชวี สปอร์ทส์ คอนเซพท์ (TOYOTA GR HV SPORTS CONCEPT) หนึ่งในบรรดารถสายเลือดซามูไรนับ 10 คันที่อวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังสูงแต่ไม่เปลืองเชื้อเพลิง ที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นบอกว่าก่อเกิดแนวทางใหม่ของการขับรถสุดแสนเพลิดเพลิน อันเป็นผลลัพธ์จากการประสมประสานเข้าด้วยกัน ระหว่างความระทึกใจของการขับขี่รถสปอร์ทและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของอีโคคาร์ ตัวถังเปิดประทุนขนาด 4.395x1.805x1.280 ม. ที่ตั้งใจออกแบบให้นั่งเพียง 2 คน ติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ THS-R ที่สตาร์ทเครื่องโดยการกดปุ่ม และส่งกำลังจากเครื่องยนต์วางหน้าสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ที่สามารถเปลี่ยนการทำงานเป็นเกียร์ธรรมดาอย่างฉับพลันหลังการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียวTOYOTA CROWN CONCEPT
โตโยตา คราวน์ คอนเซพท์ (TOYOTA CROWN CONCEPT) ซึ่งปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ ก็เป็นรถแนวคิดอีกคันหนึ่งที่หน้าตาและรูปทรงองค์เอวดูไม่ต่างอะไรกันเลยกับรถที่กำลังจะออกโชว์รูม เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซีดานระดับหรู และเป็นต้นแบบของรถตลาดรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 15) ซึ่งมีกำหนดออกตลาดในฤดูร้อนของปี 2018 พร้อมกับป้ายชื่อ โตโยตา คราวน์ (TOYOTA CROWN) ตัวถังขนาด 4.910x1.800x1.455 ม. ที่ตั้งใจให้นั่งได้รวม 5 คน เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบที่เริ่มต้นจากกระดาษเปล่า จุดเด่นสะดุดตาและใจเมื่อมองจากด้านหน้า คือ แผงกระจังหน้ารูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่โตมโหฬาร และน่าจะฟันธงได้ว่าโตกว่ารถทุกรุ่นก่อนหน้านี้ เป็นตัวถังที่ออกแบบโดยใช้พแลทฟอร์มซึ่งมีที่มาจากหลักสถาปัตยกรรมที่ค่ายนี้เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อใช้กับรถที่ผลิตขายทั่วโลก และตั้งชื่อว่า TNGA (TOYOTA NEW GLOBAL ARCHITECTURE)TOYOTA TJ CRUISER
ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ รถติดป้ายชื่อ โตโยตา ทีเจ ครูเซอร์ (TOYOTA TJ CRUISER) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถข้ามพันธุ์อันเป็นผลลัพธ์ของการหลอมรวมคุณลักษณะของรถ 2 ประเภทเข้าด้วยกัน คือ ความกว้างขวางและจุข้าวของได้มากของรถตู้คาร์โกกับความทรงพลังของรถ เอสยูวี รหัส T มาจาก TOOLBOX ส่วน J มาจาก JOY ตัวถังขนาด 4.300x1.775x1.620 ม. ออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน มีห้องโดยสารรูปสี่เหลี่ยมเหมือนรถตู้ทั่วไปๆ แต่เก้าอี้ผู้โดยสารทุกตัวเป็นเก้าอี้ที่พับราบได้ ห้องโดยสารของรถแนวคิดคันนี้จึงใช้ประโยชน์ได้ดี แม้เมื่อจำเป็นต้องบรรทุกสิ่งของที่ยาวถึง 3 เมตร อย่างรถจักรยาน หรือกระดานโต้คลื่น (SURFBOARD) ที่เหนือกว่ารถตู้ทั่วๆ ไปก็คือ ทั้งฝากระโปรงหน้าหลังคาและกันชนหน้าหลัง ล้วนทำจากวัสดุเคลือบพิเศษที่ป้องกันรอยขีดข่วนต่างๆ ได้อย่างดี เป็นรถขับล้อหน้า หรือขับทุกล้อ ด้วยระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กTOYOTA CENTURY
ยังมีฐานะก้ำกึ่งระหว่างรถแนวคิดกับรถตลาด คือ โตโยตา เซนทูรี (TOYOTA CENTURY) ซึ่งปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ พร้อมกับป้ายประกาศว่าเป็น พโรโทไทพ์ (PROTOTYPE) หรือต้นแบบของรถตลาดชื่อเดียวกันที่มีกำหนดออกโชว์รูมในเมืองยุ่นตอนกลางปี 2018 ตัวถังขนาด 5.335x1.930x1.505 ม. ซึ่งมีช่วงฐานล้อยาว 3.090 ม. ยังรักษาบุคลิกของรถ 2 รุ่นก่อนซึ่งเป็นรถประกอบด้วยมือไว้อย่างครบครัน แต่หน้าตาและรูปทรงองค์เอวโดยรวมดูทันสมัยขึ้นมาก ที่ทันสมัยเช่นกันและไม่เคยพบเคยเห็นกันมาก่อนในรถสุดหรูอนุกรมนี้ คือ ระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 8 สูบ 5.0 ลิตร (รหัส 2UR-FSE) ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าและแบทเตอรีนิคเคิล ไฮดไรด์ (NICKEL HYDRIDE) เป็นระบบขับประหยัดที่ค่ายนี้บอกว่ามีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่ารถระดับเดียวกันทุกรุ่นทุกแบบTOYOTA SORA
