กระทรวงการคลัง เสนอแนวคิดต่อคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม. สัญจร) เห็นชอบร่างกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ตามที่กรมสรรพสามิตเสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงเงื่อนไขการจัดเก็บภาษีรถยนต์ PHEV (PLUG-IN HYBRID ELECTRIC VEHICLE) เพื่อให้มีอัตราภาษีที่แตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้า HEV (HYBRID ELECTRIC VEHICLE)
สาระสำคัญของการเสนอร่างกฎหมายการเก็บภาษีรถยนต์ PHEV มีการกำหนดเงื่อนไขการคำนวณอัตราภาษีสรรพสามิตเฉพาะ ระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วน (ELECTRIC RANGE) ต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง (การชาร์จไฟฟ้า) เท่านั้น และยกเลิกขนาดถังน้ำมัน (FUEL TANK) ไม่ให้เป็นเงื่อนไขการกำหนดอัตราภาษี PHEV อีกต่อไป เนื่องจากว่าเป็นการลดศักยภาพของประเทศในการเป็นศูนย์กลางการผลิต เพราะต้องผลิตถังน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นการสร้างข้อจำกัดโดยไม่จำเป็น สร้างภาระแก่ประชาชน และทำให้รถยนต์ประเภท PHEV ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
สำหรับกรอบของอัตราภาษีใหม่ มีกำหนดบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 รายละเอียดที่น่าสนใจ ระบุไว้ดังนี้
1. รถยนต์นั่ง หรือรถโดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท PHEV ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนด รถยนต์ PHEV ที่มีระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วน ไม่ต่ำกว่า 80 กม./การประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง (ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง) เสียภาษีสรรพสามิต อัตรา 5 %
2. รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท PHEV ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนด รถยนต์ PHEV ที่มีระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า ต่ำกว่า 80 กม./การประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง (ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง) เสียภาษีสรรพสามิต อัตรา 10 %
การที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริม และต่อยอดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป็นฐานการลิตรถยนต์ PHEV ที่มีมาตรฐาน และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ คาดการณ์ว่า จะเป็นการดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในช่วงการเปลี่ยนแปลงผ่านจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE (INTERNAL COMBUSTION ENGINE) ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังช่วยตอบสนองความต้องการใช้รถยนต์ PHEV ที่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในเขตตัวเมือง และใช้พลังงานน้ำมันในการเดินทางไกลระหว่างจังหวัด
ผมมีข้อมูลเพิ่มเติมจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สอท. เกี่ยวกับยอดจดทะเบียนสะสม ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2567 เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละประเภท มียอดจดทะเบียนสะสมมากน้อยแค่ไหน
ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม ประเภท BEV มีจำนวนทั้งสิ้น 227,470 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 72.52 ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม ประเภท HEV มีจำนวนทั้งสิ้น 469,543 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 36.65 และยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม ประเภท PHEV มีจำนวนทั้งสิ้น 63,184 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 17.05
เราจะเห็นว่า รถยนต์ไฟฟ้าประเภท PHEV ยังมีตัวเลขยอดจดทะเบียนสะสมน้อยมาก เมื่อเทียบกับ BEV และ HEV, PHEV ยังมีโอกาสการเติบโตสูง และจากสถานการณ์รถไฟฟ้า BEV ที่มียอดจำหน่ายทั่วโลกลดลง รถไฟฟ้า PHEV จึงเป็นทางเลือก และทางรอดใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ส่วนจะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ต้องมาดูระยะยาวว่า พิกัดภาษีใหม่จะจูงใจค่ายรถยนต์ และรถประเภท PPV จะได้รับอานิสงส์เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ?