งานเสวนา “ZEV@35” ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 100 % ภายในปี 2035 จุดเปลี่ยนสำคัญอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่จัดโดย INTERMACH มีเรื่องที่พูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าในหลากหลายมิติ มีประเด็นที่ชวนให้คิด และน่าติดตามหลายเรื่อง เช่น การกำหนดตำแหน่งทางยุทธ์ศาสตร์ด้าน EV ของประเทศไทย ที่วางเป้าหมายสำคัญไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า ที่เน้นการผลิต EV เป็นอุตสาหกรรมหลักเหมือนอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน พร้อมกับสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตชิ้นส่วน และแบทเตอรีในประเทศไทย ด้านการใช้และโครงสร้างพื้นฐาน ที่พร้อมส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น การเตรียมระบบไฟฟ้า, สถานีชาร์จอย่างเพียงพอ, กำหนดมาตรฐาน สร้างแรงจูงใจ และกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม และด้านความยั่งยืน เน้นความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง และสิ่งแวดล้อม ที่จะบริหารจัดการของเสียที่เกิดจากยานยนต์ไฟฟ้า และแบทเตอรี ทั้ง 3 ด้านนี้ คือ คีย์ซัพพอร์ท ที่จะกำหนดทิศทาง และบทบาทของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับเป้าหมายการผลิต ZEV/ปี ของประเภทยานยนต์ต่างๆ ถูกกำหนดไว้ชัดเจนว่า ปี 2025 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า ไทยจะผลิตรถยนต์นั่ง/กระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน รถบัส/บรรทุก 18,000 คัน รถสามล้อ 500 คัน เรือโดยสาร 130 ลำ และรถไฟระบบราง 620 ตู้ ปี 2030 ผลิตรถยนต์นั่ง/กระบะ 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัส/บรรทุก 34,000 คัน รถสามล้อ 2,200 คัน เรือโดยสาร 480 ลำ และรถไฟระบบราง 850 ตู้ ปี 2035 ผลิตรถยนต์นั่ง/กระบะ 1,350,000 คัน รถจักรยานยนต์ 1,850,000 คัน รถบัส/บรรทุก 84,000 คัน รถสามล้อ 2,800 คัน เรือโดยสาร 1,800 ลำ และรถไฟระบบราง 1,170 ตู้ เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนขนาดนี้ แน่นอนละครับว่า สารพัดมาตรการต้องใกล้คลอดละ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน (ซัพพลาย) และมาตรการกระตุ้นตลาดในประเทศ (ดีมานด์) ซึ่งมันจะเชื่อมโยงไปหาเป้าหมายหลัก 3 ด้าน ที่กล่าวมาข้างต้น การ DISRUPTION จากยานยนต์สันดาปสู่ไฟฟ้า ยังมีภาคส่วนที่เราต้องให้ความสำคัญอีกหลายเรื่อง เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป เรามีมากกว่า 2,500 ราย มีแรงงานที่อยู่ในระบบกว่า 750,000 ราย ในยานยนต์สันดาปมีชิ้นส่วนกว่า 30,000 ชิ้น ส่วนยานยนต์ไฟฟ้า มีชิ้นส่วนประมาณ 3,000 ชิ้น ! อย่างที่ผมเคยบอกครับว่า ไทยเราติดอันดับ 11 ของโลกในด้านการผลิตรถยนต์ และติดอันดับ 17 ของโลกในด้านยอดจำหน่ายรถยนต์ หลายคนมองว่า จะเป็นการทำลาย หรือสร้างโอกาส เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในวงการกล้องฟีล์มสู่กล้องดิจิทอล และกล้องดิจิทอลสู่โทรศัพท์มือถือ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ถ้าเราย้อนมาดูยอดจำหน่ายระหว่างยานยนต์สันดาป กับยานยนต์ไฟฟ้า จะเห็นตัวเลขชัดขึ้น ปี 2015 ยานยนต์สันดาป มียอดจำหน่าย 550,707 คัน ยานยนต์ไฟฟ้า มียอดจำหน่าย 7,643 คัน ปี 2016 ยานยนต์สันดาป 897,585 คัน ยานยนต์ไฟฟ้า 9,578 คัน ปี 2017 ยานยนต์สันดาป 369,685 คัน ยานยนต์ไฟฟ้า 5,976 คัน ปี 2018 ยานยนต์สันดาป 694,036 คัน ยานยนต์ไฟฟ้า 20,024 คัน และปี 2019 ยานยนต์สันดาป 739,213 คัน ยานยนต์ไฟฟ้า 27,074 คัน เห็นได้ชัดว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มขายดีขึ้น แน่นอนว่าการสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ย่อมเกิดขึ้น ทั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า การลงทุนฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และซอฟท์แวร์ แอพพลิเคชัน สำหรับรถยนต์ แต่อย่าลืม “เยียวยา” อุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป อุตสาหกรรมดั้งเดิมของเรา รัฐควรจะชัดเจนเรื่องนี้ด้วยนะครับ