รายงาน(formula)
พิษ COVID- 19 สะเทือนทั้งวงการ
การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้คนไปจนถึงอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจอย่างเป็นวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบแทบจะทั่วทุกมุมโลก ทั้งในด้านการผลิต การส่งออก และการซื้อ-ขาย รถยนต์ แม้บริษัทบางแห่งไม่ได้เปิดเผยความเสียหายออกมาอย่างชัดเจน แต่จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ก็ได้ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดการชะงักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลกระทบวิกฤต COVID-19 กับยอดขายรถในประเทศไทย
เมื่อยอดการขายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ในประเทศไทย ทำได้เพียง 68,271 คัน ลดลง 17.1 % ขณะที่ยอดรวม 2 เดือน ทำได้เพียง 139,959 คัน ลดลง 12.8 % อันเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ดูตัวอย่างประเทศจีน ที่หลังจากปราบเจ้าไวรัส COVID- 19 จนอยู่หมัด ก็ได้ทำการเปิดเมืองต้นเหตุที่ปิดเอาไว้เกือบ 2 เดือน บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ ก็เริ่มทยอยกลับมาทำงานกันตามปกติ แม้ว่ายอดการขายทั่วโลกจะตกต่ำลงก็ตาม ขณะที่บรรดาโรงงานประกอบรถยนต์ในอีกหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย ต่างพากันหยุดการผลิต ไม่ว่าจะเนื่องมาจากพนักงานของตนติดเชื้อจากไวรัส หรือหยุดการผลิตเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดของภาครัฐก็ตามค่ายรถในไทยโดนอะไรบ้าง หลัง COVID-19 ระบาด ?
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ต้องหยุดชะงักทำให้ความต้องการของ ตลาดในประเทศ และการส่งออกต้องหดตัวลง ซึ่งก็มีหลายค่ายที่ได้รับผลกระทบ จนต้องทยอยปิดโรงงานเป็นการชั่วคราวหลายแห่ง ดังนี้บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ตัดสินใจระงับการผลิตรถ อีซูซุ ที่โรงงาน 2 แห่งชั่วคราว คือ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ และที่นิคมอุตสาหกรรมเกทเวย์ซิที จ. ฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ วันที่ 13-30 เมษายน 2563บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย จำกัด
ประกาศหยุดการประกอบรถยนต์ชั่วคราวของโรงงานทั้ง 2 แห่ง ในประเทศไทย ที่ จ. พระนครศรีอยุธยา และ จ. ปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม-30 เมษายน 2563 หรือจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติมฟอร์ด มอเตอร์ คัมพานี
หยุดสายการผลิตรถยนต์ และเครื่องยนต์เป็นการชั่วคราวที่โรงงานผลิตในกลุ่มตลาดนานาชาติ อินเดีย เวียดนาม แอฟริกาใต้ และประเทศไทย รวมถึง โรงงาน ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริง (FTM) และออโต้ อัลลายแอนซ์ (AAT) ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม-20 เมษายน 2563 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงอีกครั้งบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
หยุดโรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่ง และเครื่องยนต์ ที่ศูนย์การผลิตแหลมฉบัง จ. ชลบุรี เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นไปตามแผนปรับกำลังผลิต และสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่ยอดขายรถยนต์ลดลง เพื่อให้การปฏิบัติงานของพนักงานในส่วนการผลิต สอดคล้องกับแผนการผลิต และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐ บริษัทฯ จึงให้พนักงานในส่วนการผลิตหยุดงานเป็นการชั่วคราว โดยได้รับค่าจ้าง 85 %มาซดา มอเตอร์
ออกประกาศให้โรงงานนอกประเทศญี่ปุ่นหลายแห่ง รวมถึงในประเทศไทย หยุดดำเนินการผลิตชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดย บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตอบสนองนโยบายภาครัฐ ซึ่งจะปิดเฉพาะในส่วนโรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ จ. ระยอง เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-19 เมษายน 2563 ซึ่งการหยุดดำเนินงานในครั้งนี้ ทำให้ มาซดา ลดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกลง 60,000 คัน เพื่อปรับให้สอดคล้องตามแรงซื้อที่ชะลอตัวลง ความยากลำบากในการจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่รถ และยอดขายที่ลดลงในตลาดต่างประเทศบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
ประกาศหยุดสายการผลิตรถยนต์ของโรงงานในประเทศไทย 3 แห่ง เป็นการชั่วคราว ได้แก่ โรงงานสำโรง จ. สมุทรปราการ, โรงงานบ้านโพธิ์ และโรงงานเกทเวย์ จ. ฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 7-17 เมษายน 2563 ซึ่งการประกาศหยุดพักสายการผลิตฯ ชั่วคราวนี้ เป็นการปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์การขาย ทั้งตลาดในประเทศไทย และการส่งออกที่กำลังชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์ของการผลิตชิ้นส่วนจากทั่วโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19สถานการณ์ตลาดยานยนต์ทั่วโลก
วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก ได้รับผลกระทบโดยเริ่มจากการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อใช้ในการประกอบรถยนต์ ซึ่งก็มี โรงงานประกอบรถยนต์หลายค่ายทั่วโลก ต่างพากันประกาศหยุดไลน์การผลิตมากมาย เริ่มจาก แฟร์รารี, กลุ่ม เฟียต ไครสเลอร์, ฟอร์ด, ฮอนดา และโฟล์ค-สวาเกน ที่ประกาศหยุดสายการผลิตไปตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา เบื้องต้น แฟร์รารี ประกาศจะเริ่มการผลิตที่โรงงานในมาราเนลโล ในวันที่ 14 เมษายน 2563 โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดหาชิ้นส่วน และมีความปลอดภัยในการทำงานเพียงพอ แม้ประเทศอิตาลี จะเป็นประเทศที่มีการระบาดของไวรัสอย่างหนัก ขณะที่ กลุ่ม เฟียต ไครสเลอร์ เบื้องต้นก็ระบุว่าจะเริ่มสายการผลิตอีกครั้ง ในวันที่ 14 เมษายน 2563 ที่โรงงานในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ส่วนโรงงานแห่งอื่นๆ จะแจ้งเพิ่มเติม ค่าย ฟอร์ด ยืนยันว่าโรงงานในเมกซิโก จะสามารถเริ่มการผลิตได้ในวันที่ 6 เมษายน 2563 และจะตามมาด้วยโรงงานหลักในสหรัฐอเมริกา อีกหลายแห่งในวันที่ 14 เมษายน 2563 เช่นเดียวกับ ฮอนดา ที่วางแผนจะกลับมาผลิตในโรงงานสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในวันที่ 7 เมษายน 2563 ส่วน โฟล์คสวาเกน วางแผนจะกลับมาผลิตในสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 5 เมษายน 2563 และค่ายผู้ผลิตจากเยอรมนี จะเริ่มงานในโรงงานส่วนใหญ่ วันที่ 9 เมษายน 2563 ทางฝั่ง โตโยตา ก็เตรียมที่จะเริ่มสายการผลิตทุกโรงงานในยุโรป ยกเว้นประเทศรัสเซีย ซึ่งจะมีประกาศเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยตามแผนงาน น่าจะเริ่มมีรถยนต์ที่ออกจากสายการผลิตคันแรกราว วันที่ 20 เมษายน 2563 เป็นอย่างเร็ว ทั้งนี้ เพราะการระบาดของไวรัสในยุโรป ยังคงมีมาตรการเฝ้าระวังอยู่ในอีกหลายประเทศ และอาจมีการปิดเมืองเพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับสภาวะตลาด ที่แทบจะไม่มีการซื้อขายใดๆ เกิดขึ้น รวมทั้งความยุ่งยากในการจัดส่งชิ้นส่วน อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่ง โตโยตา หยุดสายการผลิตในฝรั่งเศส, อังกฤษ, สาธารณรัฐเชค, โปแลนด์, ตุรกี และโปรตุเกส มาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนโรงงานในรัสเซีย จะหยุดการประกอบตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม-3 เมษายน 2563 ส่วนในอเมริกาเหนือ ก็ยังไม่มีกำหนดกลับมาขึ้นสายการผลิต ขณะที่ค่าย เรอโนลต์ ประกาศว่า ได้ประกาศหยุดโรงงานทุกแห่ง อันเนื่องจากผลกระทบของไวรัส COVID-19 ยกเว้นในประเทศจีน และเกาหลีใต้ โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานการณ์ในแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถกลับมาเริ่มการผลิตได้เร็วที่สุด โดย เรอโนลต์ ปิดเขตอุตสาหกรรมในฝรั่งเศส, ปิดโรงงานในสโลเวเนีย, โรงงานอีก 2 แห่ง ในโมรอคโค, ตุรกี และโรงงานระบบขับเคลื่อนในโปรตุเกส รวมทั้งโรงงาน 7 แห่ง ในทวีปอเมริกาใต้ และประเทศอินเดีย ทางด้าน กลุ่ม พีเอสเอ แถลงว่าได้เตรียมที่จะเริ่มสายการผลิตของโรงงานในยุโรป อีกครั้ง หลังจากต้องปิดเพราะ ไวรัส COVID-19 แต่ได้รับการทักท้วงจากสหภาพแรงงาน ว่าแผนงานยังไม่พร้อมดำเนินการ แม้ว่าจะประกาศที่จะเริ่มสายการผลิตเครื่องยนต์ ในโดฟริน (DOUVRIN) ในวันที่ 3 เมษายน 2563 แต่สหภาพก็ระบุว่า ยังไม่พร้อมดำเนินการเช่นกัน ขณะที่ภาครัฐ ก็ประกาศปิดประเทศจนถึงวันที่ 15 เมษายน เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส กลุ่ม พีเอสเอ ปิดโรงงานในยุโรป ประกอบด้วย โอเพล ในเยอรมนี, สเปน และโปแลนด์, โรงงาน วอกซ์ฮอลล์ ในอังกฤษ เช่นเดียวกับ เปอโฌต์, ซีตรอง และเดแอส เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา และมีแผนที่จะกลับมาเริ่มการผลิตอีกครั้งในวันที่ 27 มีนาคม 2563 แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ภาพรวม คือ เบื้องต้นค่ายรถยนต์ต่างๆ กำลังตรวจสอบสถานการณ์ความเป็นไปได้ และเตรียมงานที่จะกลับมาเริ่มสายการผลิต ตามลำดับความจำเป็น แต่นั่นเป็นแผนงานเบื้องต้นที่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นไปตามคาดการณ์ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องพิษ COVID-19 ลดเงินเดือนทั้งบริษัท ตั้งแต่พนักงานยันผู้บริหาร
COVID-19 ส่งผลกับอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างหนัก เพราะการผลิตไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ รวมถึงความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ของผู้บริโภคช่วงนี้ก็แทบจะไม่มี จึงไม่แปลกที่ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายต้องปรับตัวเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ โดยหนึ่งในนั้น คือ กลุ่ม เฟียต ไครสเลอร์ หรือเอฟซีเอ ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งปิดโรงงานบางแห่งไป รวมถึงเลิกสัญญากับพนักงานสัญญาจ้างกว่า 2,000 ตำแหน่ง แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะผ่านพ้นวิกฤต ล่าสุด เอฟซีเอ ประกาศลดเงินเดือนพนักงาน ไล่ตั้งแต่คณะกรรมการที่ลด 100 %, ผู้บริหารระดับสูง 30-50 % และพนักงานทั่วไป 20 % ไมค์ แมนลีย์ (MIKE MANLEY) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซี่งเป็นหนึ่งในคนที่ถูกลดเงินเดือน 50 % ยอมรับว่า เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน บริษัทจำเป็นต้องลดเงินเดือนพนักงานทุกคนตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นจะกินระยะเวลาราว 3 เดือน และการทำแบบนี้น่าจะทำให้พนักงานทุกคนยังมีงานทำกับบริษัทอยู่ ทั้งนี้การประกาศของ เอฟซีเอ นั้นตามหลัง จีเอม ที่เพิ่งประกาศลดเงินเดือนพนักงาน 20 % รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เริ่มใช้ประกาศลดเงินเดือน เพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้โรคเลื่อนระบาดหนัก
“มหกรรมยานยนต์” งานใหญ่ของโลกถูกยกเลิกไปแล้ว 3 งาน ตั้งแต่งาน “มหกรรมยานยนต์ปักกิ่ง”, “มหกรรมยานยนต์เจนีวา ครั้งที่ 90” ที่ประกาศยกเลิกไป ล่าสุดงาน “มหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ 2020” ประกาศยกเลิกพร้อมเปลี่ยนสถานที่จัดงานเป็นโรงพยาบาลภาคสนาม ส่วนงานใหญ่อีกงาน คือ “มหกรรมยานยนต์ปารีส” ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน ได้ประกาศยกเลิกเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากขณะนี้ประเทศฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศในยุโรป อยู่ในสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับวงการมอเตอร์สปอร์ท สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือเอฟไอเอ ได้ออกมาประกาศเลื่อนการแข่งขันทุกรายการแบบไม่มีกำหนด ไม่ว่าจะเป็น ศึก ฟอร์มูลา วัน หรือโมโท จีพี แม้กระทั่ง มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ หรือโอลิมปิค 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คณะกรรมการโอลิมปิคสากล หรือไอโอซี ได้ออกประกาศเลื่อนการแข่งขันออกไป 1 ปี เบื้องต้นยังใช้กำหนดการเดิม นั่นคือ 24 กรกฎาคม-9 สิงหาคม 2563 และเจ้าภาพยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่น เช่นเดิมอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนเริ่มขยับ
ขณะที่โรงงานส่วนใหญ่ในยุโรปต้องหยุดการทำงาน แต่สายการผลิตรถยนต์ในประเทศจีน ก็ค่อยๆ กลับมาเริ่มงานกันอีกครั้ง ซึ่งยอดการขายรถยนต์ในประเทศจีน ลดลงต่ำสุดในช่วงที่ผ่านมา แต่การประกาศเปิดเมืองต้นตอไวรัส COVID-19 อย่างเมืองอู่ฮั่น ก็ได้ทำให้มีผู้คนออกจากบ้าน ไปศูนย์การค้า รวมถึงเข้ามาในโชว์รูมรถยนต์กันบ้างแล้ว ทางด้านโรงงาน บีเอมดับเบิลยู ใน เสิ่นหยาง (SHENYANG) เริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง ด้วยความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจีน จะสามารถจัดการกับปัญหาของโรคระบาดได้ โดยไม่กระทบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ขณะที่ค่าย ไดมเลร์ ก็กลับมาเปิดโรงงานในจีน อีกครั้ง รวมทั้งผู้จำหน่าย ก็กลับมาเปิดทำการเช่นกัน รวมถึง ฟอร์ด ที่เริ่มสายการผลิตอีกครั้ง และค่อยๆ เพิ่มจำนวนการผลิต โดยระบุว่าการทำงานได้กลับมาเต็ม 100 % แล้ว แม้ว่าพนักงานในหูเป่ย หรืออู่ฮั่น ยังอยู่ในข้อจำกัดของการเดินทาง ค่ายรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ ในประเทศจีน ก็เริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นการผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป อันเนื่องจากความต้องการของตลาด ยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ การทำธุรกิจในยุคนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะการจะก้าวผ่านพ้นวิกฤต “COVID- 19” ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และไม่ใช่แค่บริษัทห้างร้านที่ต้องทำเพียงอย่างเดียว ยังมีฝั่งพนักงานลูกจ้างที่ต้องเข้าใจ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ต้องพยายามเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมผ่านพ้นช่วงเวลาแย่ๆ นี้ไปได้ABOUT THE AUTHOR
มือบ๊วย, กองบรรณาธิการบทความสารคดี formula
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)
คำค้นหา