“ผู้ผลิตรถยนต์ในบ้านเราก็คงมีความเห็นเช่นเดียวกับผมว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งแบบดั้งเดิม และแบบทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า ยังเหมาะสมกับตลาดเมืองไทย”เครื่องยนต์ดีเซล ทำท่าจะหมดอนาคตในตลาดยุโรปเสียแล้ว ด้วยเหตุผลหลักสองประการ คือ ไม่สามารถพัฒนาเรื่องไอเสีย และความประหยัดได้ตามมาตรฐานยูโร 6 เนื่องจากต้องลงทุนสูงมาก ขณะเดียวกัน ยอดขายรถดีเซลทั่วยุโรปก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากวีรกรรมโกงค่าไอเสียที่ โฟล์คสวาเกน ได้ก่อไว้ ยิ่งกว่านั้น หลายประเทศในยุโรปยังประกาศมาตรการกำจัดรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งดีเซล และเบนซิน ตั้งแต่ระดับห้ามวิ่งในเมืองใหญ่ จนถึงห้ามจำหน่าย ภายในระยะเวลา 2-5 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตแทบทุกรายจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยสองรายล่าสุด ได้แก่ โตโยตา ที่ประกาศยกเลิกการขายรถเครื่องยนต์ดีเซลในยุโรป ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป และกลุ่ม FIAT CHRYSLER AUTOMOBILS หรือ FCA ที่เตรียมยกเลิกการใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กในรถประเภท ซิทีคาร์ ตั้งแต่ปี 2565 โดยซีอีโอของ FCA เผยว่า การพัฒนาขุมพลังดีเซลให้ปล่อยมลพิษต่ำ และมีความประหยัดตามมาตรฐานยูโร 6 ต้องใช้งบลงทุนกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งดูจะไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายรถดีเซลในตลาดยุโรปที่ลดลง 10-30 % ในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่ผมรายงานมานี้ เป็นเรื่องของตลาดยุโรป (รวมถึงตลาดสหรัฐฯ ที่ไม่นิยมรถดีเซลอยู่แล้ว) ซึ่งตรงกันข้ามกับตลาดบ้านเรา ที่รถเครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะพิคอัพ ยังขายดิบขายดี ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ยังถูกกว่าเบนซิน ลิตรละหลายบาท เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้ในกิจการขนส่งทุกระดับ มีผลต่อต้นทุนสินค้า จึงกลายเป็น “น้ำมันการเมือง” ที่ทุกรัฐบาลต้องคอย “อุ้ม” ราคาไว้ นอกจากนี้ เครื่องยนต์ดีเซล มีข้อดี คือ ให้แรงบิดสูง และประหยัด รวมถึงมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้อัตราการปล่อยมลพิษลดลงมาก ดังนั้น ผมจึงมั่นใจว่า เครื่องยนต์ดีเซลจะยังมีบทบาทสำคัญในตลาดรถเมืองไทยไปอีกนาน รวมถึงเครื่องยนต์เบนซินด้วย ตราบใดที่รถพลังไฟฟ้ายังมีราคาแพง และระบบสาธารณูปโภครองรับยังไม่มีความพร้อมให้เห็นเป็นรูปธรรม ผู้ผลิตรถยนต์ที่ประกอบธุรกิจในบ้านเราก็คงมีความเห็นเช่นเดียวกับผมว่า รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งแบบดั้งเดิม และแบบทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า ยังเหมาะสมกับตลาดเมืองไทย และตลาดใกล้เคียง รวมถึงในอีกหลายภูมิภาค มากกว่ารถไฟฟ้าล้วนๆ ข้อพิสูจน์ที่ยืนยันได้ชัดเจน คือ การที่ มาซดา เปิดโรงงานผลิตเครื่องยนต์แห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรี โดยลงทุนถึง 7,200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องยนต์ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศ และเพื่อนบ้าน อุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาปภายในแข็งแกร่งแบบนี้ ใคร ที่คิดจะแจ้งเกิดรถไฟฟ้าในบ้านเรา คงต้องทำการบ้านกันหนักกว่าเดิมแล้วละครับ
บทความแนะนำ