MG ผงาดเป็นผู้นำกลุ่มรถยนต์ เอสยูวี และรถยนต์พลังไฟฟ้า พร้อมตั้งเป้ามียอดขายโดยรวม อันดับ 1 ใน 3 ของตลาดเมืองไทย “ฟอร์มูลา” สัมภาษณ์พิเศษ พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัดฟอร์มูลา : สถานการณ์ของ MG (เอมจี) ในประเทศไทยเป็นอย่างไร ? พงษ์ศักดิ์ : ปี 2563 อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากไวรัส โคโรนา COVID-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่หนักสุด คือ เดือนเมษายน ยอดขายลดลงเหลือ 20 % เท่านั้น แต่แล้วก็กลับมาฟื้นตัวในช่วง พฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งรัฐบาลได้ปลดลอคทำให้สถานการณ์ดีขึ้น จนกระทั่งช่วงไตรมาสที่ 4 ตลาดรถยนต์กลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 MG ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ มียอดขายโดยรวมเป็นอันดับ 8 แต่เฉพาะพาสเซนเจอร์คาร์ อยู่ในอันดับ 6 กับการเปิดตัวในไทย 6 ปีกว่า ในปี 2563 มียอดขายโดยรวมอยู่ที่ 28,316 คัน เติบโตขึ้น 7 % เมื่อเทียบกับปี 2562 แบ่งเป็นยอดขาย MG ZS (เอมจี เซดเอส) สูงถึง 11,013 คัน ตามมาด้วย MG HS (เอมจี เอชเอส) รวมถึง (MG HS PHEV (เอมจี เอชเอส พีเอชอีวี) 6,008 คัน MG EXTENDER (เอมจี เอกซ์เทนเดอร์) 5,387 คัน MG3 (เอมจี 3) จำนวน 4,856 คัน MG ZS EV (เอมจี เซดเอส อีวี) และ MG EP (เอมจี อีพี) จำนวน 826 คัน และรุ่นอื่นๆ 226 คัน โดย MG ครองแชมพ์ยอดขายรถยนต์ในกลุ่มรถ เอสยูวี ด้วยยอด 17,819 คัน หรือประมาณเกือบ 1 ใน 4 ของตลาดรถยนต์กลุ่มนี้ โดยมียอดจำหน่ายอันดับ 1 ในกลุ่ม C-SUV ในขณะที่กลุ่ม B-SUV MG มียอดจำหน่ายสูงเป็นอันดับที่ 2 MG เปิดตัวรถ เอสยูวี เพื่อปลุกกระแสซึ่งเป็นไปตามทิศทางของตลาดโลกที่รถ เอสยูวี มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยยังเติบโตไม่มากนัก รถยนต์ประเภทซีดานยังมีจำนวนมาก แต่หลังจาก MG แนะนำ ZS ออกสู่ตลาด ทำให้ตลาดรถ เอสยูวี เติบโตขึ้น และ ยอดขายจะตกน้อยกว่าเซกเมนท์อื่น นอกจากนี้ MG ยังเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 88 % ด้วยยอดขาย 826 คัน จากยอดขายโดยรวมทั้งหมด 939 คัน ส่วนปีนี้ เจอพิษ COVID-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ถือว่าไม่หนักมากนัก รวมถึงเริ่มมีการผลิตวัคซีนได้แล้ว ทำให้ตลาดมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดว่าปีนี้อุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโตประมาณ 5-10 % จากยอดขายโดยรวมของปีที่แล้ว 792,146 คัน แต่จะว่าไปแล้ว ยอดขายในปี 2563 เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจากการผลักดัน ซึ่งไม่ค่อยเป็นจริงสักเท่าไร โดยคาดว่าไตรมาสแรกของปีนี้จะมีทิศทางไม่ค่อยดีนัก แต่โดยรวมแล้วทั้งปีน่าจะดีขึ้น ในส่วนของ MG ปีนี้เป็นปีที่ 7 อยู่ในช่วงการเติบโต โดยปีที่แล้วเติบโต 7 % ในขณะที่ตลาดโดยรวมตกลง 21 % ปีนี้คาดการณ์ว่าสินค้าใหม่ที่จะนำมาเปิดตัวจะสร้างโอกาสให้ยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 42,000 คัน ฟอร์มูลา : เป้าหมายใน 3-5 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ? พงษ์ศักดิ์ : เราตั้งใจมาเป็นผู้เล่นหลักในตลาด และมีเป้าหมายที่จะเป็น 1 ใน 3 ของตลาด ซึ่งต้องทำหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการพัฒนาเครือข่ายให้มีคุณภาพบริการที่ดีขึ้นแบบรอบด้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ฟอร์มูลา : แผนงานการพัฒนาสู่ความสำเร็จ ? พงษ์ศักดิ์ : แนวทางการดำเนินงาน MG ยังคงมุ่งมั่นพัฒนา และนำเสนอสิ่งที่ดียิ่งขึ้นสำหรับลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ปรัชญา PASSION TO BE BETTER โดยมีแผนแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเพื่อเพิ่มความหลากหลาย และพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมให้มีความลงตัวมากขึ้น เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของบแรนด์ MG ซึ่งมีความโดดเด่น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ เทคโนโลยี (TECHNOLOGY): ต้องมีนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และทำให้การใช้ชีวิตของคนง่ายยิ่งขึ้น เช่น I-SMART ระบบความปลอดภัยมาตรฐานยุโรป ระบบช่วยขับขี่ เป็นต้น ความทันสมัย (FASHION): มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น และสามารถสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ ความคุ้มค่า (VALUE): ทั้งด้านการใช้งาน และความคุ้มค่าในการเป็นเจ้าของ เช่น มีการรับประกัน 4 ปี 120,000 กม. การบริการพิเศษ 24 ชม. 7 วัน การสร้างระบบ CALL CENTER การบริการ MOBILE SERVICE ฟอร์มูลา : การขยายเครือข่าย ? พงษ์ศักดิ์ : ที่ผ่านมา MG สามารถขยายโชว์รูม และศูนย์บริการมาตรฐานได้ครบ 150 แห่ง ตามแผนงานที่วางไว้ และตั้งเป้าจะขยายเป็น 170 แห่ง ภายในปี 2564 เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทฯ และสามารถให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นอกจากขยายโชว์รูมพร้อมศูนย์บริการมาตรฐานแล้ว ยังมีแผนจะขยายสถานีชาร์จ MG SUPER CHARGE ซึ่งรองรับการชาร์จแบบ DC (SUPER FAST CHARGER) ที่ขณะนี้ขยายได้ครบ 100 จุด และอยู่ระหว่างการทดลองระบบก่อนเปิดใช้งาน พร้อมเตรียมขยายเพิ่มอีก 500 จุด เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้า และกระตุ้นให้มีโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้า เร่งให้เกิดสังคมยานยนต์ไฟฟ้า (EV ECOSYSTEM) ในประเทศไทยที่สมบูรณ์แบบ และมีประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด ฟอร์มูลา : มองคู่แข่งอย่างไร ? พงษ์ศักดิ์ : จริงๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเริ่มอิ่มตัวแล้ว แม้ยังไม่หยุดเติบโต แต่ถ้าจะให้ถึง 1,000,000 คัน ต้องอาศัยแรงกระตุ้นอย่างมาก ที่ผ่านมาเติบโตได้ถึงล้านคัน เพราะโครงการรถคันแรก ดังนั้น การแข่งขันจึงค่อนข้างสูง การแย่งชิงตลาดก็จะยากไปด้วย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้ามาสร้างบแรนด์ ต้องสร้างรากฐาน และมีความพร้อม MG ทำตลาดประมาณ 6 ปีกว่าจะได้ส่วนแบ่งตลาด 3 % เป้าหมายต่อไป คือ 5 % ถือเป็นความท้าทาย แต่เชื่อว่า เรามีศักยภาพที่จะเข้าไปแย่งชิงได้ ฟอร์มูลา : ทิศทางที่จะก้าวไปข้างหน้า ? พงษ์ศักดิ์ : เราวางแผนจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถพวงมาลัยขวา ไม่ได้ส่งไปออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่จะส่งไปอังกฤษ และซัพพลายในกลุ่มอาเซียน ซึ่งต้องลงทุนแบบต่อเนื่อง ส่วนโมเดลใหม่มีแน่อย่างน้อย 2 โมเดล ตามที่เคยพูดไว้ว่าปีละ 2 โมเดล และปีนี้น่าจะมีผลเรื่องการขายอย่างมาก จึงมองว่าการขายของเราจะเติบโต ปีนี้ถือเป็นปีสำคัญของรถพลังงานทางเลือก ในต่างประเทศ หันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น ล่าสุด ญี่ปุ่นก็ประกาศที่จะเข้ามาส่งเสริม แม้จะช้าแต่ก็มา เมื่อการเติบโตเห็นได้ชัด และต่างประเทศก็ให้ความสนใจ หากประเทศไทยช้า ก็ถือว่าตกขบวน เพราะการเตรียมตัวต้องใช้เวลา ที่สำคัญรัฐบาลต้องทำให้เกิดการขับเคลื่อน ต้องสร้างอินฟราสตรัคเจอร์ และโครงข่าย เช่น การสร้างโซลาร์รูฟ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ ที่ผ่านมาเราห่วงเรื่องปริมาณการใช้ไฟฟ้า แต่ไม่มีการเตรียมความพร้อม ซึ่งถ้าคิดระดมสมอง วางแผน ผลักดัน และปฏิบัติควบคู่กันก็สามารถจะทำให้เกิดขึ้นได้ เริ่มต้นด้วย การทำระบบรถสาธารณะ รถเมล์ และรถบัส ควบคู่ระบบคาร์แชริง อาจทำที่กรุงเทพฯ ก่อน ต่อไปก็ไม่ยากที่จะขยายไปทุกที่ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าก็เหมือนกับรถยนต์ใช้น้ำมัน รถไม่ได้เข้าไปเติมน้ำมันพร้อมกันทุกคัน ไฟฟ้าก็ไม่ได้ชาร์จไฟพร้อมกันทุกวัน