วิถีตลาดรถยนต์
หัวแถวยังเอาอยู่
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกันยายน 2021/2020
ตลาดโดยรวม -17.7 %
รถยนต์นั่ง -13.5 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -25.4 %
กระบะ 1 ตัน -21.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -1.0 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กันยายน 2021/2020
ตลาดโดยรวม -0.5 %
รถยนต์นั่ง -6.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +11.3 %
กระบะ 1 ตัน +0.9 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +8.7 %
จะเรียกว่าผีซ้ำด้ามพลอยก็น่าจะได้สำหรับไทยแลนด์แดนออฟสไมล์ พิษของเจ้า COVID-19 ยังไม่ทันสร่าง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมโดนอุทกภัยซ้ำเติมเข้าไปอีก อย่างนี้จะเอาเบี้ยที่ไหนมาออกรถใหม่ป้ายแดงกันได้มากมาย ถึงแม้รถดี ราคาโดนใจ พโรโมชันพิเศษ จัดหนักจัดเต็ม จะมีให้เลือกอยู่ในทุกๆ โชว์รูมของบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ นาทีนี้ต้องเอาปากท้องลูกเมียให้อยู่รอดปลอดภัย กินอิ่มนอนหลับไว้ก่อน จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่เดือนกันยายนนี้ ตัวเลขยอดจำหน่ายของเกือบจะทุกยี่ห้อเป็นตัวเลขสีแดง ที่หมายถึงตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง เมื่อนำไปเปรียบเทียบตัวเลขยอดจำหน่ายที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ภาพโดยรวมของการค้าการขายในช่วงไตรมาสที่ 4 ไตรมาสสุดท้ายของปีน่าจะมีทิศทางที่ดีมากขึ้น จากการฉีดวัคซีนต้านความรุนแรงของพิษ COVID-19 ที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการผ่อนปรน, มาตรการเยียวยาช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตลอดจนนโยบายการเปิดประเทศแบบมีเงื่อนไข เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ ที่จะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี
สำหรับเดือนกันยายน เดือนที่ 9 ของปี ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ของหัวแถวรถยนต์ 5 ยี่ห้อดัง จับมือกันปิดตัวเลขยอดจำหน่ายเป็นยอดติดลบ เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ปีก่อน ทั้งหมดลบมากลบน้อยก็ขึ้นอยู่กับฐานตัวเลขที่เคยทำได้ไว้นั่นแหละ โดยตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งหมดอยู่ที่ 64,122 คัน เทียบกับเดือนกันยายน ปี 2563 แล้วปรับลดลง 17.7 % อย่างไรก็ตาม เมื่อนำตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนกันยายนนี้ ไปรวมกับตัวเลขยอดจำหน่ายของ 8 เดือนก่อนหน้านี้ ปรากฏว่าตั้งแต่มกราคมจนถึงกันยายนนี้ เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2563 แล้ว ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมปรับตัวลดลงเพียง 0.5 % เท่านั้น โอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มมากขึ้นยังมีอยู่ หากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีไม่มีเหตุเภทภัยชนิดสะเทือนไปทั่วทุกหย่อมหญ้าเกิดขึ้น ตัวเลขยอดจำหน่ายรวม 9 เดือนของปี 2564 อยู่ที่ 531,931 คัน ลดลงเพียง 0.5 % อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้น เดือนกันยายนนี้ แชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดยังคงเป็น TOYOTA (โตโยตา) จำหน่ายได้ 19,971 คัน ลดลง 15.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 31.1 % รวม 9 เดือน จำหน่ายแล้ว 166,560 คัน เพิ่มขึ้น 6.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 31.3 % ตามด้วย ISUZU (อีซูซุ) เดือนกันยายน 13,649 คัน ลดลง 11.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 21.3 % รวม 9 เดือน 131,529 คัน เพิ่มขึ้น 6.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 24.7 % HONDA (ฮอนดา) เดือนกันยายน 6,311 คัน ลดลง 30.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.8 % รวม 9 เดือน 61,329 คัน ลดลง 5.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.5 % MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) เดือนกันยายน 3,504 คัน ลดลง 27.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.5 % รวม 9 เดือน 32,921 คัน ลดลง 18.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.2 % และ MAZDA (มาซดา) เดือนกันยายน 2,980 คัน ลดลง 23.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 % รวม 9 เดือน 25,813 คัน ลดลง 1.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.9 %
