เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS
สารพันยานยนต์กู้ภัย รอดได้ ไม่ต้องรอ (นาน)
เมื่อประสบภัยพิบัติ ยานยนต์เหล่านี้จะมุ่งหน้ามาช่วยชีวิตคุณ
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ มักจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึง คุณคงไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้รับอาการบาดเจ็บตอนออกไปเดินเล่น หรือไม่เคยคิดว่า ระหว่างออกไปข้างนอกบ้าน จะถูกไฟไหม้ และคงไม่เคยจินตนาการภาพของตัวเองถูกกระแสน้ำพัดพาหายไป ขณะลอยคอเล่นน้ำในท้องทะเล ดังนั้น คุณอาจรู้สึกตกใจ และสิ้นหวัง หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายเพียงลำพัง แต่อย่ากลัวไปเลย เพราะหน่วยกู้ภัยเหล่านี้ พร้อมแล้วที่จะมาดูแลคุณ
ทีมงานกู้ภัยจะโฟคัสไปที่สถานการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบที่แตกต่างกันตามความเชี่ยวชาญของแต่ละทีม มียานพาหนะซึ่งเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อภารกิจช่วยชีวิต อาทิ หน่วยดับเพลิงจะประจำอยู่ที่สถานี เพื่อรอการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ส่วนรถพยาบาลจะเตรียมความพร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์ สำหรับการดูแลผู้บาดเจ็บในแต่ละวัน
“ยานพาหนะที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์กู้ชีพ จะช่วยให้คุณรอดพ้นอันตราย”
เทคโนโลยีที่ติดตั้งอยู่ใน รถบรรทุก เฮลิคอพเตอร์ รถยนต์ และเรือกู้ภัย จึงทำให้ยานพาหนะเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุมากขึ้น
รู้หรือไม่ ? การบริการรถพยาบาลก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในกรุงลอนดอน เมื่อปี 1965 มีรถพยาบาลเกือบ 1,000 คัน และพนักงานราว 2,500 คน
แต่เทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุด ได้แก่ เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ที่เพิ่มความรวดเร็วในการช่วยเหลือได้อย่างน่าทึ่ง
สายด่วน สำหรับโทร. รายงานสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเก่าแก่ที่สุดของโลก ก็คือ สายด่วน 999 เริ่มใช้ครั้งแรกในกรุงลอนดอน ตั้งแต่ปี 1937 ก่อนหน้านั้น เวลามีเหตุด่วน เหตุร้าย เกิดขึ้น ประชาชนต้องเดินทางมาแจ้งความด้วยตัวเองที่สถานีตำรวจ ทำให้เกิดความสับสน วุ่นวาย และส่งผลให้ประชาชนบางส่วนไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือได้รับความช่วยเหลือล่าช้ากว่าที่ควร
โชคดีที่เทคโนโลยีทุกวันนี้ ก้าวหน้ากว่าวันวานมาก รถกู้ภัยสามารถเดินทางไปยังจุดที่รับแจ้งเหตุได้ภายในไม่กี่นาที ส่วนรถพยาบาลก็ตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องไปถึงสถานที่ซึ่งมีผู้ประสบภัยภายใน 7 นาที เช่นกัน การที่ผู้ประสบภัย หรือผู้คนที่เห็นเหตุการณ์ยังสามารถใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อขอความช่วยเหลือได้ด้วยตัวเอง ทำให้โอกาสรอดชีวิตสูงขึ้นมาก
นอกจากนั้น ความหลากหลายของยานพาหนะก็เพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้การช่วยชีวิตสามารถทำได้ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ยานพาหนะที่เรานำมาเสนอวันนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่จะทำให้คุณมั่นใจได้ ไม่ว่าคุณจะตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหน ในที่สุดความช่วยเหลือก็จะหาทางมาถึงคุณจนได้
เจ้าหน้าที่รักษาอาการบาดเจ็บ จะล่วงหน้าไปในที่เกิดเหตุก่อน ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อความรวดเร็วในการช่วยชีวิต
5 วิธีกู้ภัย ในภูมิประเทศอันยากลำบาก
ทีมลาดตระเวนใช้พาหนะสกี
