รอบรู้เรื่องรถ
“คืนรถจบหนี้” ไม่ง่ายอย่างที่เราคิด
ขณะที่ผมกำลังพิมพ์ต้นฉบับอยู่นี้ เป็นห้วงเวลาที่คนไทยเรา โดยเฉพาะพวกที่มีฐานะยากจน อยู่ในสถานะที่พอจะเรียกได้ว่า วิกฤตที่สุดในชีวิตแล้ว ความอดอยาก ไม่มีเงินพอจะซื้ออาหารประทังชีวิต ที่เคยถือกันว่าเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต กลับกลายเป็นเรื่องรองไปแล้วในวันนี้ ปัญหาหลักกลับกลายเป็นการดิ้นรนให้ได้รับวัคซีนมาคุ้มครองชีวิต เพื่อให้รอดพ้นจากโรคร้ายนี้ แม้กระทั่งการได้รับการตรวจว่าติดเชื้อนี้หรือไม่ ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องไขว่คว้าให้ได้มา และส่วนหนึ่งก็ยังต้องผิดหวังต่อไปสิ่งที่ผมได้ยินทุกวัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ต้องการเลยก็คือ รัฐเก็บเกี่ยวภาษีจากพวกเขาไปอย่างเต็มที่ทุกโอกาส ไม่เคยละเว้นมาตลอดชีวิตพวกเขา ยามที่เขาสมควรได้รับสิทธิจากสวัสดิการโดยชอบธรรม ตามที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เหตุใดจึงถูกบ่ายเบี่ยงครั้งแล้วครั้งเล่า และหากได้มาเพราะโชคเข้าข้าง ก็ว่ากันว่า ต้องซมซานไปรับ และถูกปฏิบัติ ประหนึ่งว่าเป็นขอทานมารับความกรุณาอย่างสูงส่งยิ่งนัก เพื่อไม่ให้มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น ผมขอขอบคุณบรรดาแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วทั้งประเทศ ที่ได้ทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงใจ ช่วยเหลือประชาชนผู้เคราะห์ร้ายอย่างสุดความสามารถ พวกเราเดือดร้อนจากความไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถของคนบางกลุ่มมากเพียงใด บุคลากรที่ช่วยเหลือเราเหล่านี้ ก็ย่อมเดือดร้อนมากเพียงนั้นเช่นกันครับ เพราะหากจำนวนผู้ป่วยไม่มากล้นระดับนี้ เขาเหล่านี้ก็จะมีเวลาพักผ่อนมากกว่านี้ ความถี่ที่ต้องสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วย ก็ย่อมน้อยกว่านี้มาก โอกาสที่จะต้องติดเชื้อจนถึงขั้นป่วยหนัก หรือถึงขั้นเสียชีวิตจากการระบาดของโรคร้ายในครั้งนี้ ก็จะไม่มากมายอย่างที่เราเห็นกันนี้อย่างแน่นอน การระบาดของโรคร้ายนี้ ยังได้เผยความจริงอีกหลายอย่างด้วยกัน เช่นความคิด และความเชื่อ ที่ครอบงำคนในสังคมไทยมานานมาก ผมไม่สามารถสืบทราบได้ว่านานเพียงใด แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ตั้งแต่ผมจำความได้ในช่วงที่เป็นเด็ก และเพิ่งพอจะเข้าใจกิจกรรมของพวกผู้ใหญ่ ก็มีความเชื่อไร้สาระทำนองนี้อยู่แล้ว ถ้าให้ประเมินเอาตามความรู้สึกส่วนตัว ผมว่าน่าจะมีมาเป็นร้อยปีแล้ว ซึ่งก็คือ ระดับของการยกย่อง และ “บูชา” คน ตามสาขาอาชีพ เช่น แพทย์ ผู้พิพากษา อัยการ ครู หรือแม้แต่พระสงฆ์ (ถ้าเราไม่ต้องการถกกันให้เสียเวลาว่าเป็นอาชีพหรือไม่) เป็นโชคดี (หรือจะเรียกว่าผลพลอยได้ ก็พอได้) ของคนที่บังเอิญอยู่ในสาขาอาชีพพวกนี้นะครับ แต่ในทางตรงกันข้าม มันเป็นความอยุติธรรมต่อคนที่มีอาชีพอื่น ความคิดทำนองนี้บ่อนทำลายความเจริญของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง และสมควรกำจัดให้หมดไปจากสังคมไทยของเรา อย่างน้อยผมขอแนะนำต่อผู้ที่อายุยังไม่มาก ว่าอย่ายอมให้คนที่อาวุโสกว่า เอาความเชื่ออย่างนี้มาครอบงำเราเป็นอันขาด ในทุกสาขาอาชีพ ย่อมมีคนดี และชั่วปะปนกันอยู่เสมอ จึงไม่แปลกเลย ที่พวกเราได้เห็นแพทย์อาวุโสหลายคน กำลังมัวเมาในลาภ ยศ ตำแหน่ง จนละทิ้งจรรยาบรรณที่ครูอาจารย์อบรมสั่งสอนมา ทำได้เกือบทุกอย่าง เพียงเพื่อ “ความก้าวหน้า” ในชีวิตที่รับราชการอยู่ ถ้าเป็นยุคสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน คงพอรอดตัวไปได้ แต่ยุคนี้ที่ข้อมูลข่าวสารเดินทางได้เร็วเกือบเท่าความเร็วของแสง และแพร่ไปได้อย่างแทบจะไม่มีขอบเขต อย่าคิดว่าประชาชนจะไม่รู้ทันความปลิ้นปล้อนตลบตะแลง ความเห็น และคำแนะนำข้างๆ คูๆ กิริยา และเสียงหัวเราะร่วนของคนเหล่านี้ จะยังอยู่ในใจของประชาชนไปอีกนาน และยังอยู่ในอุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์อีกด้วย จึงปิดโอกาสที่จะ “แถ” ว่าไม่เคยทำ ไปจนหมดสิ้น แพทย์รุ่นน้องจนถึงรุ่นหลานที่ผมรู้จัก ล้วนเอ่ยปากด้วยประโยคเดียวกันหมดว่า “พวกเราเรียกมันว่าอาจารย์ไม่ลงแล้วครับ” แต่ยังมีข่าวดีแทรกอยู่ในเรื่องอัปมงคลอย่างนี้ครับ นั่นก็คือ ถึงจะไม่นับจำนวนกันอย่างจริงจัง เอาแค่จำนวนที่รู้เห็นกันอยู่เท่านั้น ผมก็บอกได้เลยว่า ยังมีแพทย์ดีอยู่มากกว่าพวกที่เล่ามานี่เป็นร้อยเท่าเลยนะครับ การระบาดของโรคร้ายนี้ บังคับให้คนส่วนใหญ่ทั่วโลก ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งความคิด และวิถีชีวิต เพื่อที่จะมีชีวิตรอดต่อไป ในเรื่องที่เกี่ยวกับรถ ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งปัจจัยในชีวิตของพวกเราไปแล้ว ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ผมขอให้คำแนะนำทั่วไป แบบที่ไม่ต้องถึงกับครบถ้วน และไม่เรียงลำดับความสำคัญ เอาแบบที่ให้อ่านกันอย่างสบายๆ นะครับ ใครที่กำลังอยากได้รถคันใหม่ แต่ไม่ได้มีเงินสดอยู่อย่างเหลือเฟือ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นลูกจ้าง ถ้าต้องซื้อด้วยการผ่อนชำระ เลิกล้มความคิดได้เลยครับ ถึงจะมีเงินสดพอซื้อได้ แต่ไม่ได้เหลืออยู่มากมาย ก็ต้องเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินก่อน และหากอายุมากด้วย แค่ติดเชื้อและลามลงปอด ต้องให้โรงพยาบาลเอกชนรักษา ถ้าตายเร็ว ก็หลายแสนบาทแล้ว แต่ถ้ารอดชีวิต กว่าจะกลับบ้านได้ 1 ล้านบาท ไม่พอนะครับ และถ้ายืดเยื้อ สำหรับโรงพยาบาลบางแห่ง 2 ล้านบาท ก็ยังไม่พอ ส่วนผู้ที่ต้องผ่อนชำระอยู่แล้ว และเกิด “สะดุด” เพราะตกงาน หรือรายได้ลดหดหายจนชำระตามกำหนดไม่ไหว อย่าเชื่อคำเล่าลือที่ว่า “ถ้าผ่อนไม่ไหวจริงๆ เอารถไปคืนแล้วจบ” ไม่จริงเลยนะครับ นั่นมันแบบเด็กเล่นขายของกันครับ ชีวิตจริงมันไม่ได้ง่าย เหมือนที่ไอ้พวกอวดรู้ มีปมด้อย มันชอบมาสอนทางสื่อสังคม มนุษย์พวกนี้ คือ ขยะของสังคมแท้ๆ พวกมันไม่เคยมี ไม่เคยซื้อ ไม่เคยเห็น ไม่เคยใช้ ไม่เคยประสบมา แต่มันทะลึ่งมาสอนทุกเรื่อง ซึ่งล้วนเป็นเท็จทั้งนั้น ใครหลงเชื่อมัน จะพบแต่ความเดือดร้อนเสมอ ในเรื่องที่ประชาชนประสบปัญหาในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการแบ่งเบาภาระของประชาชน ที่มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะชำระ “ค่างวด” ตามสัญญาได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการซื้อรถ แต่รวมถึงอย่างอื่นด้วย เช่น ที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หลักการคร่าวๆ ที่สำคัญ คือ 1. ขอพักชำระหนี้ชั่วคราวได้ 2. ขอลดยอดชำระต่องวดได้ โดยขยายเวลาที่ต้องชำระจนครบ 3. ถ้าไม่ไหวจริงๆ เช่น ถูกเลิกจ้าง หรือต้องปิดกิจการ สามารถยกเลิกการชำระหนี้ได้ โดยการนำรถไปคืน แต่ไม่ได้จบตามที่ชอบโม้กัน เจ้าหนี้จะนำรถของเราไปขายทอดตลาด แล้วเทียบกับมูลค่าหนี้ของเรา ชึ่งแน่นอนว่าเกือบทุกราย จะขายได้ราคาต่ำกว่ามูลค่าหนี้ ส่วนต่าง คือ มูลค่าที่เราจะต้องชำระให้สถาบันการเงินครับ ในส่วนหนี้สุดท้ายที่ว่านี้ ผู้รู้ในวงการแนะนำมาอย่างไม่เป็นทางการว่า ให้เจรจาด้วยการชี้แจงปัญหาของเราอย่างจริงใจทุกประการ เจ้าหน้าที่อาจเห็นใจ และช่วยเหลือ ด้วยการยกหนี้ให้ทั้งหมด ถ้าเหลือไม่มาก หรือไม่ก็อาจจะทำเรื่องขอลดยอดหนี้ให้เรา หลักการปฏิบัติที่สำคัญ คือ อย่าสร้างเรื่องเท็จไปอ้าง พูดความจริงทุกอย่างในทุกเรื่องเสมอครับ และก่อนจะดำเนินการ ให้ตรวจสอบว่าค้างชำระมานานเท่าใดแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ ห้ามค้างชำระติดต่อกัน นานเกิน 90 วันนะครับ มิฉะนั้นหนี้ของเราจะเข้าไปในระบบ “หนี้เสีย” และแก้ไขอะไรไม่ได้ เช่น ถ้าวันที่ 10 กรกฎาคม เราได้ชำระเงินงวดสุดท้ายก่อนที่จะมีปัญหาติดขัด วันที่ 10 สิงหาคม จึงเป็นวันแรก ที่เราผิดนัดชำระ และนับจากวันนี้ไปอีก 90 วัน ไม่จำเป็นต้องตรงกับวันที่ 10 เหมือนเดิมนะครับ ขึ้นอยู่กับจำนวนวันของแต่ละเดือน จะเป็นวันสุดท้าย ที่เราจะหาเงินมาชำระ โดยที่หนี้ของเรายังไม่กลายเป็นหนี้เสียตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น ถ้ายังลังเล ตัดสินใจยังไม่ได้ ว่าจะขอพึ่งมาตรการช่วยเหลือนี้หรือไม่ จะต้องถึงขั้นคืนรถหรือไม่ เราต้องหาเงินมาชำระให้ทันก่อนเลย 90 วัน ไว้ก่อนเสมอ เพื่อป้องกันการกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งจะทำให้หมดโอกาสรับการผ่อนผัน เสียเครดิท เสียประวัติไปอีกยาวนานครับ ถ้าต้องการอ่านรายละเอียด พิมพ์หัวข้อ “ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเฟส 3” ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยให้อ่านได้ครบ รวมทั้งสำหรับลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ และผู้ใช้สินเชื่อส่วนบุคคลด้วย เรื่องการซ่อมรถ และการส่งรถเข้ารับการบริการซ่อมบำรุงตามกำหนดของผู้ผลิต ที่เรียกกันว่า “เชคระยะ” นั้น ถ้าอัตราการติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิต ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ผมแนะนำให้เลื่อนไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ระดับเดียวกับช่วงต้นปีนี้ครับ กำหนดเชคระยะ หรือแม้แต่กำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องนั้น ไม่ได้ถูกจัดตามหลักเทคนิคนะครับ แต่ตามเหตุผลทางธุรกิจ โดยการ “เกลี่ย” สิ่งที่ควรทำต่อรถของเรา (ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละอย่างต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลา หรือระยะทางที่รถถูกใช้งานก็ตาม) ให้มาตกอยู่ในกำหนดเดียวกันหมด รถที่ครบกำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 10,000 กม. นั้น ที่จริงแล้วระยะทางที่เหมาะสมกับรถ และแก่เจ้าของรถ (ซึ่งไม่มีใครอยากเสียเงินโดยไม่จำเป็น) อาจจะเกิน 15,000 กม. ก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่ากังวลครับ เลื่อนไปก่อนเลย ส่วนเจ้าของรถที่ยังอยู่ในช่วงรับประกันคุณภาพ ผมแนะนำให้สอบถามตัวแทนจำหน่ายให้ได้คำตอบที่ชัดเจน เพื่อมิให้เราผิดพลาดจนเสียผลประโยชน์ครับ เพราะผู้รับประกันคุณภาพ ล้วนหาช่องทางที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบอยู่แล้ว เมื่อใดก็ตามที่ลูกค้าผิดพลาด จนผิดเงื่อนไขการรับประกัน ยังไม่จบ แต่เนื้อที่หมดเสียก่อน ผมหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น จนผมต้องเปลี่ยนเรื่องที่เตรียมไว้นะครับ พวกเราประชาชน จะได้ไม่ต้องถูกตำหนิ ว่าที่ผู้คนต้องเจ็บป่วย ล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วงอย่างนี้ มันเป็นเพราะความผิด และความเลวของพวกเราล้วนๆ งงไหมครับ
ABOUT THE AUTHOR
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2564
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