มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์โตเกียว 2019
มิติใหม่ของงานแสดงรถยนต์ระดับอินเตอร์ มุ่งเน้นเนื้อหา และการมีส่วนร่วมของผู้ชมงานในยุคเฟื่องฟูสุดๆ คือ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน กล่าวได้ว่ามหกรรมยานยนต์โตเกียวเป็นงานแสดงรถยนต์ระดับ "อินเตอร์" ที่แท้จริง บริษัทรถยนต์ที่ร่วมงาน มีทั้งผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง คือ เกาหลีใต้ ผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกรายจากสหรัฐอเมริกา และผู้ผลิตรถยนต์นับ 10 รายจากยุโรป แต่ในยุคนี้ที่ความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดรถยนต์ในทวีปเอเชีย เคลื่อนย้ายจากเมืองซากุระไปสู่เมืองมังกร เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว งานแสดงรถยนต์ในนครหลวงของญี่ปุ่นอุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1954 และจัดต่อเนื่องกันมาจนปัจจุบัน บางช่วงจัดทุกปี บางช่วงจัดปีเว้นปี ตลอดช่วงเวลายาวนานกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ มีการบันทึกเป็นสถิติว่า ครั้งที่มีผู้ชมงานมากที่สุด คือ การจัดงานครั้งที่ 29 ในปี 1991 ซึ่งมีผู้ชมงานถึง 2,018,500 คน มีผู้ร่วมงาน 336 ราย และมีรถแสดงในงานรวม 783 คัน งานครั้งก่อนเมื่อปี 2017 จำนวนผู้ชมงานลดเหลือเพียง 771,200 คัน มีผู้ร่วมงาน 153 ราย และมีรถแค่ 380 คัน ส่วนงานครั้งล่าสุดที่ทีมงานของเรายกคณะไปทำข่าวเหมือนที่ทำต่อเนื่องกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 30 ปี นับนิ้วได้ว่าเป็นครั้งที่ 46 มีพิธีเปิดงานในวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2019 และจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันหยุดราชการของญี่ปุ่น สถานที่จัดงานยังคงเป็นที่เดิมซึ่งใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 2011 คือ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า TOKYO BIG SIGHT ผู้จัดงานตั้งคำขวัญของงานว่า OPEN FUTURE หรือ "อนาคตเปิด" และให้รายละเอียดว่า ผู้ร่วมงาน คือ บริษัทและองค์การต่างๆ รวม 187 ราย จาก 8 ประเทศทั่วโลก เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงานครั้งก่อน แต่ที่น่าใจหายก็คือ หลังจากเดินจนทั่วงานซึ่งปีนี้ต้องเดินกันเหนื่อย เพราะพื้นที่จัดงานอยู่กระจัดกระจาย แล้วก็พบว่ามีรถยนต์ยี่ห้อต่างชาติปรากฏตัวให้เห็นในงานนี้เพียง 4 ยี่ห้อเท่านั้นเอง คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ (MERCEDES-BENZ) สมาร์ท (SMART) เรอโนลต์ (RENAULT) บีเอมดับเบิลยู อัลพีนา (BMW ALPINA) เป็นแนวโน้มที่ไม่น่าดีใจเลยเหมือนงานแสดงรถยนต์อีกหลายรายที่เราเคยรายงานไปแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผู้จัดงานมหกรรมยานต์ยนต์โตเกียว ซึ่งก็คือ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า THE JAPAN AUTOMOBILE MANUFACTURERS ASSOCIATION หรือ JAMA สามารถแก้เกมและรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดีทีเดียว กลยุทธ์ที่ใช้ คือ เปลี่ยนรูปลักษณ์ของงานนี้ ให้เป็นเวทีที่ผู้คนได้สัมผัสกับเทคโนโลยียานยนต์ยุคใหม่ได้ใกล้ชิด และสมจริงสมจังกว่าที่เคยเป็น ไม่ใช่เพียงการสัมผัสด้วยสายตาอย่างที่เคยเป็นในอดีต นอกจากพื้นที่สำหรับแสดงตัวรถยนต์ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นรถแนวคิดไม่ใช่รถตลาดแล้ว มีการจัดพื้นที่เป็นโซนต่างๆ คือ พื้นที่ FUTURE EXPO พื้นที่ DRIVE PARK และพื้นที่ OPEN ROAD ซึ่งเป็นลักษณะการจัดงานที่คณะของเราไม่เคยสัมผัสมาก่อนในงานอื่นๆ มหกรรมยานยนต์โตเกียวเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนจุดสำคัญ และงานแสดงรถยนต์รายการอื่นๆ น่าจะใช้เป็นตัวอย่างได้ดี
TOYOTA E-4ME
คงเพราะเป็นการจัดงานในบ้าน รวมทั้งใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของตนเป็นพื้นที่จัดงานด้วย ยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นจึงทุ่มเทเต็มที่ให้แก่งานนี้ มีการจัดงานหลายรูปแบบ และหลากรูปลักษณ์ เพื่อเป็นโอกาสให้ผู้คนที่เข้าชมงานได้สัมผัสเทคโนโลยีของยานยนต์ยุคใหม่ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ เทคโนโลยียานยนต์ที่วิ่งได้โดยไม่ต้องมีผู้ขับ หรือเทคโนโลยีการแบ่งปันกันใช้รถ เฉพาะรถแนวคิดติดตั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ที่ โตโยตา นำออกแสดงนับแล้วเขียนเป็นตัวเลขได้ 2 หลัก คันแรกที่เลือกมาบรรจุไว้ในรายงานนี้ คือ โตโยตา อี-โฟร์มี (TOYOTA E-4ME) ซึ่งสัมผัสตัวจริงด้วยสายตาแล้วรู้สึกว่าน่าทึ่งมาก ที่แย่หน่อยก็คือ หาข้อมูลทางเทคนิคใดๆ ไม่ได้เลย ข้อมูลโดยตรงจาก โตโยตา ก็มีอยู่เพียงสั้นๆ ว่า เป็นรถที่นั่งเดี่ยวยุคอนาคต ที่อำนวยให้ทั้งการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง และความสะดวกสบายระดับสุดหรู ระหว่างการเดินทางผู้โดยสารไปในรถแบบนี้สามารถกระทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เปลี่ยนเสื้อผ้า ฯลฯ โดยไม่ต้องเป็นกังวลกับผู้คนรอบข้างที่อยู่นอกรถ ข้อมูลอื่นๆ ที่เห็นได้จากการนำเสนอในงาน และที่คาดเดาเอาเองซึ่งไม่ยืนยันความถูกต้องก็คือ เป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ และเป็นรถที่วิ่งได้ด้วยตัวเอง อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า AUTONOMOUS DRIVE VEHICLETOYOTA E-PALETTE
หน้าตาเหมือนเป็นเพียงรถแนวคิดยังใช้งานจริงๆ จังๆ ไม่ได้ แต่ที่จริง คือ รถพลังไฟฟ้าวิ่งได้โดยไม่ต้องมีผู้ขับ ที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นตั้งใจจะทำขึ้นไม่เกิน 20 คัน เพื่อใช้ขนส่งนักกีฬาที่ร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค และพาราโอลิมปิค ซึ่งปี 2020 นี้จะมีขึ้นในกรุงโตเกียว พัฒนาจากรถแนวคิดชื่อเดียวกันซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกที่งานมหกรรมสินค้าอีเลคทรอนิคสำหรับผู้บริโภค (CES) ซึ่งมีขึ้นที่เมืองลาสเวกัส ในสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นปี 2018 ตัวถังทรงกล่องเดียวขนาด 5.255x2.065x2.760 ม. สามารถบรรทุกผู้โดยสาร 20 คน (รวมผู้ควบคุมรถ 1 คน) หรือผู้โดยสาร 7 คน กับผู้โดยสารนั่งบนวีลแชร์ 4 คน ชาร์จไฟแบทเตอรีแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 150 กม. และทำความเร็วสูงสุด 19 กม./ชม. มีระบบตรวจจับสิ่งกีดขวางได้รอบตัว 360 องศา และระบบสื่อสารด้วยสายตา หรือ EYE CONTACT กับคนเดินถนนด้วยดวงโคมไฟหน้า และดวงโคมไฟท้ายTOYOTA E-TRANS
โตโยตา อี-ทรานส์ (TOYOTA E-TRANS) นี่ก็อีกคันหนึ่งที่หารายละเอียดอะไรแทบไม่ได้เลย ข้อมูลที่ได้รับโดยตรงจากยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นก็มีเพียงว่า เป็นรถอนาคตที่ออกแบบสำหรับการแบ่งกันใช้งาน อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า RIDE-SHARE VEHICLE ที่สามารถขนส่งได้ทั้งคน และสินค้า มีอยู่แค่นี้จริงๆ ตัวถังยาวแค่ไหน ? กว้างเท่าไร ? วิ่งได้ยังไง ? วิ่งเร็ววิ่งช้าขนาดไหน ? สารพัดสิ่งที่ผู้คนอยากรู้กลับไม่ยอมบอก ที่พอจะคาดเดาได้เองซึ่งไม่น่าผิดก็คือ เป็นรถขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ และคงจะเป็นรถที่วิ่งได้ทั้งแบบต้องมีผู้ขับ และแบบไม่ต้องง้อผู้ขับ อย่างที่เรียกกันในภาษาฝรั่งว่า AUTONOMOUS DRIVE รูปทรงองค์เอวตัวถังที่ดูอวบอิ่มมาก เห็นได้ชัดว่าตั้งใจออกแบบเพื่อให้มีห้องโดยสารที่กว้างขวาง และใช้พื้นที่ได้มาก ส่วนหน้าตาก็ดูดี และแปลกไปจากรถทุกรุ่นทุกแบบที่ค่ายนี้ผลิตขายปัจจุบันTOYOTA E-CARE
โตโยตา อี-แคร์ (TOYOTA E-CARE) ก็อีหรอบเดียวกันที่หารายละเอียดต่างๆ ได้เพียงน้อยนิด ข้อมูลเท่าที่ทราบก็คือ เป็นรถอนาคตที่ออกแบบเพื่อการแพทย์ ผ่านระบบซึ่งใช้วิธีการเดียวกับการเล่น ROCK-PAPER-SCISSORS หรือ "เป่ายิงฉุบ" (ก้อนหินทุบกรรไกร-กรรไกรตัดกระดาษ-กระดาษห่อก้อนหิน) ผู้โดยสารที่นั่งไปในรถแบบนี้สามารถพูดคุยสื่อสารกับแพทย์ หรือแม้แต่ตรวจชันสูตรอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ระหว่างเดินทางไปยังโรงพยาบาล ในงานเขาเปิดโอกาสให้คนเข้าไปทดลองนั่งด้วยอย่างที่เห็นในภาพ แต่ทีมงานของเราไม่ได้ทดลองเพราะไม่อยากเสียเวลารอคิวนาน ทั้งๆ ที่อยากรู้อยู่เหมือนกันว่า ก้อนหินทุบกรรไกร-กรรไกรตัดกระดาษ-กระดาษห่อก้อนหิน มันเกี่ยวข้องยังไงกับการตรวจโรค กลับมาเมืองไทยพยายามค้นหาข้อมูลรายละเอียดจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ และพยายามอยู่นาน แต่หายังไงก็ไม่พบคำตอบTOYOTA E-RACER
รถตระกูล E คันสุดท้ายที่นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง คือ โตโยตา อี-เรเซอร์ (TOYOTA E-RACER) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถแข่ง 2 ที่นั่ง ที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นรังสรรค์ขึ้น เพื่อพิสูจน์ความเชื่อที่ว่า แม้ก้าวเท้าเข้าสู่ยุคของรถพลังไฟฟ้า และรถที่วิ่งได้แม้ไร้ผู้ขับ ก็ยังมีที่ว่างอยู่เพียงพอสำหรับผู้หลงใหลในรสชาติของการขับรถเร็ว หน้าตาและรูปทรงตัวถัง เห็นแล้วไม่ปักใจเชื่อว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสเปลี่ยนสภาพจากรถแนวคิดเป็นรถตลาด เพราะดูจะเหมาะกับการเป็นรถสำหรับแบทแมนในภาพยนตร์มากกว่าขับในชีวิตจริง ที่ทำเป็นพิเศษ และมีเฉพาะในงานนี้ก็คือ เขาจัดให้ผู้ชมงานเข้าไปนั่งในรถ และสวมแว่นตาที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ ทำให้สามารถสัมผัสประสบการณ์เหมือนนั่งขับรถแข่งจริงๆ แถมยังเลือกสนามแข่งรถได้สารพัดสนามตามที่ต้องการได้ด้วย และสนามที่มีให้เลือกก็ล้วนเป็นสนามแข่งรถดังๆ ระดับโลกทั้งนั้นTOYOTA PMCV CONCEPT
อวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ โตโยตา พีเอมซีวี คอนเซพท์ (TOYOTA PMCV CONCEPT) ผลงานชิ้นพิเศษของ โตโยตา ออโท บอดี (TOYOTA AUTO BODY) บริษัทย่อยบริษัทหนึ่งของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่น ซึ่งรับผิดชอบการออกแบบพัฒนา และผลิตรถมีนีแวน เป็นรถแนวคิดที่รังสรรค์ขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานของรถมีนีแวนที่ค่ายนี้ตั้งใจจะเริ่มผลิตจำหน่ายในปี 2030 ตัวถังขนาด 4.600x1.790x1.760 ม. มีหน้าตาและรูปทรงองค์เอวที่ดูวิลิศมาหรามาก จนรู้สึกเสียดายหากไม่มีโอกาสอยู่จนถึงปี 2030 เพื่อได้สัมผัสรถแบบนี้ ภายในห้องโดยสารขนาด 3.200x1.470x1.400 ม. ที่ออกแบบให้นั่งได้มากที่สุด 7 คน ก็มีรายละเอียดที่น่าฉงน คือ มีเก้าอี้ที่นั่งแบบตัวใครตัวมันอยู่ 2 แถว แถวละ 2 ตัว ติดตั้งในลักษณะหันหน้าเข้าหากัน กับมีเก้าอี้แบบม้ายาวอีก 1 แถว ติดตั้งตามยาวของตัวรถอย่างที่เห็นในภาพTOYOTA MIRAI CONCEPT
ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ โตโยตา มิราอิ คอนเซพท์ (TOYOTA MIRAI CONCEPT) ซึ่งหน้าตาดูราวกับเป็นรถตลาดที่กำลังจะออกโชว์รูม แต่ที่จริงยังติดป้ายว่าเป็นรถแนวคิด ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นยืนยันว่าเป็นต้นแบบของรถพลังไฟฟ้า โตโยตา มิราอิ (TOYOTA MIRAI) รุ่นที่ 2 ซึ่งมีกำหนดออกตลาดตอนปลายปี 2020 แทนที่รถรุ่นแรกซึ่งจนถึงขณะนี้ขายทั่วโลกไปแล้วประมาณ 10,000 คัน เป็นรถขับล้อหลัง 5 ที่นั่ง ในตัวถังขนาด 4.975x1.885x1.470 ม. ซึ่งติดตั้งระบบขับแบบเดียวกันกับรถรุ่นแรก คือ ระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ป้อนพลังไฟด้วยเซลล์เชื้อเพลิง หรือ FUEL CELL ซึ่งก่อเกิดพลังงานด้วยปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างแกสไฮโดรเจนกับออกซิเจน แต่เป็นระบบที่ผ่านการปรับปรุงโดยมีเป้าหมายว่า หลังการเติมแกสไฮโดรเจนแต่ละครั้ง รถจะวิ่งได้ไกลกว่ารถรุ่นเดิมประมาณร้อยละ 30DAIHATSU SUV ???
ยกตำแหน่งรถลึกลับที่สุดในงานนี้ให้เลย คือ รถ เอสยูวี ขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัดซึ่งปรากฏตัวพร้อมกัน 2 คันในบูธของยักษ์เล็กเมืองยุ่น พร้อมกับป้ายภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า NEW COMPACT SUV อยากทราบชื่อรุ่นจึงเดินเข้าไปถามน้องหนูที่ยืนอยู่ข้างรถ และทำหน้าที่ให้คำอธิบาย ปรากฏว่าเจ้าหล่อนทำท่าจุ๊ปากเหมือนห้ามถาม เพราะเป็นความลับบอกไม่ได้ ! อย่างนี้ก็มีด้วย ? ไม่บอกชื่อแต่มีป้ายบอกข้อมูลว่า เป็นรถ 5 ที่นั่ง วางเครื่องหน้า/ขับเคลื่อนล้อหน้า มีขนาดตัวถัง 3.995x1.695x1.620 ม. และมีน้ำหนักตัว 980 กก. ติดตั้งเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยน้ำ DOHC 3 สูบเรียง 12 วาล์ว 996 แรงม้า 72 กิโลวัตต์/98 แรงม้า ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติปรับอัตราทดต่อเนื่อง (เกียร์ CVT) แต่ไม่มีการบอกกล่าวกันเลยว่าจะเริ่มขายเมื่อไหร่ ? มีรถให้เลือกกี่โมเดล ? และค่าตัวถูกแพงขนาดไหน ?DAIHATSU WAIWAI
ยักษ์เล็กซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในเครือข่ายของยักษ์ใหญ่ โตโยตา นำรถแนวคิดออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" พร้อมกัน 5 คัน และทุกคันตั้งชื่อตามลักษณะการใช้งานในชีวิตประจำวัน คันแรกซึ่งมีชื่อเหมือนบะหมี่สำเร็จรูป ไดฮัทสุ ไวไว (DAIHATSU WAIWAI) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถมีนีแวนขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ขึ้นรถก็ง่าย ลงรถก็ง่าย ห้องโดยสารติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว นั่งได้รวม 6 คน ตัวถังด้านตรงข้ามกับผู้ขับ คือ ด้านซ้ายติดตั้งประตูที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง บานหน้าเป็นประตูติดบานพับที่เปิดโดยผลักไปข้างหน้าเหมือนประตูรถทั่วไป แต่บานหลังเป็นประตูเลื่อน อีกจุดหนึ่งที่แปลกไปจากรถมีนีแวนทั่วไป คือ หลังคา ซึ่งเจาะเป็นช่องซันรูฟ (SUNROOF) ขนาดใหญ่ 2 ช่อง และไม่กรุด้วยกระจกเหมือนซันรูฟทั่วๆ ไป แต่ติดตั้งประทุนแบบอ่อนซึ่งมีลักษณะเหมือนม่านหน้าต่างDAIHATSU ICOICO
รถแนวคิดคันที่ 2 ของยักษ์เล็กเมืองยุ่น คือ ไดฮัทสุ ไอโคไอโค (DAIHATSU ICOICO) เป็นรถขับได้ด้วยตัวเองที่ออกแบบสำหรับการขนส่งทั้งคน และสินค้าในช่วงเริ่มต้นและช่วงสิ้นสุด อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า FIRST-MILE AND LAST-MILE TRANSPORTATION ซึ่งเป็นการขนถ่ายด้วยรถเล็กเพื่อส่งแก่รถใหญ่ และจากรถใหญ่ลงสู่รถเล็กที่ทำกันอยู่ทั่วไป ตัวถังมีขนาดค่อนข้างเล็กเพื่อความสะดวกในการวิ่งเข้าสู่ถนนหน้าบ้านที่มักเป็นถนนแคบๆ เป็นรถขึ้น/ลงง่ายเช่นกัน เพราะมีประตูข้างบานโตเปิดเลื่อนออกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลางอย่างที่เห็นในภาพ รวมทั้งมีทางลาดที่ถอดเก็บได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่นั่งบนรถเข็น นอกจากนั้นยังมีหุ่นยนต์ตั้งชื่อว่า นิโปเต (NIPOTE) ซึ่งแปลว่า คุณหลาน เป็นอุปกรณ์พิเศษประจำรถที่ช่วยดูแลการเคลื่อนย้ายต่างๆ เป็นหุ่นยนต์สั่งงานด้วยเสียงพูดที่สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้DAIHATSU WAKUWAKU
รถแนวคิดอีกคันหนึ่งของยักษ์เล็กเมืองยุ่น คือ ไดฮัทสุ วาคุวาคุ (DAIHATSU WAKUWAKU) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ MINI-CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดมีนี ที่ไปไหนไปกัน และอยากเอาอะไรไปก็เอาไปได้ เพราะเป็นรถขนาดกระจิ๋วหลิวที่บรรทุกผู้ขับ และผู้โดยสารได้รวม 4 คน แล้วยังเหลือที่บรรจุสิ่งของได้อีกเยอะ เพราะมีพื้นที่เก็บของอยู่มากมาย รวมทั้งช่องเก็บหมวกกันนอค รองเท้าบูธ ฯลฯ ซึ่งอยู่ใต้หลังคาอย่างที่เห็นในภาพ ที่แปลกไปจากรถ เอสยูวี ทั่วไปก็คือ ไม่มีหน้าต่างข้างบานหลัง แต่แทนที่ด้วยแผงไฟรูปตัว X และประตูบานท้ายแยกเป็น 2 บานตามแนวนอน บานบนเปิดโดยพลิกไปด้านข้าง ส่วนบานล่างเปิดโดยพลิกลงในระดับเข่า (ชื่อ WAKUWAKU แปลว่า EXCITEMENT หรือความตื่นเต้น ผู้ผลิตบอกว่าเลือกใช้ชื่อนี้เพื่อสื่อให้เห็นว่า ชีวิตคุณจะตื่นเต้นยิ่งขึ้นแน่นอน เมื่อได้เป็นเจ้าของรถแบบนี้)DAIHATSU TSUMUTSUMU