รถที่ขสมก. ของเราน่าจะศึกษาหารายละเอียดดูบ้าง คือ รถบัสติดป้ายชื่อ โตโยตา โซรา (TOYOTA SORA) ซึ่งทีมงานของเรามีโอกาสสัมผัสเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถบัสโดยสารสุดไฮเทค และเป็นต้นแบบของรถตลาดที่ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดภายในปี 2018 รวมทั้งตั้งเป้าหมายไว้ด้วยว่า จะมีมากกว่า 100 คันที่วิ่งใช้งานในเขตมหานครโตเกียว ก่อนงานโอลิมปิคครั้งหน้า ซึ่งจะมีขึ้นที่เมืองนี้ในปี 2020 ตัวถังขนาด 10.525x2.490x3.340 ม. จุผู้โดยสารได้รวม 78 คน (นั่ง 22 คน/ยืน 56 คน) ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ สไตล์เดียวกับที่พบได้รถเก๋ง โตโยตา มิราอิ (TOYOTA MIRAI) ซึ่งมีขายอยู่แล้วในขณะนี้ แต่เป็นระบบที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก คือ ให้พลังไฟฟ้าสูงสุด 226 กิโลวัตต์/310 แรงม้า มีถังบรรจุแกสไฮโดรเจน 10 ถัง ความจุรวม 600 ลิตร และในกรณีฉุกเฉินก็ยังมีระบบป้อนพลังไฟฟ้าจากภายนอกซึ่งให้กำลังสูงสุด 9 กิโลวัตต์ ใช้ทดแทนระบบหลักได้TOYOTA JPN TAXI
ผลงานชิ้นสุดท้ายของค่ายยักษ์ใหญ่ที่เลือกมาให้ชื่นชมกันเป็นรถตลาดที่เพิ่งเริ่มการจำหน่ายพร้อมกับงานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งนี้ ป้ายชื่อ โตโยตา เจแปน แทกซี (TOYOTA JPN TAXI) ที่ติดอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังบ่งบอกให้เห็นได้อย่างแจ่มแจ้งและชัดเจนในเจตนารมณ์ของการออกแบบ/พัฒนารถรุ่นนี้ ว่าเพื่อใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะไม่ใช่ใช้งานส่วนตัว มีรถให้เลือก 2 โมเดล คือ TOYOTA JPN TAXI NAGOMI ซึ่งมีค่าตัว 3.278 ล้านเยน หรือประมาณ 0.983 ล้านบาทไทย กับ TOYOTA JPN TAXI TAKUMI ซึ่งแพงกว่ากันนิดหน่อย คือ 3.499 ล้านเยน หรือประมาณ 1.050 ล้านบาทไทย ทั้ง 2 โมเดลเป็นรถขับล้อหน้าแบบไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรี ซึ่งใช้เครื่องยนต์ความจุ 1.5 ลิตรทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า และใช้แกสแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง มีอัตราสิ้นเปลืองที่น่าพอใจมาก คือ 19.4 กม./ลิตร เป็นรถซึ่งตั้งเป้าการขายไว้ที่ระดับ 1,000 คัน/เดือนHONDA SPORTS EV CONCEPT
หลังจากนำรถจิ๋วติดป้ายชื่อ ฮอนดา เออร์เบิน อีวี คอนเซพท์ (HONDA URBAN EV CONCEPT) ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท ในเยอรมนีเมื่อกลางเดือนกันยายนที่เพิ่งผ่านพ้นไป ในงานนี้ยักษ์รองเมืองยุ่นก็เติมเต็มให้แก่โครงการผลิตรถพลังไฟฟ้าหลายๆ แบบโดยใช้พแลทฟอร์มชุดเดียวกัน โดยการนำรถ ฮอนดา สปอร์ทส์ อีวี คอนเซพท์ (HONDA SPORTS EV CONCEPT) ออกอวดตัวให้ผู้คนได้ชื่นชมกันเป็นลำดับที่ 2 และก็เช่นเดียวกันกับรถพลังไฟฟ้าคันแรก การปรากฏตัวของรถคันใหม่นี้ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ที่ผู้คนอยากจะรู้ เช่นข้อมูลของระบบขับ ความเร็วสูงสุด ระยะการเดินทางเมื่อชาร์จไฟแต่ละครั้ง ฯลฯ บอกเพียงสั้นๆ ว่า เป็นรถแนวคิดที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคนกับรถยนต์ โดยการผนวกรวมสมรรถนะของรถพลังไฟฟ้าและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์/ปัญญาเทียม (ARTIFICIAL INTELLIGENCE) ไว้ในตัวถังขนาดกะทัดรัดHONDA CLARITY PHEV
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของยักษ์รองเมืองยุ่นที่เลือกมาบรรจุไว้ในรายงานนี้ คือ ฮอนดา คลาริที พีเอชอีวี (HONDA CLARITY PHEV) เป็นรถตลาดที่ทีมงานของเราเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงเสียงไม่จริงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ มีกำหนดออกโชว์รูมในเมืองยุ่นเมื่อเริ่มฤดูร้อนของปี 2018 ไม่ใช่รถใหม่ที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนาต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถพลังไฟฟ้า ฮอนดา คลาริที ฟิวล์ เซลล์ (HONDA CLARITY FUEL CELL) ที่เริ่มจำหน่ายในเมืองยุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2016 โดยเปลี่ยนระบบขับเป็นระบบไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรี ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซินทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าและแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) สามารถวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกลกว่า 100 กม. ตัวถังที่นั่งได้รวม 5 คน และมีห้องเก็บของท้ายรถที่กว้างขวางมาก มีหน้าตาและรูปทรงองค์เอวแทบไม่แตกต่างกันเลยจากรถซึ่งเป็นที่มา แต่ขนาดความสูงลดลงเล็กน้อยWONDER-CAPSULE CONCEPT
ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ วันเดอร์-แคพซูล คอนเซพท์ (WONDER-CAPSULE CONCEPT) ผลงานจากความร่วมมือของบริษัท โตโยตา ออโท บอดี คัมพานี ลิมิเทด (TOYOTA AUTO BODY COMPANY LIMITED) กับสินค้าแฟชัน ANREALAGE ของเมืองยุ่น รังสรรค์ขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการ คือ เพื่ออวดแนวความคิดในการทำรถที่นั่ง 2 คนได้อย่างสะดวกสบาย ในตัวถังที่ยาวเพียง 2.500 ม. กว้าง 1.300 ม. และสูง 1.600 ม. ซึ่งทำให้สามารถเรียกในภาษาอังกฤษได้ว่า ULTRA-COMPACT MOBILITY กับเพื่อรองรับยุคสมัยของการใช้รถร่วมกันหรือ CAR SHARING และเทคโนโลยีการขับรถโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ขับ หรือ AUTONOMOUS DRIVING TECHNOLOY ซึ่งค่ายนี้เชื่อมั่นว่ากำลังเดินทางมาถึงในอนาคตอันใกล้ หน้าตาและรูปทรงองค์เอวดูแล้วเพลิดเพลินเจริญตาเจริญตา แต่ความพิสดารที่มีอยู่มากมายทำให้ยากจะเชื่อว่า จะมีการผลิตรถแบบนี้จริงYAMAHA CROSS HUB CONCEPT
ยามาฮา ครอสส์ ฮับ คอนเซพท์ (YAMAHA CROSS HUB CONCEPT) รถที่นับจำนวนล้อได้มากกว่า 2 เพียงคันเดียว ที่อวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ในบูธของผู้ผลิตจักรยานยนต์ที่เล่าลือกันมานานว่ากำลังจะทำรถ 4 ล้อ แต่รอกันจนเลิกรอไปหลายคนแล้วก็ยังไม่เห็นทำสักที เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพิคอัพสำหรับคนรักรถเครื่อง ตัวถังขนาด 4.490x1.960x1.750 ม. มีห้องโดยสารนั่ง 4 คน ที่กำหนดตำแหน่งนั่งในลักษณะรูปเพชร อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า DIAMOND-SHAPED SEATING LAYOUT และมีส่วนท้ายเป็นกระบะที่บรรทุกจักรยานยนต์ได้ 2 คัน ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอื่นๆ มากกว่านี้ ใช้เครื่องยนต์อะไรก็ไม่บอก เป็นรถขับล้อหน้า ขับล้อหลัง หรือขับทุกล้อ ก็ไม่บอก รวมทั้งไม่ยอมยืนยันด้วยว่าคราวนี้จะทำขายจริงๆ หรือไม่ ? บอกแต่เพียงว่า รถแบบนี้นี่แหละที่จะเพิ่มชีวิตและชีวาให้แก่คนรักรถ ยามาฮา เพราะทำให้สามารถไปได้ในทุกสภาพแวดล้อมNISSAN LEAF
เปิดตัวในเมืองยุ่นเมื่อวันพุธที่ 6 กันยายน 2017 แต่ต้องรอจนถึงมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งนี้นี่แหละ ทีมงานของ "สื่อสากล" จึงมีโอกาสสัมผัสตัวจริงที่ไม่มีเสียงจริงของรถพลังไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ (NISSAN LEAF) นับเป็นรถรุ่นที่ 2 และเป็นทายาทสายตรงของรถรุ่นแรก ซึ่งครองตำแหน่งรถพลังไฟฟ้าขายดีที่สุดในโลก เพราะขายไปแล้วมากกว่า 280,000 คัน แยกโมเดลให้ลูกค้าในเมืองยุ่นเลือกใช้รวม 3 โมเดล คือ NISSAN LEAF G-NISSAN LEAF X-NISSAN LEAF S ทุกโมเดลอยู่ในตัวถังแฮทช์แบคขนาด 4.480x1.790x1.540 ม. ที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 5 คน และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.28 ทุกโมเดลติดตั้งระบบขับล้อหน้าด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า ทำงานร่วมกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง การชาร์จไฟแต่ละครั้งโดยใช้เวลา 8-16 ชม. และรถจะวิ่งได้ไกลถึง 400 กม. ค่าตัวเริ่มต้นที่ 3.150 ล้านเยนNISSAN LEAF NISMO CONCEPT
ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นกัน คือ รถพลังไฟฟ้าติดป้ายชื่อ นิสสัน ลีฟ นิสโม คอนเซพท์ (NISSAN LEAF NISMO CONCEPT) ผลงานใหม่ของ NISMO หน่วยงานย่อยซึ่งรับผิดชอบกีฬาแข่งรถและการปรับแต่งรถของยักษ์รองเมืองยุ่น เป็นรถแนวคิดซึ่งพัฒนาต่อยอดจากรถตลาด นิสสัน ลีฟ รุ่นใหม่ โดยปรุงแต่งตัวถังทั้งภายนอกภายใน ใช้เทคโนโลยีจากสนามแข่งรถในการปรับแต่งสมรรถนะทางอากาศพลศาสตร์กับลดแรงยกตัวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศอันเยี่ยมยอด (0.28) และที่ขาดเสียมิได้ คือ การปรับแต่งระบบรองรับให้มีลักษณะเหมือนรถสปอร์ท และติดยางล้อสมรรถนะสูง (HIGH-PERFORMANCE TIRES) กล่าวโดยสรุป รถแนวคิดคันนี้ คือ ผลลัพธ์ของการประสมประสานเข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะ ระหว่างการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นคุณลักษณะของรถพลังไฟฟ้า กับประสบการณ์การขับอันเร้าใจซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของ NISMONISSAN SERENA E-POWER
