สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอมจี เปิดตัวรถรุ่น เซดเอส อีวี ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100 % ในราคาเพียง 1.19 ล้านบาท หวังชิงผู้นำตลาดรถไฟฟ้าไทย "ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์พิเศษ พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัดฟอร์มูลา : เอมจี มองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเดินไปในทิศทางใด ? พงษ์ศักดิ์ : อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเติบโตเหนือความคาดหมาย เห็นได้ชัดเจนมากในปีที่แล้ว แต่การเติบโตนี้ส่งผลทั้งในแง่ดีและไม่ดี ในส่วนดี คือ มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ การเติบโตเร็วเกินไปจะทำให้มีกำลังซื้อเกิน และอาจส่งผลกระทบในปีต่อไป โดยสัดส่วนที่เหมาะสม น่าจะเติบโตประมาณ 10 % สำหรับปีนี้คาดว่ายอดขายโดยรวมก็น่าจะเติบโตประมาณ 10 % แต่จะเป็นเพียงบางยี่ห้อเท่านั้น ไม่ได้เติบโตในภาพรวม และจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเครื่องยนต์สันดาป เป็นรถยนต์ที่ใช้แบทเตอรีมากขึ้น ปีที่แล้ว เอมจี มียอดขายโดยรวม 20,000 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 100 % เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ปีนี้ เอมจี ตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้น 50 % เนื่องจาก เอมจี ประเทศไทยครบรอบ 5 ปี โดยที่ผ่านมา เอมจี มียอดขายเติบโตสะสมอย่างต่อเนื่อง และปีนี้ เอมจี มีผลิตภัณฑ์ใหม่เปิดตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับปีที่ 5 เอมจี จึงตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 50,000 คัน ฟอร์มูลา : เอมจี วางนโยบายและทิศทางการรุกตลาดไว้อย่างไร ? พงษ์ศักดิ์ : เอมจี วางแผนและมองทิศทางแนวโน้มตลาดโลกไว้ 4 แนวทาง 1. ELECTRICAL ระบบไฟฟ้า 2. INTELLIGENT CONNECTIVITY การเชื่อมต่อรวมถึงระบบอัจฉริยะจะมีมากขึ้น 3. SHARING การแบ่งปัน และ 4. GLOBALISATION คือ ความเป็นสากลมากขึ้น ในอนาคต รถจะขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ และแบทเตอรี โดยเริ่มต้นที่ไฮบริด แล้วมาสู่พลัก-อิน ไฮบริด พลัก-อิน ไฮบริด ก็มี 2 แบบ โดยช่วงแรกจะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ พอผ่านไประยะหนึ่งก็จะขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ แล้วก็มาสู่ยุคของแบทเตอรี EV ซึ่งขณะนี้ยังคงบอกไม่ได้ว่า EV จะมาแทนรถยนต์ทั้งหมด ในวันนี้ ยังมีความหลากหลายในการใช้เชื้่อเพลิงอยู่บ้าง เพียงแต่ว่า EV เป็นทิศทางที่จะมีการใช้เพิ่มมากขึ้น INTELLIGENT CONNECTIVITY เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบ 5G เห็นได้อย่างชัดเจนในงาน เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์โชว์ SAIC แนะนำรถยนต์ที่เป็นตัวการเชื่อมต่อกับ 5G รวมถึงระบบอัตโนมัติต่างๆ รถยนต์ของ เอมจี บางรุ่น สามารถทำงานด้วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการบังคับควบคุม เรื่องของการช่วยเบรค หรือวิเคราะห์ กำหนดช่องทางการวิ่ง เช่น ADAPTIVE CRUISE CONTROL ก็จะวิ่งตามรถคันหน้าได้ ตัวอย่าง รถวิ่งที่ความเร็ว 120 กม./ชม. แล้วรถคันหน้าเบรค รถเราก็จะเบรคตาม ซึ่งเรียกว่าเข้าสู่ยุคที่ใกล้เคียงรถอัตโนมัติมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องมี ECU ที่มีขนาดใหญ่ แต่ใช้ระบบการเชื่อมต่อผ่าน 5G โดยส่งข้อมูลเพียงเสี้ยววินาที แล้วก็มีระบบ AI ที่ช่วยประมวลผล SHARING เราสามารถใช้รถจากจุดจอดรถที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ ไม่ได้หมายความว่าคนไม่อยากมีรถ แต่มีรถเพื่อประโยชน์อย่างอื่น เช่น ไปเที่ยว เพื่อการพักผ่อน อันนี้เพื่อเป็นรถที่ใช้งานจริง สุดท้ายเรื่อง GLOBALISATION เป็นนโยบายที่บริษัทจะไปเติบโตในต่างประเทศ รวมถึงทำโมเดลที่ตอบสนองความต้องการในตลาดต่างประเทศมากขึ้น นอกเหนือจากตลาดในประเทศ นี่คือ แนวทางที่ SAIC วางไว้ สำหรับประเทศไทย บริษัทฯ เปิดตัว เอมจี เซดเอส อีวี ใหม่ ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100 % แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ความจุ 44.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง วิ่งได้ไกลกว่า 337 กม. ผสานเทคโนโลยีความปลอดภัย พร้อม ADVANCED DRIVER-ASSISTANCE SYSTEMS รองรับการชาร์จไฟทั้งแบบ NORMAL CHARGE ใช้เวลาเพียง 6.5 ชม. และแบบ QUICK CHARGE ที่ 80 % ในเวลาเพียง 30 นาที ในการชาร์จไฟฟ้าทาง เอมจี ได้ประสานงานกับเครือข่าย EA ANYWHERE การไฟฟ้านครหลวง และอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เชื่อว่าจุดชาร์จจะมีเพียงพอ เพราะทุกหน่วยมีแผนที่จะเพิ่มสถานี เอมจี เซดเอส อีวี ใหม่ เปิดตัวด้วยราคา 1,190,000 บาท พร้อมพโรโมชัน 1,000 คันแรก รับประกันแบทเตอรี นาน 8 ปี ไม่จำกัดระยะทาง ฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง ฟรี MG HOME CHARGER มูลค่า 45,000 บาท พร้อมค่าติดตั้ง 20,000 บาท บริษัทฯ มองว่าอุปสรรคหลัก คือ ต้นทุนรถไฟฟ้าค่อนข้างสูง ปัจจุบันรถยนต์ 2-3 ยี่ห้อที่นำมาขายมีราคาประมาณ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป แต่เมื่อดูเรื่องราคา และคุณสมบัติของรถ ทำให้ไม่มีแรงดึงดูดความต้องการเป็นเจ้าของ ซึ่งแน่นอนว่า ราคาที่แตกต่างระหว่างเครื่องยนต์ที่เป็นสันดาปภายใน กับรถไฟฟ้า มูลค่ามีช่องว่าง แต่ถ้าจำได้ ช่วงแรกของรถยนต์ไฮบริด ส่วนต่างกับรถเครื่องยนต์สันดาปก็ต่างกันมากเหมือนกัน ดังนั้น คนที่ซื้อรถพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่จะไม่คำนึงถึงส่วนต่างเป็นที่ตั้ง แต่ให้ความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือต้องการที่จะเป็นผู้นำในกลุ่ม เป็นผู้นำเทคโนโลยี หรือสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ราคารถที่ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท น่าจะมีโอกาสทำให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ อีวี มากขึ้น เพราะจากการวิเคราะห์ รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ขนาด บี-เซกเมนท์ ราคาอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านบาท ถ้าจะเพิ่มเงินเป็น 1.5 ล้านบาท รถ อีวี ก็ถือว่าไม่มาก แต่ถ้าถึง 1.8 หรือ 1.9 ล้านบาท อาจจะสูงเกินไป อีกอย่าง ประเทศไทยมีเขตการค้าเสรี FTA ซึ่งรวมจีนด้วย ภาษีนำเข้า 0 % จึงทำให้ เอมจี เซดเอส อีวี ใหม่ ตั้งราคาขายได้น่าจับต้องมากขึ้น ฟอร์มูลา : ปัจจุบันสถานีชาร์จมีเพียงพอหรือไม่ ? พงษ์ศักดิ์ : มีหน่วยงานเอกชนและภาครัฐได้ขยายสถานีชาร์จอย่างแพร่หลาย ตัวอย่าง เช่น EA ที่ขยายสถานีชาร์จ EA ANYWERE ทั่วประเทศแล้วกว่า 500 แห่ง และยังร่วมพันธมิตรหลายธุรกิจ ขยายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนของสถานีน้ำมันปตท. มีแผนที่จะขยายเพิ่มในส่วนนี้ รวมถึงยังมีในส่วนของ การไฟฟ้านครหลวง กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โชว์รูมรถยนต์ ห้างสรรพสินค้า สิ่งสำคัญ ต้องเข้าใจว่ารถไฟฟ้ามีการชาร์จอยู่ 2-3 วิธี วิธีแรก คือ PUBLIC STATION ใช้ไฟกระแสตรงเปลี่ยนเป็นกระแสสลับ เป็น QUICK CHARGE ใช้เวลาจ่ายไฟ 30-40 นาที ได้ถึง 80 % ถ้ารถสามารถวิ่งได้ 300 กม. กว่า ก็อาจจะวิ่งได้ 200-300 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง อันที่ 2 คือ พวก HOME CHARGE ใช้เวลา 8 ชม. ชาร์จเต็ม 100 % สามารถชาร์จที่บ้านได้ เพียงแต่ว่าที่บ้านต้องมีไฟเพียงพอในการชาร์จไฟ หรือหากว่าไฟไม่พอ การไฟฟ้าให้คำแนะนำในการเพิ่มมิเตอร์ เพิ่มไฟที่ใช้ในบ้านได้ไม่ยาก ถ้าหากเราทำงานอยู่ในออฟฟิศ ไม่จำเป็นต้องไปชาร์จที่อื่นเลย เพราะวันหนึ่งใช้รถไม่กี่กม. อีกหนึ่งการชาร์จเป็น EMERGENCY ในกรณีที่ไม่มีที่ชาร์จ คือ ใช้ไฟบ้าน เหมือนกับเราไปซื้อ ADAPTER มาอันหนึ่ง เพียงแต่มันใช้เวลานาน 10 ชม. หรือ 20 ชม. แต่นั่น คือ กรณีที่เราไม่มีพื้นที่ติดตั้งที่ชาร์จ หรือไม่สะดวกไปชาร์จที่สถานี ฟอร์มูลา : คุณคิดว่า รถไฟฟ้ามาเร็วไปหรือไม่ ? พงษ์ศักดิ์ : ถ้าวันนี้เราไม่มีรถยนต์ไฮบริด ผมก็ยังรู้สึกว่ามันเร็ว แต่รถไฮบริดก็มีแบทเตอรีอยู่แล้ว ปัจจุบัน ปริมาณรถไฮบริดมีมากพอสมควร ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ให้การตอบรับรถ อีวี ได้ง่าย แต่สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ใช้รถยนต์สันดาป ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เหตุผลก็คือ คนกลุ่มหนึ่ง จะมองเรื่องราคาขายต่อ แต่คนที่ซื้อไฮบริด ส่วนใหญ่จะไม่มองเรื่องราคาขายต่อ คนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อมากพอ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การตอบรับเทคโนโลยี และภาพลักษณ์ จุดนี้ก็จะมาทดแทนที่เงินต้องจ่ายเพิ่มขึ้น สำหรับรถ อีวี ไม่ได้ทดแทนไฮบริด แต่ อีวี มีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า มีความซับซ้อนน้อยกว่า การดูแลรักษาง่ายกว่า มีค่าบำรุงรักษาน้อยกว่า เพราะไม่มีเครื่องยนต์ ไม่มีระบบกลไก เป็นระบบไฟฟ้าล้วนๆ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ยกตัวอย่าง