หากเกิดเหตุฉุกเฉินบนภูเขาหิมะ SNOWMOBILE คือ พาหนะที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ทีมลาดตระเวนสกี สามารถเดินทางบนพื้นผิวที่ปกคลุมด้วยหิมะหนาเตอะได้อย่างรวดเร็ว
เหตุฉุกเฉินบนภูเขา
LAND ROVER (แลนด์ โรเวอร์) มักถูกใช้ในภารกิจกู้ภัยบนภูเขา ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ สามารถยึดเกาะบนทางลาด ภายในกว้างพอที่จะให้ผู้ป่วยนอนบนเปลหาม พร้อมแพทย์อยู่เคียงข้าง
กู้ภัยท่ามกลางหิมะน้ำแข็ง
ในพื้นที่ที่หนาวเย็นของโลก เช่น สวีเดน ซึ่งเต็มไปด้วยพื้นน้ำแข็งขนาดใหญ่ เรือ HOVERCRAFT สำหรับกู้ภัย ซึ่งเคลื่อนที่แบบเหนือชั้นได้อย่างรวดเร็ว ได้ถูกนำมาใช้ เนื่องจากพื้นผิวเรียบของหิมะน้ำแข็งจะทำให้เกิดการเสียดสีน้อยลง ส่งผลให้ความช่วยเหลือในการเดินทางไปถึงผู้ประสบภัยได้เร็วขึ้น
กู้ภัยจากทรายดูด
ทีมกู้ภัย จะใช้ยานพาหนะแบบลากจูง และเรือ HOVERCRAFT สามารถช่วยเหลือผู้คนจากทรายดูด ยานพาหนะเหล่านี้จะกระจายน้ำหนักให้เท่าๆ กันบนพื้นผิวขนาดใหญ่ได้ เพื่อป้องกันการจมน้ำ
ความปลอดภัยจากคลื่นลม
ความสะดวก และรวดเร็วของ JET SKI ทำให้ทีมกู้ภัยใช้ในการช่วยชีวิตบรรดานักเล่นเซิร์ฟ โดยนักเล่นเซิร์ฟสามารถคว้าด้านหลัง JET SKI เพื่อหลบหลีกจากคลื่นที่สูงกว่า 6 ม. ได้
ประเภทรถพยาบาล
ยานพาหนะเหล่านี้ มีลักษณะแตกต่างกันไปตามระดับของสถานการณ์ฉุกเฉิน
รถสำหรับขนส่งผู้ป่วย หรือ PATIENT TRANSPORT SERVICE (PTS)
ยานพาหนะประเภท PTS จะไม่มียา หรืออุปกรณ์ช่วยชีวิตใดๆ ใช้สำหรับขนส่งผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น โดยภารกิจสำคัญของยานพาหนะประเภท PTS มีเพียงอย่างเดียว คือ การนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย
“รถพยาบาลเหล่านี้ มีหน้าที่รับ/ส่งผู้ป่วยที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน”
รถพยาบาล ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลายคน หรือ MULTIPLE-VICTIM ASSISTANCE UNIT (MVU)
รถพยาบาลส่วนใหญ่ สามารถรองรับผู้ป่วย หรือผู้บาดเจ็บได้ประมาณ 2-3 คน อย่างไรก็ตาม ในกรณีฉุกเฉินอาจมีผู้บาดเจ็บมากกว่านั้น เช่น การประท้วงใหญ่ หรือภัยธรรมชาติ รถพยาบาลขนาดใหญ่เหล่านี้ จะดูแลผู้ประสบภัยได้มาก ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปประจำการณ์ ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อป้องกันไว้ก่อน
“รถพยาบาลที่ใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลายคน จะมีขนาดใหญ่ เพราะต้องติดตั้งอุปกรณ์มากมาย”
รถแพทย์สนับสนุน
หากอาการของผู้ป่วยแย่ลงจนรถพยาบาลที่ส่งไปไม่สามารถช่วยเหลือได้ รถแพทย์สนับสนุนสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ด้วยอุปกรณ์เสริม และความเชี่ยวชาญที่มากกว่า
“รถแพทย์สนับสนุนจะมาถึงจุดเกิดเหตุก่อนรถพยาบาล”
รถ ICU เคลื่อนที่
รถพยาบาลเหล่านี้ติดตั้งเครื่องช่วยชีวิตบางส่วนแบบเดียวกับห้อง ICU ที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยที่จะได้ใช้รถพยาบาลประเภทนี้ คือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงสุด ต้องได้รับยาเพื่อรักษาชีวิต และใช้อุปกรณ์เพื่อตรวจสอบ ประคับประคองอาการระหว่างเดินทางไปยังโรงพยาบาล
“รถ ICU เคลื่อนที่จะให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ ตลอดการเดินทาง”
ประวัติศาสตร์ของ “โรงพยาบาลเคลื่อนที่”
รถพยาบาลในปัจจุบัน สามารถออกปฏิบัติการได้ทันที หลังจากได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน แถมยังพร้อมด้วยอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วย แต่ในอดีต ทั้งผู้บาดเจ็บ และผู้ป่วยต่างต้องดิ้นรนหาทางไปโรงพยาบาลกันเอง