รถพิคอัพ 1 ตัน ตัวเลขยอดจำหน่ายของรถยนต์ในกลุ่มก้อนนี้ ปรับตัวลดลงยกแผงในเดือนกันยายนนี้ โดยยอดจำหน่ายทั้งตลาดมีทั้งสิ้น 30,164 คัน ลดลงถึง 21.0 % เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายของเดือนกันยายน ปี 2563 เป็นอีกเดือนหนึ่งที่รถพิคอัพที่มียอดจำหน่ายสูงสุดสลับสับเปลี่ยนกันระหว่าง ISUZU กับ TOYOTA เดือนกันยายนนี้เป็นทีของ TOYOTA ที่ขึ้นไปอยู่หัวแถวจำหน่ายไปได้ 12,504 คัน ลดลง 18.4 % เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2563 ได้ส่วนแบ่งการตลาดที่ 41.5 % ISUZU อยู่ในอันดับที่ 2 ของตาราง จำหน่ายได้ 12,254 คัน ลดลง 13.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 40.6 % เป็นพิคอัพ 2 ยี่ห้อที่ตัวเลขยอดจำหน่ายรายเดือนอยู่ในหลักหมื่นคันต่อเดือน มาโดยตลาด อันดับ 3 FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 2,101 คัน ลดลง 26.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.0 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 2,079 คัน ลดลง 33.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.9 % และอันดับที่ 5 NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 774 คัน ลดลง 11.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 2.6 %
ตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน ผ่านไป 9 เดือนของปี 2564 ผู้นำในความเป็นพิคอัพยอดนิยมจำหน่ายได้มากสุด ยังคงเป็น ISUZU โดยที่ตลาดนี้มีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมในระยะเวลา 9 เดือนของปี 2564 อยู่ที่ 276,789 คัน เพิ่มขึ้น 0.9 % เมื่อเทียบห้วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2563 รถพิคอัพยอดนิยมจำหน่ายได้มากสุด 5 ยี่ห้อแรกเป็น Isuzu จำหน่ายแล้วรวม 119,314 คัน เพิ่มขึ้น 4.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 43.1 % รองลงมาเป็น TOYOTA 104,962 คัน เพิ่มขึ้น 9.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.9 % ต่อด้วย FORD 22,530 คัน เพิ่มขึ้น 16.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.1 % MITSUBISHI 19,914 คัน ลดลง 19.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.2 % และ NISSAN 5,553 คัน ลดลง 52.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 2.0 %
สำหรับตลาดรถเอสยูวี ผ่านไป 9 เดือน ตลาดนี้ยังไปได้ดี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าตัวเลขยอดจำหน่ายรายเดือนจะมีเพิ่มขึ้นลดลงบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังเป็นตลาดที่การเติบโตเพิ่มมากขึ้น และยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งประเภทใหม่แกะกล่อง และปรับปรุงเสริมแต่งใหม่เข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มเติม โดยเดือนกันยายนนี้เป็นเดือนที่ปรับตัวลดลงอีกเดือนหนึ่ง ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 5,158 คัน ลดลง 25.4 % เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ปี 2563 จำหน่ายได้มากสุดยังคงเป็น TOYOTA จำหน่ายได้ 1,858 คัน ลดลง 23.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 35.8 % MG (เอมจี) ตามมาเป็นอันดับ 2 จำหน่ายได้ 1,115 คัน ลดลง 25.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 21.5 % อันดับ 3 MAZDA จำหน่ายได้ 915 คัน ลดลง 15.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 17.6 % อันดับ 4 HONDA จำหน่ายได้ 462 คัน ลดลง 68.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.9 % และอันดับ 5 เป็นของผู้เล่นหน้าใหม่ค่าย GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) จากประเทศจีน ที่มีรถ HAVAL H6 (ฮาวัล เอช 6) เป็นตัวเปิดตลาด จำหน่ายได้รวม 405 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 7.8 %
9 เดือนของปี 2564 ผ่านไป ตลาดรถเอสยูวีมีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 48,669 คัน เทียบกับช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 แล้วมีการปรับตัวเติบโตขึ้น 11.3 % ยอดจำหน่ายสูงสุดเป็น TOYOTA 14,493 คัน เพิ่มขึ้นถึง 68.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 29.8 % อันดับ 2 MG 11,676 คัน เพิ่มขึ้น 1.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 24.0 % อันดับ 3 MAZDA 9,695 คัน เพิ่มขึ้น 26.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 19.9 % อันดับ 4 HONDA จำหน่ายแล้วรวม 7,923 คัน ลดลง 25.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 16.3 % และอันดับ 5 SUBARU (ซูบารุ) จำหน่ายแล้วรวม 2,076 คัน เพิ่มขึ้นถึง 202.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.3 %
ในส่วนของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนกันยายน 2564 มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกัน 3,518 คัน ปรับตัวลดลง 1.0 % ขณะที่ตัวเลขยอดจำหน่ายรวม 9 เดือนอยู่ที่ 30,333 คัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.7 % ทั้งนี้เดือนกันยายน 2564 มีการจดทะเบียนรถยนต์ประเภทพิคอัพ 1 ตัน และรถเอสยูวี รวมกันทั้งสิ้น 33,449 คัน เทียบกับเดือนกันยายน 2563 แล้วปรับตัวลดลง 18.2 %
ABOUT THE AUTHOR
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์