รู้ลึกเรื่องรถ
ขอต้อนรับสู่โลกใหม่ ที่ปลอดภัย แต่ไม่น่าไว้ใจ ?!?
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ELON MUSK (เอลอน มัสค์) ซีอีโอ TESLA เป็นคนที่ทรงอิทธิพล ทั้งด้านการเงินและความคิด จากการเป็นคนที่มีหัวคิดก้าวหน้าที่สุดของโลกคนหนึ่ง ว่ากันว่า ถ้าคุณไม่แกร่ง เก่ง และรวดเร็วจริง คุณก็จะปลิวออกจากงานที่คุณทำอยู่ในบริษัทของเขาได้ในชั่วพริบตาแต่ด้วยความบ้า และมุมมองที่ไม่เหมือนใครของเขา ทำให้ TESLA (เทสลา) ขึ้นมายืนหนึ่ง เป็นผู้นำทางความคิดด้านการออกแบบรถยนต์ในปัจจุบันได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งถ้าจะเทียบความก้าวร้าวในการทำงานกับนักบริหารคนอื่นๆ ในโลก คนที่พอจะทัดเทียมกันได้กับเขา ก็คงจะมีเพียงแค่ตำนานแห่งโลกไอที อย่าง STEVE JOBS (สตีฟ จอบส์) แห่ง APPLE (แอพเพิล) เท่านั้น และแม้ว่าล่าสุด ความมั่งคั่งของเขาจะไม่ได้เป็นอันดับ 1 ของโลกอีกแล้ว จากการที่มูลค่าหุ้นของ TESLA ตกลงไปพอสมควร แต่ทุกย่างก้าวของเขา ก็ยังถูกจับตาโดยนักลงทุนทั่วโลก เพราะต้องการข้อมูลที่จะเป็นกระแสความคิดเปลี่ยนโลกของเขา ไม่ว่าด้านใดก็ด้านหนึ่งอยู่เสมอ หนึ่งในนวัตกรรมล่าสุดที่ TESLA ได้จับใส่ลงมาในรถรุ่น MODEL S (โมเดล เอส) และ MODEL X (โมเดล เอกซ์) ปี 2021 คือ แนวคิดที่ตัด “ก้านไฟเลี้ยว” และ “คันเกียร์” ออกไปโดยสิ้นเชิง ด้วยแนวคิดที่ว่า หากรถยนต์ของเขาสามารถก้าวเข้าสู่ยุค “ยานยนต์ไร้คนขับ” หรือ AUTO-NOMOUS VEHICLE จะรู้ด้วยตัวเองว่า ควรจะให้สัญญาณเตือนกับรถยนต์คันอื่นอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการตัดสินใจและสั่งงานโดยมนุษย์ นั่นคือ เมื่อเราเริ่มออกเดินทางไปยังจุดหมายที่ได้รับการ “ปักหมุด” เอาไว้แล้ว ระบบนำทางของรถยนต์จะสามารถรู้ได้ว่า ควรจะต้องเลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวา รวมถึงการให้สัญญาณไฟเลี้ยวจะกระทำโดยพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมในขณะนั้น นี่เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ดูกันไป เพราะระบบของ TESLA ทำงานด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง หรือระบบ MACHINE LEARNING โดยเชื่อว่าระบบจะสามารถรับมือสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ผ่านทางการอัพเดทระบบอย่างต่อเนื่อง วิสัยทัศน์ของ TESLA คือ รถจะต้องสามารถใช้งานในระดับ “ไร้คนขับ” ได้ในที่สุด โดยพวกเขาได้ริเริ่มโครงการ TESLA NETWORK ในปี 2016 เจ้าของรถที่เข้าร่วมโครงการจะอนุญาตให้รถของพวกเขาวิ่งแบบไร้คนขับในรูปแบบของรถแทกซี เพื่อหารายได้ให้เจ้าของรถ แม้ว่าปัจจุบัน โครงการนี้จะยังอยู่ในขั้นทดลอง แต่ปีที่ผ่านมาพวกเขาได้ทดลองติดตั้งระบบ FSD หรือ FULL SELF-DRIVING