ส่วนคำว่า "AMBULANCE" ถูกใช้เป็นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 โดยพระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 2 และสมเด็จพระราชินีอิซาเบล ที่ 1 แห่งสเปน โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า AMBULANCIAS ใช้เรียกเทนท์แพทย์ หรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้รักษาผู้บาดเจ็บในสมรภูมิ
กระทั่ง 300 ปี ต่อมา DOMINIQUE JEAB LARREY ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสได้ออกแบบเกวียนน้ำหนักเบาขึ้น เพื่อใช้เป็นรถพยาบาลเคลื่อนที่ ซึ่งตอนแรกถูกใช้เพื่อขนย้ายทหารที่บาดเจ็บในสนามรบกลับมารักษายังเทนท์แพทย์ เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว และประสิทธิภาพในการรักษาชีวิต ส่วนรถพยาบาลสำหรับพลเรือนคันแรก เป็นรถม้า เริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 1865 และในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 1 ได้มีการใช้รถพยาบาลแบบติดตั้งเครื่องยนต์คันแรก
รู้หรือไม่ ? ในสหราชอาณาจักร มีสถานีดับเพลิง 1,398 แห่ง
การต่อสู้อันร้อนแรง
รถบรรทุกเหล่านี้ มีอุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดับไฟ
การส่งรถดับเพลิงออกปฎิบัติการ
รถดับเพลิงจะมีอุปกรณ์สำหรับรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างครบครัน แต่เพื่อให้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างถูกต้อง นักผจญเพลิงที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี จะต้องตอบสนองได้รวดเร็ว และจัดส่งรถดับเพลิงออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อมีการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เสียงเตือนจะดังขึ้นทั่วสถานี
ตำแหน่งของผู้แจ้งเหตุจะถูกส่งไปยังแผนกดับเพลิงหากใช้โทรศัพท์บ้านจะมีการบันทึกที่อยู่ที่แน่นอน แต่หากใช้มือถือ ตำแหน่งที่ถูกส่งมาจะเป็นตำแหน่งของเสาโทรศัพท์ที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยประเภทของเหตุฉุกเฉินจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอข้างๆ สถานที่เกิดเหตุ แม้จะถูกเรียกว่า นักผจญเพลิง แต่หน่วยงานนี้ ก็มักจะถูกเรียกให้ไปแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ อีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น รถชน, น้ำท่วม หรือสารเคมีรั่วไหล
นักผจญเพลิง กำลังเก็บอุปกรณ์กลับขึ้นรถ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการครั้งต่อไป
ภายในรถดับเพลิง เหล่านักผจญเพลิงใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ?
ท่อดับเพลิง
สำหรับไฟไหม้ที่ไม่รุนแรง และกินพื้นที่น้อย นักผจญเพลิงจะค่อยๆ คลี่ท่อเหล่านี้ออกมาตามความยาวที่ต้องการ และฉีดน้ำไปบนเปลวเพลิง
สายฉีดน้ำดับเพลิง
ใช้แทนท่อดับเพลิง เพื่อเพิ่มกำลัง และปริมาตรน้ำ ต้องใช้นักผจญเพลิง 2 คน ในการปฏิบัติหน้าที่
เครื่องมือชะแลง
เครื่องมือชะแลง สามารถทำลายกำแพง เพื่อไปให้ถึงแหล่งกำเนิดไฟได้ แถมยังใช้ดึงสิ่งของต่างๆ ออกจากเปลวเพลิงได้อีกด้วย
เครื่องมืองัด/ง่าง/ตัด
เครื่องมือไฮดรอลิคนี้ แข็งแรงพอจะใช้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ติดอยู่ในรถได้ หรือจะใช้ถ่างชิ้นส่วนของซากรถออกเพื่อเปิดช่องทาง หรือจะตัดทิ้งบางส่วนไปเลย
เครื่องช่วยหายใจ
ถังออกซิเจน ใช้สำหรับช่วยหายใจ ท่ามกลางควันไฟ หรือสารเคมี ปกติจะใช้งานได้ครึ่งชั่วโมง
พัดลมระบายอากาศ
ใช้วางไว้ เพื่อดูดควัน และปล่อยให้อากาศบริสุทธิ์ถูกดูดเข้ามาตามช่องต่างๆ เช่น หน้าต่างห้อง
“นักผจญเพลิง มักจะถูกเรียกให้ไปแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ สารพัดประเภท”
เมื่อรถพยาบาลมาถึง ผู้ป่วยวิกฤตจะถูกส่งไปยังห้องฉุกเฉินทันที
การกู้ภัยทางทะเล
ดึงขึ้นให้พ้นจากอันตราย
มาดูกันว่า ผู้ประสบภัยทางทะเลจะรับความช่วยเหลือทางอากาศได้อย่างไร ?
ท่ามกลางท้องทะเลคลั่ง การถูกคลื่นซัดเพียงครั้งเดียว อาจส่งผลถึงชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ การใช้เรือกู้ภัยในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ควรทำเสมอไป ดังนั้นเฮลิคอพเตอร์กู้ภัย จึงกลายเป็นกำลังสำคัญ เพราะจะสามารถอพยพผู้คนขึ้นจากน้ำได้ ในขณะที่นักกู้ภัยที่ปฏิบัติการอยู่บนอากาศก็ห่างไกลจากอันตราย
การเข้าถึงเป้าหมาย
เมื่อเดินทางถึงที่เกิดเหตุ เฮลิคอพเตอร์ จะวิเคราะห์ประเภทของเรือ ขนาด และตำแหน่ง
ถึงจุดปลอดภัย
หลังจากถูกดึงขึ้นบนเฮลิคอพเตอร์แล้ว ทีมกู้ภัยจะนำผู้ประสบภัยเข้าไปอยู่ในห้องโดยสาร
อุปกรณ์อเนกประสงค์
ลิฟท์ตัวนี้เป็นได้ทั้งสายรัด เปล หรือตะกร้า ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ประสบภัย
เตรียมช่วยเหลือ
เมื่อวิทยุขอความช่วยเหลือ ลูกเรือที่ประสบภัยจะได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับการช่วยเหลือที่กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งของต่างๆ ต้องถูกเก็บให้มิดชิด เพราะกระแสลมจากเฮลิคอพเตอร์นั้นรุนแรงมาก
การช่วยเหลือขึ้นจากน้ำ
หากผู้ประสบภัยลอยคออยู่ในน้ำทะเล แทนที่จะอยู่บนเรือ ลิฟท์ช่วยเหลือควรจะเป็นแบบตะกร้าเหล็ก
รู้หรือไม่ ? WILLIAM HILARY ก่อตั้ง RNLI ในปี 1824 หลังพบเห็นเรืออับปางจำนวนมาก
“การกู้ภัยทางอากาศ เป็นวิธีอพยพผู้ประสบภัยทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ”
การดูแลภายในตัวเครื่อง
เปลหามจะถูกลอคติดกับรางเฮลิคอพเตอร์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บาดเจ็บ
ตรวจดูอาการสม่ำเสมอ
เฮลิคอพเตอร์กู้ภัย เป็นเหมือนห้อง ICU เคลื่อนที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ สามารถให้ออกซิเจน และจ่ายยาต่างๆ แก่ผู้ป่วยได้
อุปกรณ์สุดคล่องตัว
เก้าอี้ สามารถเลื่อนบนรางที่ทอดไปตามความยาวของเฮลิคอพเตอร์ แถมยังปรับหมุนได้ เพื่อให้แพทย์เข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างสะดวก
ช่วยคนเจ็บก่อน
ถ้ามีคนบนเรือได้รับบาดเจ็บ เขาจะเป็นคนแรกที่ได้รับการช่วยเหลือ ทีมกู้ภัยจะส่งคนไปยึดเขาไว้กับกว้าน เพื่อดึงขึ้นมายังที่ปลอดภัย
หุ่นยนต์ใต้น้ำ
การค้นหาฉุกเฉิน ไม่ใช่ปฏิบัติการช่วยชีวิตเสมอไป บ่อยครั้งที่ทีมค้นหามีเป้าหมายเพื่อหาวัตถุ เรือจม หรือเหยื่อจากอุบัติเหตุทางทะเล ซึ่งปฏิบัติการใต้น้ำทั้งหมดนี้ เคยเป็นหน้าที่ของนักดำน้ำมืออาชีพ แต่ขณะนี้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้หุ่นยนต์สามารถรับหน้าที่ค้นหาในเบื้องต้นได้ ซึ่งช่วยถนอมกำลัง และเพิ่มความปลอดภัยของนักดำน้ำ จนกว่าจะมีความจำเป็นจริงๆ โดยหุ่นยนต์เหล่านี้ สามารถเชื่อมต่อสายเคเบิล เพื่อให้ผู้ใช้งานบังคับจากบนเรือได้ ตัวหุ่นมีอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการมองเห็น การสัมผัส และการค้นหา กล้องที่ติดตั้งไว้จะช่วยให้ทีมกู้ภัยมองเห็นสภาพแวดล้อมของหุ่นยนต์ ในขณะที่ไฟ และระบบโซนาร์จะช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น แถมมีแขนยนต์เพื่อหยิบจับวัตถุขนาดเล็ก และตัดวัสดุที่กีดขวางเส้นทางได้อีกด้วย
วิวัฒนาการเรือกู้ชีพ
จากเรือพายธรรมดา กลายเป็นเรือยนต์ที่คล่องแคล่วอย่างในปัจจุบันได้อย่างไร ?
