ตลาดโดยรวม | -34.2 % |
รถยนต์นั่ง | -36.6 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | -27.3 % |
กระบะ 1 ตัน | -34.6 % |
รถเพื่อการพาณิชย์ และรถประเภทอื่นๆ | -16.7 % |
คุ้นชินกันหรือยัง กับมาตรการต่างๆ สำหรับ NEW NORMAL ที่คนไทยทุกคนต้องพบเจอในปัจจุบัน ก็ต้องทำใจกันไว้ล่วงหน้าว่าเหตุการณ์เช่นนี้ จนกว่าการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดร้ายแรง จะแล้วเสร็จ และผลิตออกมาให้ได้ใช้กันมาดูยอดการขายเดือนเมษายน ที่ปกติจะต้องบอกว่าเป็นเดือนที่มีวันหยุดราชการมากที่สุด แต่ปีนี้เป็นปีที่ไม่ปกติ วันที่ควรจะเป็นวันหยุดราชการ หลวงท่านก็บอกว่ายังไม่ต้องหยุด ถือเป็นวันทำงานไปก่อน แต่กระนั้น เจ้าโรคระบาดร้ายแรงก็ยังส่งผลให้ยอดการขายเดือนเมษายน ตกลงไป 65 % ขายกันได้เพียง 30,109 คัน โดยรถยนต์นั่ง ลดลงมากกว่ารถกระบะ เหตุผลก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า ภาครัฐฯ ได้ออกมาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้หน่วยงานต่างๆ ประกาศให้ทำงานจากที่บ้าน (WORK FROM HOME) และพฤติกรรมผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายชะลอการพิจารณาซื้อรถใหม่ รวมถึงความไม่แน่นอนในอนาคต ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัว และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้บริโภคเองก็ไม่มีแก่ใจที่จะเลือกซื้อรถยนต์รุ่นใหม่มาใช้งาน ทำให้ยอดขายรถยนต์สะสม 4 เดือน มีทั้งสิ้น 230,173 คัน ลดลง 34.2 % แถมกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ออกมาบอกอีกว่า ปี 2563 นี้ จะมีกำลังการผลิต ทำได้เพียงน่าจะ 1 ล้านคัน เพราะประเทศคู่ค้าก็ประสบปัญหาเรื่องเดียวกันกับบ้านเรา แม้แต่ยักษ์ใหญ่ยังออกมาบอกว่า ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ค่ายยักษ์ใหญ่ยังประเมินว่าแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน เพราะค่ายรถยนต์ได้กลับมาเปิดสายการผลิตอีกครั้ง ประกอบกับภาครัฐฯ มีการผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง, ปรับเวลาเคอร์ฟิว แต่ยังคงให้ประชาชนเฝ้าระวังการใช้ชีวิตตามมาตรการความปลอดภัย เพื่อช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ลดความตึงเครียดในการใช้ชีวิตของประชาชน แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงในไตรมาส 2/2563 และไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้เร็ว เนื่องจากแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้เงื่อนไขการรักษาระยะห่างโดยเฉพาะในภาคบริการ จะทำให้ธุรกิจมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ในขณะที่รายรับถูกจำกัดด้วยทั้งกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงเงื่อนไขการรักษาระยะห่าง หรือ SOCIAL DISTANCING นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องหันกลับมาพึ่งพิงตลาดในประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก โดยมีมาตรการภาครัฐฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่จะช่วยประคับประคองการดำรงชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้สามารถผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกจะหดตัวลึกกว่าการหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยในไตรมาสที่ 2 ประเมินกันอาไว้ว่า จะหดตัวลึกที่สุดราว 10 % ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 หดตัวราว 5.0 % ทั้งนี้ หากไม่มีการระบาดที่รุนแรงอีกระลอก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบไตรมาสต่อไตรมาสในช่วงครึ่งปีหลังอาจเป็นบวกได้ เนื่องจากมีการปลดมาตรการลอคดาวน์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศยังไม่กลับมาเป็นปกติดังเดิม ภาคเอกชน โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ก็ยื่นข้อเสนอแก่ภาครัฐฯ เพื่อให้ช่วยเหลือ นับแต่ร้องขอให้เลื่อนบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 ออกไปก่อน จากเดิมที่จะมีผลในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ต้องการให้ภาครัฐฯ ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ 50 % ซึ่งจะทำให้รถมีราคาถูกลง ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถยนต์ใหม่ ทั้งนี้ต้องเป็นรถที่ผลิตในประเทศเท่านั้น และเพิ่มเติม มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่ โดยประชาชนนำรถเก่าอาจจะมากกว่า 20 ปี มาแลกซื้อรถใหม่ และรับส่วนลด 1 แสนบาท ส่วนหนึ่งจะเป็นการลดมลพิษ PM2.5 และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศให้สามารถประคองตัวต่อไปได้ ก็ต้องคอยดูว่า ภาครัฐฯ จะพิจารณาสนับสนุนคนไทยด้วยกันเองได้อย่างไร เพราะเหตุการณ์หนนี้ เป็นเหตุสุดวิสัย ที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น และยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐฯ อย่างเต็มที่