วิถีตลาดรถยนต์
ยังดีอยู่
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนพฤษภาคม 2021/2020
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2021/2020
เริ่มจะมีสัญญาณให้เห็นแล้วว่าการระบาดรอบใหม่ของเจ้าวายร้าย COVID-19 กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้าไม่นาน ขณะที่ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งจัดหาวัคซีนที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาสำหรับผู้โชคร้ายที่ได้รับเชื้อไวรัสมหากาฬนี้เข้าสู่ร่างกาย พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้มีการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด ก็ต้องตามลุ้นกันต่อไปว่าจะสัมฤทธิ์ผลตามที่ฝ่ายปกป้องและป้องกันการระบาดของไวรัสร้ายต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุดหรือไม่ประการใด อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศ สถานภาพของการจำหน่ายรถยนต์ที่กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตไปแล้ว กลับสวนกระแสเศรษฐกิจที่หลายต่อหลายภาคส่วนออกปากว่าย่ำแย่ ทำมาหากินลำบาก เงินทองฝืดเคืองไปได้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ผ่านมา และเดือนพฤษภาคมนี้ ตัวเลขยอดจำหน่ายโดยรวมของตลาดรถยนต์ใหม่ในประเทศ ปรับตัวไปอยู่ในแดนบวกอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมานั้นเจ้าไวรัส COVID-19 กำลังอยู่ในช่วงอาละวาดอย่างหนักเป็นครั้งแรก มีการประกาศใช้มาตรการเด็ดขาดรุนแรง ทั้งในด้านของการประกาศเคอร์ฟิว และการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้การค้าขายชะงักงันไปบ้างก็เป็นได้ ขณะที่การเพิ่มขึ้นของตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในช่วงเมษายน และพฤษภาคมนี้ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการส่งมอบรถยนต์รุ่นต่างๆ ให้แก่ผู้สั่งจองในช่วงระยะเวลาการจัดงานมอเตอร์โชว์ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในปีที่แล้วการจัดงานนี้ต้องถูกเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิม จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เดือนเมษายน และพฤษภาคม ปีที่แล้ว ลดน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น
สำหรับเดือนพฤษภาคม 2564 ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 38.4 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 โดยมีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 55,948 คัน รถยนต์ยอดนิยมทอพ 5 มีตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นโดยทั่วหน้า ผู้นำอันดับ 1 TOYOTA (โตโยตา) ทำยอดจำหน่ายได้รวม 19,723 คัน เพิ่มขึ้น 45.2 % เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนพฤษภาคม 2563 ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 35.3 % รองอันดับ 1 ISUZU (อีซูซุ) ยอดจำหน่ายรวมทุกรุ่น 14,866 คัน เพิ่มขึ้น 46.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 26.6 % รองอันดับ 2 HONDA (ฮอนดา) 4,998 คัน เพิ่มขึ้น 19.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.9 % รองอันดับ 3 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) ยอดจำหน่ายรวม 3,392 คัน เพิ่มขึ้น 22.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.1 % และรองอันดับ 4 MAZDA (มาซดา) ทำยอดจำหน่ายได้รวม 2,805 คัน เพิ่มขึ้นถึง 75.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 %
จากมกราคม มาจนถึงพฤษภาคม ปี 2564 รถยนต์ใหม่ป้ายแดงจากโชว์รูมผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ทั่วประเทศ ถูกส่งมอบให้แก่ผู้สั่งซื้อไว้แล้วรวมทั้งสิ้น 308,217 คัน เพิ่มขึ้น 13.9 % จากห้วงเวลาเดียวกันของปี 2563 รถยนต์ยี่ห้อดังที่ได้รับความนิยมสูงสุดอันดับ 1 ยังคงเป็น TOYOTA จำหน่ายไปแล้วรวม 94,582 คัน เพิ่มขึ้น 17.2 % คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเท่ากับ 30.7 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายแล้วรวม 79,067 คัน เพิ่มขึ้นถึง 33.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 25.7 % อันดับ 3 HONDA จำหน่ายแล้วรวม 35,376 คัน ลดลง 0.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาด 11.5 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายแล้วรวม 19,584 คัน ลดลง 10.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.4 % และอันดับ 5 MAZDA จำหน่ายแล้วรวม 15,903 คัน เพิ่มขึ้น 24.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.2 %
รถพิคอัพ 1 ตัน เดือนพฤษภาคมนี้ มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 27,739 คัน เพิ่มขึ้น 19.9 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปี 2563 พิคอัพขวัญใจมหาชนยังคงเป็น ISUZU ที่มีตัวเลขยอดจำหน่ายอยู่ที่ 12,260 คัน เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นถึง 31.6 % เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายของเดือนพฤษภาคม 2563 ถือครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 44.2 % อันดับ 2 TOYOTA ทำยอดจำหน่ายในเดือนนี้ได้ 10,496 คัน เพิ่มขึ้น 14.9 % ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 37.8 % อันดับ 3 FORD (ฟอร์ด) มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 2,312 คัน เพิ่มขึ้นถึง 66.8 % ส่วนแบ่งการตลาดที่ 8.3 % อันดับ 4 MITSUBISHI ทำยอดจำหน่ายได้ 1,734 คัน ลดลง 4.9 % จากเดือนพฤษภาคม 2563 ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 6.3 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 470 คัน ลดลงถึง 53.8 % ส่วนแบ่งการตลาดได้ไป 1.7 %
