สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
อเลกซันเดร์ บาราคา ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย
"ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์ อเลกซันเดร์ บาราคา ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทยฟอร์มูลา : ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2563 เป็นอย่างไร ? บาราคา : ปี 2563 เป็นปีที่มีความท้าทายมาก เนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด สถานการณ์ทางการเมือง และสภาวะเศรษฐกิจ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี ยอดขายโดยรวมตลาดรถตกลงประมาณ 37 % แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนรถยนต์กลุ่ม พรีเมียม ได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดโดยรวม ตกลงแค่ 15-20 % สำหรับ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ยอดขายเติบโตตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีแค่ปี 2559 และ 2562 ที่ตัวเลขตกลง แต่ในปี 62 BMW (บีเอมดับเบิลยู) กับ MINI (มีนี) ได้ส่งมอบรถไปเกือบ 13,000 คัน ลดลงแค่ประมาณ 1 % โดยเฉพาะ BMW ในกลุ่มลักชัวรี เซกเมนท์ มียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 39 % เทียบกับปี 2561 ส่วน บีเอมดับเบิลยู ยูสด์คาร์ พรีเมียม เซกชัน พโรแกรม มียอดขายเพิ่มขึ้น 16 % ด้าน MINI ประเทศไทย สร้างสถิติขายไปทั้งหมด 1,204 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 15 % สูงสุดเมื่อเทียบกับ MINI ทั่วโลก นอกจากนี้ BMW ยังได้รับรางวัล THAILAND'S MOST ADMIRED COMPANY บริษัทที่ได้รับความน่าเชื่อถือสูงสุด จากนิตยสาร BRAND AGE ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อันนี้เป็นเสียงสะท้อนว่าบแรนด์ BMW เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ฟอร์มูลา : คุณวางนโยบาย และแผนงานของ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ในระยะ 3-5 ปีอย่างไร ? บาราคา : เราจะทำตามพันธสัญญาที่ให้ไว้ โดยเฉพาะเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนในเชิงธุรกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี รถยนต์ BMW ที่ผลิตมาต้องตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ เช่น รถยนต์ระบบ พลัก-อิน ไฮบริด โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาเราได้จัดฝึกอบรมพนักงานกว่า 46,000 คน จากทั้งหมด 130,000 คนทั่วโลก ในโครงการ BMW MOBILITY SERVICE เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ นอกจากนี้ BMW ยังคงเป็นบริษัทรถยนต์ที่ค้นคว้าเรื่องไอทีด้วย เพื่อให้รถยนต์ BMW มีเทคโนโลยีที่เหนือชั้นมากขึ้น รวมถึงการจับมือพาร์ทเนอร์ แดร็คเซิล ไมเออร์ กรุ๊ป ประกอบแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ในโรงงานที่จังหวัดระยอง ฟอร์มูลา : คุณมองทิศทางยานยนต์ในอนาคตอย่างไร ? บาราคา : รถรุ่นใหม่ของ BMW จะได้รับการพัฒนา ภายใต้ระบบ ACES โดย A มาจาก AUTONOMOUS ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ จะมี 1-5 ระดับ ระดับ 5 คือ ขึ้นไปบนรถเแล้วเราไม่ต้องขับ สามารถหลับได้เลย ปัจจุบัน BMW อยู่ที่ระดับ 3 คือ เราสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ แต่ยังต้องมีสติอยู่ เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเราก็จับพวงมาลัย ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดในโลก ส่วน C คือ CONNECTIVITY การเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อไลฟ์สไตล์ของเราที่อยู่ในมือถือกับตัวรถ หรือตัวรถเชื่อมต่อกับศูนย์บริการ E คือ ELECTRIC VEHICLES ระบบไฟฟ้า และการใช้แบทเตอรี สุดท้าย S คือ SERVICE การบริการ หมายรวมไปถึงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วย เป็นเครือข่ายที่เราสามารถค้นหาได้ในโทรศัพท์มือถือ ว่าจะเลือกไปเติมที่ไหน และสามารถจองคิวได้ ฟอร์มูลา : ประเทศไทยมีความพร้่อมมากน้อยแค่ไหนสำหรับเทคโนโลยียุคใหม่ ? บาราคา : ลูกค้าคนไทยมีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในรถยนต์ BMW ลูกค้าส่วนมากได้ใช้ฟีเจอร์เหล่านี้ อย่าง BMW CONNECTEDDRIVE ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับมือถือ สั่งรีโมทเปิด/เปิดประตูรถได้ เป็นต้น ส่วนเทคโนโลยีอนาคต อย่างระบบ AUTONOMOUS อาจต้องดูความพร้อมระดับโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น เช่น ในสถานการณ์คับขัน รถจะเบรคด้วยตัวเอง ในกรุงเทพฯ ที่รถติดมากๆ ระบบเหล่านี้จะช่วยให้ไม่ต้องเหยียบคันเร่ง หรือเหยียบเบรค พอใกล้คันหน้าจะชะลอ หยุด บนจังหวะเดิม ทำให้การขับขี่สะดวกสบายขึ้น ซึ่ง BMW จะมีเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ลูกค้าในอนาคต ที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การเชื่อมต่อ เพราะระบบ AUTONOMOUS ต้องพึ่งพาสัญญาณโทรศัพท์ 5G ซึ่งเมืองไทยเริ่มเปิดตัวสัญญาณ 5G เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ช่วยเอื้อให้ระบบ AUTONOMOUS ใช้งานได้ดีขึ้น ส่วนข้อที่ยังเป็นปัญหาทั่วโลก คือ เรื่องกฎหมาย ในกรณีที่รถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ถ้าเกิดอุบัติเหตุ จะต้องเป็นความรับผิดชอบของใคร เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงกฎหมายให้เข้ากับเทคโนโลยีที่กำลังจะมา ฟอร์มูลา : คุณมองว่า บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย มีสิ่งที่ต้องปรับปรุงหรือไม่ ? บาราคา : เรื่องพโรดัคท์และเทคโนโลยี ตอนนี้เรามีทางเลือกให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ระบบสันดาปภายใน พลัก-อิน ไฮบริด และไฟฟ้า ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่ง BMW มีพนักงานที่ได้รับการทเรนเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเหล่านี้ รวมถึงการวิเคราะห์ว่าทีมของเราที่มีอยู่ปัจจุบัน มีทักษะอย่างไร จำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะด้านใดเพิ่มขึ้น และจะใช้ทักษะเหล่านั้นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึงได้อย่างไร เพื่อปรับปรุงรูปแบบการทเรนิง และทำให้พนักงานตอบรับกับเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ ที่สำคัญ คือ การปฏิรูปบริษัทไปสู่ดิจิทอล คัมพานี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากร การพัฒนาทักษะ จัดการความหลากหลาย เพื่อให้กลุ่มบริษัทสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ฟอร์มูลา : กลยุทธ์ที่ใช้ผลักดัน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ให้เติบโตเหนือคู่แข่ง ? บาราคา : ในแง่ของการตลาดจะยึดหลัก 4 P ได้แก่ PRODUCT PRICE PLACE และ PEOPLE โดยที่ 3 ตัวแรก คือ ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ ในราคาที่จับต้องได้ และลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ทั่วประเทศ แต่ที่เราให้ความสำคัญ คือ PEOPLE ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรของ BMW เอง ซึ่งจะเน้นเรื่องการทเรนนิง หรือบุคลากรของดีเลอร์ ซึ่งต้องพบกับลูกค้าเป็นด่านแรก โดยทุกคนต้องมองไปในทิศทางตรงกันว่า ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเป็นดิจิทอลมากขึ้น มีช่องทางที่จะเข้าถึงลูกค้าผ่านทางดิจิทอลมากขึ้น ฉะนั้น ทุกคนต้องสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ส่วนเรื่อง พโรดัคท์ เราเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ส่งมอบรถให้แก่ลูกค้าทั้ง 3 เทคโนโลยี คือ ระบบสันดาปภายใน พลัก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า BMW ยึดหลักการ CUSTOMER CENTRIC คือลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมทุกอย่างที่เราทำ อยากให้ลูกค้ามีส่วนร่วม และเข้ามาสัมผัสกับพโรดัคท์ของ BMW ยกตัวอย่างในช่วงงาน มอเตอร์โชว์ ที่ผ่านมา เราจัดกิจกรรม BMW VIRTUAL MOTOR SHOW ขึ้น ควบคู่ไปกับงาน MOTOR SHOW 2020 เพื่อมอบทางเลือกให้แก่ลูกค้า ว่าจะไปดูรถที่งาน หรือจะดูอยู่ที่บ้าน ก็ได้ข้อมูลเสมือนมาเดินอยู่ในงาน นอกจากนี้ BMW ยังมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ไม่เฉพาะรถยนต์ แต่รวมไปถึงมอเตอร์ไซค์ด้วย ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อดี เพราะเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้มีฐานลูกค้ากว้างขึ้น ดังนั้น CUSTOMER ENGAGEMENT สำคัญมาก ทำให้เราได้ใกล้ชิดและเข้าใจลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็จะได้เข้าใจผลิตภัณฑ์ดีขึ้นด้วย ฟอร์มูลา : แผนงานที่จะนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนมาจำหน่าย ? บาราคา : แผนที่จะนำเข้ารถรุ่น INEXT ที่ประกอบในสาธารณรัฐประชาชนจีน มาจำหน่ายในประเทศไทยนั้น มองว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะความต้องการของตลาดยังไม่มากนัก อีกทั้งเมื่อเทียบกับรถ พลัก-อิน ไฮบริด ที่มีขายอยู่ในปัจจุบัน และประกอบที่ระยอง ก็ยังได้รับการตอบรับที่ดี ส่วนในอนาคตเป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันอีกทีว่า จะมีรถรุ่นใหม่ๆ น่าสนใจเข้ามาประกอบที่โรงงานเมืองไทยหรือไม่ ฟอร์มูลา : อยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าในด้านใดบ้าง ? บาราคา : เรื่องแรกโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้ากลุ่ม ELECTRIC VEHICLE หมายรวมตั้งแต่รถพลัก-อิน ไฮบริด ไปจนถึงรถ บี อีวี ซึ่ง BMW มีสถานีชาร์จ CHARGENOW ปัจจุบันน่าจะเกิน 100 สถานีแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็อยากให้รัฐบาลซัพพอร์ทเรื่องการปูโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า เพราะสถานีชาร์จเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับรถ พลัก-อิน ไฮบริด ลูกค้าสามารถใช้ระบบน้ำมัน หรือไฟฟ้าก็ได้ ถ้าสถานีชาร์จไม่เพียงพอก็เท่ากับไปทำลายความตั้งใจที่จะใช้รถระบบพลัก-อิน ไฮบริด ที่ควรจะใช้ไฟฟ้ามากกว่า เพื่อลด CO2 และมลภาวะต่างๆ ฉะนั้น สถานีชาร์จไฟฟ้า ควรจะมีเพียงพอ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จาก 2 ระบบนี้ได้ และหันมาใช้ระบบไฟฟ้ามากขึ้น ด้านการสนับสนุนการลงทุน จริงๆ แล้ว BMW ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการผลิตรถพลัก-อิน ไฮบริด สำหรับโรงงาน แดร็คเซิล ไมเออร์ กรุ๊ป ซึ่งประกอบแบทเตอรีลิเธียม- ไอออน ช่วยให้เราสามารถประกอบรถไฟฟ้า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ/สุดาภรณ์ ไกรแก้ว
ภาพโดย : สายชล อรรถาเวชนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2564
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)