ประสาใจ
ความเดิมวันนี้
นับแต่ร่างกายเจริญวัยสู่ “คนสูงวัย” ข้าพเจ้ามีนัด HEALTHY-CHECK ทุกๆ 3 เดือนกับ นพ. สมศักดิ์ ชัยศุภมงคลลาภ ที่ CHEST-CENTER ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ คุณหมอดูอาการเต้นของหัวใจ สำรวจระบบทางเดินหัวใจด้วยหูฟัง ติดตามความดัน ดุลยภาพของน้ำหนักตัว และเจาะเลือดดูกลูโคสเป็นบางคราวอาศัยความสนิทสนมเป็นคนไข้มานับ 10 ปี ข้าพเจ้าถือโอกาสถามคุณหมอ ว่าทำไมความจำของข้าพเจ้าจึงสั้นลงเป็นลำดับ คุณหมอก็ยิ้มๆ ตอบว่า ชีวิตข้าพเจ้าจำทุกสิ่งสารพันมาเป็นล้านเรื่อง การพูดว่า ความจำเต็มพิกัดก็ไม่น่าผิดเพี้ยน ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นปี 2493 มีนัด LUNCHEON กับกลุ่มเพื่อนชาย ที่ห้องอาหารชายทะเลจันทร์เพ็ญ (ปัจจุบันตัดชื่อชายทะเลออกไปแล้ว) ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน แรกๆ เต็มโต๊ะ 10-12 คน ต่อมาเมื่อเก้าอี้ที่นั่งเริ่มว่างลง เราก็จัดหาเพื่อนหน้าใหม่แทน สุดท้าย-ท้ายสุด เหลือแค่ 3 ใบหน้า จึงยุติ OUT TO FRIENDLY–LUNCHEON เหตุที่หายหน้า บ้างเป็นเพราะวายชนม์ตามธรรมชาติ ต้นเดือนมานั่งกินกับเพื่อนตามนัด ถึงปลายเดือน เพื่อนไม่นัด แต่ต้องไปหาเพื่อนที่ศาลาวัด ฟังพระภิกษุ 4 รูปแสดงธรรมะชั้นสูง บ้างหายหน้าไปเพราะลูกเมีย ห้ามสุดที่รักออกจากบ้านโดยลำพัง กลัวอัตราความเสี่ยงในการเดินทางกลับบ้าน อ้างว่า ความจำกับความเสี่ยงเป็นตัวเลข 2 ด้านที่ไม่เท่ากัน เหมือน BALANCE SHEET ที่เรียนมา ดังนี้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตคนเราก็น่าจะเป็น ความจำ ซึ่งติดตัวเวไนยสัตว์มาแต่โบราณกาล ดังเช่น ฝูงนกน้ำเค็มพากันร้องเจี๊ยวจ๊าว ป่าวประกาศชาวเลที่กำลังลากหอย (โดยเฉพาะหอยลาย) ตามหาดทรายให้รีบขึ้นบก เพราะน้ำทะเลกำลังมา และมันก็มาเร็ว ผู้แก่ผู้เฒ่าเคยบอกเด็กเยาว์วัยเช่นข้าพเจ้า มดดำจะคาบไข่จากใต้ดินขึ้นเรือน บอกเจ้าของเรือนให้รู้ว่า ฝนกำลังมา ครั้นข้าพเจ้าโตเป็นหนุ่มได้ยินเพลงลูกทุ่ง ฝนตกเพราะกบมันร้อง ข้าพเจ้าก็เชื่อว่ามดดำอาจได้ยินเสียงกบร้องจึงคาบไข่อพยพ นี่ถ้าสอนเราว่า นกเรียนจบวิชาอุทกศาสตร์ หรือมดดำเรียนจบวิชาอุตุนิยมวิทยา เราก็คงเชื่ออีก เพราะน้ำทะเลมันมาจริงๆ หลังจากนกร้อง และฝนก็ตกลงมาจริงหลังจากมดดำคาบไข่ขึ้นเรือน ส่วนมากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ มักเป็นคำร้อยกรอง เมื่อขวานทองของเรามีแม่น้ำ และใช้เรือเป็นหลักคมนาคม เราจึงได้ยินว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง” ช่วงเดือนสิบถึงเดือนสิบสอง ปี 2485 เกิดอุทกภัยใหญ่ในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี กรุงเทพฯ วันนี้ แต่เดิมสมัยกรุงธนบุรี คือ จังหวัดพระนคร อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะฝั่งทิศตะวันตก คือ จังหวัดธนบุรี เป็นราชธานีไทย 15 ปี ระหว่างพุทธศักราช 2310-2325 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ในปีพุทธศักราช 2310 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงยกเสาหลักเมืองกรุงเทพเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 และการฉลองสมโภชกรุง หลังสุดครบรอบ 220 ปี เกิดขึ้นในปี 2545 การรวมจังหวัดธนบุรี กับจังหวัดพระนคร เป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 2514 และเมื่อ 14 ธันวาคม 2515 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น กรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียก กรุงเทพฯ น้ำเจ้าพระยาเริ่มมีระดับสูงขึ้นในปลายเดือนกันยายน ตรงกับข้างแรมเดือนสิบ ล้นฝั่งพระนคร และธนบุรี จนถึงระดับสูงสุด 2.27 เมตร ในเดือนสิบเอ็ด วันที่ 12 ตุลาคม จากนั้นค่อยๆ ลดลงจนเป็นปกติกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งตรงกับเดือนสิบสอง