สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
โรลันด์ โฟลเกร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
“ฟอร์มูลา” สัมภาษณ์พิเศษ โรลันด์ โฟลเกร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561ฟอร์มูลา : คุณเริ่มต้นทำงานกับ เมร์เซเดส-เบนซ์ ตั้งแต่เมื่อไร ? โฟลเกร์ : ระหว่างศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ จากเบร์อุฟส์อคาเดมี เมืองชตุทท์การ์ท เยอรมนี ผมได้เข้าร่วมหลักสูตร การศึกษาภายในองค์กร ของกลุ่มบริษัท ไดมเลร์ อาเก นอกจากนี้ บ้านที่ชตุทท์การ์ท เยอรมนี ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามบริษัท พอเรียนจบจึงเริ่มทำงานเป็นพนักงานด้านการผลิต และจัดจำหน่ายอะไหล่ ของ เมร์เซเดส-เบนซ์ ผมเคยผ่านงานในประเทศไทยมาแล้ว เคยจัดตั้งระบบอะไหล่ให้ “ธนบุรีประกอบรถยนต์” ก่อนย้ายไปปฏิบัติงานฝ่ายขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูแลตลาดอินโดนีเซียเป็นหลัก จากนั้น ได้กลับไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ ของกลุ่มบริษัท ไดมเลร์ อาเก ดูแลงานด้านการขาย ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานบริหาร ฝ่ายขาย การตลาด และการบริการหลังการขาย มีบทบาทสำคัญในการเปิดตลาดรถยนต์ตระกูล เอม-คลาสส์ สู่สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ฟอร์มูลา : คุณวางนโยบายสำหรับประเทศไทยไว้อย่างไร ? โฟลเกร์ : ต้องขอบคุณ ธนบุรีพานิช ที่ทำให้บแรนด์ เมร์เซเดส-เบนซ์ เข้าไปอยู่ในใจของทุกคน เมื่อบริษัทแม่เข้ามาทำตลาดจึงเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่พยายามตอบสนองความต้องการ และความคาดหวังของลูกค้าชาวไทยที่มีอัตลักษณ์ค่อนข้างชัดเจนให้ได้มากที่สุด เราจึงต้องมีรถยนต์หลากหลายเซกเมนท์ให้ครอบคลุมทุกความต้องการ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่ามาถูกทางแล้ว คือ รถรุ่นใดก็ตามที่เปิดตัวในต่างประเทศจะเข้ามาเมืองไทยแน่นอน แต่อาจจะช้ากว่าเล็กน้อย เพราะมีหลายเรื่องที่เราต้องประสาน และดำเนินการ เช่น เรื่องการเปลี่ยนจากรถพวงมาลัยซ้ายเป็นพวงมาลัยขวา ซึ่งต้องใช้เวลา 3-4 เดือน และอีก 6 เดือน หรือเกือบ 1 ปี จึงจะเริ่มผลิตในประเทศไทยได้ ขณะเดียวกัน เรามีความจำเป็นต้องปรับตามโลกให้ทัน โดยทำให้บแรนด์เราทันสมัยขึ้น มีฐานลูกค้ากว้างขึ้นในหลายพโรดัคท์ เช่น เอเอมจี ในตลาดของเอเชียจะพบว่ากลุ่มลูกค้าที่ใช้ เอเอมจี จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น แต่ในเยอรมนี หรือญี่ปุ่นจะเป็นผู้ใหญ่ วันนี้คงต้องดูว่าจะทำอะไรได้อีกบ้าง เพื่อให้เราคงเป็นเบอร์หนึ่งได้ในตลาด ผมยังมองว่า คุณภาพมาตรฐานของเรา ที่เน้นความเป็นพรีเมียม สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพสินค้า บริการ การช่วยเหลือ ความมั่นใจในตัวสินค้า และราคาขาย ที่ลูกค้ามีต่อบแรนด์ เมร์เซเดส-เบนซ์ หากจะมองในเชิงของหลักการตลาดอาจดูแปลกสักหน่อย เพราะสินค้าที่มีราคาสูง ควรจะขายได้ไม่มาก แต่พิสูจน์แล้วว่า เรามีค่านิยมหลักที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น และไว้วางใจ ฟอร์มูลา : คุณมีแผนจะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงการทำงาน เพื่อให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นอย่างไร ? โฟลเกร์ : ที่ผ่านมา อย่างแรกที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ คือ “ทีม” ซึ่งสามารถดำเนินงานตามครรลองที่บริษัทฯ กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ได้เป็นอย่างดี แต่ยังคงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้านความฉับไว ด้านการตัดสินใจ และการมอบหมายงานต่างๆ ของผู้บริหารที่จะทำให้ฝ่ายปฏิบัติการมีความคล่องตัวมากขึ้น สำหรับผม คือ “คนกลาง” ระหว่างประเทศไทยกับบริษัทแม่ที่เยอรมนี “ทีม” ทำงานไปตามนโยบายของผม และผมคุยกับบริษัทแม่ ดังนั้น สิ่งที่ผมต้องทำ คือ การทำให้ทีมทั้ง 180 คน เห็นโจทย์เดียวกัน และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพอใจ ประทับใจ ไปในทิศทางเดียวกัน ฟอร์มูลา : คุณคิดว่า อะไร คือ สิ่งท้าทายที่สุดในการทำงานที่ประเทศไทย ? โฟลเกร์ : จากประสบการณ์ที่เคยดูแลตลาดมาเลเซีย และอินเดียมาก่อน ทำให้ผมเข้าใจว่า สิ่งสำคัญ คือ เราต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน สิ่งที่ท้าทายอีกอย่าง คือ เรื่องเวลา ที่ต้องพัฒนาสัญชาตญาณในการตัดสินใจให้รวดเร็ว แม้จะยังไม่ได้ข้อมูลครบถ้วน รวมทั้งต้องเรียนรู้ว่าดีเลอร์ และลูกค้าเป็นอย่างไร ฟอร์มูลา : กลยุทธ์ที่จะใช้รุกตลาดต่อจากนี้ ? โฟลเกร์ : เปิดตัวรถใหม่ อย่างที่ผมบอก อะไรก็ตามที่เห็นในต่างประเทศ จะต้องได้เห็นในไทย รวมถึงการประกอบรถรุ่นต่างๆ ในประเทศไทย ต้องมีการวางแผนให้สอดคล้องกัน และจะขยับรุกโลกโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้บแรนด์เราดูทันสมัยมากขึ้น ขยายฐานลูกค้าให้กว้างในหลายๆ รุ่น เช่น การเปิดตัวรถภายใต้บแรนด์ เมร์เซเดส-เอเอมจี เป็นต้น ฟอร์มูลา : รถยนต์ไฟฟ้า EQC จะมาเมื่อไร ? โฟลเกร์ : ยังเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะไม่ใช่เพียงแต่เอารถเข้ามาขายอย่างเดียว เราต้องพยายามผลิตในประเทศให้ได้ ซึ่งการจะประกอบในประเทศได้จำเป็นต้องมียอดขายมากพอ การทำรถไฟฟ้า ไม่ใช่แค่มีรถหนึ่งรุ่นแล้วนำมอเตอร์มาใส่ลงไปแทนเครื่อง หรือนำแบทเตอรีมาใส่แทนถังน้ำมัน รถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด รวมไปถึงเทคโนโลยีด้านการชาร์จไฟฟ้า ที่ต้องมีรองรับอย่างเพียงพอ โดยจุดนี้ต้องเจรจากับดีเลอร์ให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งในช่วงเริ่มต้น รถไฟฟ้าน่าจะเหมาะกับเมืองใหญ่ ส่วนลูกค้าต่างจังหวัดจะเหมาะกับการใช้รถแบบพลัก-อิน ไฮบริด มากกว่า ขณะที่การขยายสถานีชาร์จนั้น ปัจจุบันบริษัทมีติดตั้งไป 100 จุด แม้ไม่ใช่หน้าที่ในการทำ แต่เราต้องการคืนกำไรให้สังคม เมร์เซเดส-เบนซ์ ยืนยันว่าการมีรถ อีวี นั้น ค่ายรถยนต์ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนเรื่องสถานีชาร์จไฟ เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมัน ควรมีหน่วยงาน หรือบริษัทที่เป็นกลางเข้ามารองรับ และการชาร์จไฟนั้นควรใช้ได้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ยี่ห้ออะไร เพราะการลงทุนทำสถานีชาร์จใช้เงินมหาศาล และวันนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า ค่าใช้จ่าย/การชาร์จ 1 ครั้ง ควรเป็นอัตราเท่าใด ฟอร์มูลา : เมร์เซเดส-เอเอมจี มีความเป็นมาอย่างไร ? โฟลเกร์ : สำหรับบแรนด์ เอเอมจี นับว่าเป็นบแรนด์ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษและจนถึงปัจจุบันได้รับการยอมรับในฐานะบแรนด์รถสปอร์ทระดับแถวหน้า ที่โดดเด่นทั้งในด้านกีฬามอเตอร์สปอร์ท และด้านการพัฒนารถยนต์ที่มีเอกลักษณ์ โดย เมร์เซเดส-เอเอมจี มีจุดเริ่มต้นมาจากความรัก