ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ เรื้อ-รังมานาน และทำท่าจะหมดทางแก้ ถึงขนาดเคยมีอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม. คนหนึ่งเสนอให้เปิดไฟเขียวพร้อมกันทุกแยก ซึ่งถ้าไม่บ้าก็แสดงว่าจนปัญญาแล้วจริงๆอย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเรื่องคันๆ แบบนี้ ยังสามารถแก้ไข หรือบรรเทาได้ ถ้าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ “เกา” ให้ถูกที่คัน การเร่งสร้างระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าให้เพียงพอ และเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงก็นับเป็นการเกาถูกที่คันนะครับ แต่กว่าจะเห็นผลจริงจังต้องใช้เวลาอีกหลายปี ในความเห็นผม จุดที่คันมากๆ อยู่ตอนนี้ แต่ยังไม่มีใครมาเกาเสียที คือ บรรดา “คอขวด” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณคอสะพาน (ซึ่งไม่รู้ทำไมต้องสร้างให้แคบกว่าถนน) ทางร่วมทางแยก ทั้งในถนนทั่วไป และบนทางด่วน แถมช่วง 3-4 ปี ต่อจากนี้ ต้องนับรวมคอขวดตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าด้วย คอขวดเหล่านี้ละที่สามารถทำให้รถมากระจุกตัว และติดขัดเป็นวงแหวนได้ภายในเวลาไม่นาน และยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในจุดเดิมๆ ทุกวัน โดยไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น ผมจึงรู้สึกขำที่เห็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคนใหม่พยายามแก้ปัญหา “รถติด” ด้วยวิธีเพิ่มความเร็วเฉลี่ยของรถที่วิ่งบนถนน 4 เลน จาก 90 เป็น 120 กม./ชม. เพราะการเร่งความเร็วรถก็เท่ากับเป็นการเร่งเวลาให้รถไปติดคาที่คอขวดเร็วขึ้นเท่านั้น หนำซ้ำ การเพิ่มความเร็วเฉลี่ยของรถยังอาจเป็นการเพิ่มอุบัติเหตุที่มีมากอยู่แล้วให้มากขึ้นด้วย เนื่องจากการออกแบบถนน มีความสัมพันธ์กับความเร็ว เช่น การกำหนดรัศมีทางโค้ง การยกโค้ง ระยะมองเห็นที่ปลอดภัยบริเวณทางแยก ทางเข้า-ออก ทางเชื่อม ดังนั้น ถนนทั่วไป จึงออกแบบบนพื้นฐานการใช้ความเร็วที่ 90-110 กม./ชม. ส่วนมอเตอร์เวย์ออกแบบสำหรับความเร็ว 130-140 กม./ชม. หากเป็นเขตชุมชน มีโรงเรียน มีรถจอด มีทางเข้า-ออก ทางข้าม จะกำหนดความเร็วระหว่าง 40-50 กม./ชม. เท่านั้น ในต่างประเทศ การประกาศบังคับความเร็วรถจะกำหนดจากความเร็วเฉลี่ยที่รถส่วนใหญ่วิ่ง ซึ่งจากการสำรวจถนนขนาด 4 เลนของไทยพบว่ารถส่วนใหญ่ประมาณ 85 % ใช้ความเร็วเฉลี่ย 88-97 กม./ชม. ดังนั้น จึงกำหนดความเร็ว 100 กม./ชม. ขณะที่บนมอเตอร์เวย์ ส่วนใหญ่วิ่งเฉลี่ย 98-117 กม./ชม. จึงกำหนดความเร็ว 120 กม./ชม. สำหรับทางด่วน ทางยกระดับ การกำหนดความเร็วจะขึ้นกับมาตรฐานของราวกำแพงกันตก อย่างกำแพงกันตกบนทางด่วนของสหรัฐอเมริกา ความเร็วที่ทดสอบว่าชนแล้วรถไม่พลิกข้ามกำแพงอยู่ที่ 100 กม./ชม. ซึ่งมาตรฐานการออกแบบราวกันตกบนทางด่วนของเราก็เซทไว้ที่ความเร็วของรถไม่เกิน 100 กม./ชม. เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลจาก สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ซึ่งผมว่ามีเหตุมีผลที่น่าฟัง ย้ำอีกครั้งว่าการแก้ปัญหารถติดต้องเกาให้ถูกที่คัน ไม่งั้นจะให้วิ่ง 90 หรือ 120 กม./ชม. ก็ติดเหมือนเดิม เพิ่มเติม คือ จำนวนอุบัติเหตุ ซึ่งลุงตู่ไม่ปลื้มแน่นอน
บทความแนะนำ