รอบรู้เรื่องรถ
คุณเป็นพวกไหน ?
อย่าเพิ่งคิดว่าผมถือโอกาสใช้คอลัมน์นี้ด่าว่าใคร ผมไม่มีสิทธิ์ขนาดนั้น รอให้อ่านเกือบจบก่อนแล้วจะทราบความหมาย และความเป็นมาครับ ความดำริของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ในการปรับความเร็วสูงสุดที่อนุญาตบนถนนบางประเภทได้ก่อให้เกิดคำถามที่เป็นประเด็นให้ถกเถียง (อย่างสร้างสรรค์) กันมากมาย เท่าที่ผมประเมินอย่างไม่เป็นทางการ ฝ่ายเสียงข้างมากเป็นฝ่ายที่เห็นด้วย อย่าเพิ่งตีความว่า “ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตาม หรือดำเนินการต่อไปในทิศทางนี้”ยังไม่ใช่เช่นนี้นะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่งยวด เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนน ไม่ว่าจะขับเอง หรือเป็นเพียงผู้โดยสารก็ตาม ไม่ใช่ระดับเดียวกับผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ อย่างที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ต้องเผชิญกันมาหลายปีแล้ว แบบนี้ยังอยู่ในระดับ “เด็กๆ” ครับ แต่ผลกระทบจากการเพิ่มระดับความเร็วสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตบนถนนบางประเภท และเพียงบางลู่วิ่ง จากเดิม 90 ให้เป็น 120 กม./ชม. นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นความตายจริงๆ ว่าจะบาดเจ็บสาหัส แทนที่จะแค่เล็กน้อย หรือถึงตาย แทนที่จะเพียงบาดเจ็บพอสมควร หรือสาหัส ฝ่ายเห็นด้วยที่ผมกำลังกล่าวถึง และน่าจะเป็นฝ่ายเสียงข้างมากนี้ ส่วนใหญ่ก็คือ ผู้ใช้รถ และน่าจะเป็นพวกขับเองด้วย ถ้ายังไม่เอ่ยถึงข้อเสียด้านอื่นใดทั้งสิ้น แน่นอนว่าใครๆ ก็ต้องชอบการเดินทางด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น คนขับก็ไม่ง่วง หรือเบื่อง่าย ทั้งคนขับ และผู้โดยสารก็จะถึงที่หมายในช่วงเวลาที่สั้นกว่า ฝ่ายแรกนี้เอาความรู้สึกอย่างเดียวเป็นตัวตั้งครับ ส่วนฝ่ายค้านซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย เพราะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทางทฤษฎี หรืออย่างน้อยก็จากประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานด้านนี้มาแรมปี จึงจะมองภาพในมุมกลับได้ และเห็นผลเสียหรืออันตรายใหญ่หลวงที่จะตามมาพร้อมมาตรการนี้ ถ้าเราขับรถบนทางด่วน หรือทางหลวงที่เข้าข่ายในการเพิ่มความเร็วที่อนุญาตให้ใช้ จาก 90 เป็น 120 กม./ชม. ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางโค้ง ความแตกต่างในด้านความปลอดภัยที่เรียกกันว่า “ความเสี่ยง” นั้นย่อมมีแน่นอนอยู่แล้วครับ แต่ไม่ได้อยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วงที่จะเพิ่มขึ้นมาอย่างมากมาย ระดับที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง เป็นความเสี่ยงต่อการชนสิ่งกีดขวาง ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือยานพาหนะใดๆ ที่ร่วมใช้ถนน ถ้าจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ ย่อมหนีไม่พ้นการอธิบายด้วยทฤษฎี และการคำนวณ ซึ่งผมจะพยายามนำเสนอในแบบที่ง่ายที่สุดนะครับ ผมขอจำกัดการเบรคในเรื่องนี้ของเราไว้เฉพาะการเบรคฉุกเฉิน จากความเร็วคงที่ที่ขับอยู่จนกระทั่งรถหยุดสนิทเท่านั้น เพราะถ้ารวมการเบรคเพื่อลดความเร็วจากค่าหนึ่งมาอีกค่าหนึ่งมันจะยิ่งซับซ้อนขึ้นอีกมาก จุดเริ่มต้นของการเบรค ไม่ใช่ตำแหน่งเวลาที่เท้าของเราสัมผัสแป้นเบรคอย่างที่ผู้ขับรถทั้งหลายเข้าใจนะครับ แต่เริ่มตั้งแต่ตอนที่ตาเราเห็นสิ่งกีดขวาง ไม่ว่าจะหยุดอยู่นิ่ง หรือกำลังเคลื่อนที่ (เช่น รถที่คนขับมันกำลังจะโผล่ออกมาจากซอย โดยไม่สนใจรถของเราที่กำลังแล่นมา) ตั้งแต่ตำแหน่ง (เวลา) นี้ไปจนถึงเวลาที่เท้าของเรากดแป้นเบรคจะกินเวลานานพอสมควร เริ่มจากตาเห็นสิ่งกีดขวาง (หรือสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นสิ่งกีดขวาง เช่น ควาย 2 ขา กำลังพุ่งออกมาจากซอย เพื่อตัดหน้าเรา) จากนั้นสมองเราจะประเมินผลว่าถ้าไม่เบรคจะต้องชนมันเละแน่ จึงสั่งการให้กล้ามเนื้อขายกขาไปเหยียบแป้นเบรค และผ้าเบรคเริ่มอัดกับจานเบรค ซึ่งเป็นตำแหน่ง (เวลา) สุดท้ายของช่วงนี้ เราเรียกช่วงเวลานี้อย่างเป็นทางการว่า ช่วงเวลาปฏิกิริยา เป็นค่าที่ไม่ตายตัวครับ มีตัวแปรมากมายที่ส่งผลให้ค่านี้ของผู้ขับรถแต่ละคนแตกต่างกันตั้งแต่อายุ สภาพร่างกาย ความแข็งแรง ความไวของประสาทสมอง ความระมัดระวัง ระดับความสำนึกถึงอันตราย ความเฉื่อยจากการกินยารักษาโรค ความมึนเมาจากการเสพยาเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล ถ้าให้จำง่ายหน่อย ค่านี้อยู่ระหว่างครึ่งถึง 2 วินาทีครับ มากน้อยตามที่เพิ่งกล่าวมา พวกที่อยู่ในวัยกลางคนจะมีค่านี้ต่ำ จากสภาพร่างกายที่ยังแข็งแรงพอบวกกับความสำนึกถึงอันตราย จึงตั้งใจขับอย่างระมัดระวัง พวกที่อายุน้อยมากกลับใช้เวลามากกว่า น่าจะมาจากความประมาท หรือขาดประสบการณ์ หรือความคิดที่ไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบอะไร ค่านี้จึงไปใกล้เคียงกับของกลุ่มผู้สูงวัย คราวนี้เราดูตำแหน่งที่รถของเราอยู่ ใน “เสี้ยววินาที” ที่ตาเราเห็นสิ่งกีดขวางและสมองเริ่มรับรู้ กับตำแหน่งที่ก้ามเบรคเริ่มลดความเร็วของรถ ว่าห่างกันเท่าใด เมื่อขับมาด้วยความเร็วคงที่ 100 กม/ชม. ซึ่งก็คือ ความเร็วที่กฎหมายอนุญาต บวกอีก 10 ตามความนิยม และที่ตำรวจอ้างว่าผ่อนผันให้ โดยเอาค่าความเร็ว (100 กม./ชม.) คูณด้วย ช่วงเวลาปฏิกิริยา (1 วินาที) แล้วหารด้วย 3.6 จะได้ค่าระยะทางปฏิกิริยาที่มีหน่วยเป็นเมตร คือ ประมาณ 27.8 เมตร ต่อจากนี้หาระยะทางที่รถเคลื่อนที่ต่อไป ตั้งแต่ระบบเบรคเริ่มลดความเร็วของรถจนกระทั่งหยุดสนิท ถ้าระบบเบรคทำงานได้ดีปกติ ระยะทางในช่วงที่รถถูกเบรคฉุกเฉินนี้ จะยาวมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความฝืดระหว่างหน้ายางกับผิวถนนครับ ภาษาชาวบ้านก็คือ “เกาะถนน” ได้ดีแค่ไหน ค่านี้มีชื่อเป็นทางการว่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน มากหรือน้อย ตามผิวของถนน และเนื้อของหน้ายาง เราเลือกใช้ค่านี้สำหรับถนนราดยางมะตอย ผิวค่อนข้างสะอาด กับเนื้อยางของรถเก๋งระดับปานกลาง คือ 0.8 จากนั้นคำนวณหาระยะทางเบรค โดยเอาค่าความเร็ว คูณด้วยตัวมันเอง ได้ 100x100=10,000 แล้วหารด้วยค่า 250 ได้เท่าไร หารด้วย 0.8 อีก คือ 50 เมตร เอามารวมกับระยะทางปฏิกิริยา จะได้ “ระยะทางหยุดรถ” คือ 50+27.8=77.8 มีหน่วยเป็นเมตร คราวนี้มาคำนวณหาค่าระยะทางหยุดรถ เมื่อใช้ความเร็วตามที่จะพิจารณาอนุญาตกัน ที่ 120 กม/ชม. เนื่องจากเป็นความเร็วที่เพิ่มขึ้นจากค่าของกฎหมายเดิมค่อนข้างมาก ผมจะไม่เพิ่มความเร็วที่ใช้จริง หรือที่ตำรวจอ้างว่าผ่อนผัน ด้วยค่า 10 กม./ชม. แต่เอาแค่ 5 ก็พอแล้ว คือ ใช้ค่า 125 กม./ชม. ในการคำนวณ ขอไม่แสดงวิธีซ้ำนะครับ ค่าระยะทางปฏิกิริยาที่ได้ คือ 34.7 เมตร หมายความว่าตำแหน่งที่รถเริ่มถูกเบรค เข้ามาใกล้สิ่งกีดขวางกว่าเมื่อใช้ความเร็ว 100 กม./ชม. 34.7 เมตร ลบด้วย 27.8 เมตร ได้ค่า 6.9 เมตร ยังไม่ถือว่ามากจนน่าแปลกใจ หรือตกใจนะครับ คราวนี้หาค่าระยะทางเบรค โดยเอา 125 คูณตัวมันเองได้ 15,625 หารด้วย 250 ได้ 62.5 แล้วหารด้วย 0.8 ได้ 78.1 หน่วยเป็นเมตร เอามาบวกกับระยะทางปฏิกิริยา 34.7 เมตร ได้ระยะทางหยุด (62.5+34.7)=97.2 เมตร หมายความว่าระยะทางหยุดฉุกเฉินของรถที่ขับมาด้วยความเร็ว 125 กม./ชม. นั้น ยาวกว่าเมื่อใช้ความเร็ว 100 กม./ชม. ถึง 19.4 เมตร ความหมายจากการเทียบระยะทางหยุดฉุกเฉินให้เห็นนี้ ก็คือ ในกรณีดังตัวอย่างนี้ แทนที่จะเบรคฉุกเฉินได้ทันพอดี ก่อนที่จะชนสิ่งกีดขวาง เมื่อขับด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. เราจะต้องชนสิ่งกีดขวางที่พบในสถานการณ์เดียวกันนี้ ด้วยความเร็วที่ยังสูงอยู่พอสมควร ถ้าขับมาด้วยความเร็ว 125 กม./ชม. ลองคำนวณกันอีกทีเป็นครั้งสุดท้ายครับ ไม่ยุ่งยากอะไร พักให้ทายกันเล่นในใจก่อนว่าแค่ต้องใช้ระยะหยุดฉุกเฉินไกลขึ้นเพียง 19.4 เมตร นี่ ณ จุดที่รถต้องชนสิ่งกีดขวาง จะยังมีความเร็วเหลืออยู่สักกี่ กม./ชม. ได้ค่าในใจแล้วนะครับ เอา 19.4 ตั้ง คูณด้วย 250 ได้ 4,850 แล้วคูณด้วย 0.8 ได้ 3,880 แล้วหารากที่สองของค่านี้ ได้ 62.3 กม./ชม. พูดหยาบๆ ก็คือ ความเร็วยังเหลืออยู่ครึ่งหนึ่งเลย ถ้าสิ่งกีดขวางเป็นของแข็ง และมีมวล หรือน้ำหนักมากกว่ารถของเราด้วย เช่น รถบรรทุกขนาดใหญ่ ผลก็คือ วินาศสันตะโร หรือ “เละ” ครับ ถ้าไม่คาดเข็มขัดนิรภัยนี่ รอดยาก ถึงคาดแล้วก็ยังอาจถึงตาย หรือบาดเจ็บสาหัส ในทางกลับกัน ถ้าสิ่งกีดขวางเป็นคนขี่จักรยานยนต์ และเป็นฝ่ายปฏิบัติถูกกฎจราจร แต่เราเป็นฝ่ายผิดพลาด ด้วยความเร็วขณะชน (COLLISION SPEED) ที่สูงขนาดนี้ โอกาสรอดของผู้ถูกชน แทบไม่มีครับ บทสรุปที่ผมต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาเรื่องนี้ ได้เข้าใจ และเห็นภาพของอันตรายจากการอนุญาตให้เพิ่มความเร็วในบางลู่ ขึ้นไปถึง 120 กม./ชม. ว่าจะนำมาซึ่งอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนน หากจะเพิ่มเพียงแค่ 10 หน่วย เป็น 100 กม/ชม. ก็คงคาดหวังความเปลี่ยนแปลงด้านบวก ไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงน่าจะเหลือตัวเลข “กลมๆ” ที่สะดวกในการใช้อยู่เพียงค่าเดียว ซึ่งก็คือ จำกัดไว้แค่ 110 กม./ชม. เท่านั้นครับ ผมบอกได้อย่างมั่นใจเลยว่า แค่ 10 กม./ชม. ที่ยอมลดลงมาจากค่าตามเป้าหมายเดิม จะช่วยรักษาชีวิตผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนได้มากมาย การเปลี่ยนแปลงแค่ตัวเลขนี้คงไม่ช่วยอะไรมากถ้าไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ให้ผู้ใช้ลู่ขวาสุดได้ใช้ความเร็วสมกับที่กฎหมายอนุญาต ไม่ใช่เพื่อสนองอะไรก็ตามที่ยังมีผู้เข้าใจผิดกันอยู่อีกมาก แต่การไปถึงที่หมายได้ในเวลาที่น้อยลงนี่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งคำนวณออกมาเป็นตัวเลขคร่าวๆ ได้เลย ถ้ามีข้อมูลเพียงพอ ต้องมีบทลงโทษพวกที่บัดซบ หรือเห็นแก่ตัว ที่ขับช้าแต่กลับใช้ลู่ขวาสุด โดยรวมแล้วผู้ร่างกฎหมายลืมให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ทุกเรื่องเราก็เลียนแบบชาติที่พัฒนาแล้ว แต่กลับลืมกำหนดความเร็วต่ำสุดบนทางด่วนไว้ด้วย เพิ่งเมื่อวานนี้เองที่ผมต้องอารมณ์เสีย ขณะขับตามรถที่อยู่ข้างหน้าทั้ง 3 เลนบนทางด่วน คันที่อยู่เลนซ้ายสุด ใช้ความเร็วประมาณ 60 กม./ชม. ควาย ไม่ใช่ครับ คันที่อยู่เลนขวาสุด ขับด้วยความเร็วเท่ากับคันซ้ายสุด กำลังนึกอยู่ใช่ไหมครับว่า อย่าไปทำตัวเถรตรงรอไอ้คันขวามันเลย ใช้เลนกลางไปก็แล้วกัน มันก็น่าจะเป็นไปได้ แต่กลับไม่ใช่ครับ ใครที่ใช้ทางด่วนเป็นประจำ น่าจะเคยพบมนุษย์พวกหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่ามันรวมกลุ่มกันขับอยู่บนทางด่วนนะครับ แต่ว่าพฤติกรรมวิปริต และเห็นแก่ตัวของพวกมันนี่ เหมือนกันหมดราวกับมันตกลงกันไว้ มนุษย์พวกนี้มันจะแต่งภายนอกรถให้คล้ายรถแข่ง แต่เป็นประเภทกำมะลอ คือ ใช้เครื่องยนต์เดิม แต่ส่วนอื่นดัดแปลงให้คล้ายรถแข่ง บังโคลนโป่ง ล้อ และยางหน้ากว้าง ถ่างออกมาด้วย ท่อไอเสียปลายใหญ่ ลดระดับตัวถัง ให้เตี้ยเรี่ยพื้นพอๆ กับสติปัญญา ก็พอเข้าใจได้ครับ ถ้าทำอย่างนี้แล้ว ก็ควรจะชอบขับเร็วเมื่อมีโอกาส แต่มนุษย์วิปริต หรืออาจจะมีปมด้อยพวกนี้ มันจะยอมจ่ายค่าทางด่วน เพื่อขึ้นไปคลานอยู่เลนกลาง ไม่สนใจว่ารถที่ตามหลังจะหมดโอกาสใช้ความเร็วให้สมกับที่ยอมจ่ายค่าใช้ทางด่วน ผมลองตามวัดความเร็วที่มันชอบใช้กัน ประมาณไม่ถึง 50 กม./ชม. ไม่เข้าใจว่าในสมองพวกมันมีอะไรอยู่ ผมนึกถึงการประชาสัมพันธ์ที่พอจะกำจัดพฤติกรรมของมนุษย์พวกนี้ เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีสมัยหนึ่ง จ้างบริษัทด้านการโฆษณา รณรงค์ต่อต้านพฤติกรรมเห็นแก่ตัว มักง่าย เอาแต่ได้ ด้วยการทำป้ายเป็นตัวอย่างเพื่อประจาน แค่ใช้คำถามประโยคเดียวว่า “ลูกใครหว่า” ใต้ภาพพฤติกรรมชั่ว ปรากฏว่าทั้ง กทม. ไม่มีใครกล้าละเมิดเลย บางทีป้ายทำนองนี้อาจจะสมควรถูกใช้อีกครั้ง คงดีไม่น้อย ถ้าพวกเราจะได้เห็นป้ายใหญ่ข้างทางด่วน เพื่อปรามมนุษย์พวกนี้ว่า คน ขับช้า ชิดซ้าย ควาย ขับช้า ชิดขวา หมา “แต่งซิ่ง” คลานเลนกลาง บางทีทางด่วนราคาเป็นหมื่นล้านบาทของประเทศเรา อาจจะน่าใช้ขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้นะครับ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2562
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