รายงาน(formula)
ลับเฉพาะ ! MAZDA MX-5 เจเนอเรชันล่าสุด
แฟนพันธุ์แท้ของ มาซดา เอมเอกซ์-5 ในประเทศไทย อาจยังไม่ทราบว่า มันเป็นสปอร์ท 2 ที่นั่ง ที่มีจำนวนประชากรบนท้องถนนมากที่สุดของบ้านเรา และน่าจะเป็นสปอร์ท 2 ที่นั่ง “รุ่นเดียว” ที่มีการนำเข้าโดยผู้แทนจำหน่ายครบทั้ง 4 เจเนอเรชัน เรียกว่าถ้าไม่มีเสียงเรียกร้องจากแฟนๆ เหตุการณ์นี้คงไม่อาจเกิดขึ้นเราจึงขอเสนอ “ความลับแห่งความสำเร็จ” ของ มาซดา เอมเอกซ์-5 รหัสตัวถัง เอนดี ซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่ 4 (และเป็นรถที่พัฒนาร่วมกับ เฟียต กรุพ จากอิตาลี) ว่าเขาทำอะไรกับรถที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก
“จินบะ อิตไต”
เพื่อให้บรรลุถึงปรัชญา “จินบะ อิตไต” ดังกล่าว มาซดา ได้สร้างบรรทัดฐานของความเป็น เอมเอกซ์-5 ไว้หลายประการ อาทิ ความสมดุล ด้วยการกระจายน้ำหนักเฉลี่ยหน้า/หลัง อัตราส่วน 50:50 ตามด้วยน้ำหนักที่เบา เครื่องยนต์ที่ให้แรงบิดสูงที่รอบต่ำ (อันเป็นสาเหตุที่เครื่องยนต์โรตารีมีน้ำหนักเบา แต่ให้แรงบิดน้อยในรอบต่ำไม่ได้รับการติดตั้งในรถรุ่นนี้) พร้อมทั้งการส่งกำลังผ่านชุดเกียร์ธรรมดาที่กระชับ เฉียบคม มีระยะเปลี่ยนเกียร์เพียงขยับข้อมือ อันเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากยิ่งในรถยนต์รุ่นอื่นๆ สุดท้าย คือ ความเรียบง่ายของการออกแบบ จากเอกลักษณ์เหล่านี้ เอมเอกซ์-5 รหัสตัวถัง เอนดี ได้พัฒนารายละเอียดทางวิศวกรรมให้เข้าใกล้อุดมคติขึ้นไปอีกขั้น แต่สิ่งที่ทีมวิศวกรของ มาซดา ประสบความสำเร็จกับรถคันนี้มากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของการ “ลดน้ำหนัก” น้ำหนัก “เบา” เป็นหัวใจของ มาซดา เอมเอกซ์-5 มานับตั้งแต่เจเนอเรชันแรก (รหัสตัวถัง เอนเอ) ได้สืบทอดจิตวิญญาณ และแนวคิดในการสร้าง โลทัส รถสปอร์ทน้ำหนักเบาจากอังกฤษในยุคทศวรรษที่ 60 ในด้านของการทำให้ “เบา” มากกว่าการ “เพิ่มแรงม้า” โดยแนวคิดการลดน้ำหนักนั้นเป็นแนวคิดที่เราสามารถเห็นได้อุปกรณ์เพื่อการแข่งขันนานาชนิดที่ใช้ความเร็ว อาทิ จักรยานเสือหมอบ ที่แข่งกันในหน่วยกรัม ยิ่งเบาก็ยิ่งเร็ว ยิ่งเบาก็ยิ่งทำให้ใช้แรงขับเคลื่อนน้อยลง และยิ่งเบาก็ยิ่งลดความต้องการด้านกำลังเครื่องลง รวมไปถึงลดความจำเป็นของการใช้ชิ้นส่วนที่ต้องรับแรงลงไปด้วยเวลาเดียวกัน มาซดา เอมเอกซ์-5 รุ่นล่าสุด มาพร้อมกับ เครื่องยนต์สกายแอคทีฟ ขนาด 1.5 ลิตร (เอมเอกซ์-5 ที่นำเข้าโดยผู้แทนจำหน่ายในบ้านเรา เป็นรุ่นเครื่องยนต์สกายแอคทีฟ 2.0 ลิตร มีน้ำ-หนักตัวเพียง 975 กิโลกรัม ซึ่งเรียกได้ว่าเบาที่สุด นับตั้งแต่ผลิตรถยนต์รุ่นนี้ออกมา และเบากว่ารถรุ่นที่แล้ว (รหัสตัวถัง เอนซี) ถึง 100 กิโลกรัม แนวคิดเรื่องน้ำหนักเบานั้น