เกีย สติงเกอร์ เปิดตัวครั้งแรกในงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 34” ใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว DOHC เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหลัง มีสีตัวถังให้เลือกมากถึง 10 สี ภายใน 4 สี ราคา 2,990,000 บาทฟอร์มูลา : รถรุ่นนี้เป็นตัวใหม่ล่าสุดของ เกีย ภัทรกิติ์ : เป็นรถขับเคลื่อนล้อหลังเสียด้วย พแลทฟอร์มสดใหม่ แต่ด้านหน้า/ด้านหลัง ออกแบบไม่ค่อยจะไปด้วยกัน ไฟท้ายมีเส้นประหลาดซ่อนอยู่ เป็นไฟเลี้ยวนะครับ แต่ทำไมถึงออกแบบลักษณะนี้ ไม่เข้าใจ เป็นอะไรที่ขัดตาสุดๆ ในรถคันนี้ อภิชาต : อยากรู้ว่าคนออกแบบต้องการสื่อถึงอะไร หรือเป็นสิ่งพิเศษที่ตอบสนองอะไรสักอย่าง ภัทรกิติ์ : เส้นสายจบแบบงงๆ เทียบเท่ากับไฟท้ายทรงน้ำตาไหลของ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ท คือ ไม่รู้ว่าเขาต้องการเน้นอะไร แต่เราอาจเข้าใจได้มากกว่านี้ ถ้าได้เห็นแบบสเกทช์ แต่เราไม่เห็น เลยไม่รู้ว่าเขาต้องการนำเสนอเรื่องอะไร อภิชาต : ถ้าตัดเรื่องการสเกทช์ออกไป มาวิเคราะห์ในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ถือว่าต้อง สร้างชิ้นงานขึ้นมาใหม่ในการผลิต เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมต้องทำขนาดนี้ แสดงว่าต้องมีมูลค่า มันทำให้คนเห็นครั้งแรกแล้วร้อง...WOW และต้องควักเงินซื้อไหม แต่สำหรับผมรู้สึกว่ามันไม่ถึงขนาดนั้น ภัทรกิติ์ : สิ่งที่ทำให้ขัดใจที่สุดในรถคันนี้ คือ โลโก มองดูเป็นก้อนอะไรไม่รู้ ถ้าคนออกแบบนำชื่อรุ่นมาดีไซจ์นให้ดูดี จะทำให้รถดูแพงขึ้นมาก อภิชาต : ผมคิดแบบเดียวกับอาจารย์ เอาโลโกออกไป หรือสร้างสัญลักษณ์ใหม่ไปเลยจะดีกว่า ภัทรกิติ์ : รถทั้งคันสวยหมด ติดอย่างเดียว คือ ด้านท้าย นี่แหละ ฟอร์มูลา : สรุปว่า ดีไซจ์นด้านหน้าสวยกว่า แล้วชอบกันไหมครับ ภัทรกิติ์ : ดูดี ดุดัน สัดส่วนลงตัวสุดๆ ดู เป็นปีศาจ ดุร้าย ดูมีความพิเศษ ถ้าเป็นบแรนด์เยอรมนี รับรองขายดี เพราะสัดส่วนรถมันสวยมาก ถึงแม้จะมีบางอย่างที่ขัดตา ถ้าลองใช้มือปิดรูปช่วงท้าย แล้วมองจะนึกถึง โพร์เช พานาเมรา อภิชาต : เอกลักษณ์ชัดเจนนะครับ “จมูกเสือ” ไฟหน้าเป็นจุดที่โอเคอยู่ เขาพยายามสร้างไฮไลท์ขึ้นมา ถือว่าสวย แต่ที่มาที่ไปดูไม่เข้ากัน เหมือนว่าการออกแบบเกิดขึ้นจากเส้นพาไป ภัทรกิติ์ : คำว่าเส้นพาไปของอาจารย์นี่ มีความหมายนะครับ เพราะดีไซจ์เนอร์อิตาลีมักพูดว่า อย่าให้เส้นพาไปนะ คนเป็นนักออกแบบ ควรคิดก่อนว่าจะออกแบบอะไร อย่าสเกทช์ไปเรื่อยๆ เล่นๆ เราใช้มือถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวเรา ไม่ใช่ให้มือพาหัวไป สมองต้องเหนือกว่า ฟอร์มูลา : ผมเข้าใจแล้วครับ อย่าให้เส้นพาไป ต้องตั้งใจ และคิดก่อนทำ ภัทรกิติ์ : ผมว่ารถคันนี้ให้ความรู้สึกเป็นรถอเมริกันขับหลัง อภิชาต : สำหรับผม รู้สึกว่าไฟจะไม่ใช่พระเอกล่ะ ปกติการออกแบบ สิ่งที่จะมองเห็นอันดับแรกเลย คือ ไฟหน้านี่แหละ แต่นี่รู้สึกว่าไฟดูไม่โดดเด่นเลย ปกติไฟหน้าต้องเป็นด่านแรกที่ใช้พโรโมท ฟอร์มูลา : ห้องโดยสารเป็นอย่างไรบ้างครับ ภัทรกิติ์ : ช่องแอร์คล้าย เมร์เซเดส-เบนซ์ เลย การออกแบบภายในรู้สึกจะผสมกันหลายรุ่นคันนี้อาจทำที่สหรัฐอเมริกาก็ได้ อภิชาต : ผมรู้สึกเฉยๆ เบาะบัคเกทซีท แต่พวงมาลัยเหมือน ซูบารุ ครับ ภัทรกิติ์ : ที่แน่ๆ คันนี้ถูกสร้างมาเพื่อขายตลาดในสหรัฐอเมริกา กันชนเป็น ดอดจ์ ชาลเลนเจอร์ เลยครับ แป้นเบรคทรงตั้งแนวรถอเมริกัน คือ พยายามให้เป็นยูโรเพียนมากๆ เพื่อให้ถูกใจคนอเมริกัน ซึ่งดูดีกว่ารถอเมริกันแท้ๆ อภิชาต : ผมไม่ชอบการออกแบบช่องแอร์ คือ การออกแบบเหมือน เมร์เซเดส-เบนซ์ ก็ไม่ผิดหรอก แต่มันดูไม่เหมาะกับรถที่ดูธรรมดา แทนที่จะออกแบบสไตล์สปอร์ท มันไม่สะท้อนคาแรคเตอร์ที่ไปด้วยกัน คือ ดูขัดกันเอง เหนือสิ่งอื่นใด คือ โลโก ตัดออกไปเลยจะดีกว่า ส่วนการออกแบบพวงมาลัย พอเรานั่งรถ ต้องจับ พวงมาลัยก่อน และสิ่งที่มองก็คือพวงมาลัย ฉะนั้น มันจะเตือนความจำตลอดว่า ขับรถอะไร และมันทำให้เรามีความสุขขึ้นมากน้อยแค่ไหน ฟอร์มูลา : ที่เกาหลีใช้เยอะอยู่นะครับ ภัทรกิติ์ : ถึงอย่างไรรถคันนี้ก็เร้าอารมณ์อยู่ และจะโดดเด่นมากบนท้องถนนเมืองไทย อภิชาต : เด่น...เพราะว่า นานๆ จะพบบนถนนสักคัน หรือเปล่าครับ ฟอร์มูลา : ใครสั่งจอง เขาถึงจะสั่งเข้ามาขาย ภัทรกิติ์ : รถที่มีบุคลิกแบบนี้ ในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นสายพันธุ์หายาก หัวยาว ท้ายสั้น เปิดแบบฟาสต์แบค ฟอร์มูลา : ถ้าราคา 2.9 ล้านบาท อาจารย์ว่าเหมาะสมไหมครับ อภิชาต : ราคาที่ดูจะเป็นพรีเมียม แต่ตัวรถกลับไม่พรีเมียม ออกไปทางสปอร์ทมากกว่า ภัทรกิติ์ : พยายามรักษาบแรนด์เกินไป จนต้องใช้โลโกแบบเดียวกันหมด มันไม่จำเป็น อภิชาต : หรือว่าเขามีผลิตภัณฑ์เยอะ กลัวคนจำไม่ได้ ภัทรกิติ์ : เป็นรถที่มีความพิเศษในทุกเรื่อง แต่ถ้าไม่ประสบความสำเร็จในบ้าน ก็คงไม่แปลก ฟอร์มูลา : เกีย สติงเกอร์ เหมาะกับคนกลุ่มไหน ภัทรกิติ์ : คนชอบขับรถ เพราะเป็นรถที่ขับสนุก บางคนอาจเห็นว่า ควรตั้งราคาให้ถูกกว่านี้ ไม่นะครับ ราคานี้ผมว่าเหมาะสมแล้ว