นี่ก็เป็นอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ นิสสัน เซเรนา อี-เพาเวอร์ (NISSAN SERENA E-POWER) รถตลาดแบบใหม่ซึ่งมีกำหนดออกโชว์รูมในฤดูใบไม้ผลิปี 2018 ไม่ใช่รถใหม่ที่ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่เป็นรถใหม่ที่พัฒนามาอีกทอดหนึ่งจากรถ นิสสัน เซเรนา (NISSAN SERENA) รุ่นปัจจุบันซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 6 และเริ่มจำหน่ายในเมืองยุ่นเมื่อเดือนสิงหาคม 2016 ในตัวถังขนาด 8 ที่นั่ง ซึ่งมีรถให้เลือกใช้รวม 18 โมเดล โดยที่จุดใหญ่ใจความของการพัฒนาที่ว่า คือ การเปลี่ยนระบบขับ จากขับล้อหน้าหรือขับทุกล้อแบบ MILD HYBRID ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซินฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,997 ซีซี 150 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 1.9 กิโลวัตต์/2.6 แรงม้า เป็นขับแบบ E-POWER ระบบเดียวกับที่เคยพบเคยเห็นกันมาแล้วเป็นครั้งแรกในรถเก๋งแฮทช์แบค นิสสัน โนท อี-เพาเวอร์ (NISSAN NOTE E-POWER) ซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปลายปี 2016NISSAN IMF
ผลงานใหม่เอี่ยมแกะกล่องรายการสุดท้ายของค่ายยักษ์รองที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ รถติดป้ายชื่อ นิสสัน ไอเอมเอฟ (NISSAN IMF) รถแนวคิดสายเลือดซามูไรอีกคันหนึ่งซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นผลงานที่ค่ายนี้รังสรรค์ขึ้นเพื่อแสดงให้ปรากฏว่า มีแนวคิดจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับยานพาหนะที่เรียกกันว่ารถยนต์อย่างไร ? ทั้งในด้านที่มาของพลังขับเคลื่อน การบังคับขับขี่ และการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคม/สิ่งแวดล้อม เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังไฟฟ้า ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด โดยชุดหนึ่งขับล้อคู่หน้า อีกชุดหนึ่งขับล้อคู่หลัง ให้กำลังสุทธิสูงสุด 320 กิโลวัตต์/435 แรงม้า ส่วนแบทเตอรีที่ใช้เป็นแบทเตอรีพลังสูงความจุสูง ซึ่งชาร์จไฟแต่ละครั้งรถพลังไฟฟ้าขับทุกล้อแบบนี้จะวิ่งได้ไกลกว่า 600 กม. ที่เหนือกว่ารถพลังไฟฟ้าทั่วไปซึ่งใช้กันอยู่ในขณะนี้ คือ การติดตั้งระบบ PROPILOT อันเป็นเทคโนโลยีล้ำยุคซึ่งทำให้รถวิ่งได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้ขับ ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบLEXUS LS+ CONCEPT
ในบูธของค่าย เลกซัส มีรถที่สมควรกล่าวถึงอยู่เพียงคันเดียว คือ รถติดป้ายชื่อ เลกซัส แอลเอส พลัส คอนเซพท์ (LEXUS LS+ CONCEPT) ซึ่งเป็นรถใหม่สายเลือดซามูไรอีกคันหนึ่งซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซีดานระดับสุดหรู และเป็นต้นแบบของรถ เลกซัส แอลเอส-ซีรีส์ (LEXUS LS-SERIES) รุ่นหน้าซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 6 และขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าจะออกโชว์รูมในปีไหน ? เป็นรถที่ยอดผู้ผลิตรถระดับพรีเมียมของเมืองยุ่นบอกว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้ท้องถนนเปลี่ยนสภาพเป็นสถานที่ที่ปลอดจากภยันตราย เพราะเพียบไปด้วยเทคโนโลยีอันก้าวล้ำนำยุค รวมทั้ง AUTOMATED DRIVING TECNOLOGY หรือเทคโนโลยีการขับรถโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ขับที่ค่ายนี้กำลังพัฒนาและตั้งชื่อว่า HIGHWAY TEAMMATE เป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานเฉพาะกรณีที่รถวิ่งอยู่บนทางหลวง และค่ายนี้ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า จะเริ่มนำมาใช้ได้ภายในปี 2020SUZUKI E-SURVIVOR