และความหลงใหลในกีฬามอเตอร์สปอร์ท ของ ฮันส์-เวร์เนร์ เอาฟเรคท์ และเอร์ฮาร์ด เมลเคร์ ในปี 1967 ทั้ง 2 ได้ใช้โรงโม่แป้งเก่า ณ เมืองบวร์กชไตลล์ เป็นที่ตั้งของโรงปรับแต่งรถแห่งแรก พร้อมใช้ชื่อว่า “ศูนย์วิศวกรรมออกแบบ และทดสอบเครื่องยนต์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการแข่งขัน–ENGINEERING OFFICE AND DESIGN AND TESTING CENTRE FOR DEVELOPMENT OF RACING ENGINES” โดยตัวอักษร AMG นั้นมาจากคำว่า “เอาฟเรคท์ และเมลเคร์ จากหมู่บ้านกโรบัสปัค” ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวนี้เป็นสถานที่เกิดของ เอาฟเรคท์ “ในปัจจุบัน เมร์เซเดส-เอเอมจี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองอัฟฟัลเทร์บัค ประเทศเยอรมนี โดยถือเป็นบริษัทลูกของกลุ่ม ไดมเลร์ อาเก และดำเนินงานโดยยึดถือหลักการสร้างสรรค์รถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนทุกสมรรถนะ–DRIVING PERFORMANCE ซึ่งเป็นหัวใจหลักของบแรนด์ โดยผลิตภัณฑ์ภายใต้บแรนด์ ต้องมีทั้งเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เต็มเปี่ยมด้วยนวัตกรรมเพื่อมอบความโฉบเฉี่ยว และเร้าอารมณ์ให้แก่ผู้ขับขี่ และสิ่งที่ทำให้บแรนด์ เมร์เซเดส-เอเอมจี มีความพิเศษและแตกต่างไม่เหมือนใคร คือ การใช้ปรัชญาการผลิตเครื่องยนต์ทุกเครื่อง แบบ “1 ช่างฝีมือ ต่อเครื่องยนต์ 1 เครื่อง–ONE MAN, ONE ENGINE” คือ เครื่องยนต์ของรถยนต์ เมร์เซเดส-เอเอมจี แต่ละคันจะผลิตด้วยมือ และใช้ช่างฝีมือเพียง 1 คนเท่านั้น ตลอดกระบวนการประกอบ และในขั้นตอนสุดท้าย ช่างฝีมือที่ประกอบเครื่องยนต์แต่ละเครื่องจะเซ็นชื่อของตนลงบนแผ่นโลหะที่ติดอยู่บนฝาครอบเครื่องยนต์เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน จึงทำให้ เมร์เซเดส-เอเอมจี ได้รับความนิยมจากทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2561 มียอดขายโดยรวมถึง 118,000 คัน ฟอร์มูลา : ในประเทศไทยประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ? โฟลเกร์ : เมร์เซเดส-เอเอมจี เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 ภายในงาน MOTOR EXPO 2017 หรือ “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 34” เปิดตัว "จีที อาร์" และ "จีที ซี คอนเวอร์ทิเบิล" โดยบริษัทฯ ยึดกลยุทธ์ "CUSTOMER CENTRIC" ที่เน้นให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการทำการตลาด สำหรับบแรนด์ เมร์เซเดส-เอเอมจี ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากลูกค้าชาวไทยมีความต้องการที่เป็นเอกลักษณ์ และแตกต่างอย่างชัดเจน บริษัทฯ จึงนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ปัจจุบัน เมร์เซเดส-เอเอมจี มีจำหน่ายทั้งหมด 19 รุ่น ครอบคลุมทั้งตระกูล 43, 45, 53, 63 และจีที และจากความสำเร็จและการตอบรับจากลูกค้าชาวไทย เมร์เซเดส-เอเอมจี ได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ ด้วยการเปิดตัว เมร์เซเดส-เอเอมจี รุ่น ซี 43 4 เมทิค คูเป รุ่นประกอบในประเทศเป็นครั้งแรกของเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกของโลก สำหรับการผลิตรถยนต์ เมร์เซเดส-เอเอมจี นอกเหนือจากที่ผลิตในโรงงานของไดมเลร์ อาเก โดยในปัจจุบันมีรถยนต์ภายใต้บแรนด์ เมร์เซเดส-เอเอมจี เป็นรุ่นประกอบในประเทศ 5 รุ่น และส่งผลให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครบถ้วน ทำให้ เมร์เซเดส-เอเอมจี ปี 2561 เติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 309 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยอดขายใน 6เดือนของ ปี 2562 ยังเติบโตขึ้นกว่า 204 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยอดขายในไตรมาสที่ 2 ยังเติบโตขึ้นถึง 394 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาอีกด้วย ทั้งนี้หากดูจากปริมาณการจำหน่ายของตลาดรถเพอร์ฟอร์มานศ์ ที่มียอดขายไม่เกิน 2,000 คัน/ปี โดย เมร์เซเดส-เอเอมจี มียอดขายโดยรวมอยู่ประมาณ 1,000 คัน นั่นหมายความว่า เอเอมจี มีส่วนแบ่งประมาณ 50 % ฟอร์มูลา : คุณคิดว่าเพราะเหตุใด เมร์เซเดส-เอเอมจี จึงเติบโต ? โฟลเกร์ : จุดแข็งของ เมร์เซเดส-เบนซ์ ทุกรุ่น จะมีบแรนด์ เอเอมจี เข้าไปเติมเต็ม ซึ่งต่างจากผู้ผลิตรายอื่น อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้วางแผนวิจัย และพัฒนาตั้งแต่แรก ทำให้มีต้นทุนการทำงานที่ง่ายขึ้น รถ เอเอมจี ถูกวางแผนไว้ตั้งแต่สเตพแรกของการพัฒนารถยนต์ในแต่ละรุ่น ทำให้มีความแข็งแรงกว่าผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นจากยอดขาย เอเอมจี เกือบ 2 แสนคันทั่วโลกในปีที่ผ่านมา จากยอดขายโดยรวมของ เมร์เซเดส-เบนซ์ กว่า 3 ล้านคัน ไม่ใช่แค่ยอดขายที่จะประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่บแรนด์ เอเอมจี ยังช่วยเข้ามาเติมสีสัน เพิ่มความสนุกสนาน ทำให้บแรนด์ เมร์เซเดส-เบนซ์ ดูเด็กลง มีความเป็นคนรุ่นใหม่ และสปอร์ทมากขึ้น ความภูมิใจของ เมร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย คือ วันนี้สามารถทำให้บแรนด์ เอเอมจี มีการเติบโตขึ้นมาได้ และประเทศไทยยังมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์บแรนด์ เอเอมจี ได้ด้วย ฟอร์มูลา : ปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายกี่ราย ? โฟลเกร์ : เมร์เซเดส-เอเอมจี มีตัวแทนจำหน่าย 14 ราย จากตัวแทนจำหน่าย เมร์เซเดส-เบนซ์ 33 รายทั่วประเทศ ซึ่งเราเชื่อว่าการมีตัวแทนจำหน่าย 14 รายนี้ น่าจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกใช้ “เอเอมจี” ได้ง่ายขึ้น ในเมื่อเรานำเสนอสินค้าเพอร์ฟอร์มานศ์ได้ครอบคลุมถึง 19 รุ่น ซึ่งสามารถดูแลได้อย่างครบถ้วนด้วย โดยการเป็นตัวแทนจำหน่าย เอเอมจี ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตัวแทนจำหน่ายต้องมีความพร้อมในเรื่องการลงทุนเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน ฟอร์มูลา : ก้าวต่อไปของ เอเอมจี ประเทศไทย ? โฟลเกร์ : ยังคงมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า และจะไม่หยุดยั้งที่จะนำเสนอประสบการณ์ที่มาพร้อมกับความตื่นเต้น และแปลกใหม่ในสไตล์ของ เมร์เซเดส-เอเอมจี เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ผู้นำในการผลิตรถยนต์สปอร์ทระดับแถวหน้าของโลก โดยบริษัทฯ ได้เตรียมจัดกิจกรรมสุดเอกซ์คลูซีฟอีกมากมายสำหรับลูกค้า เมร์เซเดส-เอเอมจี โดยเฉพาะ เพื่อมอบเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการนำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่พร้อมเดินหน้ามอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดในทุกมิติให้แก่ลูกค้าของ เมร์เซเดส-เอเอมจี
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : เกรียงศักดิ์ ปันสม นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2562
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)