ตลาดโดยรวม | -35.9 % |
รถยนต์นั่ง | -42.2 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | -29.1 % |
กระบะ 1 ตัน | -33.0 % |
รถเพื่อการพาณิชย์ และรถประเภทอื่นๆ | -20.7 % |
เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องค่ามาตรฐานไอเสียรถยนต์ ซึ่งรถยนต์ที่ขายตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ต้องผ่านมาตรฐานระดับยูโร 5 และปี 2565 เป็นยูโร 6 (โดยไม่แบ่งว่าเป็น กลุ่มรถเล็ก คือ รถเก๋ง พิคอัพ หรือรถใหญ่ คือ รถบรรทุก) แต่เมื่อมีผลกระทบจาก COVID-19 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็เสนอให้พิจารณาข้อบังคับดังกล่าวใหม่ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีความเห็นว่า ให้เลื่อนมาตรฐานไอเสียรถยนต์ ยูโร 5 ออกไปเป็นปี 2567 (เดิมปี 2564) และยูโร 6 เป็นปี 2568 (เดิมปี 2565) หรือขยับช้าออกไปอีก 3 ปี และไม่แบ่งเป็นกลุ่มรถเล็ก-รถใหญ่ ส่วนมาตรฐานนํ้ามันยูโร 5 ยังคงเดิมที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป นั่นแสดงว่า เมื่อมีมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่ ราคารถยนต์ก็จะต้องแพงขึ้นไปอีก คำถามมีอย่างเดียวว่า แล้วจะทำอย่างไรกับรถเก่า จะเอามาตรฐานไหนมาบังคับ ใครจะกล้าหาญตอบได้บ้างครับ ที่หยิบยกเอาเรื่องมาตรฐานไอเสียมาเปิดหัวหนนี้ ก็เพราะผลกระทบที่ได้รับจากโรคระบาดร้ายแรง COVID-19 ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดรถยนต์มือสองกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่ภาวะการเงินของครัวเรือนได้รับผลกระทบ และมีความไม่แน่นอน แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้รถเพื่อเดินทางไปทำงาน จากความกังวลด้านสุขภาพ หรือเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ แทนการเดินทางด้วยเครื่องบิน หรือการท่องเที่ยวต่างประเทศ ข้อมูลจาก GOOGLE TRENDS ชี้ให้เห็นว่าตลาดรถมือสองในช่วงคลายลอคดาวน์ กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น โดยการค้นหาข้อมูลรถมือสองยี่ห้อหลักในอินเตอร์เนทเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ชี้ให้เห็นถึงความต้องการมีรถยนต์เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในแง่กำลังซื้อที่ทำให้ไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้ ด้านข้อมูลบนเวบไซท์ One2car ที่เป็นตลาดรถออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าจำนวนรถที่ลงประกาศขายก่อนครบรอบการเปลี่ยนรถปกติ (REPLACEMENT CYCLE) หรือรถมือสองที่จดทะเบียนหลังปี 2015 เพิ่มขึ้นถึง 6.1 % จากต้นปี สวนทางกับรถปีเก่าที่มีจำนวนลดลงกว่า 1 ใน 4 และขยายสัดส่วนเพิ่มจาก 26 % ในเดือนมกราคม เป็น 32 % ในเดือนมิถุนายน ขณะเดียวกันราคารถในตลาดมือสองโดยภาพรวมปรับตัวลงมากในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ราคารถยนต์มือสองโดยภาพรวมปรับลดลงเพียง 1.4 % ขณะเดียวกัน ราคารถประมูลซึ่งสะท้อนต้นทุนสำหรับเทนท์รถดิ่งลงในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงระบาดหนักที่สุด โดยลดลงถึง 18 % เมื่อเทียบกับต้นปี จากการเปลี่ยนรูปแบบการประมูลมาเป็นการประมูลแบบออนไลน์แทนที่ศูนย์ประมูล จึงกลายเป็นโอกาสที่เทนท์รถมือสองสามารถซื้อรถด้วยต้นทุนที่ถูกลงมาก นอกจากนี้ ยังสามารถปรับราคาขายเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยยังคงส่วนต่างกำไรได้ ด้วยสาเหตุนี้ประกอบกับความต้องการที่อั้น (PENT-UP DEMAND) มาจากช่วง COVID-19 ในช่วงแรกของการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้สำนักวิจัยฯ เชื่อว่าตลาดรถมือสองจะยังคงคึกคักต่อไปได้ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมฯ ก็พบว่า การฟื้นตัวของภาคการผลิตมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลมีการผ่อนปรนมาตรการลอคดาวน์ ทำให้กิจการต่างๆ กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอีเลคทรอนิคส์ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าวัสดุก่อสร้าง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น งานมอเตอร์โชว์ และพโรโมชัน MID YEAR SALE เป็นต้น แต่ก็ยังต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน เสนอให้ภาครัฐขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 เช่น การพักหนี้ ลดเงินนำส่งประกันสังคม เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขึ้นต้นด้วย ควันพิษจากไอเสีย ทำไมมาลงที่ความต้องการของภาคเอกชนให้ภาครัฐช่วยเหลือได้ก็ไม่รู้