รู้ลึกเรื่องรถ
CAR-TO-X COMMUNICATION เทคโนโลยีพรายกระซิบไฮเทค
โบราณกล่าวว่า ก่อนออกจากบ้านถ้าจิ้งจกร้องทัก มันคือ ลางบอกว่าอาจจะเกิดเหตุร้าย เรื่องนี้ “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เราจึงควรระวังเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น เผื่อว่าเหตุร้ายจะกลายเป็นดีได้ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นไปได้ว่า เวลาเราขับรถจะมีแม่ย่านาง กุมารทอง หรือพรายกระซิบ เตือนว่าให้ระวังเหตุที่กำลังจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าได้เช่นกัน โดยเทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นมาโดย MERCEDES-BENZ ในชื่อ CAR-TO-X COMMUNICATION หรือเทคโนโลยีที่ทำให้รถยนต์สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันได้ทันที
เทคโนโลยีนี้อาศัยการสื่อสารระหว่างรถไปสู่รถที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง กัน เพื่อรายงานถึงสภาพแวดล้อมในขณะนั้น ผ่านทางเครือข่ายสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายอินเตอร์เนท หรือแม้กระทั่งวิทยุ โดยอัตโนมัติ ทั้งเรื่อง อุบัติเหตุ หลุม ถนนลื่น หรือความเสี่ยงใดๆ ที่กำลังรออยู่ไม่ไกล สิ่งนี้ คือ อีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาไปสู่การเดินทางด้วยระบบอัตโนมัติสมบูรณ์แบบในอนาคต
MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์)ได้เริ่มทดลองติดตั้งเครื่องรับสัญญาณนี้ภายในรถตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา โดยผู้ใช้รถจะต้องลงทะเบียน เป็นสมาชิกระบบ MERCEDES ME และเปิดใช้งานระบบ CAR-TO-X COMMUNICATION ให้เรียบร้อย
การสื่อสารนั้นเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยเซนเซอร์ต่างๆ ภายในรถ จะตรวจจับความผิดปกติที่เกินลิมิทที่เกิดขึ้นในขณะขับขี่ อาทิ เซนเซอร์ตรวจจับอัตราเร่งที่รุนแรงของช่วงล่าง ซึ่งอาจเกิดจากการตกหลุมของล้อใดล้อหนึ่ง หรือพบการเปลี่ยนเลนกะทันหัน ระบบจะรู้ทันทีว่าอาจเกิดอุบัติเหตุ หรือพบว่าระบบช่วยการทรงตัวทำงาน ก็จะคาดเดาว่าขับขี่ในสภาวะถนนลื่น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับแผนที่ดาวเทียมเพื่อระบุว่าเกิดขึ้นในพื้นที่ใด และข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังรถที่กำลังเดินทางอยู่ในเส้นทางเดียวกันให้ได้รับรู้ ซึ่งแม้ปัจจุบันยังคงมีอยู่แค่ MERCEDES-BENZ เท่านั้น แต่ในอนาคต ระบบที่ใช้พื้นฐานเดียวกันนี้จะกลายเป็นของสามัญสำหรับรถยนต์ และรถบรรทุกทั่วไป เหมือนที่ ระบบเบรคเอบีเอส กับถุงลมนิรภัย กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถปัจจุบัน
นอกเหนือไปจากการส่งสัญญาณจากรถยนต์บนถนนไปสู่ระบบ เพื่อเตือนรถคันอื่นที่กำลังใช้เส้นทางเดียวกันแล้ว ระบบยังรวมไปถึง ระบบอาณัติสัญญาณ อาทิ สัญญาณไฟจราจร รวมถึงสัญญาณไฟฉุกเฉินของหน่วยงานรัฐที่กำลังซ่อมบำรุงเส้นทางอยู่ ก็สามารถจะส่งสัญญาณไปยังรถยนต์ที่ใช้เส้นทางนั้นได้อีกด้วย โดยในประเทศเยอรมนี เฮสเซน เป็นรัฐแรกที่ทดลองใช้ระบบนี้ รถยนต์ที่สัญจรอยู่ในเมืองจะสามารถรับรู้ได้ล่วงหน้าว่า เมื่อใดควรจะชะลอ หรือเมื่อใดไฟสัญญาณจะเปิดทางให้ไป และยังสร้างความปลอดภัยให้คนที่ทำงานอยู่บนท้องถนนได้อีกด้วย
นอกจากนั้น ระบบนี้ยังสามารถช่วยระบุพิกัดที่จอดรถที่ว่างอยู่ โดยบริษัท BOSCH (โบช) ร่วมกับ MERCEDES-BENZ พัฒนาระบบช่วยหาที่จอดรถสำหรับชุมชนขึ้น โดยติดตั้งเซนเซอร์เข้าที่ตัวถังด้านข้างของรถ เพื่อสแกนด้านขอบทางขณะวิ่งโดยอัตโนมัติ และเมื่อพบที่ว่าง ก็จะส่งข้อมูลสู่เครือข่ายอินเตอร์เนท ซึ่งผู้ที่กำลังมองหาที่จอดรถทุกคนจะมองเห็น เรียกว่า ระบบนี้จะช่วยลดความเครียด และดีต่อสิ่งแวดล้อม
ระบบนี้จะยิ่งสะดวกมากขึ้นไปอีก เมื่อทำงานร่วมกันกับระบบ “ขับไปจอดอัตโนมัติ” PARKING PILOT ที่เจ้าของรถสามารถสั่งงานให้รถวิ่งไปหาที่จอดรถได้เอง ซึ่งในปัจจุบันมีเปิดให้ทดลองใช้งานแล้วในลานจอดรถของพิพิธภัณฑ์ MERCEDES-BENZ ในเมืองชตุทท์การ์ท ซึ่งรถยนต์ที่รองรับระบบนี้สามารถวิ่งไปหาที่จอดได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีคนขับ ซึ่งเราก็หวังว่าระบบจะถูกนำมาพัฒนาใช้งานอย่างแพร่หลายในอนาคต
ระบบเหล่านี้จะเป็นจริงขึ้นมาได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างแผนที่ถนนที่มีความแม่นยำ ซึ่งในจุดนี้ต้องบอกว่า เราจะพึ่งพาแต่พโรแกรมยอดนิยมอย่าง “GOOGLE MAP” อย่างเดียวคงไม่พอ เพราะเท่าที่เคยใช้งานมา แม้จะมีความสามารถที่ดีพอสมควร แต่มันยังทำงานช้า และไม่แม่นยำพอ เมื่อใช้งานร่วมกันกับรถยนต์
นั่นจึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกันกับผู้พัฒนาพโรแกรมชื่อ “HERE” ที่เน้นด้านการพัฒนาระบบแผนที่ความแม่นยำสูงในรูปแบบ 3 มิติ และแบบภาพซ้อนความจริง (AUGMENTED REALITY) สำหรับใช้งานกับ รถยนต์ และหุ่นยนต์ ภายใต้เครือข่าย 5G ที่มีวิศวกรผู้ร่วมพัฒนาระบบนี้ถึง 8,000 คน ในกว่า 56 ประเทศ เพื่อสร้างแผนที่ความละเอียดสูงให้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 200 ประเทศ
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมนี ได้แก่ DAIMLER (ไดมเลร์), AUDI (เอาดี) และ BMW (บีเอมดับเบิลยู) ได้ลงขันกันพัฒนาระบบนี้ร่วมกันกับ HERE เมื่อปี 2015 และส่งผลให้รถยนต์กว่า 80 % ที่ขายในยุโรป และสหรัฐอเมริกา หรือกว่า 150 คันในปัจจุบันต่างรองรับระบบแผนที่ที่พัฒนาโดย HERE
ในอนาคตรถยนต์ที่ใช้ระบบแผนที่ของ HERE จะสามารถมองเห็นภาพผ่านระบบกล้องที่ติดตั้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และประมวลผลร่วมกันกับข้อมูลแผนที่ถนนแบบ 3 มิติ ของ HERE เพื่อที่จะขับเคลื่อนได้อย่างแม่นยำ และปลอดภัย