รถแนวคิดคันสุดท้ายของยักษ์เล็กเมืองยุ่นซึ่งปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" รถติดป้ายชื่อ ไดฮัทสุ สึมุสึมุ (DAIHATSU TSUMUTSUMU) ซึ่งมาจากคำญี่ปุ่นที่แปลว่า TO LOAD ในภาษาอังกฤษ หรือเพื่อบรรทุกในภาษาไทย เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถบรรทุกขนาดมีนี ที่แปรเปลี่ยนรูปลักษณ์และขอบเขตการทำงานได้หลายแบบ ตัวถังแยกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนขับเคลื่อนพร้อมส่วนรองรับ กับส่วนตู้บรรทุกซึ่งต้องตั้งคำถามว่าคิดได้ยังไง ? เพราะมีประตูข้างบานโตที่เปิดแบบข้อศอกอย่างที่เห็นในภาพ ผู้ผลิตบอกว่าออกแบบอย่างนี้เพื่อให้การเข้า/ออกทำได้ง่ายเป็นพิเศษ ที่พิเศษเช่นกันก็คือ นอกจากบรรทุกผู้คน หรือวัสดุสิ่งของแล้ว CARGO BED หรือส่วนซึ่งเป็นตู้บรรทุกนี้ ยังสามารถใช้หลังคาที่ราบเรียบเป็นลานจอด AGRICULTURAL DRONE หรือดโรนที่ใช้ในการเกษตรได้ด้วยNISSAN SKYLINE
ยักษ์รองเมืองยุ่นซึ่งมียักษ์ใหญ่ของเมืองน้ำหอมเป็นผู้ถือหุ้นบางส่วน นำรถตลาดรุ่นใหม่ๆ ออกอวดตัวในงานนี้หลายคัน เลือกมาบรรจุไว้ในรายงานนี้ 2 คัน คันแรก คือ รถเก๋งขนาดกลางติดป้ายชื่อ นิสสัน สกายไลน์ (NISSAN SKYLINE) ที่คนรักรถในเมืองไทยคงคุ้นชื่อกันดี เป็นรถรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 14) และเป็นรถเก๋งซีดานขนาดกลางที่เพิ่งเริ่มการจำหน่ายในเมืองยุ่นเมื่อไตรมาส 3 ของปีหมูทองร้องยี้ โดยมีรถให้เลือก 4 โมเดล มีทั้งรถขับล้อหลัง และรถขับทุกล้อ แต่มีเครื่องยนต์ขนาดเดียว คือ เครื่องทวินเทอร์โบเบนซินฉีดตรง DOHC วี 6 สูบ 3,498 ซีซี 225 กิโลวัตต์/306 แรงม้า ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ มีคุณลักษณ์พิเศษที่ผู้ผลิตบอกว่าไม่เคยมีมาก่อนในรถแบบใดๆ คือ ระบบช่วยขับที่ทำให้ผู้ขับไม่จำเป็นต้องจับพวงมาลัยเมื่อรถวิ่งอยู่บนถนนเลนเดียว แต่มีข้อแม้ว่าผู้ขับต้องตื่นตัว และเตรียมพร้อมที่จะควบคุมรถตลอดเวลาNISSAN LEAF NISMO RC
รถตลาดอีกแบบหนึ่งของค่ายยักษ์รองที่สมควรนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง คือ นิสสัน ลีฟ นิสโม อาร์ซี (NISSAN LEAF NISMO RC) ที่ดูยังไงก็ไม่น่าจะใช่ นิสสัน ลีฟ ? เป็นผลงานของ NISMO ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบกิจการรถแข่งรถแต่งของค่ายนี้ และเป็นรถแข่งพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่พัฒนาต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถ นิสสัน ลีฟ (NISSAN LEAF) รุ่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 2 และเริ่มจำหน่ายในเมืองยุ่นเมื่อปลายปี 2017 หน้าตาดูแปลกไป ขนาดตัวถังเปลี่ยนไปในทุกมิติ รายละเอียดทางเทคนิคก็มีการปรับแต่งมากมาย รวมทั้งการเพิ่มขนาด และจำนวนของมอเตอร์ไฟฟ้าจาก 1 เป็น 2 ชุด ซึ่งทำให้เปลี่ยนจากรถขับล้อหน้าเป็นรถขับทุกล้อ และเพิ่มพลังขับเคลื่อนจาก 150 เป็น 322 แรงม้า คือ เพิ่มกว่า 1 เท่าตัว ส่วนผลลัพธ์ด้านความเร็ว คือ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. สามารถทำได้ในเวลาแค่ 3.4 วินาที คือ เร็วขึ้นกว่าร้อยละ 50NISSAN ARIYA