ซึ่งเป็นระบบที่ก้าวเข้าสู่การขับเคลื่อนไร้คนขับเข้าไปอีกขั้นให้แก่ผู้ใช้ในกลุ่มทดลองกลุ่มเล็กๆ โดยระบบ FSD นี้ว่ากันว่า สามารถที่จะเลี้ยว และขับผ่านสี่แยกได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ถ้า เพ่งดูใกล้ๆ ก็จะพบว่า “พวงมาลัย” ที่หน้าตาคล้ายกับหน้าของหมีโคอลา ของ TESLA รุ่นใหม่ ผู้ขับยังสามารถกดปุ่มเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ด้วยนิ้วโป้งข้างซ้าย และการเลือกเกียร์จะเดินหน้า หรือถอยหลัง ก็สามารถเลือกได้ผ่านหน้าจอสัมผัส จะว่าไปแล้ว ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีอะไรพิสดาร แต่มัน คือ การนำเทคโนโลยีร่วมสมัยมาทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้อง ในปี 2021 นี้เราต้องเข้าใจว่า เทคโนโลยีระบบเครื่องยนต์ และช่วงล่าง มันเข้าใกล้จุดสูงสุดของการพัฒนากันแล้ว ดังนั้น รถยนต์รุ่นใหม่จึงหันไปเน้นที่การพัฒนา “งานระบบ” หรือ SYSTEM ที่จะช่วยเพิ่มความรื่นรมย์ในการขับขี่ และลดอุบัติเหตุที่เกิดจากความเผอเรอของมนุษย์ให้น้อยลง โดยระบบเหล่านี้ ได้แก่ ระบบความคุมความเร็วแบบปรับตัวอัตโนมัติ (ADAPTIVE CRUISE CONTROL) ที่สามารถเร่ง และชะลอความเร็วอัตโนมัติ ให้สอดคล้องกับรถยนต์ที่อยู่ด้านหน้า โดยอาศัยกล้องแบบ 3 มิติ และเรดาร์ เราจะพบระบบเหล่านี้ได้ในรถยนต์รุ่นใหม่หลายค่าย อาทิ ระบบ SUBARU EYESIGHT (ซูบารุ อายไซจ์ท์) ระบบเตือนออกนอกเลน (LANE DEPARTURE WARNING) และระบบรักษาเลน (LANE KEEP ASSIST) โดยรถรุ่นใหม่จำนวนมากติดตั้งมาจากโรงงาน โดยระบบนี้จะสามารถตรวจเส้นแบ่งเลนบนถนน ส่งเสียงเตือน และเลี้ยงพวงมาลัยประคองรถไม่ให้ออกนอกเลนได้โดยอัตโนมัติ ช่วยหลีกเลี่ยงการขับออกนอกเลนโดยไม่ตั้งใจ จากการหลับใน หรือเสียสมาธิ VOLVO (โวลโว) หากผู้ขับเปลี่ยนเลนโดยไม่เปิดสัญญาณไฟ ระบบจะขืนการหมุนพวงมาลัยไว้ เพราะคิดว่าคนขับหลับใน ดังนั้น ระบบนี้จะสอนให้เรามีวินัยในการใช้สัญญาณไฟเลี้ยวด้วย ระบบเตือนจุดอับสายตา (BLIND-SPOT ALERT) ใช้เซนเซอร์ช่วยเตือนให้เรารับรู้ถึงรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ที่วิ่งตามหลังเรามาในมุมอับสายตา หรือมุมที่กระจกมองข้างไม่ครอบคลุม ระบบเตือนการจราจรด้านหลัง (CROSS TRAFFIC ALERT) ช่วยเตือนว่ามียานพาหนะพุ่งเข้ามา เวลาที่เราถอยรถออกจากช่องจอด ซึ่งเชื่อว่าทุกคนคงต้องเคยเจอสถานการณ์ที่ขณะกำลังจะถอยหลัง แล้วมีจักรยานยนต์แล่นสุ่มสี่สุ่มห้าตัดท้ายรถเราไป จนต้องเบรคกันหัวทิ่มหัวตำ ซึ่งในรถบางคัน ระบบนี้จะทำงานร่วมกับระบบเบรคอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวางด้านหลัง (REVERSE BRAKE ASSIST) โดยจะหยุดรถอัตโนมัติ หากเซนเซอร์ตรวจพบสิ่งกีดขวาง ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือสิ่งของ ระบบเบรคอัตโนมัติ (AUTOMATIC EMERGENCY BRAKING) เป็นหนึ่งในระบบที่แพร่หลายที่สุดในรถยุคใหม่ เพราะมันสามารถชะลอความเร็วได้ทันที หากระบบคาดการณ์ว่าจะเกิดการชน แม้มันจะตรวจพบว่าผู้ขับเหยียบเบรคแล้ว แต่หากระบบคาดการณ์แล้วว่ากดเบรคไม่มากพอ คอมพิวเตอร์จะสามารถเข้าสั่งงานแทนทันที ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตรถยนต์กว่า 20 ราย ตกลงกันว่าภายในวันที่ 1 กันยายน 2022 รถยนต์ทุกรุ่นที่ผลิตออกมาจะติดตั้งระบบนี้ อีกระบบหนึ่งที่เราอาจคาดไม่ถึง คือ ระบบระวังการเฉี่ยวชน จากการเปิดประตูเข้าไปในเลนจราจร ซึ่งคนที่ตกเป็นเหยื่อ ส่วนใหญ่จะเป็นจักรยานที่ขี่มาโดยไม่คาดคิดว่าจะมีคนเปิดประตูลงมาจากรถ ปัจจุบันมีรถหลายรุ่นได้ติดตั้งระบบนี้ สามารถทำงานได้ทั้งการส่งเสียง หรือมีไฟวาบเตือน เมื่อพบว่าเรากำลังจะเปิดประตูขณะมียานพาหนะพุ่งเข้ามา โดยรถบางรุ่นถึงกับไม่ยอมเปิดประตูให้เลยทีเดียว และส่วนมากจะยังทำงานอยู่หลายนาทีหลังจากที่ดับเครื่องยนต์ไปแล้ว นอกเหนือจากระบบควบคุมรถยนต์เพื่อความปลอดภัย อันเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ ที่เชื่อกันว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนจากความประมาทเลินเล่อของคนขับได้แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการทำให้ระบบทั้งหมดปลอดภัยก็คือ ระบบรักษาความปลอดภัยจากการคุกคามทางไซเบอร์ (CYBER SECURITY) จากระบบควบคุมระยะไกล ระบบรักษาความปลอดภัย เป็นสิ่งจำเป็นในยานยนต์ไร้คนขับ เราได้เห็นภาพจากภาพยนตร์หลายเรื่องที่เหล่าแฮคเกอร์ (HACKER) สามารถควบคุมรถยนต์ให้พุ่งชนวินาศสันตะโรได้ เพราะระบบอินเตอร์เนท ระบบควบคุมจากระยะไกล และระบบยานยนต์ไร้คนขับ เป็นสิ่งที่ขาดจากกันไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงสถานการณ์ในภาพยนตร์ เพราะมีการสาธิตให้เห็นจริงกันแล้ว อาทิ ในปี 2015 แฮคเกอร์สายธรรมะ อย่าง CHARLIE MILLER (ชาร์ลี มิลเลอร์) และ CHRIS VALASEK (คริส วาลาเซค) ได้สาธิตให้เห็นว่าพวกเขาสามารถแฮคเข้าไปในระบบของ JEEP CHEROKEE (จีพ เชอโรคี) ปี 2014 จากระยะไกลได้สำเร็จ โดยสั่งงานผ่านระบบความบันเทิงในรถที่มีชื่อว่า UCONNECT และนอกจากจะเร่งเสียงวิทยุ ยังสามารถสั่งให้รถเลี้ยวซ้ายขวา และเบรค โดยที่คนขับรถไม่สามารถเรียกคืนการควบคุมได้ และจากการสาธิตในครั้งนั้นทำให้ JEEP ต้องเรียกรถกว่า 1.4 ล้านคัน กลับมาแก้ไขระบบไม่ให้สามารถเจาะเข้าไปควบคุมรถได้ หลังจากการสาธิตนั้นจบลง แทบทุกบริษัทต่างก็กวดขันเรื่องระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะปลอดภัย 100 % เพราะในปี 2017-2018 ได้มีการสาธิตจาก บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัย อย่าง KEEN SECURITY LAB แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเจาะระบบของ TESLA ได้ และในปี 2019 แฮคเกอร์สายธรรมะอีกกลุ่มก็ได้สาธิตการเจาะเข้าไปในระบบควบคุมการขับขี่ของ TESLA MODEL 3 ผ่านระบบอินโฟเทนเมนท์ ไม่ต่างกับที่ JEEP เคยโดนมาก่อน เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ได้รับการควบคุมอย่างรัดกุม และเข้มข้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และเชื่อว่าจะเป็นเป้าที่จะถูกโจมตีโดยเหล่านักเรียก ค่าไถ่ไซเบอร์ ดังนั้น จึงมีการแบ่งระดับของความเสี่ยงออกเป็น 3 ขั้น คือ 1. อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ ที่ใช้รับส่งข้อมูลไร้สาย จะต้องได้รับการออกแบบให้มีความปลอดภัย และเชื่อถือได้ 2. ระบบปฏิบัติการ (OPERATING SYSTEM) ของตัวรถเองจะต้องถูกออกแบบให้มีความเสถียร และปลอดภัยจากการคุกคามทางไซเบอร์ 3. ศูนย์ควบคุมของยานพาหนะ (VEHICLE OPERATING CENTERS) จะต้องมีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รัดกุม และทางที่ดีไม่ควรรวมศูนย์อยู่เพียงที่เดียว แต่ควรแยกเป็นหน่วยย่อย เพื่อป้องการระบบล่ม นอกเหนือไปจากนั้น คือ ต้องป้องกันตัวเองด้วยวิธีการง่ายๆ ได้แก่ 1. ตั้งพาสส์เวิร์ดให้กับรถ ไม่ต่างไปจากสมาร์ทโฟน หรือบัตรเอทีเอม ที่เราไม่ควรตั้งรหัสที่เดาง่ายๆ ดังตัวอย่าง ในปี 2019 ทีม แฮคเกอร์ได้สาธิตให้เห็นว่า พวกเขาสามารถเจาะเข้าไปในรถหลายพันคัน ผ่านระบบติดตามรถด้วยจีพีเอส ด้วยรหัสที่ตั้งมาแบบง่ายๆ อาทิ 123456 เป็นต้น 2. ต้องหมั่นอัพเดทระบบอยู่เสมอ 3. ปิดระบบจีพีเอสเมื่อไม่ได้ใช้ ซึ่งแง่มุมนี้แฮคเกอร์สามารถจะสร้างเส้นทางหลอก โดยอาจจะหลอกให้รถคิดว่าถึงจุดหมายแล้วจอดนิ่งได้ทันที ดังนั้น ถ้าไม่ใช้ระบบนำทางก็ควรจะปิด จะเห็นได้ว่า โลกของรถยนต์ในยุคต่อไป ตัวรถจะเรียบง่ายขึ้นเรื่อยๆ แต่ภายใต้เปลือกนอกที่เรียบง่ายนั้น เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ลึกล้ำกว่าที่คนทั่วไปจะทำความเข้าใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่า รถยนต์ในอนาคตจะมีประสิทธิภาพ และความสะดวกสบายไร้ที่ติ ขณะเดียวกันมันก็แฝงไว้ด้วยความไม่น่าไว้ใจ ไม่ต่างกับที่เรากังวลว่า สมาร์ทโฟนของเรากำลังแอบฟังเราอยู่นั่นเอง ไม่น่าแปลกใจที่ต่อไปเราจะเห็นคนหันมารื้อฟื้น และบูรณะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์ เกียร์ธรรมดา และควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ด้วยการเหยียบคลัทช์กันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนี่คือ การเข้าใจ และเข้าถึงการทำงานของเครื่องยนต์กลไก ซึ่งทำให้เราสนุกกับมันได้อย่างเต็มที่
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2564
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