หากเปรียบเทียบกับเจเนอเรชันแรก ยุคนั้นทำได้โดยการ “ใส่เท่าที่จำเป็น” แต่ด้วยการพัฒนาด้านความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ และคุณภาพการขับขี่ รวมไปถึงมาตรฐานการซับเสียงรบกวนที่สูงขึ้นกว่าเมื่อ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จำเป็นต้องคิดกันใหม่หมดว่าจะทำให้รถในรหัสตัวถัง เอนดี มีน้ำหนักเบาทัดเทียมรหัสตัวถัง เอนเอ ที่เป็นตำนานได้อย่างไร เริ่มจาก “ลดขนาดตัวถัง” แน่นอนว่ารถรุ่นใหม่ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานการออกแบบที่เน้นความสมดุลของการกระจายน้ำหนักหน้า/หลัง แบบ 50:50 และมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ แต่นอกจากนั้น รถรุ่นใหม่ผลงานของทีมงาน มาซดา ในสหรัฐอเมริกา นำทีมโดย เดเรค เจงคินส์ มีความยาวตัวถังเพียง 3,915 มม. สั้นกว่ารุ่นที่แล้วที่มีความยาว 3,999 มม. ถึง 74 มม. หรือเกือบ 3 นิ้ว รวมไปถึงการลดความยาวฐานล้อลงเกือบ 20 มม. เมื่อเทียบกับรุ่นก่อน เหลือเพียง 2,310 มม. ซึ่งส่งผลกับการลดน้ำหนักอย่างชัดเจน ด้วยการใช้แนวความคิด สกายแอคทีฟ อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชิ้นส่วนที่มีขนาดสั้นลง ด้วยการออกแบบให้ชิ้นส่วน “เป็นเส้นตรง” มากขึ้น ส่วนการรับแรงบิดได้มากขึ้นของแชสซีส์แบบแบคโบน (BACKBONE CHASSIS) มรดกทางการออกแบบจาก โลทัส ได้มาจากการออกแบบอุโมงค์กลางที่มีหน้าตัดใหญ่ขึ้น แข็งแรงมากกว่าเดิม รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติสูง อาทิ เหล็กเหนียวชนิดพิเศษ และอลูมิเนียม เป็นต้น โดยใช้เหล็กเหนียวในสัดส่วนมากถึง 71 % ของน้ำหนักตัวถัง เพิ่มขึ้นจากรุ่นที่แล้วที่ใช้เพียง 58 % และอลูมิเนียมเกรด 7000 นั้นใช้มากถึง 9 % จากเดิมที่ใช้เพียง 0.1 % เท่านั้น ซึ่ง 20 % ของน้ำหนักที่ลดลงได้นั้น มาจากการนำอลูมิเนียมมาใช้กับชิ้นส่วนกันชนหน้าและหลัง เพียงเท่านั้นสามารถช่วยให้ลดน้ำหนักลงได้ 3.6 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับแบบเหล็กแผ่นปั๊มของรุ่นที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีการนำไปใช้ในส่วนอื่นๆ อาทิ ชิ้นส่วนตัวถัง วัสดุเสริมความแข็งแรงของตัวรถ และเบาะนั่ง ที่รวมกันแล้วน้ำหนักลดลงได้ถึง 16 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการลดน้ำหนักของระบบช่วงล่างลงถึง 12 กิโลกรัม และการนำเอาเทคโนโลยี พวงมาลัยเพาเวอร์ที่ผ่อนแรงด้วยระบบไฟฟ้าเข้ามาแทนที่ระบบไฮดรอลิค โดยได้เลือกใช้ระบบตัวหนอนคู่ผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (DUAL-PINION ELECTRIC POWER ASSIST STEERING) ที่นอกจากจะเบากว่า และยังกินแรงจากเครื่องยนต์น้อยกว่ามากอีกด้วย เมื่อกล่าวถึงระบบพวงมาลัยผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า หลายท่านอาจจะเป็นกังวลว่ามันอาจจะทำให้การตอบสนองของพวงมาลัยไม่เป็นธรรมชาติ เมื่อเทียบกับระบบไฮดรอลิคที่คุ้นเคย แต่ในปัจจุบัน ระบบได้รับการพัฒนาปรับแต่งมาจนให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติแบบไม่มีข้อกังขาใดๆ แล้ว พร้อมกับมอบข้อดีด้านความปลอดภัยหลายๆ ประการ อาทิ การช่วยรักษาให้รถวิ่งได้ตรงเลน ไม่คร่อมเลน หรือเบี่ยงออกจากเลนโดยไม่ตั้งใจได้อีกด้วย (เมื่อทำงานร่วมกับระบบความปลอดภัยอื่นๆ) เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ นอกจากจะโดดเด่นในด้านความคม และกระชับว่องไว เพียงขยับข้อมือ ยังเบาลงถึง 7 % ด้วยการใช้ห้องเกียร์ที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อ รวมถึงเฟืองท้ายใหม่ที่เบาลงประมาณ 7-10 กิโลกรัม (แล้วแต่รุ่นเครื่องยนต์) สำหรับเครื่องยนต์ก็ถูกลดน้ำหนักลงเช่นกัน ด้วยแนวคิดสกายแอคทีฟ เบนซิน แบบ 4 สูบ อัตราส่วนกำลังอัด 13.0:1 มีให้เลือกทั้ง 1.5 และ 2.0 ลิตร ซึ่งได้รับการลดน้ำหนักชิ้นส่วนของระบบไอดี ไอเสีย และระบบความร้อน โดยในรุ่น 2.0 ลิตร หากเทียบกับเครื่องยนต์รหัส เอมอาร์เซด ที่ประจำการในรุ่น เอนซี จะเบากว่า 8 กิโลกรัม และหากนำรุ่น สกายแอคทีฟ 1.5 ลิตร มาเทียบก็จะเบากว่าถึง 15 กิโลกรัม น้ำหนักที่ลดลงเป็นผลจากการใส่ใจในรายละเอียด อาทิ การบีบผนังห้องเครื่องบางลงในจุดที่ทำได้ ฟลายวีล เพลาข้อเหวี่ยง รวมถึงลูกสูบ ต่างถูกลดน้ำหนัก คานหม้อน้ำบางและสั้นลง ท่อไอดี และชุดท่อไอเสีย ล้วนแล้วแต่ได้รับการรีดน้ำหนักให้เบา รวมไปถึงฝาครอบเครื่องที่ทำจาก อลูมิเนียมฉีดขึ้นรูปยังมีน้ำหนักทัดเทียมกับฝาครอบพลาสติคอีกด้วย เรื่องการลดน้ำหนักตัวถังอาจทำให้หลายๆ คนกังวลว่ารถจะอ่อนแอ แต่ในความเป็นจริง เอมเอกซ์-5 รุ่นล่าสุดนี้กลับแข็งและแกร่งกว่ารุ่นเดิมด้วยซ้ำ ด้วยการปรับปรุงเสริมความแข็งแรงในหลายจุด อาทิ จุดยึดระบบรองรับทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หรือแม้กระทั่งจุดยึดเบาะนั่ง ทั้งหมดนี้ช่วยให้ตัวถังเกิดความแกร่ง และลดความสั่นสะเทือน ลดเสียงรบกวนอันเกิดจากคลื่นความถี่ต่ำที่เกิดขึ้นจากถนน อันนำมาซึ่งความเงียบของห้องโดยสาร นอกจากนั้นการออกแบบรูปทรงของขอบเฟรมกระจกบังลมหน้าก็ยังช่วยลดเสียงรบกวนที่เป็นคลื่นความถี่สูงจากลม อีกทั้งตัววัสดุผ้าใบเองก็ได้รับการออกแบบให้กันเสียงได้ดีขึ้น และกระพือเมื่อแหวกอากาศน้อยลง เมื่อเปิดประทุนแล้ว ก็ยังมีชุดปิดหลังคาผ้าใบทำจากอลูมิเนียมครอบทับ ซึ่งแม้ความเงียบในห้องโดยสารอาจจะไม่เคยเป็นจุดแข็งของรถรุ่นก่อน แต่สำหรับรุ่นล่าสุดได้รับการออกแบบให้ผู้ขับและผู้โดยสาร สามารถสนทนากันได้ในยามเปิดหลังคาได้อย่างสบาย ด้วยการใส่ใจในระบบอากาศพลศาสตร์ ทั้งหมดนี้ทำให้ลดเสียงรบกวนลงได้ถึง 40 % เมื่อเทียบกับรุ่นหลังคาผ้าใบในรุ่นก่อนหน้านี้ จุดสุดท้ายที่ช่วยให้รถคันนี้เบาลงได้อีก นั่นคือ การกำหนดขนาดของล้อและยางที่ใช้ จากการที่ทีมวิศวกรสามารถลดน้ำหนักของตัวรถยนต์ลงมาได้เบาขนาดนั้นแล้ว ไฉนเลยจึงจะต้องยึดติดกับการใช้ล้อขนาดใหญ่กับยางหน้ากว้าง นั่นจึงนำมาซึ่งการลดจำนวนนอทล้อกลับมาเหลือ 4 ตัว (เหมือนในรุ่น เอนเอ กับ เอนบี) จากเดิมในรหัสตัวถัง เอนซี นั้นใช้นอทล้อ 5 ตัว เหมือนกับ มาซดา 3 ซึ่งตามมาตรฐานแล้ว ล้อที่ใช้นอท 5 รู ต้องได้รับการออกแบบให้รับโหลดมากกว่านอท 4 ตัว ถึงวงละ 190 กิโลกรัม ส่งผลให้ล้อแต่ละวงโดยเฉลี่ยจะต้องหนากว่าและหนักกว่าราว 2 กิโลกรัม/วง และยังสามารถลดขนาดยางลงให้เบากว่าเดิมอีกด้วย น้ำหนักรวมของล้อและยางจะลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการบังคับควบคุม นอกจากเรื่องการลดน้ำหนักแล้ว ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมายสำหรับ มาซดา เอมเอกซ์-5 เจเนอเรชันล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราสิ้นเปลือง ระบบอำนวยความสะดวก ระบบความปลอดภัย และระบบเปิด-ปิดหลังคาที่ว่องไวกว่ารถเปิดประทุนทั่วไป (ใช้เวลาเพียง 12 วินาทีเท่านั้น) แต่ไฮไลท์จริงๆ คือ เรื่องการลดน้ำหนัก และความสนุกในการขับขี่โดยไม่ง้อพลังเครื่องยนต์นั่นเองรุ่นพิเศษ ฉลองครบรอบ 30 ปี
ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการทำตลาด มาซดา จึงรังสรรค์รถรุ่นพิเศษขึ้นมา โดยผลิตจำนวนจำกัด 3,000 คัน ทั่วโลก และเป็นโชคดีสำหรับแฟนๆ หรือนักสะสมชาวไทย กับโควตาการจำหน่ายที่ 12 คัน ! (สามารถเลือกได้ทั้งตัวถังแบบประทุนหลังคาอ่อน หรือหลังคาแข็งพับได้) สำหรับความพิเศษของ MAZDA MX-5 30th ANNIVERSARY นั้นมีดังนี้ (อุปกรณ์บางรายการอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคที่ทำตลาด) • สีตัวถังโทนส้ม RACIN ORANGE • ล้ออัลลอยฟอร์จ RAYS ZE40 RS30 ขนาด 17 นิ้ว ออกแบบขึ้นมาให้กับ เอมเอกซ์-5 รุ่นพิเศษโดยเฉพาะ • ป้ายสัญลักษณ์ 30th ANNIVERSARY พร้อมเลขลำดับของตัวรถ (จำนวนทั้งหมด 3,000 คัน) • คาลิเพอร์เบรคสีส้ม ด้านหน้าเป็นของ บเรมโบ • เบาะนั่ง เรคาโร อัลคันทารา เช่นเดียวกับคอนโซลหน้า แผงข้างประตู พวงมาลัย และหัวเกียร์ • ชอคอับ บิลชไตน์ • ระบบเครื่องเสียง BOSE พร้อมลำโพง 9 ตัว รองรับ APPLE CAR PLAY และ ANDROID AUTOMIATA CLUB OF THAILAND
https://www.miata-thai.net/ และ https://www.facebook.com/groups/162803140448370/ ศูนย์รวมผู้ใช้ มาซดา เอมเอกซ์-5 ครบทุกเจเนอเรชัน พื้นที่สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะ ขอคำปรึกษา หาอะไหล่ทั้งของใหม่และมือสอง พร้อมกิจกรรมพบปะสังสรรค์ของคนคอเดียวกันที่มีอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ใช่กลุ่มเดียวในประเทศไทย แต่มีอายุยาวนานกว่า 19 ปี (ก่อตั้ง 9 กันยายน 2543) โดยมีจำนวนสมาชิกที่ครอบครองเป็นเจ้าของ เอมเอกซ์-5 มากกว่า 200 คัน และผู้ที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถอีกราว 5,000 คน (อ้างอิงข้อมูลจาก เฟศบุค “กลุ่มปิด” MIATA CLUB OF THAILAND) กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ มาซดา เอมเอกซ์-5 ทั้งเรื่องการบำรุงรักษา และแนวทางการตกแต่งโมดิฟายด์ โดยไม่มุ่งผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพราะไม่มีเรียกเก็บค่าสมาชิก, ค่าลงโฆษณาขายสินค้า ส่วนการจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นการหารค่าใช้จ่ายร่วมกันของสมาชิก ผู้ที่สนใจสามารถสแกนคิวอาร์โคด แล้วปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อร่วมกลุ่มได้เลย ไม่ต้องเป็นเจ้าของรถก็เข้ามาเป็นสมาชิกได้ผู้เชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุง
JUB GARAGE
https://www.facebook.com/Newjubgarage/ “จุ๊บ การาจ” ดำเนินงานโดย ชนธิป พฤกษ์ประมูล หรือ “พี่จุ๊บ” อดีตหัวหน้าช่างคนแรก HKS THAILAND อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของ มาซดา เอมเอกซ์-5 ทุกรหัสตัวถัง ทั้งเรื่องการบำรุงรักษาด้วยแนวคิดที่เน้นความสมบูรณ์ของระบบต่างๆ ของรถ เริ่มจากการเซอร์วิศทั่วไปตามระยะทาง ให้สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างสบายใจ รวมถึงการตกแต่งโมดิฟายด์เพิ่มพละกำลังก็สามารถให้บริการได้หลายระดับ ทั้งแบบเน้นขับสนุก แอร์เย็น เพลงเพราะ ไล่ไปถึงระดับ “ฟูลล์เรศ” เพื่อไปโลดแล่นในสนามแข่งก็สามารถตอบสนองความต้องการได้เช่นกันGT2 MOTORWERKS
https://www.facebook.com/gt2mw จีที 2 มอเตอร์เวิร์ค ดำเนินงานโดย นครินทร์ ธวัชภักดี หรือ “พี่ต๋อง” อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของ มาซดา เอมเอกซ์-5 ทุกรหัสตัวถัง ที่มีแนวคิดการโมดิฟายด์ที่ไม่เน้นให้มีพละกำลังมากมายจนเกินไป แต่เน้นให้ขับสนุกเคียงคู่กับความสวยงามของตัวรถ โดยให้บริการครบวงจร ตั้งแต่งานสีและตัวถัง (ใช้อู่พาร์ทเนอร์) เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และระบบรองรับ รวมถึงเซอร์วิศตามระยะทาง เน้นการทำรถโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ใช่เน้นความแรงอย่างเดียว สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสแกนคิวอาร์โคดไปกดไลค์เพจได้เลย ยินดีให้คำปรึกษาABOUT THE AUTHOR
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2562
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)
คำค้นหา