ที่ทำให้ไม่น้อยหน้าผู้ผลิตรถยนต์สายเลือดซามูไรรายอื่นๆ ก็คือ ค่ายยักษ์รองมีรถแนวคิดซึ่งปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" รวม 2 คัน คันแรก คือ นิสสัน อารียา (NISSAN ARIYA) ซึ่งเห็นชื่อแล้วชวนให้สงสัยว่าขอหยิบขอยืมจากสาวไทยคนไหน ? เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ ในตัวถังขนาด 4.600x1.920x1.630 ม. ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ เป็นระบบขับที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ชุดหนึ่งขับล้อคู่หน้า อีกชุดขับล้อคู่หลัง ไม่มีการระบุตัวเลขพละกำลัง ยืนยันแต่เพียงว่า เท่ากับหรือดีกว่ารถสปอร์ทระดับพรีเมียมหลายรุ่นด้วยซ้ำ ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ เทคโนโลยีช่วยขับที่ค่ายนี้พัฒนาขึ้นเอง และตั้งชื่อว่า PROPILOT 2.0 ซึ่งในบางกรณี และสถานการณ์ รถสามารถวิ่งไปได้เองโดยผู้ขับไม่ต้องจับพวงมาลัย และเทคโนโลยีการนำพลังไฟฟ้าจากรถไปใช้งานในบ้านเรือนNISSAN IMK CONCEPT
รถแนวคิดอีกคันหนึ่งของค่ายยักษ์รองซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลกที่งานนี้” คือ นิสสัน ไอเอมเค คอนเซพท์ (NISSAN IMK CONCEPT) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดมีนีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ ตัวถังขนาด 3.434 x1.512x1.644 ม. มีห้องโดยสารที่ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในคาเฟ หรือในเลาจ์น์ ไม่ใช่นั่งอยู่ในรถ และมีเทคโนโลยีใหม่สุดที่ค่ายนี้เพิ่พัฒนาขึ้นใหม่ คือ ระบบช่วยขับ PROPILOT 2.0 ซึ่งช่วยลดความเครียดของผู้ขับได้มาก เพราะทำงานได้ในหลายสถานการณ์ ทั้งเมื่อขับในเมือง เมื่อขับบนทางด่วน รวมทั้งการนำรถเข้าจอด และการเรียกรถจากที่จอดด้วยสมาร์ทโฟน ที่สมควรกล่าวถึงด้วยก็คือ ระบบการแสดงข้อมูลที่จำเป็น เช่น ความเร็วรถ ฯลฯ โดยไม่ใช้แผงหน้าปัด แต่เป็นตัวเลขที่ลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า HOLOGRAPHIC DISPLAYMAZDA MX-30
หนึ่งในบรรดารถตลาดเพียงไม่กี่แบบที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือ มาซดา เอมเอกซ์-30 (MAZDA MX-30) ซึ่งเป็นรถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่ผู้คนสนใจกันมากก็เนื่องจากเป็นรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ แบบแรกของค่ายนี้ ตัวถังขนาด 4.395x1.795x1.570 ม. ที่ออกแบบด้วยแนวคิด HUMAN MODERN หรือ นำสมัยสไตล์มนุษย์ ติดตั้งระบบขับซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 141 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 355 โวลท์ 35.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเมื่อชาร์จไฟเต็มที่รถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 210 กม. เป็นรถที่ออกแบบโดยคำนึงเป็นอย่างมากในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุหุ้มที่ใช้ในห้องโดยสารล้วนผ่านการพิจารณามาแล้วว่าปลอดภัย ไร้พิษ และรักษ์โลก ตัวอย่าง คือ ไม้คอร์คอันเป็นสินค้าดั้งเดิมของค่ายนี้ และผ้าใยสังเคราะห์แฟบริค ซึ่งผลิตจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่MITSUBISHI MI-TECH CONCEPT
ค่าย "สามเพชร" ก็มีรถแนวคิดซึ่งปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" รวม 2 คันเช่นกัน คันแรก คือ มิตซูบิชิ เอมไอ-เทค คอนเซพท์ (MITSUBISHI MI-TECH CONCEPT) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ เอสยูวี หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กสุดไฮเทค ซึ่งเมื่อเห็นในงานก็เข้าใจเอาเองว่าเป็นรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ แต่เมื่อศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจึงพบว่าเป็นรถไฮบริด และเป็นรถไฮบริดที่ไม่เหมือนกับรถไฮบริดคันใดในโลก คือ เป็นระบบ PLUG-IN HYBRID ซึ่งติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้ารวม 4 ชุด แต่ละชุดขับล้อแต่ละล้อ และมีเครื่องยนต์แกสเทอร์ไบน์ (GAS TURBINE ENGINE) ขนาดเล็กเป็นอุปกรณ์ก่อกำเนิดพลังไฟฟ้า เครื่องยนต์ที่ว่านี้ใช้เชื้อเพลิงได้หลายอย่าง คือ ใช้ดีเซลก็ได้ ใช้น้ำมันก๊าดก็ได้ ใช้แอลกอฮอลก็ได้ ที่ขาดเสียมิได้สำหรับรถแนวคิดยุคนี้ก็คือ ระบบช่วยขับสารพัดสารพันที่ช่วยให้ขับรถได้ง่ายขึ้นมากMITSUBISHI SUPER HEIGHT K-WAGON CONCEPT