จุดดึงดูดสายตาบนเวทีขนาดใหญ่ในบูธของยักษ์เล็กเมืองยุ่น คือ รถไร้หลังคา ซูซูกิ อี-เซอร์ไวเวอร์ (SUZUKI E-SURVIVOR) ซึ่งเป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ เอสยูวี เปิดหลังคาหน้าตาคิกขุ ตัวถังขนาด 3.460x1.645x1.655 ม. ที่ตั้งใจออกแบบให้นั่งกันเพียง 2 คน มีลูกเล่นให้เห็นมากมายทั้งภายในและภายนอก ตัวอย่าง คือ ประตูข้างกรุกระจกใสที่ทำให้สามารถมองทะลุเข้าไปในห้องโดยสารได้ตลอดปลอดโปร่งอย่างที่เห็นในภาพ แผงหน้าปัดอุปกรณ์และคอนโซลกลางติดตั้งจอมอนิเตอร์ที่ออกแบบเป็นทรงกลมเหมือนลูกแก้ว กระทะล้อแบบเรืองแสง ดวงโคมไฟท้ายรูปตัว M นอนตะแคง โรลล์โอเวอร์บาร์ที่ออกแบบเหมือนหมวกกันนอค ฯลฯ เป็นรถขับทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์แบบใดๆ แต่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ชุดหนึ่งขับล้อคู่หน้าอีกชุดหนึ่งขับล้อคู่หลัง นับเป็นรถแนวคิดที่สมควรช่วยกันเชียร์ให้ค่ายนี้ทำขายจริงๆSUZUKI SPACIA CONCEPT
ดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้ดีเช่นกัน คือ รถติดป้ายชื่อ ซูซูกิ สปาซีอา คอนเซพท์ (SUZUKI SPACIA CONCEPT) ซึ่งก็ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นกัน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดมีนี และเป็นต้นแบบของรถตลาด ซูซูกิ สปาซีโอ (SUZUKI SPACIA) รุ่นหน้าซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 2 และขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าจะเริ่มการจำหน่ายในเดือนไหนและปีใด ? ตัวถังขนาด 3.395x1.475x1.800 ม. ที่นั่งได้รวม 4 คน มีรูปทรงองค์เอวที่ออกแบบอย่างง่ายๆ ตามสไตล์ของรถมีนีทรงแท่งเหลี่ยมหลังคาสูง หน้าตาก็ดูเรียบๆ ไม่มีจุดเด่นอะไรที่สมควรกล่าวถึงเป็นพิเศษ จะมีให้เลือกทั้งรถขับล้อหน้าและรถขับทุกล้อ ทั้ง 2 แบบจะติดตั้งระบบขับ MILD HYBRID SYSTEM ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบเรียง ความจุ 658 ซีซี ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และก็เช่นเดียวกับรถรุ่นปัจจุบัน รถรุ่นใหม่นี้จะแยกเป็น 2 โมเดลหลัก คือ SUZUKI SPACIA กับ SUZUKI SPACIA CUSTOMSUZUKI XBEE OUTDOOR ADVENTURE
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของยักษ์เล็กเมืองยุ่นที่เลือกมาให้ชม คือ ซูซูกิ เอกซ์บี (SUZUKI XBEE) ก็เป็นรถที่อวดตัวในงานนี้แบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน เป็นครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี (CROSSOVER SUV) หรือรถขนาดซูเพอร์มีนี ที่ค่ายนี้กำลังจะนำออกสู่ตลาดในเวลาไม่นานจนเกินรอ และเป็นรถที่ค่ายนี้กล่าวอ้างว่า เป็นรถพันธุ์ใหม่ที่ประสมประสานสมรรถนะการขับขี่ของรถ เอสยูวี และความกว้างขวางของรถตรวจการณ์เข้าไว้ด้วยกันอย่างเหมาะเจาะ ตัวถังขนาด 3.760x1.670x1.705 ม. มีการตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน 2 แบบ คือ แบบที่ตั้งใจใช้งานลุยอย่างคันที่เห็นได้ในภาพ ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า SUZUKI XBEE OUTDOOR ADVENTURE กับแบบที่ตั้งใจใช้งานในเขตเมือง ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า SUZUKI XBEE STREET ADVENTURE ทั้ง 2 แบบติดตั้งระบบขับล้อหน้า หรือขับทุกล้อแบบ MILD HYBRID SYSTEM ซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน 3 สูบเรียง 996 ซีซี ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าMAZDA KAI CONCEPT
ค่ายซูมซูม ดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้คนทั่วไปด้วยรถแนวคิด 2 คัน คันแรก คือ รถติดป้ายชื่อ มาซดา คาอิ คอนเซพท์ (MAZDA KIA CONCEPT) ซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัด และเป็นต้นแบบของรถตลาดที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดภายในปี 2019 พร้อมกับป้ายชื่อ มาซดา 3 (MAZDA 3) ตัวถังขนาด 4.420x1.855x1.375 ม. ที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน บรรจุไว้ซึ่งสรรพเทคโนโลยีที่ค่ายนี้กำลังพัฒนา ตัวอย่าง คือ เครื่องยนต์ SKYACTIV-X ที่ยักษ์เล็กของเมืองยุ่นบอกว่าจะเป็นเครื่องยนต์เบนซินแบบแรกของโลกที่ใช้ระบบจุดระเบิดที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า COMPRESSION IGNITION และสถาปัตยกรรม SKYACTIV-VEHICLE ARCHITECTURE ที่ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างคนกับรถยนต์เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ ชื่อ KAI ที่เลือกใช้ เป็นภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลว่า PIONEER ในภาษาอังกฤษ หรือผู้บุกเบิกในภาษาไทยMAZDA VISION COUPE