ข้าพเจ้าเกิดที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ที่ว่าการอำเภออยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนทั้งหมด 6 คนของครอบครัวที่บิดาเป็นข้าราชการ สังกัดกระทรวงการคลัง ที่เรียกว่าสรรพยา เพราะมีขุนเขา และบึงชื่อ สรรพยา อันว่าเขาสรรพยานี้แหละ เมื่อคราวอินทรชิตแผลงศรพรหมาสตร์ถูกพระลักษณ์กับพวกพลสลบไปนั้น หนุมานได้แบกหินเขาสรรพยาไปรักษา และทำหินก้อนหนึ่งพลัดมือตกลงที่เมืองลพบุรี บิดาข้าพเจ้าสนใจดนตรีไทย ที่บ้านเรามีเครื่องดนตรีไทย ทั้งจะเข้, ขิม, ขลุ่ย, ซอเดี่ยว และซออู้ เครื่องดนตรีที่เป็นเรื่องเป็นราวกับครอบครัวเรา คือ จะเข้ที่คุณพ่อข้าพเจ้าเป็นผู้ดีด เพลงเอกที่นำมาดีด คือ เพลง “ลาวแพน” เมื่อคุณพ่อออกจากบ้านไปดีดจะเข้ที่ไหน จะมีเสียงดัง และเดือดร้อนถึงคุณแม่ จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด มี 3 สาย ด้านนอกสุดของตัวจะเข้ เรียกว่า “สายเอก” สายที่อยู่ตรงกลางเรียกว่า “สายทุ้ม” และสายที่อยู่ติดตัวผู้ดีดเรียกว่า “สายลวด” ตัวจะเข้มีความยาวรวมประมาณ 130-132 ซม. มีลูกบิดประจำสาย 3 อัน สาย 1 ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก 2 สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหางก่อนถึงลูกบิด ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า “นม” ติดบนหลังจะเข้สำหรับนิ้วกดรวมทั้งสิ้น 11 อัน โดยสูงเรียงลำดับตั้งแต่ 2 ซม. จนสูงถึง 3.5 ซม. ไม้ดีดจะเข้ ยาว 7-8 ซม. ลักษณะกลมปลายแหลมทำด้วยงาช้าง เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือ กับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง จิตร ภูมิศักดิ์ เล่าถึงความเป็นมาของเพลง “ลาวแพน” ว่า เป็นเพลงของเชลยลาวที่ถูกกวาดต้อนจากโคราชลงมาอยู่พระนคร เมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์เวียงจันทน์สมัยรัชกาลที่ 3 พวกเชลยลาวเหล่านี้เป็นประชาชนที่เจ้าอนุวงศ์เกณฑ์มาทำศึกปลดแอกเวียงจันทน์ แต่เมื่อยกมาถึงนครราชสีมาก็ถูกต้านจนแตกยับ เชลยลาวในพระนครถูกพวกเจ้าขุนมูลนายฝ่ายศักดินาไทย กระทำการทารุณได้รับความเดือดร้อน แต่เนื่องจากพวกเชลยปราศจากผู้นำที่เข้มแข็ง การจะลุกฮือขึ้นต่อสู้จึงเป็นเรื่องท้อแท้ และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทางออกของพวกเขา คือ ระบายความเคียดแค้น ความเร่าร้อน ความปวดร้าว และทุกข์ยากออกมาเป็นบทเพลง และเพลงบทนั้น คือ เพลง “ลาวแพน” ใครอยากฟังเพลงลาวแพน ข้าพเจ้าขอแนะนำคลิพ เดี่ยวจะเข้ ขับร้องโดย ครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ และผู้ดีดจะเข้ คือ ครูละเมียด จิตตเสวี เพลงลาวแพน มีความยาวประมาณ 8 นาที ท่วงทำนองขึ้นอย่างช้าๆ แต่ลงเร็วมากโดยเฉพาะท่อนจบ นิ้วมือผู้ดีดจะทำงานหนักในช่วงจังหวะเร็วเป็นลูกสะบัดขยี้ ช่วงนี้แหละเป็นคไลแมกซ์ของคุณพ่อข้าพเจ้า เพราะคุณพ่อมีแหวนเพชรติดนิ้วเป็นประกายยามต้องแสงไฟ แฟนภาพยนตร์ที่ดู เอลวิส พเรสลีย์ ในเรื่อง หนุ่มเลือดร้อน (JAILHOUSE ROCK) ที่โรงหนังคิงส์ วังบูรพา นาทีที่ราชันเพลงรอคบอกให้ทุกคนรอค (LET’S ROCK EVERYBODY, LET’S ROCK) นั่นแหละ คือ นาทีเร่าร้อนจากนิ้วมือสะบัดขยี้เพลงลาวแพนของคุณพ่อข้าพเจ้า การแสดงจะเข้ของคุณพ่อข้าพเจ้า ไม่มีแม่ยก แต่คุณแม่ข้าพเจ้าเดือดร้อน เพราะผู้หญิงที่ร่วมฟังเพลงคิดว่าตัวเองเป็นเชลยลาว ฟังลูกสะบัดขยี้แล้วอยากให้เจ้าขุนมูลนายกระทำการทารุณ ทางออกของหญิงอื่นใดจะเป็นอย่างไร ? คงไม่เหมือนทางออกของคุณแม่ข้าพเจ้า ครั้ง หนึ่งคุณพ่อถึงกับสวมบทจระเข้กระโจนหนีจากระเบียงบ้านไปตกคูน้ำข้างหน้า เหตุก็เพราะในมือคุณแม่มีปืนพก ! ปัจฉิมลิขิตผู้เขียน-ทั้งหมดของเรื่องนี้ เป็นตอนที่ 1 ของ MEMORANDAM “ไก่อ่อน” ซึ่งเจ้าตัวบันทึกเป็นครั้งแรก
ABOUT THE AUTHOR
ข
ข้าวเปลือก
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2562
คอลัมน์ Online : ประสาใจ