เมื่อรถยนต์ในอนาคตสามารถมองเห็นได้ไกลกว่าสายตาคนขับ และสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมได้ รถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนแบบไร้คนขับก็จะใกล้ความเป็นจริงขึ้นอีกหนึ่งก้าว แม้รถบางคัน อาทิ TESLA (เทสลา) จะเปิดใช้งานระบบขับเคลื่อนไร้คนขับ หรือ AUTOPILOT มาพักใหญ่แล้ว แต่ในความเป็นจริง ยังไม่สามารถเรียกว่าระบบขับเคลื่อนไร้คนขับได้เต็มปาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน TESLA ได้เปิดให้บริการระบบขับเคลื่อนไร้คนขับเต็มรูปแบบ ในชื่อ FSD (FULL SELF DRIVING) เวอร์ชัน 3.0 ซึ่งจะรองรับกับรถรุ่นปี 2019 ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนไร้คนขับ แบบพื้นฐาน (BASIC AUTOPILOT) และระบบขับเคลื่อนไร้คนขับ แบบก้าวหน้า (ENHANCED AUTOPILOT) โดยมีการเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนสำหรับการใช้งานระบบดังกล่าว เดือนละ 99 และ 199 เหรียญสหรัฐฯตามลำดับ (ประมาณ 3,000 และ 6,000 บาท/เดือน) หรือหากประสงค์จะซื้อแบบขายขาดก็จะต้องจ่าย 10,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 300,000 บาท) ทั้งนี้แม้รถตั้งแต่รุ่นปี 2016 จะมีการติดตั้งระบบขับเคลื่อนไร้คนขับมาแล้ว แต่ชิพของรถรุ่นก่อนปี 2019 ยังไม่รองรับการอัพเดทเป็นระบบ FSD ได้ ทว่าสามารถอัพเดทฮาร์ดแวร์ใหม่ได้ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,500 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 45,000 บาท)
ความแตกต่างของระบบ FSD ที่เหนือกว่าระบบขับเคลื่อนไร้คนขับ รุ่นก่อนหน้านี้ คือ มันสามารถเปลี่ยนเลน เพื่อแซงรถคันหน้าที่ช้ากว่าได้ และยังตอบสนองต่อสัญญาณไฟจราจร รวมถึงป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ได้อีกด้วย รวมถึงยังเรียกรถที่จอดอยู่ในลานจอดกลับมาหาเจ้าของรถได้ เพียงแต่มีข้อแม้ว่าต้องอยู่ในสายตาเจ้าของรถเท่านั้น
นอกเหนือจาก TESLA แล้ว ค่าย GM (จีเอม) ก็ได้นำเสนอเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกัน ในชื่อ SUPER CRUISE เวอร์ชัน 2021 ที่ได้รับการติดตั้งบนรถธงของค่ายอย่าง CADILLAC (คาดิลแลค) รุ่น CT5 (ซีที 5) และ CT4 (ซีที 4) ตามมาด้วย เอสยูวี หรู ESCALADE (เอสกาเลด) โดยรถที่เปิดใช้งานระบบนี้ จะสามารถเร่งแซงรถคันหน้าได้เอง เพียงคนขับเปิดสัญญาณไฟเลี้ยว เพื่อบอกว่าจะแซง โดยรถจะตรวจสอบว่าปลอดภัยหรือไม่ และเร่งเครื่องแซงออกไปด้วยตัวเอง
ระบบ SUPER CRUISE ทำงานโดยการใช้ LIDAR ซึ่งย่อจาก LIGHT DETECTION AND RANGING อันเป็นระบบที่ใช้เลเซอร์ในการวัดระยะทางระหว่างรถกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นเสมือนดวงตาของรถนั่นเอง โดย LIDAR จะทำงานร่วมกันกับแผนที่ดาวเทียมความละเอียดสูง เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ โดยระบบ ALGORITHM ว่ามีพื้นที่เพียงพอจะเร่งแซงได้อย่างปลอดภัย มิใช่ว่า แซงไปแล้วเจอทางโค้ง หรือทางร่วมทางแยก โดย GM ระบุว่าในปัจจุบันทางหลวงที่ระบบ SUPER CRUISE ใช้งานได้ในสหรัฐอเมริกา ครอบคลุมเส้นทางกว่า 320,000 กม.
แน่นอนว่า ระบบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นของ TESLA หรือของค่ายอื่นๆ ก็ยังไม่สามารถเรียกว่า ปลอดภัย และทำงานชนิดที่พูดได้เต็มปากว่า “ไว้ใจได้” ผู้ขับยังคงต้องเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่เสมอ และไม่ควรจะปล่อยให้รถวิ่งไปตามยถากรรม อย่างไร้ความรับผิดชอบ ดังที่อาจจะเคยเห็นภาพเจ้าของ TESLA บางคนถึงกับห่มผ้านอนหลับอย่างสบายอารมณ์ (หวังว่าจะเป็นเพียงการแสดง)
TESLA ระบุว่า รถของพวกเขามีความสามารถเพียง SAE ระดับ 2 จำเป็นต้องมีผู้ขับที่พร้อมจะแก้ไขจัดการปัญหาเฉพาะหน้าเสมอ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผูกมัดทางกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง เราสามารถเรียกรถเหล่านี้ว่าเป็น SAE ระดับ 3 ได้แล้ว เพราะเป็นระดับที่แม้จำเป็นต้องมีผู้ขับขี่ที่พร้อมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ผู้ขับขี่สามารถปล่อยมือและหันไปมองทางอื่นได้ชั่วคราว
สำหรับ SAE ระดับ 4 ผู้ขับไม่จำเป็นต้องมองถนนได้นานเป็นนาที หรือพูดง่ายๆ คือ อาจเผลองีบหลับได้นั่นเอง โดยรถในระดับ 4 จำเป็นที่ต้องมีการสื่อสารระหว่างรถกับสิ่งแวดล้อมได้ เพราะหากปล่อยให้รถรับภาระในการประเมินสถานการณ์แต่เพียงอย่างเดียวก็นับว่ามีความเสี่ยงสูงมาก
ส่วน SAE ระดับ 5 หรือ รถไร้คนขับ (AUTONOMOUS) เต็มรูปแบบนั้น ปัจจุบันมีให้เห็นบ้างในพื้นที่จำกัด เช่น ในการแข่งขันโอลิมปิคเกมส์ โตเกียว ครั้งที่ผ่านมา โดยมี TOYOTA E-PALETTE (โตโยตา อี-พาเลทท์) รถไร้คนขับที่สามารถขนส่งผู้คนไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ระบุไว้ได้เที่ยวละ 20 คน และในการแข่งพาราลิมปิค ช่วงปลายเดือนสิงหาคม แต่ละเที่ยวก็สามารถรองรับวีลแชร์ได้ถึง 4 คัน และยังเหลือพื้นที่ยืนอีก 7 ที่
หลังจากจบงานมหกรรมกีฬาทั้ง 2 งาน TOYOTA E-PALETTE จะถูกนำไปใช้รับส่งคนในชุมชน รวมถึงใช้งานขนส่งสินค้าต่อไป ซึ่งจะสอดคล้องกับวิกฤต COVID-19 โดย TOYOTA (โตโยตา) ตั้งเป้าว่าจะใช้ระบบบริหารเที่ยวรถในแบบที่สอดคล้อง และยืดหยุ่นกับความต้องการของผู้ใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับตารางเวลาแบบเดิมๆ อีกต่อไป
วิกฤต COVID-19 จะเป็นตัวเร่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติให้พัฒนาเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาก เพื่อรองรับภาระด้านการขนส่งที่สะอาด และปลอดภัย ส่วนใครที่ยืนยันว่า ยังอยากจะขับรถด้วยตัวเองเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน อันนี้ไม่ต้องห่วง ยังไม่มีใครบังคับให้คุณต้องละมือออกจากพวงมาลัยในเวลานี้อย่างแน่นอนครับ !
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2564
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ
คำค้นหา