เรือกู้ชีพลำแรก (1785)
LIONEL LUKIN สร้างเรือสำหรับกู้ชีพลำแรกขึ้น โดยออกแบบให้ “ไม่มีวันจม” ด้วยการใช้วัสดุน้ำหนักเบา เช่น ไม้คอร์ค มีช่องอากาศในตัวเพื่อให้ลอยได้ และกันน้ำเข้า
เรือกู้ชีพกำลังถูกนำลงทะเล
ใช้พลังไอน้ำ (1890)
เรือ ดยุค แห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์ ไม่ต้องอาศัยฝีพายมนุษย์ในการเคลื่อนที่อีกต่อไป แต่เปลี่ยนมาใช้พลังงานไอน้ำแทน แม้การเผาถ่านหินบนเรือจะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม โชคดีที่เรือพลังไอน้ำถูกใช้อยู่ได้ไม่นานเท่าไร
เรือยนต์ (1905)
เครื่องยนต์เบนซิน ถูกนำมาติดตั้งกับเรือที่มีอยู่แล้ว และทดลองใช้ในปี 1904 ก่อนจะนำมาใช้จริงในปีถัดมา จึงทำให้เรือพละกำลังมากขึ้น และควบคุมได้ง่ายอีกด้วย
การดีไซจ์น (1963)
เรือกู้ชีพแบบเป่าลมขนาดเล็ก ถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยผู้ประสบภัยที่อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งมากนัก ด้วยความสะดวก และรวดเร็ว จึงทำให้ยังคงถูกใช้งานจนถึงปัจจุบัน
เรือกู้ชีพแบบเป่าลม บนชายหาด ทำให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เร็วขึ้น
เรือกู้ชีพ MERSEY (1988)
เรือกู้ชีพเหล่านี้ ถูกออกแบบให้สามารถออกตัวจากชายหาดได้เลย ด้วยตัวถังอลูมิเนียมน้ำหนักเบา สามารถลากไปปล่อยลงทะเล จากจุดไหนก็ได้บนชายหาด
เรือกู้ชีพ SEVERN (1996)
ผลงานจากการทดสอบอย่างเข้มงวด เพื่อให้เรือกู้ชีพเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้นในน้ำทะเล โดยที่ยังคงความปลอดภัยสูงสุดไว้ โดย SEVERN สามารถทำความเร็วได้ 46.68 กม./ชม.
SEVERN CLASS คือ เรือกู้ชีพ RNLI ที่ใหญ่ที่สุด
เรือกู้ชีพ TAMAR (2005)
มีความเร็วสูงพอๆ กับ SEVERN CLASS แต่เพิ่มระบบความปลอดภัยภายในตัวเรือด้วยสปริงเสริม และระบบกันสะเทือนบนที่นั่ง ทำให้ลูกเรือเจ็บหลังน้อยลงเวลาถูกคลื่นซัด
เรือกู้ชีพ SHANNON (2013)
เรือกู้ชีพสุดทันสมัย และเหมาะกับทุกสภาพอากาศ ใช้พลังงานจากหัวฉีดน้ำ ใช้งานได้นานถึง 10 ชม. ท่ามกลางพายุที่รุนแรง และหากจำเป็น ก็สามารถพุ่งเข้าไปจอดบนชายหาดได้อย่างรวดเร็ว
เรือกู้ชีพ SHANNON CLASS มีความยาวถึง 13 ม.
ABOUT THE AUTHOR
HOW IT WORKS
ภาพโดย : HOW IT WORKSนิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2564
คอลัมน์ Online : เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS