ตลาดโดยรวม | -38.2 % |
รถยนต์นั่ง | -42.2 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | -31.9 % |
กระบะ 1 ตัน | -37.2 % |
รถเพื่อการพาณิชย์ และรถประเภทอื่นๆ | -22.6 % |
ผ่านพ้นครึ่งปีกันไปแล้ว ในแบบค่อนข้างสะบักสะบอม แต่ก็มีข่าวดีว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ของเดือนพฤษภาคม 2563 สภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า มีการปรับตัวของดัชนี ขยับตัวขึ้นเป็นครั้งแรก ในรอบ 4 เดือน จาก 75.9 เป็น 78.4 ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 หลังจากภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และมีการผ่อนคลายมาตรการลอคดาวน์ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมถึงการผ่อนคลายการห้ามออกนอกเคหะสถาน ส่งผลดีต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกจากนี้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าประเทศคู่ค้า ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก ก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ แก้ไขกันไป ทั้งเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ แต่กระนั้น ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือนเมษายน ได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการห้ามการเดินทางเข้าประเทศไทย ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในเดือนนี้ (-100 %) มูลค่าส่งออกหดตัวต่อเนื่อง (-3.3 %) และถ้าหักการส่งออกทองคำ มูลค่าส่งออกจะยิ่งติดลบมากถึง 15.9 % โดยเป็นการหดตัวสูงในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงรุนแรงสุดในรอบ 8 ปี (-17.2 %) เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งมีอัตราการใช้กำลังผลิตเพียง 12.6 % อันจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 มีแนวโน้มติดลบหนัก ขณะที่เม็ดเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท จะเริ่มเข้าระบบในไตรมาส 3 โดยกรอบแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ภาครัฐคาดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในช่วงไตรมาส 3 มีการกำหนดกรอบเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. โครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2. โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน 3. โครงการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน และ 4. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยทางการคาดว่าเม็ดเงินส่วนนี้จะเข้าสู่ระบบได้หลังจากมีการพิจารณาและอนุมัติโครงการต่างๆ เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 แต่กระนั้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม ก็เริ่มออกจากจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่กำลังซื้อยังมีแนวโน้มอ่อนแอ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน สู่ระดับ 48.2 จาก 47.2 เดือนก่อน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคแม้เริ่มฟื้นตัวแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำค่อนข้างมาก ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังแม้ทางการเตรียมออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงมาตรการสร้างงาน และสร้างอาชีพแก่เศรษฐกิจฐานรากเพิ่มมากขึ้น แต่กำลังซื้อยังมีแนวโน้มอ่อนแอจากปัญหาการว่างงาน และภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ประเมินความเสี่ยงที่จะมีจํานวนผู้ว่างงานทั้งปี 2563 พุ่งขึ้นเป็น 2 ล้านคน หรือมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3-4 % ของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน (เทียบกับ 1.1 % ในปี 2562) จึงอาจกระทบต่อการใช้จ่าย และเศรษฐกิจโดยรวม ทางด้าน กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ระบุว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการที่ยอดขายรถยนต์ลดต่ำลง เนื่องจากประมาณ 80 % เป็นการผลิตแบบ OEM (ORIGINAL EQUIPMENT MANUFACTURER) หรือผลิตเพื่อป้อนให้กับค่ายรถและรับจ้างผลิตเป็นหลักซึ่งทางกลุ่มฯ พยายามที่จะรักษาระดับแรงงานด้วยการลดต้นทุนเท่าที่จะทำได้ โดยเน้นการจัดสัมมนาให้ความรู้ เป็นต้น หลังจากรัฐผ่อนคลายมาตรการระยะ 4 แล้วคาดหวังว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ตลาดชิ้นส่วน OEM แนวโน้มครึ่งปีนี้จะลดลงกว่า 50 % เพราะผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ทำให้สายป่านทางการเงินไม่ได้ มากนัก หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ก็ยิ่งกระทบต่อภาวะการขาดทุนและแรงงานมากขึ้น ขณะนี้ทางกลุ่มก็กำลังรวบรวมปัญหา เพื่อที่จะเร่งหาแนวทางแก้ไขในภาพรวมอยู่ ก็ได้แต่หวังว่า การร่วมมือกันในการแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นผลกระทบจากโรคระบาดร้ายแรงครั้งนี้ น่าจะส่งผลดีต่อการดำเนินการในระยะยาว ที่ต้องดูกันต่อไปในอนาคต