รู้ลึกเรื่องรถ
หมาป่าในคราบลูกแกะ
“รุฟ” (RUF) ชื่อสำนักตกแต่งคู่บุญค่ายกบมหาภัย “โพร์เช” (PORSCHE) จากเยอรมนีมาช้านาน โดยรถที่ติดตรา “รุฟ” สามารถการันตีสมรรถนะที่เหนือกว่า โพร์เช คันอื่นๆ โดยเฉพาะ “เจ้าวิหคเหลือง” หรือ YELLOWBIRD ปี 1987 รถในตำนานแห่งทศวรรษที่ 80 ที่ยังโด่งดังจนถึงทุกวันนี้“วิหคเหลือง” เป็นชื่อเล่นที่นักทดสอบรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาตั้งให้แก่ รุฟ ซีทีอาร์ (RUF CTR) ที่ย่อมาจากคำว่า GROUP C, TURBO และ รุฟ สีเหลืองที่พวกเขาทดสอบ ด้วยเหตุที่ว่า เสียงจากโบลว์ออฟฟ์วาล์วนั้น ฟังดูคล้ายเสียงร้องของนก คานารี สีเหลือง ซึ่งเหมือนกับสีรถคันที่ทดสอบนั่นเอง แต่แค่สีเหลืองสวย และมีเสียงไพเราะ คงจะไม่สามารถสร้างตำนานอะไรได้ แต่สิ่งที่ทำให้ เจ้าวิหคเหลือง เป็นตำนาน คือ สมรรถนะนั่นเอง ในช่วงเวลานั้น รุฟ ตั้งเป้าจะสร้างรถที่มีพื้นฐานจาก โพร์เช 911 ให้เป็นรถที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก โดยลำดับแรกที่พวกเขาทำ คือ การเลือกแบบตัวถัง โดยไม่เลือกตัวถัง 911 เทอร์โบ รหัส 930 ที่มีตัวถังกว้าง เพราะมองเห็นว่าที่ความเร็วสูงเกิน 300 กม./ชม. ค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ (DRAG COEFFICIENT) จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรถที่ด้านท้ายผายออกอย่างรุ่น เทอร์โบ ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะซื้อตัวถังเปล่าของรุ่น คาร์เรรา ที่ผอม และต้านลมน้อยกว่ามาเป็นพื้นฐาน แต่ก็ได้ดัดแปลงตัวถังด้านท้ายให้ผายออกเล็กน้อย สำหรับช่องดูดอากาศทรง NACA DUCT บริเวณเหนือซุ้มล้อหลัง เพื่อระบายความร้อนให้ชุดอินเตอร์คูเลอร์ ลำดับต่อไป เพื่ออัตราเร่งที่รวดเร็วที่สุด น้ำหนัก คือ ปัจจัยสำคัญที่ต้องจัดการ รุฟ ได้แทนที่ชิ้นส่วนตัวถังด้านนอกที่ไม่ได้เป็นส่วนโครงสร้างรับแรง อาทิ ประตู ฝากระโปรงหน้า/หลังที่เป็นเหล็ก ด้วยโลหะที่เบากว่าอย่าง “อลูมิเนียม” รวมถึงถอดกันชนหน้าที่แข็งแรง แต่หนักอึ้ง (บ้านเราเรียกรุ่น กันชนย่น) แล้วแทนที่ด้วยกันชนไฟเบอร์กลาสส์ชิ้นเดียว ที่มีน้ำหนักเบา และลู่ลมกว่า ซึ่งช่วยลดน้ำหนักลงไปได้กว่า 200 กก. แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้วยการติดตั้งโคลงค้ำ (ROLL CAGE) ด้านในห้องโดยสาร สรุปแล้วรถทั้งคันมีน้ำหนักเพียง 1,150 กก. เท่านั้น
- กว่า 30 ปีที่แล้ว เจ้าวิหคเหลือง ได้สร้างสถิติที่น่าทึ่ง สามารถทำอัตราเร่งจาก 0–100 กม./ชม. ในเวลาเพียง 4.0 วินาที เร็วกว่ารถคันใดในขณะนั้น จะแพ้ก็แต่เพียง โพร์เช 959 เท่านั้น
- มันถึงเวลาแล้วที่จะสร้างรถที่เป็นสุดยอดแนวคิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และคำตอบ ก็คือ “วิหคเหลือง” ซีทีอาร์ รุ่นปี 2017 ที่ถ่ายทอดบุคลิก และหน้าตาของรุ่นปี 1987 ราวกับเป็นพี่น้องคลานตามกันมา
- หัวใจสำคัญของโครงสร้างนี้ คือ ห้องโดยสารที่ขึ้นรูปแบบคาร์บอนโมโนคอกที่ต้านทานการบิดได้สูงเทียบเท่า แฟร์รารี ลาแฟร์รารี เลยทีเดียว
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2562
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