รถแนวคิดอีกคันหนึ่งของค่าย "สามเพชร" ซึ่งปรากฏตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ มิตซูบิชิ ซูเพอร์ ไฮท์ เค-แวกอน คอนเซพท์ (MITSUBISHI SUPER HEIGHT K-WAGON CONCEPT) รถชื่อยาวหลังคาสูง ซึ่งหน้าตาเหมือนเป็นรถตลาดเรียบร้อยแล้ว เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ KEI-CAR หรือรถขนาดมีนีตามกฎหมายญี่ปุ่น ที่ผู้ผลิตไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับระบบขับ จึงไม่ทราบว่าเป็นรถติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือเป็นรถไฮบริด หรือเป็นรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ แต่ใช้เนื้อที่หลายหน้ากระดาษบรรยายคุณสมบัติความปลอดภัย ซึ่งพอจะสรุปได้อย่างสั้นๆ ว่า มีเทคโนโลยี MI-PILOT อันเป็นอุปกรณ์ช่วยขับที่ทำงานได้ในหลากหลายสถานการณ์ ทั้งเมื่อขับบนทางด่วน และเมื่อวิ่งบนถนนเลนเดียว รวมทั้งมีระบบห้ามล้ออัตโนมัติที่ช่วยป้องกันการชนและบรรเทาผลลัพธ์จากการชนได้อย่างดีSUZUKI HANARE
เจ้าแห่งรถขนาดมีนีของเมืองยุ่นซึ่งปี 2020 จะมีอายุครบ 100 ปี นำรถแนวคิดออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ครึ่งโหลคัน ตัดสินใจเลือกคันที่น่าสนใจที่สุดมาเพียง 2 คัน คันแรก คือ ซูซูกิ ฮานาเร (SUZUKI HANARE) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถขับได้ด้วยตัวเอง ที่ค่ายนี้คาดหมายว่าภายในปี 2040 จะมีให้ใช้งานจริง ตัวถังทรงกล่องเดียวขนาด 3.900x1.800x1.900 ม. ออกแบบตามชื่อรถ คือ HANARE ซึ่งเป็นคำญี่ปุ่นที่แปลว่า กระท่อม เป็นรถซึ่งไม่มีหน้ารถ ไม่มีท้ายรถ เพราะเหมือนกันหมดทั้ง 2 ด้าน และติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าไว้ที่ล้อแต่ละล้อ อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า IN-WHEEL MOTORS ห้องโดยสารซึ่งกว้างขวาง และโล่งโจ้ง สามารถตกแต่ง และติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งได้สารพัดแบบ สารพัดรูปลักษณ์ตามใจชอบ นั่งอยู่ในรถแบบนี้จึงให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในบ้านSUZUKI WAKU SPO
อีกคันหนึ่งของยักษ์เล็กเมืองยุ่นที่อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ ซูซูกิ วาคุ เอสพีโอ (SUZUKI WAKU SPO) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งขนาดซูเพอร์มีนีขับเคลื่อนด้วยระบบ PLUG-IN HYBRID หรือไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรีที่เหมาะกับการใช้งานในครอบครัว ตัวถังขนาด 3.700x1.650x1.430 ม. หน้าตาย้อนยุค เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบที่ทำให้ผู้ใช้รถสามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆ ได้ตามความพอใจ รวมทั้งการเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตัวถังจากรถคูเปเป็นรถตรวจการณ์ หรือกลับกันอย่างที่เห็นในภาพ ที่ทำให้ขึ้น/ลงรถได้ง่าย ทั้งเมื่ออยู่ในลักษณะของรถคูเป และเมื่อเป็นรถตรวจการณ์ คือ ประตูข้างที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสากลาง ส่วนภายในห้องโดยสารก็มีลูกเล่นชวนยิ้มอยู่หลายจุด ตัวอย่าง คือ แผงหน้าปัดอุปกรณ์ซึ่งเปลี่ยนจำนวนข้อมูลที่แสดงตามโหมดการขับที่เลือกใช้SUBARU LEVORG PROTOTYPE
ค่าย "ดาวลูกไก่" มีผลงานให้กล่าวถึงเพียงชิ้นเดียว คือ ซูบารุ เลอโวร์ก พโรโทไทพ์ (SUBARU LEVORG PROTOTYPE) รถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ ”ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถ ซูบารุ เลอโวร์ก (SUBARU LEVORG) รุ่นที่ 2 ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 แทนที่รถรุ่นปัจจุบันซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2014 ตัวถังที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด และหน้าตาดูดีกว่ารถรุ่นแรก ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบนอนยัน (บอกเซอร์) ความจุ 1.8 ลิตร ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ และติดตั้งระบบช่วยขับที่ค่ายนี้ตั้งชื่อว่า EYESIGHT ซึ่งทำงานด้วยกล้องถ่ายภาพสเตริโอมุมกว้าง และระบบเรดาร์ 4 ชุด เป็นระบบซึ่งทำงานได้หลากหลาย มีห้ามล้ออัตโนมัติป้องกันการชน การปรับความเร็วโดยอัตโนมัติเมื่อรถวิ่งเข้าโค้ง และการขับปล่อยมือในสภาพการจราจรติดขัดLEXUS LF-30 ELECTRIFIED
ตำแหน่งรถแนวคิดที่หวือหวาฟู่ฟ่าที่สุดในงานนี้ สมควรยกให้แก่รถ เลกซัส แอลเอฟ-30 อีเลคทริฟายด์ (LEXUS LF-30 ELECTRIFIED) ซึ่งอวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้เช่นกัน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังไฟฟ้าขับได้ด้วยตัวเอง และเป็นพื้นฐานของรถตลาดที่ค่ายนี้คาดหมายไว้ว่าจะสามารถนำออกสู่โชว์รูมในปี 2030 ตัวถังขนาด 5.090x1.995x1.600 ม. มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากมายรวมทั้งประตูแบบปีกนกที่ติดบานพับไว้บนหลังคา ติดตั้งระบบขับทุกล้อด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ชุด แต่ละชุดขับล้อแต่ละล้อ อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า IN-WHEEL ELECTRIC MOTORS ใช้แบทเตอรีโซลิด-สเตท (SOLD-STATE) ขนาด 110 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งชาร์จไฟเต็มที่แต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกล ถึง 500 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน WLTP และทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 3.8 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 200 กม./ชม.HONDA FIT
รถตลาดที่สื่อมวลชนสนอกสนใจกันมากที่สุดโดยเฉพาะผู้สื่อข่าวจากเมืองสยาม คือ ฮอนดา ฟิท (HONDA FIT) ซึ่งอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 4) ซึ่งต้องรอจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 จึงจะเริ่มการจำหน่ายในเมืองแม่ หน้าตาดูเปลี่ยนไปมาก และเป็นการเปลี่ยนในทางดี ส่วนรายละเอียดโดยรวมเห็นได้ชัดว่ายังยึดจุดเด่นจุดเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น คือ ห้องโดยสารที่กว้างขวาง และใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ที่พิเศษกว่ารถรุ่นก่อนๆ ซึ่งคนรักรถคุ้นเคยกันดีก็คือ รถรุ่นใหม่นี้มีการตกแต่งและแบ่งเป็นรถรุ่นย่อยให้เลือกตามรูปแบบการใช้ชีวิตและความชอบถึง 5 แบบ คือ FIT BASIC-FIT HOME-FIT NESS-FIT CROSSTAR-FIT LUXE รายละเอียดมากกว่านี้โปรดติดตาม ”ระเบียงรถใหม่” (เกือบลืมบอกไปว่าในกะลาแลนด์รถแบบนี้ติดป้ายชื่อ HONDA JAZZ)YAMAHA MW-VISION
งานนี้เมื่อปี 2015 ผู้ผลิตจักรยานยนต์ของเมืองยุ่นนำรถ 4 ล้อออกอวดตัว 1 คัน คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ ยามาฮา สปอร์ทส์ ไรด์ คอนเซพท์ (YAMAHA SPORTS RIDE CONCEPT) 2 ปีถัดมา คือ ในงานครั้งที่ 45 ก็มีรถแบบนี้อีกเช่นกันในบูธของค่ายนี้ คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ ยามาฮา ครอสส์ ฮับ คอนเซพท์ (YAMAHA CROSS HUB CONCEPT) แต่งานครั้งล่าสุดนี้ไม่มีแม้แต่เงาของรถ 4 ล้อ จึงน่าเชื่อว่า ยามาฮา คงเลิกล้มความตั้งใจจะผลิตรถประเภทนี้ไปแล้ว รถเพียงคันเดียวในบูธของค่ายนี้มีมากกว่า 2 ล้อ คือ ยามาฮา เอมดับเบิลยู-วิชัน (YAMAHA MW-VISION) ที่เลือกมาปิดท้ายรายงานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของจักรยานยนต์ 3 ล้อ ที่เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นรถยนต์ 4 ล้อ เพราะลักษณะการนั่งขับไม่ใช่นั่งคร่อมอาน แต่นั่งโดยไม่ต้องแยกขาเหมือนนั่งในรถยนต์ ที่เหนือกว่ารถยนต์ทั่วไปก็คือ รถจะเอนตัวด้วยเมื่อวิ่งในโค้งABOUT THE AUTHOR
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา และบริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2562
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