5 เดือนแรกของปี 2564 ผ่านไป รถพิคอัพ 1 ตัน มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 148,729 คัน เทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2563 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 8.7 % ยืนหนึ่งของตลาดนี้ยังคงเป็นพิคอัพ ISUZU ที่ทำตัวเลขยอดจำหน่ายไปแล้วรวม 67,492 คัน เพิ่มขึ้นจาก 5 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ 22.3 % คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเท่ากับ 45.4 % อันดับ 2 เป็นของคู่แข่งสำคัญ TOYOTA มีตัวเลขยอดจำหน่ายที่ 53,043 คัน เพิ่มขึ้น 8.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 35.7 % อันดับ 3 พิคอัพสายพันธุ์ RANGER (เรนเจอร์) ของ FORD มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวม 12,246 คัน เพิ่มขึ้นถึง 25.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.2 % อันดับ 4 พิคอัพตระกูล TRITON (ทไรทัน) ที่ MITSUBISHI ส่งเข้าประกวด มียอดจำหน่ายรวม 5 เดือนที่ 9,812 คัน ลดลง 23.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.6 % และอันดับ 5 พิคอัพสายเลือด NAVARA (นาวารา) ของค่าย NISSAN ทำยอดจำหน่ายได้รวม 3,235 คัน ลดลง 48.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 2.2 %
รถเอสยูวี เป็นตลาดที่มีความเคลื่อนไหว มีรถโมเดลใหม่ๆ ทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีน้องใหม่จากเมืองจีนที่เปิดตัวแล้วแต่ยังไม่ออกจำหน่ายอย่างเป็นการ เข้ามาสร้างสีสันให้แก่ตลาดรถยนต์ประเภทนี้อีกหนึ่งยี่ห้อจะไปได้สวย ไปได้ดีแค่ไหน ตามดูกันต่อไป แต่ถ้าดูจากรถยนต์ MG (เอมจี) ที่มีถิ่นกำเนิดเดียวกันน่าจะไปได้ดีพอสมควร หากราคาจำหน่ายไม่แรงจนเกินไป เดือนพฤษภาคม 2564 รถเอสยูวีทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น มียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 5,278 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ถึง 71.3 % หัวแถวที่มียอดจำหน่ายสูงสุดยังคงเป็น TOYOTA มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 1,956 คัน เพิ่มขึ้นสูงถึง 528.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.1 % ตามด้วย MG ในอันดับที่ 2 จำหน่ายได้รวม 1,227 คัน เพิ่มขึ้น 36.9 % ส่วนแบ่งการตลาดได้ไป 23.2 % อันดับ 3 MAZDA จำหน่ายได้รวม 1,156 คัน เพิ่มขึ้นถึง 110.9 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 21.9 % อันดับ 4 HONDA จำหน่ายได้รวม 618 คัน ลดลง 6.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.7 % และอันดับ 5 SUBARU (ซูบารุ) จำหน่ายได้รวม 191 คัน เพิ่มขึ้นสูงถึง 607.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.6 %
รถเอสยูวี ตัวเลขยอดจำหน่ายรวม 5 เดือน อยู่ที่ 30,177 คัน เพิ่มขึ้น 48.9 % เมื่อเทียบกับ 5 เดือนแรกปี 2563 โดย TOYOTA เป็นผู้นำตลาด ด้วยยอดจำหน่ายรวม 8,625 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นถึง 346.9 % มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 28.6 % ตามด้วย MG ยอดจำหน่ายรวม 7,537 คัน เพิ่มขึ้น 27.8 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 25.0 % อันดับ 3 MAZDA ที่จำหน่ายไปแล้วรวม 6,227 คัน เพิ่มขึ้น 120.7 % สัดส่วนของส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20.6 % อันดับ 4 HONDA มียอดจำหน่ายรวมที่ 5,212 คัน ลดลง 10.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 17.3 % และอันดับ 5 SUBARU ทำยอดจำหน่ายไปแล้วรวม 1,486 คัน เพิ่มขึ้น 207.0 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 4.9 %
ทั้งนี้ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีการจดทะเบียนใช้งานรถพิคอัพ 1 ตัน และรถเอสยูวี รวมกันแล้วทั้งสิ้น 45,744 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ถึง 56.3 % ส่วนรถยนต์ใช้งานประเภทอื่นๆ ยกเว้นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เดือนพฤษภาคม 2564 ยอดจำหน่ายรวม 7,362 คัน เพิ่มขึ้นถึง 198.5 % 5 เดือนแรกของปี 2564 จำหน่ายแล้วรวม 31,498 คัน เพิ่มขึ้นถึง 116.6 %
ตลาดโดยรวม | + 38.4 % |
รถยนต์นั่ง | + 32.7 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | + 71.3 % |
กระบะ 1 ตัน | + 19.9 % |
รถเพื่อการพาณิชย์ | + 198.5 % |
ตลาดโดยรวม | + 13.9 % |
รถยนต์นั่ง | - 1.1 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | + 48.9 % |
กระบะ 1 ตัน | + 8.7 % |
รถเพื่อการพาณิชย์ | + 116.6 % |
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2564
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์