ใช้งาน 7-8 ปี ระยะทาง 100,000-200,000 กิโลเมตร ค่าบำรุงรักษาไม่ถึง 20,000 บาท ความพร้อมของเรา ถ้ามองตลาดโลก ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานทางเลือกใหม่ ทั่วโลก รวมพลัก-อิน ไฮบริด กับ อีวี เป็นรถยนต์ประเภทเดียวกัน ปีที่แล้วมียอดขายทั่วโลก 2,000,000 คัน ส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 4 % ในจีนมียอดขาย 1.1 ล้านคัน สัดส่วนประมาณ 3 % ส่วนปีนี้ ทั่วโลก รวมถึงประเทศจีนมองว่า แบทเตอรีกับ อีวี จะรวมกันได้ 6-8 % แต่บางประเทศก็เติบโตอย่างมาก เช่น ประเทศนอร์เวย์ มีรถ อีวี เกิน 50 % ส่วนยุโรป เติบโตสูงมาก และประเทศอื่นๆ ก็ยังค่อยๆ เติบโต ซึ่งต้องใช้เวลา ฟอร์มูลา : เพราะอะไร เอมจี จึงนำรถ อีวี เข้ามาจำหน่าย ? พงษ์ศักดิ์ : เอมจี เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะมองเห็นศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งโรงงานที่ระยอง แต่หลังจากที่รถไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทาง SAIC มองเห็นโอกาสและจังหวะที่ดี จึงได้ยื่นเสนอการลงทุนทั้งโครงการมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะทำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ โดยระยะแรกจะเริ่มที่โรงงานแบทเตอรีก่อน คาดว่าจะลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท โดยแผนงานระยะแรกจะเป็นการนำวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่มีอยู่แล้วมาเริ่มประกอบ MODULE เป็น STACK ก่อนแล้วค่อยเอามารวมเป็นชิ้น ซึ่งการทำงานจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันปริมาณยังมีน้อยมาก เป็นเพียงเริ่มต้น แต่ เอมจี อยากแสดงให้เห็นว่าเรามีความพร้อม มีเทคโนโลยี อีกส่วนหนึ่ง เอมจี มีเป้าหมายที่จะขึ้นเป็น TOP 10 จึงจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานในส่วนต่างๆ ไว้ อีกทั้งต้องไปตามกระแสหลักรถยนต์ในอนาคต ตัวอย่าง สมัยก่อนประเทศไทยเคยยิ่งใหญ่ในด้านการผลิตจอทีวีโค้ง แต่เมื่อถึงยุคจอแบน ประเทศไทยไม่ผลิต ผู้ประกอบการจึงหันไปผลิตที่ประเทศ เกาหลี และ เวียดนาม ดังนั้นหากต้องการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ เราก็ต้องตามกระแส หรือตามทิศทางของโลกให้ทัน ฟอร์มูลา : โรงงานแบทเตอรีจะเริ่มการผลิตเมื่อไร ? พงษ์ศักดิ์ : ตามแผนที่วางไว้จะเริ่มได้ประมาณปลายปีหน้า และจะเริ่มประกอบแผงที่เป็น พลัก-อิน ไฮบริด ก่อน ฟอร์มูลา : 5 ปี ที่ผ่านมา เอมจี ประสบความสำเร็จมาก/น้อยแค่ไหน ? พงษ์ศักดิ์ : ผมว่ามองเป็นการพัฒนาของเรา ที่เห็นผล คือ ยอดขาย และจำนวนดีเลอร์ที่เพิ่มขึ้น เป็นตัวชี้วัดที่เห็นว่า สร้างการเจริญเติบโตขึ้นใน เอมจี ได้แน่นอน รถแต่ละรุ่น มีการเปลี่ยนแปลง เรามีตัวเลขยอดขาย ซึ่งเป็นตัวที่สะท้อนได้ถึงความสามารถของเรา ฟอร์มูลา : เอมจี จะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาจุดใดเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ? พงษ์ศักดิ์ : สิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างความแตกต่าง โดยที่ผ่านมา เอมจี ได้ทำอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดที่จะพัฒนา ซึ่งจะเห็นได้ในหลายจุด เช่น ผลิตภัณฑ์ ที่ เอมจี ออกแบบพัฒนาการใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆ ในรถยนต์แต่ละรุ่นที่แตกต่าง และเหนือกว่าคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น ระบบ INTELLIGENT อีกเรื่องหนึ่ง คือ การขยายเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย ที่เป็นตัวการันตีการบริการ ปัจจุบันมีกว่า 100 แห่ง เป็นการขยายการบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี และช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งเมื่อมีการพัฒนา 2 จุดหลักนี้ ก็ทำให้ยอดขายเติบโตตามมา ฟอร์มูลา : เอมจี มีความแตกต่าง และเหนือกว่าคู่แข่งในด้านใดบ้าง ? พงษ์ศักดิ์ : นอกเหนือจากเทคโนโลยี และการออกแบบ คิดว่าเรามีความแตกต่างเรื่องของจุดขาย เช่น เรื่องของการขับขี่ที่เราเน้นสไตล์ยุโรป ที่มีสมรรถนะในการขับขี่มั่นคงกว่ารถญี่ปุ่น รถญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องความสบาย นุ่มนวล ขับง่าย สำหรับเราให้ความมั่นใจ ตั้งแต่เรื่อง ตัวถัง ระบบกันสะเทือนที่แข็งแรง ยึดเกาะถนนได้ดี นอกจากนั้นยังมีเรื่องเทคโนโลยี เช่น I-SMART ที่แตกต่าง โดดเด่น ไม่เหมือนใคร และน่าจะล้ำสมัยกว่าบแรนด์อื่นในท้องตลาด ฟอร์มูลา : เอมจี ตั้งเป้าหมายในอนาคตไว้อย่างไร ? พงษ์ศักดิ์ : เป้าหมายแรก คือ ปี 2563 เอมจี ต้องติดอันดับ 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเมืองไทย ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้อย่างมาก แต่เรายังมีเป้าหมายต่อไปที่ไกลกว่า คืออาจจะไปถึง 1 ใน 5 หรือ TOP 5 ของกลุ่ม TEAR ONE ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ เอมจี สำเร็จตามเป้าหมาย คือ ผลิตภัณฑ์ และเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย โดย เอมจี มีความพร้อมอย่างมาก ในการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด และตั้งเป้าที่จะมีเครือข่าย 150 แห่ง ภายในปี 2563 ฟอร์มูลา : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับ เอมจี ในปัจจุบัน ? พงษ์ศักดิ์ : ผมมองว่าตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานกับ เอมจี มันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง นั่นคือ ทำให้เกิดในประเทศไทย เนื่องจากยี่ห้อ เอมจี ไม่ใช่บแรนด์โนเนม ไม่ใช่บแรนด์จีนตามที่คนเข้าใจกัน ถึงแม้ช่วงแรกการดีไซจ์นอาจจะไม่ล้ำสมัย แต่คุณภาพ ยังคงความเป็น เอมจี และถึงวันนี้ เอมจี ไม่ได้น้อยหน้ายี่ห้อใด มีปริมาณรถบนท้องถนนมากพอสมควร ภายในปี 2563 ต้องมีมากกว่า 50,000 คันแน่นอน
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : จินดา ลัยนันท์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2562
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)