รู้ลึกเรื่องรถ
“แป้นเดี่ยว” กำลังมา ถึงเวลาต้องเรียนขับรถกันใหม่ ?
ยังจำวันที่เราหัดขับรถวันแรกได้ไหมครับ หากเป็นคนรุ่นเก่า หรือกลางเก่ากลางใหม่ ส่วนใหญ่คงได้หัดกับรถเกียร์ธรรมดาที่มี แป้นเหยียบ 3 แป้น คือ คลัทช์ เบรค และคันเร่ง ซึ่งต้องใช้เท้าทั้งสองข้างในการควบคุม โดยเท้าซ้ายต้องถอนคลัทช์ให้ได้จังหวะกับเท้าขวาที่ควบคุมแป้นคันเร่ง เพื่อการออกตัวที่นุ่มนวล แต่ตอนที่ยังเป็น “มือใหม่หัดขับ” น่าจะมีอาการหัวทิ่มหัวตำกันบ้างไม่มากก็น้อยส่วนคนรุ่นหนุ่มสาว ส่วนมากจะหัดขับรถเกียร์อัตโนมัติ ที่มีแป้นเหยียบ 2 แป้น คือ เบรคกับคันเร่ง และใช้เท้าขวาเพียงข้างเดียว แต่ไม่ว่าจะเป็นคนในเจเนอเรชันไหน การเรียนรู้ที่จะเร่ง และชะลอความเร็ว รวมไปถึงการหยุดรถให้นุ่มนวลนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญในการเป็นนักขับที่ดี มิฉะนั้น จะโดนผู้สอน ที่อาจเป็นครูโรงเรียนสอนขับรถ บิดา/มารดา หรือคู่รัก บ่นให้เสียอารมณ์ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ในวันนี้คุณจะภูมิใจว่า เป็นคนที่ขับรถได้นุ่มนวล แต่ถ้าเจอแป้นคันเร่ง และเบรคของรถยนต์ในยุคต่อไป ที่มีรูปแบบการทำงานแตกต่างออกไปจากที่พวกเราคุ้นเคย คุณอาจจะต้องฝึกฝนวิธีขับรถกันใหม่เลยทีเดียว ในรถไฟฟ้านั้น แม้จะมี 2 แป้นแบบที่เราคุ้นตา แต่การทำงานของแป้นคันเร่งนั้นจะมาพร้อมระบบปฏิบัติการ “แป้นเดี่ยว” ที่มีรูปแบบ “การเร่งและชะลอความเร็ว บนแป้นเดียวกัน” หรือ ONE-PEDAL DRIVING ระบบแป้นเดี่ยวนี้ได้รับการติดตั้งในรถไฟฟ้า เวอร์ชันปัจจุบันเกือบทุกรุ่น โดยรูปแบบการทำงานของมัน คือ ขณะถอนคันเร่ง จะเกิดการหน่วงให้รถชะลอความเร็วลงทันทีนั่นเอง คล้ายกับตอนที่เราขับรถยนต์ปัจจุบัน โดยลากเกียร์ 1 ไปเรื่อยๆ แล้วถอนคันเร่งกะทันหันนั่นเอง ในขณะที่เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เมื่อเรายกคันเร่งขึ้น รถยนต์ก็จะยัง “ไหล” ต่อไปเรื่อยๆ พร้อมชะลอความเร็วลงทีละน้อยอย่างเป็นธรรมชาติ การชะลอความเร็วระบบแป้นเดี่ยวของรถไฟฟ้าในเบื้องต้น อาศัยคุณสมบัติของ “มอเตอร์ไฟฟ้า” ที่เมื่อเรา “ยกคันเร่ง” ระบบจะจัดการเปลี่ยนหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ต่อเข้ากับล้อขับเคลื่อน ให้กลายเป็น “เครื่องปั่นไฟ” (เจเนอเรเตอร์) ป้อนไฟย้อนกลับทันทีจากการเปลี่ยนพลังงานจลน์ (KINETIC ENERGY) ที่ได้จากการหมุนของล้อรถที่พุ่งไปข้างหน้า ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อเก็บสะสมเข้าไปในแบทเตอรี ระบบที่เปลี่ยนพลังงานจลน์ให้กลายเป็นไฟฟ้าด้วยการชะลอความเร็วนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “รีเจเนอเรทีฟ บเรคิง” (REGENERATIVE BRAKING) ซึ่งการปั่นไฟกลับเข้าระบบนี้มีแรงหน่วงมากพอที่จะชะลอจนรถหยุดนิ่งได้เลยทีเดียว หากคุณสงสัยว่าแรงที่เกิดจากระบบชะลอความเร็วด้วยเครื่องปั่นไฟนี้มากเพียงใด ต้องยกตัวอย่าง นิสสัน ลีฟ รุ่นปี 2018 ซึ่งใช้ระบบการขับเคลื่อนแบบแป้นเดี่ยวที่ นิสสัน เรียกว่า “อี-เพดัล” (E-PEDAL) โดยระบบนี้สามารถจะชะลอรถด้วยอัตราหน่วงราว 0.2 จี (0.2G หรือ 0.2 เทียบเท่ากับแรงดึงดูดโลก) แม้จะดูไม่มาก เพราะประสิทธิภาพของระบบเบรคแบบกลไกไฮดรอลิคที่เราคุ้นเคยกันนั้นสามารถทำได้มากถึง 1 จี แต่จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยทดลองขับรถที่ใช้ระบบนี้อย่าง บีเอมดับเบิลยู ไอ 3 แล้ว ขอให้เชื่อเถอะว่า มันมากพอที่จะทำให้หัวคนนั่งในรถผงกหงึกๆ ได้ ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้ทักษะการใช้คันเร่งใหม่หมด เพราะในรถไฟฟ้าจะไม่มีการ “ปล่อยไหล” แบบที่เราคุ้นเคย แต่ นิสสัน ก็เข้าใจหัวอกผู้ใช้รถในช่วงรอยต่อแห่งยุคสมัยอย่างพวกเรา ด้วยการให้ผู้ขับสามารถตัดสินใจได้ว่า จะให้คันเร่งทำงานแบบแป้นเดี่ยว หรือตอบสนองแบบ “ปล่อยไหล” เหมือนรถปกติ ด้วยการกดปุ่มเลือกระบบ “อี-เพดัล” ได้ตามอัธยาศัย ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่าการชะลอรถด้วยอัตราหน่วงแค่ 0.2 จี มันจะไหวหรือ คำตอบ คือ ในการขับขี่ส่วนใหญ่การทำงานของระบบ อี-เพดัล ใช้งานได้ดีเพียงพอในการเร่ง และชะลอ และดีมากในกรณีที่การจราจรติดขัด เพราะเราจะไม่ต้องคอยถอนเท้าออกจากคันเร่งเพื่อแตะเบรคอีกต่อไป เนื่องจากในตัวของมันเองนั้น มีแรงมากพอที่จะชะลอรถจนหยุดได้ แต่หากต้องการหยุดรถกะทันหัน เช่น มีจักรยานพุ่งตัดหน้า เราก็ยังสามารถเหยียบ “แป้นเบรค” ที่ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมได้ทันที แน่นอนว่า ระบบเบรคที่ใช้ระบบไฮดรอลิค ส่งแรงกดจากเท้า ไปยังปั๊มลูกสูบ (คาลิเพอร์เบรค) เพื่อหนีบจานเบรคให้ล้อหยุดหมุนแบบดั้งเดิมนั้น ยังคงมีความสำคัญอยู่ แต่มันจะถูกใช้งานในกรณีเบรคฉุกเฉินเท่านั้น การที่รถไฟฟ้ามีระบบแป้นเดี่ยว จึงส่งผลดีหลายประการกับระบบเบรคแบบดั้งเดิม อาทิ ผ้าเบรคกับจานเบรคจะมีอายุใช้งานนานขึ้น เพราะเกิดการสึกหรอต่ำเนื่องจากถูกใช้งานน้อยลง และเมื่อใช้งานน้อยลง ล้อรถยนต์ก็จะมีคราบฝุ่นผ้าเบรคน้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน เบรคที่ใช้งานน้อยลงก็มีแนวโน้มจะมีสนิมตามมาด้วย

ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2561
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