รถแนวคิดอีกคันหนึ่งที่ค่ายซูมซูม นำออกแสดงในงานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ มาซดา วิชัน คูเป (MAZDA VISION COUPE) ก็เป็นการปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 4 ประตูคูเป ที่วางตำแหน่งห้องโดยสารให้อยู่ค่อนไปทางส่วนท้ายรถ และเป็นรถที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อบ่งบอกทิศทางการออกแบบซึ่งค่ายนี้จะใช้ในอนาคต เป็นภาษาการออกแบบ KODO DESIGN LANGUAGE เจเนอเรชันใหม่ ซึ่งเป็นการออกแบบในลักษณะ LESS IS MORE หรือ "มีน้อยแต่ได้มาก" รวมทั้งการนำหลักคิดทางสถาปัตยกรรมที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า MA มาใช้ด้วย หลักการนี้เป็นการสร้างบรรยากาศในห้องโดยสารให้เกิดความรู้สึกในความรื่นรมย์ (ที่สมควรบันทึกไว้ด้วยก็คือ นิตยสารรถยนต์ฉบับหนึ่งของยุโรปรายงานข่าวแบบลับเฉพาะว่า มาซดา ไม่เชื่อมั่นในรถพลังไฟฟ้า เพราะไม่เชื่อว่ารถแบบนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เชื่อด้วยว่าผู้ใช้รถจะยอมรับ)MITSUBISHI E-EVOLUTION CONCEPT
จุดดึงดูดสายตาในบูธของค่าย "สามเพชร" คือ รถติดป้ายชื่อ มิตซูบิชิ อี-เอโวลูชัน คอนเซพท์ (MITSUBISHI E-EVOLUTION CONCEPT) ซึ่งก็เป็นรถสายเลือดซามูไรอีกคันหนึ่งซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดกลาง ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของปรัชญาการออกแบบที่ค่ายนี้กำหนดขึ้นใหม่และตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ROBUST & INGENIOUS คือ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความแข็งแรงและความคิดใหม่ๆ อันชาญฉลาด เป็นรถขับเคลื่อนทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ เป็นระบบขับ TRIPLE MOTOR 4WD SYSTEM ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าพลังสูง 1 ชุดขับล้อคู่หน้า และใช้อีก 2 ชุดขับล้อคู่หลัง ส่วนอุปกรณ์ป้อนพลังไฟฟ้าเป็นแบทเตอรีพลังสูงและความจุสูงซึ่งติดตั้งอยู่ตรงกลางใต้พื้นรถ ที่ขาดเสียมิได้สำหรับรถแนวคิดยุคนี้ คือ AI หรือปัญญาประดิษฐ์/ปัญญาเทียม ที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในการควบคุมการขับขี่SUBARU VIZIV PERFORMANCE CONCEPT
เลือกผลงานของค่าย "ดาวลูกไก่" มาให้ชม 3 คัน คันแรก คือ รถชื่อยาว ซูบารุ วีซีฟ เพอร์ฟอร์มานศ์ คอนเซพท์ (SUBARU VIZIV PERFORMANCE CONCEPT) ซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซีดานขนาดกะทัดรัด และเป็นรถแนวคิดคันล่าสุดที่ค่ายนี้รังสรรค์ขึ้นตามปรัชญาการออกแบบ DYNAMIC X SOLID ตัวถังขนาด 4.630x1.950x1.430 ม. ติดตั้งระบบขับทุกล้อ SYMMETTRICAL AWD ด้วยพลังของเครื่องยนต์สูบนอนยัน หรือ "บอกเซอร์" ที่ค่ายนี้พัฒนาต่อเนื่องกันมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ ภายในห้องโดยสารที่ตั้งใจให้นั่งได้รวม 5 คน บรรจุเทคโนโลยีไฮเทคไว้มากมาย ที่ขาดไม่ได้เลย คือ DRIVER-ASSIST TECHNOLOGY หรือเทคโนโลยีช่วยขับรถอันก้าวหน้าและทันสมัย ที่ค่ายนี้คาดว่าประมาณปี 2020 ก็น่าจะนำมาใช้งานได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในรถตลาดของตน (ชื่อ VIZIV ที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ สังเคราะห์จาก VISION FOR INNOVATION)SUBARU XV FUN ADVENTURE CONCEPT
น่าจะเป็นรถเพียงคันเดียวในงานนี้ที่แบกกระโจมไว้บนหลังคา คือ รถติดป้ายชื่อ ซูบารุ เอกซ์วี ฟัน แอดเวนเจอร์ คอนเซพท์ (SUBARU XV FUN ADVENTURE CONCEPT) ซึ่งปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE ในบูธของค่าย "ดาวลูกไก่" เป็นรถแนวคิดซึ่งไม่ได้ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่พัฒนาต่อยอดอย่างง่ายๆ จากรถตลาด ซูบารุ เอกซ์วี (SUBARU XV) รุ่นล่าสุด โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดในบางจุดทั้งภายนอกและภายในตัวถัง รวมทั้งติดตั้งรางหลังคาที่สามารถรองรับการติดตั้งกระโจมดังที่เห็นในภาพ รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดกะทัดรัด ซูบารุ เอกซ์วี รุ่นปัจจุบัน (รุ่นที่ 2) ซึ่งเริ่มจำหน่ายในเมืองยุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 และเพิ่งเข้ามาในเมืองไทยนี้ มีขนาดตัวถัง 4.465x1.8001.550 ม. และมีเครื่องยนต์ 2 ขนาด คือ เครื่องเบนซิน DOHC 4 สูบนอนยัน 1,599 ซีซี 115 แรงม้า กับเครื่องเบนซิน DOHC 4 สูบนอนยัน 1,995 ซีซี 154 แรงม้า ทั้ง 2 ขนาดส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลังผ่านระบบเกียร์ CVTSUBARU IMPREZA FUTURE SPORT CONCEPT
ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ รถติดป้ายชื่อ ซูบารุ อิมพเรซา ฟิวเจอร์ สปอร์ท คอนเซพท์ (SUBARU IMPREZA FUTURE SPORT CONCEPT) เป็นรถแนวคิดที่หน้าตาและรูปทรงองค์เอวไม่ชวนให้เชื่อว่าเป็นรถแนวคิด เพราะไม่ได้ทำขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนาต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถตลาด ซูบารุ อิมพเรซา สปอร์ท (SUBARU IMPREZA SPORT) รุ่นปัจจุบัน ไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดว่าเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง บอกแต่เพียงสั้นๆ ว่าเป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มความสนุกสนานของผู้ขับรถเท่านั้น รถเก๋งแฮทช์แบคขนาดกะทัดรัด ซูบารุ อิมพเรซา สปอร์ท รุ่นปัจจุบันเป็นรถรุ่นที่ 5 เริ่มจำหน่ายในเมืองยุ่นเมื่อเดือนตุลาคม 2016 ในตัวถังขนาด 4.460x1.775x1.480 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.33 มีทั้งรถขับล้อหน้า ขับทุกล้อ และมีเครื่องยนต์ 2 ขนาด คือ เครื่องเบนซิน DOHC 4 สูบนอนยัน 1,599 ซีซี 115 แรงม้า กับเครื่องเบนซิน DOHC 4 สูบนอนยัน 1,995 ซีซี 154 แรงม้าISUZU FD-SI
บรรจุรถติดป้ายชื่อ อีซูซุ เอฟดี-เอสไอ (ISUZU FD-SI) ไว้ในรายงานนี้ด้วย เพื่อเป็นสิ่งเตือนจิตเตือนใจว่ายังมีรถยี่ห้อนี้อยู่ในเมืองยุ่นไม่ใช่มีแต่ในเมืองกะลาแลนด์ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถบรรทุกขนาดเบาที่ออกแบบ/พัฒนาสำหรับ FUTURE DELIVERY หรือการขนส่งสินค้าในอนาคต ซึ่งไม่ได้ความสำคัญแก่ตัวสินค้าที่บรรทุกเท่านั้น หากยังสนับสนุนผู้ขับรถซึ่งมีฐานะเป็น THE-FRONT-LINE PEOPLE OF TRANSPORT หรือ "บุคลากรแถวหน้าของการขนส่ง" โดยออกแบบห้องโดยสาร/ห้องบรรทุกในลักษณะที่ทำให้ผู้ขับสามารถบังคับควบคุมรถและเคลื่อนไหวได้โดยสะดวก เช่น การติดตั้งเก้าอี้ผู้ขับไว้ตรงกลาง และแผงบังคับควบคุมต่างๆ ก็อยู่ตรงกลาง ส่วนตัวถังภายนอกก็ออกแบบตกแต่งอย่างสวยงามเหมือนรังผึ้งดังที่เห็นในภาพ เป็นตัวถังที่แข็งแรงและกำหนดพื้นที่การบรรทุกไว้อย่างดี ที่ไม่น่าประหลาดใจอะไรก็คือ ไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบขับ หรือความกว้าง ความยาวตัวถังDAIHATSU DN U-SPACE
ยักษ์เล็กเมืองยุ่นซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่โตโยตา ยกกองทัพรถใหม่ติดรหัส DN ออกอวดตัวในงานนี้รวม 5 คัน และเกือบทุกคันเป็นการปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" รายงานนี้นำมาให้ชมครบทุกคันโดยเริ่มด้วยกันด้วยรถติดป้ายชื่อ ไดฮัทสุ ดีเอน ยู-สเปศ (DAIHATSU DN U-SPACE) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถขนาดมีนีซึ่งเป็นรถที่นิยมใช้กันมากในเมืองยุ่น ไม่มีแนวคิดวิจิตรพิสดารอะไร นอกจากประตูข้างซึ่งเป็นประตูเลื่อนทั้งบานหน้าบานหลัง และเปิดเลื่อนออกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง การขึ้น/ลงรถซึ่งติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถว นั่งได้รวม 4 คน จึงทำได้สะดวกสบายมาก เป็นรถที่ยักษ์เล็กของเมืองยุ่นบอกว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของรถแบบนี้ คือ ผู้ใช้รถซึ่งเป็นแม่ที่มีลูกอายุยังน้อย เพราะสะดวกมากกับการเดินทางเพื่อการซื้อข้าวซื้อของและสิ่งจำเป็นประจำวัน รวมทั้งการเดินทางเพื่อพักผ่อนในวันหยุด ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของระบบขับ บอกแต่เพียงว่าติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน ความจุ 660 ซีซีDAIHATSU DN PRO CARGO
ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นกัน คือ ไดฮัทสุ ดีเอน พโร คาร์โก (DAIHATSU DN PRO CARGO) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถขนาดมีนีที่หน้าตาดูดีจริงๆ เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบตามแนวความคิด PARTNERING THE WORKER OF THE FUTURE หรือ "เพื่อเป็นหุ้นส่วนของคนทำงานในอนาคต" ที่ตั้งใจให้ใช้เพื่อการพาณิชย์ จึงมีระบบ MULTI-UNIT SYSTEM อันเป็นอุปกรณ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนพลิกแพลงให้เหมาะกับประเภทของงานที่มีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น ทำเป็นชั้นวางของก็ได้ ทำเป็นโต๊ะทำงานก็ได้ ทำเป็นชั้นแสดงสินค้าก็ยังได้ ฯลฯ ตัวถังทรงกล่องเหลี่ยมหลังคาสูง ติดตั้งประตูข้างที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง การขึ้นลงรถจึงทำได้สะดวกมาก ส่วนประตูบานหลังก็ออกแบบในลักษณะให้ผู้พิการที่นั่งอยู่บนรถเข็นสามารถเคลื่อนเข้าอยู่ในรถได้สะดวกเช่นกัน เป็นรถที่เป็นญาติสนิทกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ใช้เครื่องยนต์แต่เป็นระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆDAIHATSU DN COMPAGNO
หน้าตาเหมือนเป็นรถที่เตรียมออกโชว์รูมในวันพรุ่งนี้ แต่ที่จริงยังติดป้ายว่าเป็น EXHIBITION VEHICLE หรือรถโชว์ ปรากฏตัว"ครั้งแรกในโลก"ที่งานนี้ พร้อมกับป้ายชื่อ ไดฮัทสุ ดีเอน กัมปันโญ (DAIHATSU DN COMPAGNO) และคำบรรยายสรรพคุณว่าเป็นรถ 4 ประตูคูเป/4 ที่นั่ง ที่ออกแบบ/พัฒนาสำหรับผู้ใช้รถสอวอสูงวัยซึ่งเพิ่งเกษียณอายุจากงานจากการ และเป็นผลงานที่รังสรรค์ขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากรถคูเป ไดฮัทสุ กัมปันโญ (DAIHATSU COMPAGNO) รุ่นดั้งเดิมซึ่งเริ่มในเมืองยุ่นเมื่อปี 1963 ตัวถังเคลือบสี ทู-โทน (TWO-TONE) คือ สีแดงกับสีแดงมีหน้าตาที่ดูโบราณเหมือนรถซึ่งเป็นที่มา แต่รูปทรงองค์เอวของตัวถังโดยเฉพาะส่วนท้าย นับเป็นการออกแบบที่กล้าหาญมาก รายละเอียดในส่วนของระบบขับ บอกแต่เพียงว่าเลือกได้ระหว่างเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน 1,000 ซีซี กับระบบขับไฮบริดซึ่งใช้เครื่องยนต์ 1,200 ซีซี และสรุปอย่างสั้นๆ ว่าเป็นรถที่จะทำให้สอวอผู้สูงวัยที่กล่าวข้างต้น รู้สึกอยากมีชีวิตต่อไปDAIHATSU DN MULTISIX
ไดฮัทสุ ดีเอน มัลทิซิกซ์ (DAIHATSU DN MULTISIX) รถรหัส DN เพียงคันเดียวของยักษ์เล็กเมืองยุ่นที่มิได้อวดตัวในงานนี้แบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" แต่เป็นการปรากฏตัวแบบ JAPAN PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในญี่ปุ่น" เป็น EXHIBITION VEHICLE หรือรถโชว์ ในรูปลักษณ์ของมีนีแวน หรือรถตู้อเนกประสงค์ที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 6 คนตามชื่อรถ มีลักษณะพิเศษซึ่งที่จริงก็ไม่ได้พิเศษอะไรนักก็คือ เก้าอี้ที่นั่งแถว 2 มี AISLE SPACE หรือช่องว่างตรงกลางเหมือนที่นั่งในเครื่องบินโดยสาร ซึ่งทำให้การก้าวเข้า/ออกจากที่นั่งแถว 3 ทำได้สะดวกขึ้น เป็นรถขนาดเล็กกะทัดรัดที่ยักษ์เล็กเมืองยุ่นระบุรายละเอียดด้านกลไกไว้เพียงเรื่องเดียว คือ ขับเคลื่อนด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซิน ความจุ 1,500 ซีซี แต่ขับด้วยล้อคู่ไหน หรือทั้ง 2 คู่ก็ไม่บอก ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ต้องรอหน่อย แต่คงรอไม่นาน เพราะดูสภาพแล้วมีโอกาสมากที่จะเปลี่ยนสถานะจากรถโชว์เป็นรถที่ผลิตขายในอนาคตอันใกล้DAIHATSU DN TREK
ผลงานชิ้นสุดท้ายของค่ายยักษ์เล็กที่เลือกมานำเสนอในรายงานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ ไดฮัทสุ ดีเอน ทเรค (DAIHATSU DN TREK) รถใหม่รหัส DN อีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็น EXHIBITION VEHICLE หรือรถโชว์ ในรูปลักษณ์ของ COMPACT SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ยักษ์เล็กเมืองยุ่นบอกว่ารังสรรค์ขึ้นด้วยแนวความคิด ACTIVE, FUN AND TOUGH หรือ "กระฉับกระเฉง ขับสนุก และกร้าวแกร่ง" รวมทั้งบอกด้วยว่า เหมาะทั้งกับการใช้งานเป็นประจำทุกวันและงานอดิเรก หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าใช้ได้ทุกงานนั่นแหละ ส่วนระบบขับบอกแต่เพียงว่า ติดตั้งระบบไฮบริดซึ่งใช้เครื่องยนต์ขนาด 1,200 ซีซี หรือด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบขนาด 1,000 ซีซี เป็นอันสิ้นสุดการรายงานมหกรรมยานยนต์ซึ่งมีแต่เรื่องราวของรถพันธุ์ยุ่น ไม่มีรถนำเข้าจากต่างประเทศสอดแทรกมาด้วยเลย ด้วยเหตุที่ว่าไม่มีรถต่างชาติคันใดในงานนี้ที่เราไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนในงานอื่นABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา และผู้จัดงานนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2561
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